รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000540
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Research Synthesis Study of Nakhon Sawan Rajabhat University to Utilization for Commercial According to the Thailand 4.0 Policy
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :การวิเคราะห์, ปัจจัย, อิทธิพล, ทุนวิจัย
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :15000
งบประมาณทั้งโครงการ :15,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :07 พฤษภาคม 2561
วันสิ้นสุดโครงการ :06 พฤษภาคม 2562
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยพื้นฐาน(ทฤษฎี)/บริสุทธิ์
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ในวันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559 นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศทิศทางของประเทศไทยในอนาคตของรัฐบาล เรื่อง “ประเทศไทย 4.0” ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติเฉพาะกิจ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย จากการประกาศทิศทางของประเทศไทยในอนาคต ณ วันนั้นทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและภาคเอกชนต่างตื่นตัวกับนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมทั้งมีการดำเนินงาน การจัดโครงการต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องเผชิญกับ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” กับดักเหล่านี้เป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทยในปัจจุบัน นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งประเทศไทย 4.0 นี้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือ Value – Based โดยการนำเอาความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดันและนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศให้เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 และแน่นอนว่าหนึ่งในการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้นมาจากองค์ความรู้ที่เกิดจากงานวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงเศรษฐกิจ หรือเชิงสังคม ดังนั้นประเทศไทยจึงมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก หากเราปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จ ประเทศไทยก็จะกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” แต่หากทำไม่สำเร็จ ก้าวข้ามกับดักเหล่านี้ไปไม่ได้ประเทศไทยก็จะตกอยู่ในภาวะที่เรียกกันว่า “ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าไปอีกนาน” (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2559) ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกระบวนการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการต่อยอดงานวิจัย เพื่อให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนและเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จะสามารถนำไปสร้างนวัตกรรมอันจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคต พร้อมทั้งเป็นการสนับสนุนให้งานวิจัยได้มีโอกาสได้ “ขึ้นห้าง” และไม่ปล่อยงานวิจัยให้ “ขึ้นหิ้ง” เหมือนกับอดีตที่ผ่านมา
จุดเด่นของโครงการ :หนึ่งในพันธกิจหลักของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์คือ ผลิตงานวิจัยและงานสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม ซึ่งในแต่ละปีมีทุนวิจัยที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก โดยสามารถแบ่งประเภทของทุนวิจัยได้ 3 ประเภท คือ ทุนอุดหนุนวิจัยประเภทเงินงบประมาณ ทุนอุดหนุนวิจัยประเภทเงินรายได้ และทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก หนึ่งในภารกิจหลักของสถาบันวิจัยและพัฒนาคือ การจัดสรรทุนวิจัย กำกับ ติดตาม และสรุปภาพรวมการดำเนินงานวิจัย การที่สถาบันวิจัยและพัฒนาต้องบริหารจัดการทุนวิจัยจำนวนมากในแต่ละปีทำให้สถาบันวิจัยและพัฒนาได้นำระบบสารสนเทศด้านงานวิจัยมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อจัดสรรทุนวิจัย กำกับ ติดตาม และสรุปผลการดำเนินงานวิจัยจากทุนวิจัยทั้ง 3 ประเภทนี้ โดยระบบสารสนเทศด้านงานวิจัยที่สถาบันวิจัยและพัฒนาใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัยมี 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System : NRMS) ใช้สำหรับบริหารจัดการทุนวิจัยจากเงินงบประมาณ 2) ระบบบริหารจัดการงานวิจัยของหน่วยงาน (Department Research Management System : DRMS) ใช้สำหรับบริหารจัดการทุนวิจัยจากเงินรายได้ 3) ระบบสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (Management Information System : MIS) ใช้รวบรวมข้อมูลด้านทุนวิจัยทั้งหมดจากทุกแหล่งทุนของบุคลากรในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัย แม้ว่าสถาบันวิจัยและพัฒนาจะเป็นหน่วยงานนำร่องในการนำระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการงานวิจัยของหน่วยงานพร้อมทั้งจัดทำข้อมูลด้านงานวิจัยเข้าสู่ระบบสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (Management Information System : MIS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ในการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ต่อยอดในงานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริการวิชาการ การวิจัย หรือการต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับงบประมาณที่มหาวิทยาลัยหรือแหล่งทุนต่าง ๆ ได้จัดสรรให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นผู้วิจัยจึงทำการสังเคราะห์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็น การต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย การต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้เกิดการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจ สังคม ของชุมชมท้องถิ่น หรือการต่อยอดงานวิจัยเพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อสังเคราะห์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ 2. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนและจัดสรรทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
ขอบเขตของโครงการ :1. ขอบเขตของตัวแปรที่ศึกษา ตัวแปรต้น : ตัวแปรคุณลักษณะงานวิจัย 3 ด้าน ได้แก่ แนวคิดหรือทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัย (Meta Theory) ด้านวิธีวิทยาการวิจัย (Meta Method) ด้านผลการวิจัย (Meta Data Analysis) ตัวแปรตาม : งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ และเชิงวิชาการ 2. ขอบเขตด้านเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้เป็นการสังเคราะห์งานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยมีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในครั้งนี้ได้แก่ แนวคิดทางทฤษฎีด้านการสังเคราะห์งานวิจัย แนวคิดทางทฤษฎีด้านการบริหารงานวิจัย ทฤษฎีการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย R2R (Routine to Research) แนวคิดเกี่ยวกับประเทศไทย 4.0 3.ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจที่มีการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพผู้วิจัยได้กำหนดประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษามีดังนี้ ประชากร : งานวิจัยที่ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2560 กลุ่มตัวอย่าง : งานวิจัยที่ได้รับทุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2560 ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งได้โดยวิธีการคัดเลือกตามเกณฑ์ในการคัดเลือกงานวิจัยที่ผู้วิจัยกำหนดขึ้น เกณฑ์ในการคัดเลือกงานวิจัย 1) เป็นงานวิจัยเชิงทดลองที่ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้และเป็นงานวิจัยที่เสร็จสิ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2560 2) เป็นงานวิจัยที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์เป็นผู้จัดสรร หรือกำกับติดตามตามพันธกิจของสถาบันวิจัยและพัฒนา 4. ขอบเขตด้านระยะเวลา ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการครั้งนี้ 12 เดือน นับจากวันเริ่มเซ็นสัญญา
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1.ได้งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 2.ได้แนวทางในการสนับสนุนและจัดสรรทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :ปราณี พิพัฒน์สถิตกุล (2556) ได้สังเคราะห์งานวิจัยด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน : การวิเคราะห์อภิมาน พบว่าสาขาที่ทำการศึกษามากที่สุดคือ สาขาหลักสูตรและการสอน งานวิจัยส่วนใหญ่มีจำนวนหน้าทั้งหมด 201-250 หน้า เมื่อไม่รวมภาคผนวกมีจำนวน 51-100 หน้า คุณลักษณะงานวิจัยที่มีต่อค่าขนาดอิทธิพล ได้แก่ 1) เนื้อหาสาระของงานวิจัย 2) ด้านวิธีวิทยาการวิจัยพบว่า ตัวแปรที่สามารถอธิบายความแตกต่างของค่าขนาดอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญมีทั้งหมด 9 ตัวแปร ได้แก่ ประเภทของสมมติฐาน จำนวนสมมติฐาน ระดับชั้นของกลุ่มตัวอย่าง ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง กระบวนการเลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบแผนการวิจัยเชิงทดลอง จำนวนเครื่องมือการวิจัย ระยะเวลาในการทดลอง และประเภทสถิติที่ใช้ วิไลพร อาจมนตรี (2559) ได้สังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการสร้างเขื่อนในประเทศไทย ผลจากการสังเคราะห์งานวิจัยพบว่า ด้านแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัย มีหลายแนวคิดเช่น แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งและการเจรจาต่อรอง แนวคิดคุณภาพชีวิต แนวคิดความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ด้านวิธีวิทยาการวิจัย พบว่า มีการใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณมากที่สุด รองลงมาเป็นการวิจัยผสมผสาน และการวิจัยเชิงคุณภาพ ข้อเสนอแนะในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรมีการนำแนวคิดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และแนวคิดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation Principle) มาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น สานิต ศิริวิศิษฐ์กุล และสมยศ อวเกียรติ (2559) ได้วิจัยเรื่องตัวแบบปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลในการบริหารงานวิจัย 4 ตัวแปร คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ บรรยากาศองค์การ นโยบายด้านการวิจัย และความพึงพอใจในงาน โดยปัจจัยที่อยู่ในตัวแบบสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความผูกพันต่อองค์การของบุคลากรได้ร้อยละ 83 (R 2 = .83) ส่วนผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการบริหารงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนสอดคล้องกับผลการวิจัยเชิงปริมาณทุกประเด็น ยกเว้น ประเด็นนโยบาย การวิจัยที่พบว่าสถาบันอุดมศึกษาเอกชนยังมีความไม่ชัดเจนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานตามนโยบาย
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :แนวคิดทางทฤษฎีด้านการสังเคราะห์งานวิจัย ปราณี พิพัฒน์สถิตกุล (2556 : 5) ได้นิยามการสังเคราะห์งานวิจัยว่า หมายถึง การวิจัยเอกสารประเภทผลงานวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ ประมวลผลและนำเสนอข้อสรุปซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่อย่างเป็นระบบ แนวความคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการทำวิจัย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (2551 : 11) ผู้ตั้งชื่อ R2R (Routine to Research ซึ่งแปลว่าพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย) ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะไปหนุนให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ในระดับที่ทำงานแบบ Routine ได้เกิดความกล้า ได้มีโอกาสหรือได้รับการชื่นชมจากการที่สร้างความรู้ขึ้นมาพัฒนางานของตัวเอง คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่างานประจำก็คืองานที่มีคนกำหนดว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งมักจะเรียกว่า “มาตรฐานการทำงาน” หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า SOP (Standard Operating Procedure) ในความเป็นจริงแล้วมาตรฐานไม่ได้มีไว้ให้ยึดถือ แต่มีไว้ให้ทำลายเพื่อไปสู่มาตรฐานที่ดีกว่า ฉะนั้น SOP จึงไม่ได้มีอยู่ตัวเดียว แต่มี SOP 1,2,3,… อยู่เรื่อยไป และสิ่งที่จะมาทำลาย SOP นั่นก็คือ R2R หรือการวิจัยโดยใช้งานประจำนั่นเอง R2R คือการใช้ข้อมูลและประสบการณ์จากการทำงานประจำธรรมดา ๆ ทั่ว ๆ ไป ในการสร้างความรู้ซึ่งจะทำให้งานประจำกลายเป็นงานสร้างความรู้หรืองานวิจัย และจะทำให้งานประจำกลายเป็นงานที่มีคุณค่า ยิ่งทำงานนานก็ยิ่งมีปัญญา ยิ่งเกิดความรู้ และยิ่งมีประเด็นที่จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล : 1) สืบค้นข้อมูลจากระบบสารสนเทศด้านงานวิจัยที่สถาบันวิจัยและพัฒนาใช้ในการบริหารจัดการ ได้แก่ ระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Management System : NRMS) ระบบบริหารจัดการงานวิจัยของหน่วยงาน (Department Research Management System : DRMS) ระบบสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (Management Information System : MIS) 2) ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็ม จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 3) พิจารณางานวิจัยว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่คัดเลือกหรือไม่ และคัดเลือกเฉพาะที่เป็นไปตามเกณฑ์เพื่อเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง 1) บันทึกข้อมูลและค่าสถิติต่าง ๆ ของงานวิจัยลงในแบบบันทึกงานวิจัย 2) บันทึกข้อมูลลงในแฟ้มบันทึกข้อมูลที่จัดเตรียมไว้
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :364 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางประทานพร คุ้มแก้ว บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด