รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000410
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :ผลของการใช้ ดีดี. ดินเดิม เอ็นไซม์ ต่อการย่อยสลายตอซังและฟางข้าวในแปลงนา
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Effect of DD. DinDerm Enzyme on Decomposition of Rice Stubble and Straw in Rice Field
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :เอ็นไซม์ ย่อยสลาย ตอซัง ฟางข้าว แปลงนา
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :12000
งบประมาณทั้งโครงการ :12,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :27 กันยายน 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :30 มีนาคม 2562
ประเภทของโครงการ :การพัฒนาทดลอง
กลุ่มสาขาวิชาการ :เกษตรศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
กลุ่มวิชาการ :ระบบเกษตร
ลักษณะโครงการวิจัย :ไม่ระบุ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ข้าว (rice) เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของประเทศไทยชนิดหนึ่งที่ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก แต่การผลิตข้าวของประเทศไทยยังมีต้นทุนการผลิตสูง อีกทั้งยังก่อให้เกิดการเสื่อมคุณภาพของดินและน้ำ และก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ จากการเผาฟางข้าวในขณะเตรียมแปลง ตอซังและฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุอย่างหนึ่งที่ได้มาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มีประโยชน์ต่อการปรับปรุงดิน ทำให้ดินร่วนซุย มีการระบายอากาศมากขึ้น ทำให้รากพืชเจริญเติบโตแพร่กระจายในดินได้มากขึ้น การซึมผ่านของน้ำและการอุ้มน้ำของดินดีขึ้น และเมื่อตอซังฟางข้าวย่อยสลายจะปลดปล่อยธาตุอาหารพืชลงสู่ดินโดยตรง ถึงแม้จะมีปริมาณธาตุอาหารน้อยกว่าปุ๋ยเคมี แต่จะมีทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง ที่จะค่อยๆ ปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว ซึ่ง Dobermann and Fairhurst (2002) ได้รายงานไว้ว่าในฟางข้าวแห้งมีไนโตรเจน (N) 0.5-0.8, ฟอสฟอรัส (P2O5) 0.16-0.27 เปอร์เซ็นต์, โพแทสเซียม (K2O) 1.4-2.0 เปอร์เซ็นต์, กำมะถัน (S) 0.05-0.10 เปอร์เซ็นต์ และซิลิกอน (Si) 4-7 เปอร์เซ็นต์ การเผาตอซังฟางข้าวจะทำให้สูญเสียธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแตสเซียม และกำมะถัน (กรมวิชาการเกษตร, 2557) นอกจากนี้ตอซังฟางข้าวยังช่วยดูดยึดธาตุอาหารจากการใส่ปุ๋ยเคมีไม่ให้สูญเสียไปจากดินโดยง่าย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุที่เป็นแหล่งอาหารและพลังงานของจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้น (ยงยุทธ และคณะ, 2551) ปัจจุบันจึงมีการทดลองหมักย่อยสลายตอซังฟางข้าวก่อนเตรียมแปลงปลูกแต่การหมักย่อยสลายฟางข้าวในปัจจุบันยังใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นเวลา 10-15 วัน จึงจะสามารถเตรียมแปลงปลูกได้ ด้วยเหตุนี้เกษตรกรไทยจึงยังมีการเผาฟางข้าวก่อนเตรียม และก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย อาทิเช่น 1) ทำให้เกิดเขม่าควัน เศษฝุ่นละออง ก๊าซพิษ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ 2) เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนและก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น ฝนทิ้งช่วงมากขึ้น น้ำท่วมบ่อยขึ้น และเกิดไฟป่ามากขึ้น 3) ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน โดยความชื้นในดินลดลง ดินจับตัวกันแน่น สภาพดินแข็งทำให้ไถเตรียมดินได้ตื้น หน้าดินน้อยลงทำให้รากแพร่กระจายได้น้อย 4) ชีวภาพของดินคือจุลินทรีย์ แมลง และสัตว์เล็ก ๆ ที่เป็นประโยชน์ ในดินนาตายลง และ 5) อินทรียวัตถุและธาตุอาหารที่สำคัญลดลง แต่อย่างไรก็ตามในขณะนี้พบว่ามีการทดลองใช้เอนไซม์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวจนสามารถทำให้ย่อยสลายได้ภายใน 7 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาไม่นานที่จะทำให้เกษตรกรพอใจได้ จึงควรมีการทดลองใช้เอนไซม์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าวในสภาพแปลงปลูก เพื่อทำให้เกษตรกรมั่นใจในประสิทธิผลและเลือกใช้วิธีการนี้ในการกำจัดตอซังฟางข้าวต่อไปในอนาคต
จุดเด่นของโครงการ :เป็นโครงการที่มาจากความต่องการของภาคเอกชนที่อยากให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ร่วมทำวิจัยด้วยกัน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ดีดี. ดินเดิม เอนไซม์ ต่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าว 2. เพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชในดิน และการเจริญเติบโตของต้นกล้าข้าวหลังจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ดีดี. ดินเดิม เอนไซม์ 3. เพื่อทราบผลของผลิตภัณฑ์ ดีดี. ดินเดิม เอนไซม์ ในการลดการเกิดข้าวดีด ปริมาณผลผลิต และต้นทุนในการผลิตข้าว
ขอบเขตของโครงการ :แบ่งเป็น 2 การทดลอง ดังนี้ 1.ประสิทธิภาพของ ดี.ดี.ดินเดิม เอ็นไซม์ ในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว 2. การเจริญเติบโตของต้นกล้าข้าวและผลผลิตหลังจากการใช้ ดี.ดี.ดินเดิม เอ็นไซม์ ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :- ทราบประสิทธิผลของ ดี.ดี.ดินเดิม เอ็นไซม์ ในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว - ได้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ หน่วยงานภาคเอกชน และเกษตรกรผู้ปลูกข้าว
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :8.1 ข้าว ข้าว (rice) เป็นธัญพืชอาหารหลักของชาวโลก จัดเป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับหญ้าซึ่งนับได้ว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายมีความทนทานต่อทุกสภาพภูมิประเทศในโลกไม่ว่าจะเป็นถิ่นแห้งแล้งแบบทะเลทราย พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง หรือแม้กระทั่งบนเทือกเขาที่หนาวเย็น พันธุ์ข้าวที่รู้จักและนำมาปลูกสามารถแบ่งออกได้ เป็น 2 ชนิดคือ Oryza sativa L. ที่นิยมปลูกในทวีปเอเชีย และ O. glaberrina ที่นิยมเพาะปลูก ในทวีปแอฟริกา แต่ข้าวที่ปลูกและซื้อขายกันในตลาดโลกเกือบทั้งหมดจะเป็นข้าวจากทวีปเอเชีย แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามลักษณะและพื้นที่ปลูกได้ดังนี้ 1) ข้าวอินดิกา (Indica) หรือข้าวเจ้า เป็นข้าวที่มีลักษณะเม็ดเรียวยาวรี ลำต้นสูง ตั้งชื่อมาจากแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เป็นข้าวที่นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชียเขตมรสุม ตั้งแต่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกา 2) ข้าวจาปอนิกา (Japonica) เป็นข้าวเหนียวเมล็ดป้อม กลมรี มีแหล่งกำเนิดจากทางภาคเหนือ แล้วผ่าน มาทางลุ่มแม่น้ำโขง ในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นลดจำนวนลงไปแพร่หลายในเขตอบอุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ยุโรป และอเมริกา 3) ข้าวจาวานิกา (Javanica) เป็นข้าวลักษณะเมล็ดป้อมใหญ่สันนิษฐานว่า เป็นข้าวพันธุ์ผสมระหว่างข้าวอินดิกาและจาปอนิกา นิยมเพาะปลูกใน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน หมู่เกาะริวกิว และญี่ปุ่น แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนักเพราะให้ผลผลิตต่ำ ประเภทของข้าวแบ่งตามระยะความยาวของกลางวันออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงและข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง 8.1.1 ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ข้าวพวกนี้ออกดอกเฉพาะในเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้น ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงในประเทศไทยมักจะเริ่มสร้างช่อดอกและออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันประมาณ 11 ชั่วโมง 40 นาที หรือสั้นกว่านี้ โดยพันธุ์ข้าวในประเทศไทยที่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่มีความไวต่อช่วงแสง โดยเฉพาะข้าวที่ปลูกเป็นข้าวนาเมืองหรือข้าวขึ้นน้ำ ซึ่งการปลูกข้าวพวกที่ไวต่อช่วงแสงจะต้อง ปลูกในฤดูนาปี ที่เรียกว่า ข้าวนาน้ำฝน และจะออกดอกในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคมที่มีความยาวของกลางวันสั้นเท่านั้น ไม่ว่าจะปลูกในเดือนอะไรก็ตาม ข้าวพวกไวต่อช่วงแสงจึงมีประโยชน์สำหรับชาวนาในบางท้องที่ เช่นในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ บางปีฝนก็มาเร็วและบางปีฝนก็มาช้า การปลูกข้าวด้วยพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงและเป็นข้าวเบาหรือข้าวกลาง ถึงแม้จะปลูกช้ากว่าปกติ มันก็จะออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แต่ผลิตผลอาจลดต่ำลงบ้าง และพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อการค้าคือข้าวหอมมะลิ 105 8.1.2 ข้าวที่ไม่ไวต่อแสง การออกดอกของข้าวพวกนี้ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวได้มีระยะเวลาการเจริญเติบโตครบตามกำหนด ต้นข้าวก็จะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว ฉะนั้น พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง จึงใช้ปลูกได้ผลดีทั้งในฤดูนาปรังและนาปี แต่อย่างไรก็ตามพวกไม่ไวต่อช่วงแสงมักจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง (ประพาส, 2553) ซึ่งข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวหอมปทุมธานี 1, กข.31, กข.47 และ กข.49 การเลือกพันธุ์ข้าวควรพิจารณาในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านราคาผลผลิต ด้านปริมาณผลผลิตต่อไร่ ความต้านทานโรคและแมลงศัตรู ความทนทานต่อสภาพดินที่เป็นกรดด่างหรือดินเค็ม ความทนทานต่อสภาพน้ำท่วม ความทนทานต่อสภาพอากาศ และความนิยมของผู้บริโภค อาทิเช่น 1) ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีราคาสูงสุด ทนแล้งได้ดีพอสมควร ทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและดินเค็ม มีคุณภาพขัดสีได้เมล็ดข้าวสารใสและแกร่งเรียวยาว คุณภาพการหุงต้มดีมีกลิ่นหอมและอ่อนนุ่ม แต่ปริมาณผลผลิตต่อไร่ไม่สูง ประมาณ 365 – 515 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกได้เพียงในฤดูนาปีเพราะเป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ โรคใบสีส้ม โรคใบหงิก เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น และหนอนกอ 2) ข้าวปทุมธานี 1 เป็นข้าวหอมสามารถปลูกได้ทั้งฤดูนาปีและฤดูนาปรัง มีปริมาณผลผลิตประมาณ 650 – 774 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง แต่ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยจั๊กจั่นสีเขียว โรคใบหงิกและใบสีส้ม คุณภาพข้าวสุกนุ่มค่อนข้างเหนียวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีราคาสูงกว่าข้าวขาวทั่วไปแต่ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิ 105 3) ข้าว กข.31 เป็นข้าวเจ้าขาวไม่ไวต่อช่วงแสง ปริมาณผลผลิตประมาณ 738 – 745 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคใบจุดสีน้ำตาล โรคขอบใบแห้ง และโรคเมล็ดด่าง เพลี้ยกระโดดหลังขาว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่อ่อนแอต่อโรคใบหงิก โรคไหม้ และโรคใบสีส้ม 4) ข้าว กข.49 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 939 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชนิดใหม่ ต้านทานต่อโรคไหม้ในเขตภาคกลาง แต่ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และอ่อนแอต่อโรคไหม้ในเขตจังหวัดพิษณุโลก คุณภาพการสีดีมากสามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ 5) ข้าวหอมชลสิทธิ์ เป็นข้าวหอมที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมแบบฉับพลัน ผลผลิตประมาณ 820-1000 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพหุงต้มหอมนุ่มเหนียวคล้ายข้าวหอมมะลิ 105 (ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์, 2557) 8.2 การปลูกข้าว การปลูกข้าวหรือการทำนาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 วิธี ดังนี้ 8.2.1 การปลูกข้าวไร่ หมายถึง การปลูกข้าวบนที่ดอนไม่มีน้ำขังในพื้นที่ปลูก ชนิดของข้าวที่ปลูกเรียกว่า “ข้าวไร่” พื้นที่ดอนส่วนมากเช่น ภูเขา มักจะไม่มีระดับ คือ สูงๆต่ำๆ จึงไม่สามารถไถเตรียมดิน และปรับระดับดินได้ง่ายๆ เหมือนกับพื้นที่ราบ เพราะฉะนั้น ชาวนามักปลูกข้าวแบบหยอด โดยขั้นแรกทำการตัดหญ้าและต้นไม้เล็กออก แล้วจึงทำความสะอาดพื้นที่ที่จะปลูก แล้วใช้หลักไม้ปลาย แหลมเจาะดินเป็นหลุม ปกติจะต้องหยอดพันธุ์ข้าวทันที่หลังจากที่เจาะหลุม และหลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วจะใช้เท้ากลบดินปากหลุม เมื่อฝนตกหรือเมื่อเมล็ดได้รับความชื้นจากดิน เมล็ดจะงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นข้าว พื้นที่ปลูกข้าวไร่จะแห้งและขาดน้ำทันที่เมื่อสิ้นหน้าฝน ดังนั้นการ ปลูกข้าวไร่จึงต้องใช้พันธุ์ที่มีอายุเบา โดยปลูกในต้นฤดูฝนและแก่เก็บเกี่ยวได้ในปลายฤดูฝน ดังนั้นการปลูกข้าวไร่ชาวนาจะต้องหมั่น กำจัด วัชพืช เพราะที่ดอนมักจะมีวัชพืชมากกว่าที่ลุ่ม พื้นที่ที่ปลูกข้าวไร่ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยและปลูกมากในภาคเหนือและภาคใต้ 8.2.2 การปลูกข้าวนาดำ หรือเรียกว่า การปักดำ ซึ่งวิธีการปลูกแบ่งเป็นสองตอน ตอนแรกได้แก่การตกกล้าในแปลขนาดเล็ก และตอนที่สองได้แก่การถอนต้นกล้านำไปปักดินในนาผืนที่ใหญ่ ดังนั้น การปลูกแบบปักดำ (Indirect seeding) ซึ่งต้องเตรียมดินที่ดีกว่าการปลูกข้าวไร่ มีการไถดะ การไถแปร และการคราด ปกติการไถและคราดในนาดำมักจะใช้แรงวัวควาย หรือแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า ควายเหล็ก หรือไถยนต์เดินตาม ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นที่นาดำมีคันนาแบ่งกั้นออกเป็นแปลงเล็กๆ ขนาดแปลงละ 1 ไร่ หรือเล็กกว่า คันนามีไว้เพื่อกักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำทิ้งจาก แปลงนา นาดำจึงมีการบังคับน้ำในนาไว้ได้บ้างพอสมควร การทำนาในระบบการผลิต “เปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” เป็นนวัตกรรมทางเลือกยามน้ำมีน้อย มีวิธีการดังต่อไปนี้ 1) การเตรียมดิน ควรไถ หรือตีดินให้ลึก 20-25 ซ.ม. (เพราะต้องฝังท่อแกล้งข้าวลงไปในดิน 20 ซ.ม.) พื้นนาต้องเรียบสม่ำเสมอทั้งแปลง 2) ใช้วิธีปลูกข้าวแบบปักดำด้วยเครื่องระยะห่างระหว่างแถว 30 ซ.ม. (กล้าอายุไม่เกิน 25 วัน) 3) วิธีแกล้งข้าว ใช้ท่อ PVC หน้า 4 นิ้ว ความยาว 4 เมตร แบ่งความยาวท่อนละ 25 ซม. ได้ทั้งหมด 16 ท่อน (1 ไร่ ใช้ประมาณ 5 – 8 ท่อน) นำไปเจาะรู จำนวน 40 รู ต่อท่อน โดยแถวบนสุดห่างจากขอบบน 5 เซนติเมตร และแถวถัดไปห่างแถวละ 5 เซนติเมตร หลังปักดำแล้วนำท่อไปปักในนาตามแนวตั้ง กระจายให้ทั่วแปลงนา โดยให้ขอบบนสูงจากดิน 5 เซนติเมตรแล้วใช้มือควักขี้เลนออกจากท่อให้หมดไว้เพื่อวัดระดับน้ำในเเปลงนาว่าระดับน้ำใต้ผิวดินเเห้งลงไปเท่าไร ซึ่งในระยะแรกต้องรักษาระดับน้ำ สูง 3 – 10 เซนติเมตร เพื่อควบคุมวัชพืช ปล่อยให้ระดับน้ำในนาแห้ง 2 ครั้ง ช่วงข้าวอายุ 40-50 วัน และ 50-60 วัน จนดินแตกระแหง สังเกตระดับน้ำในท่อจนถึงระดับลึก 15 เซนติเมตร (ระยะจุดเฉาข้าวหรือจุดเป็นตายเท่ากัน) จึงเปิดน้ำเข้านาใหม่ ในระหว่างที่น้ำแห้งสามารถลงไปจัดการในแปลงนาได้สะดวก(โดยที่เท้าไม่เปื้อน) เช่น กำจัดวัชพืช ตัดพันธุ์ปน และหว่านปุ๋ย(ให้ปุ๋ยลงไปตามซอกระแหง ถึงราก โดยตรง) ก่อนเปิดน้ำเข้านา (สุภชัย, 2555) 8.2.3 การปลูกข้าวนาหว่าน เป็นการปลูกข้าวโดยเอาเมล็ดพันธุ์หว่านลงไปในพื้นที่นาที่ได้ไถเตรียมดินไว้ การเตรียมดินก็มีการไถดะและไถแปรปกติชาวนาจะเริ่มไถนา เพื่อปลูกข้าวนาหว่านตั้งแต่เดือนเมษายน เนื่องจากพื้นที่นาสำหรับปลูกข้าวนาหว่านไม่มีคันนากั้นแบ่งออกเป็นผืนเล็กๆ จึงสะดวกแก่การไถด้วยรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวนาอีกจำนวนมากที่ใช้แรงวัวและควายไถนา การปลูกข้าวนาหว่านมีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การหว่านสำรวย การหว่านคราดกลบหรือไถกลบ การหว่านหลังขี้ไถ และการหว่านน้ำตม 1) การหว่านสำรวย การหว่านวิธีนี้ชาวนาจะต้องเริ่มไถนาเตรียมดินตั้งแต่เดือนเมษายนซึ่งมีการไถดะและไถแปรแล้วเอาเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้เพาะให้งอกหว่านลงไปโดยตรง ปกติใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 ถัง/ไร่ เมล็ด พันธุ์ที่หว่านลงไปบางส่วนจะตกลงไปอยู่ตามซอก ระหว่างก้อนดินและรอยไถ เมื่อฝนตกลงมา ทำให้ดินเปียกและเมล็ดที่ได้รับความชื้น ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้นกล้า การหว่านวิธีนี้ใช้เฉพาะในท้องที่ที่ฝนตกตามฤดูกาล
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :- ไม่ทำลายธาตุอาหารพืช และโครงสร้างของดิน - เร่งระยะเวลาในการสลายตอซังและฟางข้าว - ลดการใช้ปุ๋ย
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :การเตรียมพื้นที่โดยใช้รถไถทำคันดินขนาดกว้างและสูงเป็น 50 และ 30 เซนติเมตร ตามลำดับ กั้นรอบแปลง ขุดดินที่ฐานคันดิน แล้วปูพลาสติกคลุมคันดิน ฝังชายพลาสติกลึกในดิน 30 เซนติเมตร กลบดินทับ เพื่อป้องกันการซึมน้ำเข้าหรือสูญเสียน้ำไปยังแปลงทดลองข้างเคียง โดยแบ่งเป็นแปลงย่อย ขนาด 400 ตารางเมตร จำนวน 12 แปลง ทำการปล่อยน้ำเข้านาให้มีระดับสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ย่ำตอซังและฟางข้าวให้จมน้ำ นำเอนไซม์ ดีดีดินเดิม ฉีดพ่นลงบนตอซังฟางข้าวในแปลงย่อยให้ทั่ว หมักไว้เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นทำการตีฟางและทำเทือก แล้วปลูกข้าว โดยวิธีการปักดำ ระยะ 20 ? 20 เซนติเมตร การศึกษาวิจัยในครั้งนี้วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อคสมบูรณ์ (Randomized Complete Block Design) จำนวน 4 ซ้ำ เปรียบเทียบกับการฉีดพ่นจุลินทรีย์ พด.1 และการเผาตอซังฟางข้าวดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ทำการหมักย่อยฟางข้าวด้วยเอนไซม์ ดี.ดี. ดินเดิม (500 ซีซี/ไร่) กรรมวิธีที่ 2 ทำการหมักย่อยฟางข้าวด้วยจุลินทรีย์ พด.1 (5 ลิตร/ไร่) กรรมวิธีที่ 3 ทำการเผาฟางข้าว จากนั้นเก็บข้อมูลประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าวแบ่งเป็น 2 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 ประสิทธิภาพของ ดี.ดี.ดินเดิม เอ็นไซม์ ในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว ก่อนทำการทดลองสุ่มเก็บตัวอย่างดินในแต่ละแปลงย่อย (ตามวิธีการของกรมพัฒนาที่ดิน) เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช หลังจากดำเนินการวิจัย สุ่มเก็บตัวอย่างตอซังและฟางข้าวในแต่ละแปลงย่อย นำมากตรวจวัดแรงตัดตอซังและฟางข้าววิเคราะห์โดยเครื่อง Texture analyzer (กิโลกรัม) และทำการสุ่มตัวอย่างน้ำในแต่ละแปลงย่อย นำมาตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ จากนั้นทำการสุ่มเก็บตัวอย่างดินในแต่ละแปลงย่อยอีกครั้ง เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ความเป็นกรด-ด่างของดินและปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช เก็บข้อมูลต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.1 ปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอฟอสรัส (P) และโพแทสเซียม (K) โดยทำการวิเคราะห์ทั้งก่อนและหลังการทดลองย่อยสลายฟาง 1.2 แรงตัดตอซังและฟางข้าววิเคราะห์โดยเครื่อง Texture analyzer (กิโลกรัม) 1.3 ความเป็นกรด-ด่างของดินและน้ำ การทดลองที่ 2 การเจริญเติบโตของต้นกล้าข้าวและผลผลิตหลังจากการใช้ ดี.ดี.ดินเดิม เอ็นไซม์ ย่อยสลายตอซัง และฟางข้าว หลังทำการหว่านเมล็ดโดยเครื่องหว่านเมล็ดแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ หลังข้าวแตกกอใส่ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ และในระยะกำเนิดช่อดอกใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-21 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ ทำการดังต่อไปนี้ 2.1 ความสูงของต้นข้าว (เซนติเมตร) ภายในพื้นที่เก็บตัวอย่างขนาดกว้าง x ยาว เท่ากับ 50 x 50 เซนติเมตร จำนวน 5 จุดต่อแปลง ทุก 15 วัน 2.2 นับจำนวนการแตกกอของต้นข้าว 2.3 ความยาวของเมล็ดข้าวเปลือก (มิลลิเมตร) โดยเวอร์เนียร์แคลิเปอร์ 2.4 จำนวนเมล็ดลีบ (เปอร์เซ็นต์) 2.5 จำนวนเมล็ดด่าง (เปอร์เซ็นต์) 2.6 จำนวนข้าวดีด (เปอร์เซ็นต์) 2.7 จำนวนเมล็ดต่อรวง (เปอร์เซ็นต์) 2.8 จำนวนวัชพืช (ต้นต่อพื้นที่) 2.9 น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด (กรัม) นำเมล็ดข้าวออกจากรวงข้าวที่เก็บมาจากแปลงวิจัยแล้วจึงนำไปชั่งน้ำหนัก โดยใช้เครื่องชั่งอย่างละเอียดทศนิยม 2 ตำแหน่ง 2.10 น้ำหนักผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ (กิโลกรัม)
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :ทดสอบประสิทธิภาพ ดี.ดี. ดินเดิม เอ็นไซม์ ในการย่อยสลายฟางข้าว การเจริญเติบโตข้างต้นข้าว และปริมาณผลผลิต
จำนวนเข้าชมโครงการ :1675 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางศรัณยา เพ่งผล บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย60
นายปัณณวิชญ์ เย็นจิตต์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย40

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด