รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000542
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :ผลของโอโซนต่อการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาข้าวเจ้าขาว กข 43
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Effect of ozone on nutritional and quality changes during storage of white rice RD 43
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :โอโซน คุณภาพ โภชนาการ ข้าว กข43
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :65000
งบประมาณทั้งโครงการ :65,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :30 พฤศจิกายน 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :29 พฤศจิกายน 2564
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :เกษตรศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
กลุ่มวิชาการ :อุตสาหกรรมเกษตร
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ข้าว (Oryza sativa L.) เป็นธัญพืชซึ่งประชากรโลกส่วนใหญ่บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ข้าวเป็นธัญพืชซึ่งมีการปลูกมากที่สุดเป็นอันดับสามทั่วโลก รองจากข้าวสาลีและข้าวโพด ปัจจุบันข้าวเจ้าขาวพันธุ์ กข 43 เป็นที่นิยมในการเพาะปลูกและบริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้าวพันธุ์ กข 43 มีค่าดัชนีน้ำตาลระดับปานกลางค่อนข้างต่ำเพียง 57.5 ซึ่งต่ำกว่าข้าวพันธุ์อื่น อาทิเช่น ข้าวพันธุ์ กข 15 มีดัชนีน้ำตาลเท่ากับ 69.1 ส่วนข้าวพันธุ์พิษณุโลก 80 มีค่าดัชนีน้ำตาลเท่ากับ 59.5 เป็นต้น ข้าวพันธุ์ กข 43 มีค่าปริมาณอมิโลสที่ต่ำหรือหมายความว่ามีความอ่อนนุ่มของเมล็ดข้าวมาก ซึ่งมีค่าอมิโลสเท่ากับ 18.82% โดยอยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ 10-19% ทำให้ข้าวพันธุ์ กข 43 มีความอ่อนนุ่ม รับประทานง่ายใกล้เคียงข้าวหอมดอกมะลิ 105 นอกจากนี้ยังพบว่า ข้าวพันธุ์ กข 43 มีคาร์โบไฮเดรตที่ทนต่อการย่อยมากกว่าข้าวพันธุ์ที่มีปริมาณอมิโลสต่ำสายพันธุ์อื่น และมีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมน้ำตาลจากข้าวได้น้อยลงเช่นกัน (กรมการข้าว, 2562) สำหรับความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษาข้าวสารมักมีสาเหตุมาจากนก หนู แมลงในโรงเก็บ รวมทั้งปฏิกิริยาเคมีต่างๆ ภายในเมล็ด ได้แก่ กระบวนการหายใจของเมล็ด ซึ่งมีผลทำให้เมล็ดเหลือง เกิดกลิ่นเหม็นอับ และมีสิ่งสกปรกเจือปนมาก จึงนิยมใช้วิธีการรมด้วยสารเคมีที่มีชื่อว่าฟอสฟีน (PH3) เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงในเมล็ดข้าวและธัญพืช (Tiwari et al., 2010) แต่อาจมีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากสารฟอสฟีนเข้าสู่ร่างกายจากการสูดดมทำให้เกิดพิษต่ออวัยวะที่ต้องการออกซิเจน ได้แก่ สมอง หัวใจ ตับ และไตได้ (ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี, 2543) จึงควรใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean technology) และได้เป็นที่ยอมรับว่าสามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างปลอดภัย (Generally recognized as safe; GRAS) เช่น การใช้โอโซน (O3) ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และป้องกันกำจัดแมลง นอกจากนี้ยังมีความเป็นพิษน้อยเนื่องจากโอโซนไม่ค่อยเสถียรเมื่อทำปฏิกิริยากับเชื้อและแมลงแล้วจะสลายตัวกลายเป็นออกซิเจนได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงควรนำโอโซนมาใช้เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บรักษาข้าวสารโดยสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์ กข 43 ได้
จุดเด่นของโครงการ :1.ไม่ใช้สารเคมีใน 2.ได้ความเข้มข้นในการใช้โอโซน 5 กรัม/ลิตร ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาคุณภาพกายภาพ เคมี และคุณภาพหลังการหุงต้มของข้าวขัดสีขาวและข้าวกล้อง กข 43
วัตถุประสงค์ของโครงการ :เพื่อหารูปแบบการใช้โอโซนที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาข้าวสารกล้องและข้าวสารเจ้าขัดสีขาวพันธุ์ กข 43 ที่ผ่านการรมโอโซน
ขอบเขตของโครงการ :ศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดข้าวสารกล้องและข้าวสารขัดขาวพันธุ์ กข 43 ที่ผ่านกรรมวิธีการรมด้วยโอโซน 3 ความเข้มข้น ทำการวิเคราะห์ทางกายภาพ คุณค่าทางโภชนาการ และคุณภาพหลังการหุงต้ม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :ได้รูปแบบการใช้โอโซนในการรมข้าวสาร กข 43 ที่สามารถรักษาคุณภาพทางโภชนาการและการเก็บรักษา และได้ต้นแบบในการรมโอโซนในข้าวสารก่อนนำไปบรรจุถุงสำหรับขายปลีก ของวิสาหกิจชุมชนบ้านบางเดื่อ ต.น้ำทรง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :ข้าวพันธุ์ กข43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี(พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2542 คัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและในนาเกษตรกรตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2551 มีการรับรองพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว พิจารณารับรองพันธุ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ใช้ชื่อว่า ข้าวเจ้า กข-43 แหล่งปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 ในปัจจุบันจะพบแหล่งปลูกอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้าว กข 43 ควรปลูกในพื้นที่นาชลประทาน พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หรือพื้นที่ที่เกษตรกรมีเวลาทำนาน้อยกว่าพื้นที่ปลูกข้าวอื่นๆ รวมไปถึงในพื้นที่ที่มีปัญหาวัชพืชระบาดในนาข้าวก็เหมาะจะปลูกข้าว กข. 43 ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ข้าว กข 43 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่นอยู่ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพียง 95 วันก็เก็บเกี่ยวได้ อีกทั้งข้าว กข 43 ยังเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระดับปานกลาง ในพื้นที่ที่มีปัญหาเพลี้ยกระโดดจึงสามารถปลูกข้าวกข43 ได้ สารอาหารสำคัญในข้าวพันธุ์ กข43 (กรมการข้าว , 2562) ข้าวขาว นุ่ม ให้น้ำตาลต่ำ ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่สมบูรณ์ ถือเป็นข้าวทางเลือกสำหรับผู้ใส่ใจสุขภาพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างมาก ข้าวขาว นุ่ม น้ำตาลน้อย อร่อยได้สุขภาพ 1. มีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย เมื่อข้าวมีการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อยทำให้ร่างการสามารถดูดซึมน้ำตาลจากข้าวได้น้อยลงเช่นกัน 2. ค่าดัชนีน้ำตาลระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คือค่าที่บอกถึงความสามารถในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ถ้า ดัชนีน้ำตาล ต่ำ แสดงว่าเพิ่มระดับน้ำตาลน้อย 3. มีคาร์โบไฮเดรตทนต่อการย่อย ข้าว กข 43 เป็นข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรตทนต่อการย่อยได้ดีกว่าข้าวอมิโลสต่ำสายพันธุ์อื่น ประโยชน์ของข้าว กข 43 ข้าวเจ้าพันธุ์ กข.43 ให้ปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวอมิโลสต่ำชนิดอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ในมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีที่พบว่าข้าวพันธุ์ กข.43 มีค่าดัชนีน้ำตาลในข้าวขาวน้อยกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และมีค่าใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์หอมกระดังงา ซึ่งเป็นข้าวอมิโลสสูง การเก็บรักษาข้าวโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 วิธีคือ 1. การเก็บรักษาในสภาพปกติโดยเก็บรักษาไว้ที่โรงเก็บ โดยไม่มีการควบคุมความ ชื้นสัมพัทธ์และอุณหภูมิ เป็นวิธีที่นิยมใช้กัน เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การเก็บข้าวในยุ้งฉางของเกษตรกร ในโรงสีหรือ โกดังขนาดใหญ่ ๆ 2. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เพียงอย่างเดียว เช่น การเก็บในไซโลเก็บข้าวที่มี การเป่าลมเย็น เป็นต้น การเก็บในสภาพที่มีอุณหภูมิ ต่ำ จะช่วยชะลอการสูญเสียทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 3. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมความ ชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ได้แก่ การเก็บไว้ในภาชนะ ที่ปิดมิดชิด ป้องกันการผ่านเข้าออกของอากาศได้ การเก็บโดยวิธีนี้ ความชื้นของข้าวจะเป็นตัวกำหนด ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศภายในภาชนะ ดังนั้น จะต้องทำให้ข้าวมีความชื้นก่อนเก็บรักษาไม่เกิน 10% วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก 4. การเก็บในสภาพที่มีการควบคุมอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เป็นวิธีที่ดีที่สุด รักษาคุณภาพของข้าวได้ดี เก็บได้นาน แต่เสียค่า ใช้จ่ายสูง เช่น การเก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวใน ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว แมลงศัตรูในโรงเก็บที่สำคัญ (สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว, 2555) 1. ผีเสื้อข้าวเปลือก ผีเสื้อข้าวเปลือก เป็นแมลงศัตรูสำคัญที่สุด ของข้าวเปลือก เข้าทำลายโดยการวางไข่ที่เมล็ด ข้าวเปลือกตั้งแต่ยังอยู่ในนา ตัวอ่อนจะอาศัยและกัด กินภายในเมล็ดจนเหลือแต่เปลือก เมื่อเข้าไปในยุ้ง ฉาง หรือโรงสี จะมีผีเสื้อข้าวเปลือกบินหรือเกาะ อยู่บนกองข้าว ดังนั้นการทำลายจึงมักจะมีเฉพาะ ส่วนบนของกองข้าวเท่านั้น การทำลายของผีเสื้อ ข้าวเปลือกจะสูงเมื่อทำการเก็บเกี่ยวล่าช้า ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อที่มีขนาดเล็กมาก สี น้ำตาลอ่อนเมื่อกางปีกออกยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร ปีกหลังมีสีออกเทา ตามปีกมีขนยาว ๆ เป็นแผง ซึ่งมีความยาวมากกว่าความกว้าง ของปีก ปลายปีกจะโค้งแหลมยื่นออกไป เมื่อเกาะอยู่ปีกจะหุบขนานกับลำตัว ไข่มี สีขาวรูปยาวรีและจะฟักภายใน 4-6 วัน ตัวอ่อนจะเจาะเข้าไปอาศัยในเมล็ดประมาณ 26 35 วัน ก็จะเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 3-6 วัน เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะเจาะผิวเมล็ดออกมา ทำให้ เมล็ดเป็นรู และมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3-7 วัน วงจรชีวิต ใช้เวลา 36-42 วัน 2. มอดข้าวเปลือก หรือมอดหัวป้อม มอดข้าวเปลือก เป็นแมลงศัตรูสำคัญของ ข้าวเปลือก ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยตัวอ่อนจะอาศัยและกัดกินอยู่ภายในเมล็ดจนกลายเป็นตัว จึง เจาะออกมาจากเมล็ด ทำให้เมล็ดเหลือแต่เปลือก ส่วนตัวเต็มวัยจะแทะเล็มเมล็ดให้เป็นรอยหรือเป็นรู และสามารถบินได้ไกล จึงทำให้ระบาดไปยังโรงเก็บอื่นๆ ได้ง่ายตัวเต็มวัยมีรูปร่างทรงกระบอกสีน้ำตาลเข้ม ปนแดง มีความยาว 2.5-3.0 มิลลิเมตร ส่วนหัวสั้น และงุ้มซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรก เมื่อมองดูด้านบนจะ เห็นส่วนของอกเป็นหัว จึงทำให้มีชื่อว่า มอดหัวป้อม ไข่เมื่อฟักเป็นตัวหนอนมีลักษณะขาวขุ่น ระยะตัวอ่อน 21-28 วัน และเข้าดักแด้ภายในเมล็ด 6-8 วัน แล้วจึงเจาะเมล็ดออกมาเมื่อเป็นตัวเต็มวัย วงจรชีวิตใช้เวลา 1 เดือนขึ้นไป ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ นาน 5 เดือน หรือมากกว่า 3. ด้วงงวงข้าว หรือมอดข้าวสาร ด้วงงวงเป็นแมลงที่พบทำลายทั้งข้าวเปลือก และข้าวสาร ตัวเต็มวัยของด้วงงวงมีสีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 2.0-3.0 มิลลิเมตร ส่วนหัวจะยื่นออก มาเป็นงวง สามารถบินออกไปทำลายเมล็ดพืชตั้งแต่ ยังอยู่ในไร่นา ตัวเมียวางไข่บนเมล็ดขณะที่เมล็ด เริ่มสุกแก่ ไข่จะฟักในระยะ 3-6 วัน ตัวอ่อนสีขาว ลำตัวสั้นป้อม และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด ระยะ ตัวอ่อน 20-30 วัน จึงเข้าดักแด้นาน 3-7 วัน เมื่อ เป็นตัวเต็มวัยจะเจาะผิวเมล็ดออกมา ทำให้เมล็ด เป็นรู วงจรชีวิตใช้เวลา 30-40 วัน ตัวเต็มวัยมีชีวิต อยู่ได้นาน 1-2 เดือนหรือมากกว่า การป้องกันและกำจัดแมลงในโรงเก็บโดยไม่ใช้ สารเคมี วิธีกล 1. รักษาความสะอาดโรงเก็บทั้งภายในและ ภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาการเก็บ รักษา 2. การใช้วิธีทางอ้อมกับแมลง เป็นการใช้ สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับแมลง เช่น การแยก เมล็ดแตกหักออกจากเมล็ดดี หรือการเก็บเป็นข้าว เปลือกแทนการเก็บเป็นข้าวสาร 3. การใช้วิธีทางตรงกับแมลง การแยก แมลงออกจากผลิตผล เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกับแมลงระยะ ตัวเต็มวัย เช่น การร่อนแยกแมลง การพลิกกลับ กองข้าวบ่อย ๆ 4. การใช้สารหรือวัสดุคลุกเมล็ด เช่น น้ำมัน สะเดา ปูนขาว ขี้เถ้าแกลบ และทราย เป็นต้น วิธีทางกายภาพ 1. ลดความชื้นของเมล็ดก่อนนำเข้าเก็บ รักษาให้เหลือประมาณ10% จะพบแมลงทำลายน้อย หากลดความชื้นในเมล็ดต่ำกว่า 8% จะไม่พบแมลงทำลาย 2. ควบคุมโดยใช้อุณหภูมิ เช่น การใช้ความ ร้อนที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส ติดต่อกันจะทำ ให้แมลงบางชนิดหยุดการเจริญเติบโตและตายได้หากใช้อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที จะทำให้แมลงทุกชนิดตายหมด หรือเก็บเมล็ด ข้าว ที่อุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส ก็จะ ทำให้แมลงหยุดการเจริญเติบโตได้เช่นกัน 3. การเก็บในภาชนะบรรจุที่ป้องกันเมลงเข้าทำลาย วิธีทางชีวภาพ 1. การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติ โดยการนำ ศัตรูธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ และปล่อย สู่แมลงเป้าหมาย อุปสรรคของวิธีนี้คือ การค้นหา แมลงศัตรูธรรมชาติ วิธีการเลี้ยงและขยายพันธุ์ที่ ง่ายและประหยัด เช่น แตนเบียน ตัวห้ำ เป็นต้น 2. โรคของแมลงได้แก่ การนำจุลินทรีย์ที่ เป็นเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ มาใช้ในการควบคุม เช่น แบคทีเรีย เชื้อราต่าง ๆ เป็นต้น โอโซน (O3) โอโซนเกิดจากปฏิกิริยาทางไฟฟ้าได้เป็นโอโซนที่มีจำนวนออกซิเจนจำนวน 3 อะตอม โอโซนเป็นแก๊สที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี มีคุณสมบัติเป็นตัวออกซิไดส์สารชีวโมเลกุลอื่นได้ดี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโอโซน การรมโอโซน (Ozone fumigation) มีผลในการฆ่าแมลง กำจัดสารพิษ และยับยั้งกิจกรรมของจุลินทรีย์ต่างๆ ในเมล็ดธัญพืชได้ดี โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของเมล็ด (Tiwari et al., 2010) การใช้แก๊สโอโซนความเข้มข้น 13.9 มิลลิกรัมต่อลิตร รมเมล็ดข้าวสาลีทำให้การตายของตัวอ่อนแมลง Tribolium confusumเป็น 72.6% และยังมีผลทำให้ตัวเต็มวัยตายถึง 90 - 100% (Isikber and Oztekin, 2009) การรมโอโซนมีผลในการฆ่าแมลงต่างๆ ในโรงเก็บเมล็ด ได้แก่ Tribolium castaneum, Rhyzopertha dominica, Oryzaephilus surinamensis, Sitophilus oryzae และEphestiae lutella (Sousa et al., 2008) ซึ่งความเป็นพิษของโอโซนต่อแมลงนั้นขึ้นอยู่กับระยะการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ระยะตัวอ่อนและระยะดักแด้ของแมลง Tribolium castaneum พบว่า มีความต้านทานต่อโอโซนต่ำกว่าแมลงตัวเต็มวัย (Erdman, 1980) ศรัณยา และคณะ (2562) พบว่า ข้าวสารเจ้าขาวพันธุ์ชัยนาท 01, ข้าวสารหอมมะลิ 105 และ ข้าวสารเจ้าขาวพันธุ์ชัยนาท 01 ผสมข้าวสารหอมมะลิ 105 ในอัตราส่วน 3 : 1 มีปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้นเมื่อรมด้วยโอโซนความเข้มข้น 5 กรัมต่อลิตรเป็นเวลา 1 นาที ต่อถุง 300 กรัม สำหรับประเทศไทยมีการนำโอโซนมาประยุกต์ในการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวสารยังมีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยน้อยมาก
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :การทดลองครั้งนี้ได้วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์ (Completely Randomized Design, CRD) โดยศึกษาผลของโอโซนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดข้าวสารกล้องและข้าวสารขัดขาวพันธุ์ กข 43 ที่ผ่านกรรมวิธีการรมด้วยโอโซน จำนวน 3 กรรมวิธี คือ ไม่รมโอโซน รมโอโซนความเข้มข้น 1 และ 5 กรัม/ลิตร (5 ซ้ำ) แบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของข้าวสาร ได้แก่ จำนวนแมลง การสูญเสียน้ำหนัก ความชื้นของเมล็ด ทุกๆ 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน ส่วนที่ 2 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการภายในเมล็ดข้าวสารกล้องและข้าวสารขัดขาวที่ผ่านกรรมวิธีการรมด้วยโอโซน มาทำการวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ฯลฯ ทุกๆ 30 วัน เป็นเวลา 3 เดือน และ ส่วนที่ 3 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของข้าวหลังการหุงต้ม ได้แก่ ปริมาณของแข็งที่หมดที่ละลายน้ำได้ (total soluble solids, TSS) การเกิดโรค และการยอมรับของผู้บริโภค ทุกๆ 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป Statistical Package for the Social Sciences (SPSS)
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :การทดลองนี้ได้วางแผนการทดลองแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์ (Completely Randomized Design, CRD) ซึ่งศึกษาผลของโอโซนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดข้าวสารกล้องและข้าวสารขัดขาวพันธุ์ กข 43 โดยนำข้าวสารเจ้าขาวพันธุ์ กข 43 ชนิดข้าวกล้อง และชนิดสีขัดขาวมาใส่ถุงพลาสติกชนิดซิปปริมาณ 300 กรัมต่อถุง และทำการไล่อากาศภายในถุงออกแล้วรีบปิดปากถุง จากนั้นนำถุงข้าวสารมาเจาะบริเวณกึ่งกลางถุงด้วยปลายท่อที่ปล่อยแก๊สโอโซนเพื่อรมข้าวสารที่ความเข้มข้นต่างกัน แบ่งเป็น 3 กรรมวิธี ดังนี้ วิธีที่ 1 ไม่รมด้วยแก๊สโอโซน (Control) วิธีที่ 2 นำข้าวสารรมด้วยแก๊สโอโซนที่ความเข้มข้น 1 กรัมต่อลิตร เป็นเวลา 10 วินาที วิธีที่ 3 นำข้าวสารรมด้วยแก๊สโอโซนที่ความเข้มข้น 5 กรัมต่อลิตร เป็นเวลา 10 วินาที เมื่อรมข้าวสารครบระยะเวลา 10 วินาที แล้วให้รีบนำเทปกาวมาปิดรอยเจาะของถุงไว้ ก่อนนำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งสามารถเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของข้าวสาร 1.1 การเปลี่ยนแปลงสีของข้าวสารทุกๆ 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน (5 ซ้ำ) วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสีข้าวสารผสมระหว่างการเก็บรักษาด้วย เครื่องวิเคราะห์สียี่ห้อ Aunter Lab รุ่น Color Quest XE ได้ค่า L*, a* และ b* จากนั้นนำมาคำนวณค่า White Index (WI) ดังสูตร WI = 100-(100-L)2+(a)2+(b)2 1.2 การสูญเสียน้ำหนัก โดยวิเคราะห์การสูญเสียน้ำหนัก ดังสูตร การสูญเสียน้ำหนัก (เปอร์เซ็นต์) = {(นน.ก่อน - นน.หลัง) / นน.ก่อน} x 100 1.3 จำนวนแมลงโดยนับจำนวนแมลงทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในถุงข้าวสาร แล้วจดบันทึกทุก 30 วัน ตลอดอายุการเก็บรักษา 3 เดือน จากนั้นคำนวณเป็นจำนวนแมลงต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม ส่วนที่ 2 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการภายในเมล็ดข้าวสารกล้องและข้าวสารขัดขาวที่ผ่านกรรมวิธีการรมด้วยโอโซน มาทำการวิเคราะห์ปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และความชื้น ด้วยวิธี AOAC (2016) ก่อนและหลังการเก็บรักษาเป็นเวลา 3 เดือน (4 ซ้ำ) ส่วนที่ 3 วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของข้าวหลังการหุงต้ม โดยใช้ข้าวกล้อง 300 กรัม : น้ำ 550 มิลลิลิตร และข้าวสารสีขัดขาว 300 กรัม : น้ำ 450 มิลลิลิตร เท่ากัน ทุกๆ 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน (4 ซ้ำ) ได้แก่ 3.1 ปริมาณของแข็งที่หมดที่ละลายน้ำได้ (total soluble solids, TSS) นำข้าวที่หุงสุกแล้วมาใส่ในโกร่ง 5 กรัม บดกับน้ำกลั่น 10 มิลลิลิตร เป็นเวลา 10 วินาที จากนั้นใช้หลอดหยดสารดูดน้ำข้าวที่บดแล้วมาหยดลงบนเครื่อง hand refractometer หน่วยเป็น %Brix 3.2 การเกิดโรค นำเมล็ดข้าวสารและเมล็ดข้าวหลังการหุงต้มที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างจำนวนอย่างละ 10 เมล็ด มาวางเรียงบนกระดาษทิสชู่ในกล่องสเปย์น้ำให้ชุ่ม แล้วบ่มเชื้อไว้ที่อุณหภูมิห้อง (29 องศาเซลเซียส) จดบันทึกระยะเวลาที่เริ่มเกิดเชื้อและนับจำนวนเมล็ดที่เกิดโรคทุก 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง แล้วคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคของข้าวสารและข้าวสุก 3.3 การยอมรับของผู้บริโภค ประเมินการยอมรับของผู้บริโภค โดยมีคุณลักษณะที่ประเมินต่างๆ ได้แก่ สี กลิ่น รสชาติ เนื้อสัมผัส และการยอมรับโดยรวม ซึ่งผู้ประเมินจากอาสาสมัครเป็นบุคคลทั่วไปอายุ 20-50 ปี ที่นิยมบริโภคข้าวเจ้าพันธุ์ กข 43 จำนวน 30 คน โดยความยินยอมสมัครใจเป็นผู้ประเมิน และมีระดับคะแนนทั้งหมด 9 คะแนน (9-Point hedonic scaling test) มีระดับคะแนนตั้งแต่ 1-9 คะแนน โดยเรียงตามการยอมรับ ดังนี้ คะแนน 1 = ไม่ชอบมากที่สุด คะแนน 6 = ชอบเล็กน้อย คะแนน 2 = ไม่ชอบมาก คะแนน 7 = ชอบปานกลาง คะแนน 3 = ไม่ชอบปานกลาง คะแนน 8 = ชอบมาก คะแนน 4 = ไม่ชอบเล็กน้อย คะแนน 9 = ชอบมากที่สุด คะแนน 5 = เฉยๆ จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป Statistical Package for the Social Sciences (SPSS)
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :การทดลองครั้งนี้ได้วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design; CRD) โดยศึกษาผลของโอโซนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพระหว่างการเก็บรักษาเมล็ดข้าวสารขัดสีขาวและข้าวกล้องพันธุ์ กข43 ที่ผ่านกรรมวิธีการรมโอโซนต่างๆ จำนวน 6 กรรมวิธี (4 ซ้ำ) คือ 1) ข้าวขัดสีขาวไม่รมโอโซน 2) ข้าวขัดสีขาวรมโอโซนความเข้มข้น 1 กรัม ต่อลิตร 3) ข้าวขัดสีขาวรมโอโซนความเข้มข้น 5 กรัม ต่อลิตร 4) ข้าวกล้องไม่รมโอโซน 5) ข้าวกล้องรมโอโซนความเข้มข้น 1 กรัม ต่อลิตร และ 6) ข้าวกล้องรมโอโซนความเข้มข้น 5 กรัม ต่อลิตร จากนั้นแบ่งการวิเคราะห์ข้อมูลเป็น 3 ส่วน ดังนี้
จำนวนเข้าชมโครงการ :1520 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางศรัณยา เพ่งผล บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด