รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000490
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :A Development of Support System for Managing Human Research Ethics Work of Nakhon Sawan Rajabhat University in the Form of Responsive Web Application
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :ระบบสนับสนุน, การจัดการ, จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏ, นครสวรรค์, เว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :สถาบันวิจัยและพัฒนา > กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :50000
งบประมาณทั้งโครงการ :50,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :01 มกราคม 2563
วันสิ้นสุดโครงการ :01 มกราคม 2563
ประเภทของโครงการ :การพัฒนาทดลอง
กลุ่มสาขาวิชาการ :วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
สาขาวิชาการ :สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
กลุ่มวิชาการ :วิทยาการคอมพิวเตอร์
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการวิจัย ดังปรากฏในยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยข้อ 5 ที่ต้องการยกระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างสรรค์การวิจัย พัฒนานวตกรรมและพันธกิจสัมพันธ์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์จึงได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย รวมทั้งสร้างกลไกในการควบคุมคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรรมการวิจัยในมนุษย์ ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ขึ้น เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการวิจัย คณะกรรมการจริยธรรรมการวิจัยในมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยตระหนักเห็นความสำคัญและเข้าสู่กระบวนการพัฒนางานวิจัย ช่วยพัฒนาให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัย มีคุณภาพ ปลอดภัยแก่อาสาสมัคร เพื่อให้ผลงานวิจัยเป็นที่เชื่อถือได้ และเกิดประโยชน์ต่อสังคม โดยนำหลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ความปลอดภัย ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้เข้าร่วมวิจัยหรืออาสาสมัครที่เข้าสู่โครงการวิจัย ทำให้เกิดกระบวนการพัฒนางานประกันคุณภาพงานวิจัย อ้างอิงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพงานวิจัยที่ดีและเป็นหลักสากล และเพื่อให้การทำงานวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ที่มีหลักการพื้นฐานที่สำคัญคือ “การปกป้องศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนให้ความเคารพในความเป็นคนของผู้เข้าร่วมในโครงการวิจัย หรืออาสาสมัคร” ตลอดจนการมีส่วนร่วมของตัวแทนจากชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการวิจัย อีกทั้งเพื่อรองรับการดำเนินงานตามประกาศของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และเพื่อให้นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษาตลอดจนผู้ที่สนใจได้ทราบข้อจริยธรรม ประกาศ ระเบียบปฏิบัติ รวมถึงข้อกำหนดที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการวิจัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้แหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนทุนวิจัยให้หากเป็นโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์จะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนดำเนินการวิจัย อีกทั้งวารสารวิชาการส่วนมากมีข้อกำหนดในการรับผลงานวิจัยตีพิมพ์ ผลงานวิจัยนั้นจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ก่อนดำเนินการวิจัยอีกด้วย ปัจจุบันการวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ประกอบด้วยการวิจัยทางสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และชีวเวชศาสตร์ เป็นโครงการวิจัยที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการแพทย์ โดยโครงการวิจัยนั้นต้องมีหลักประกันเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินงานวิจัยจะเป็นไปตามหลักจริยธรรมพื้นฐาน ที่มีการคุ้มครองอาสาสมัครในการวิจัยอย่างเหมาะสม และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่เป็นสากลและแนวทางต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง การจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มีขั้นตอนซับซ้อนหลายขั้นตอน และมีเงื่อนไขเรื่องของระยะเวลากำหนด ดังนั้นการดำเนินงานด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ต้องมีการจัดการงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินการอย่างถูกต้องและทันเวลา ปัจจุบันการเก็บข้อมูลการขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของคณะกรรมการฯ ยังอยู่ในรูปแบบของสมุดบันทึกเพื่อลงรับการยื่นขอ แล้วจัดเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษ เก็บอยู่ในแฟ้มเอกสาร ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร อีกทั้งค้นหาเอกสารหรือข้อมูลอาจต้องใช้เวลานาน บางครั้งข้อมูลที่จัดเก็บอาจเสียหายชำรุดได้ง่าย รวมถึงยังไม่สามารถช่วยในการประมวลผล หรือนำข้อมูลมาวิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลที่จัดเก็บอาจจะสูญหายได้ หรือข้อมูลเกิดความผิดพลาดในการจัดเรียง ทำให้การสืบค้นก็ทำได้ยาก ถ้ามีเอกสารจำนวนมาก ต้องใช้เวลาในการจัดเรียง จัดเก็บ และการสืบค้นเอกสาร การจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ยังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์มาสนับสนุนการจัดการงานด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ทำให้การดำเนินการล่าช้าและสิ้นเปลืองทรัพยากร ปัจจุบันเว็บเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตและสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ การสื่อสาร การเดินทาง และการนัดหมาย ทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันล้วนเกี่ยวข้องกับเว็บเทคโนโลยีทั้งสิ้น โดยเฉพาะมีการนำเว็บเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน สามารถจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบ และสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา ทำให้ได้รับความสะดวกสบาย และประหยัดเวลาในการจัดเก็บและเรียกดูหรือสืบค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีเทคโนโลยีเว็บแบบ Responsive เข้ามาทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกเข้าใช้งานได้หลากหลายอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แท็บเล็ต รวมทั้งมือถือ ทุกรุ่น ทุกขนาด สามารถเก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมากและมีระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลปลอดภัย จากปัญหาที่เกิดขึ้นและความก้าวหน้าของเว็บเทคโนโลยีผู้วิจัยจึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive เพื่อให้การดำเนินงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มีประสิทธิภาพ และระบบนี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ และผู้ประเมินงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด สามารถค้นหาข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานและเจ้าหน้าที่ และประโยชน์ต่อหน่วยงานในการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามหลักปฎิบัติ นอกจากนี้การพัฒนาระบบนี้ยังสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ที่เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการองค์กรให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1) เพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive 2) เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :ขอบเขตของงานวิจัยการพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive มีดังต่อไปนี้ 1. ขอบเขตด้านประชากรและกลุ?มตัวอย่าง 1) ประชากร ได้แก่ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เจ้าหน้าที่กองบริหารการวิจัยที่รับผิดชอบด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ 2) กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ เจ้าหน้าที่กองบริหารการวิจัยที่รับผิดชอบด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ นักวิจัย อาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ จำนวน 100 คน โดยการประสานกับเจ้าหน้าที่ของ 5 คณะ ให้เจ้าหน้าที่ของแต่ละคณะสุ่มตัวอย่างให้จากผู้ที่สนใจและสมัครใจเข้าร่วมทดสอบและประเมินระบบ คณะละ 20 คน 2. ขอบเขตด้านข้อมูล ประกอบด้วย - ข้อมูลพื้นฐาน ประกอบด้วย ข้อมูลผู้ใช้ระบบ ข้อมูลประวัตินักวิจัย ข้อมูลประวัติโครงการวิจัย ข้อมูลประวัติการใช้ระบบ ข้อมูลหลักฐานการผ่านการฝึกอบรม - ข้อมูลการสมัครการยื่นขอจริยธรรมในมนุษย์ ประกอบด้วย ข้อมูลแบบบันทึกข้อความขอเสนอโครงการวิจัยฯ ข้อมูลแบบยื่นขอรับการพิจารณาจริยธรรม ข้อมูลแบบประเมินโครงการวิจัยด้วยตนเอง ข้อมูลแบบฟอร์มการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ข้อมูลคำอธิบายสำหรับอาสาสมัครของโครงการวิจัยสำหรับอาสาสมัครเด็กอายุ 7-12 ปี ข้อมูลคำอธิบายสำหรับอาสาสมัครของโครงการกลุ่มทั่วไป (สำหรับอายุ 13-19 ปีและ 20 ปีขึ้นไป) ข้อมูลแบบฟอร์มหนังสือแสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย สำหรับอาสาสมัครเด็กอายุ 7-12 ปี ข้อมูลแบบฟอร์มหนังสือแสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย กลุ่มทั่วไป (สำหรับอายุ 13 - 19 ปี และ 20 ปีขึ้นไป) ข้อมูลแบบฟอร์มหนังสือแสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย-สำหรับผู้แทนโดยชอบธรรม-ผู้ปกครอง ข้อมูลสรุปโครงการวิจัย (Protocol synopsis) ข้อมูลแบบตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร ข้อมูล รายละเอียดเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ข้อมูลงบประมาณของโครงการวิจัย - ข้อมูลรายงานแบบฟอร์มต่างๆ ข้อมูลการพิจารณา ข้อมูลสถานะโครงการ ข้อมูลการติดตาม 3 ขอบเขตด้านเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการทําวิจัย ประกอบด?วย 1) แบบประเมินความพึงพอใจในประสิทธิภาพของระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ 2) ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ ประกอบด้วย - Chrome หรือ Firefox เป็น Web browser สําหรับติดต่อกับระบบ - PHP เป็นภาษาสําหรับพัฒนาระบบ - HTML5 เป็นภาษาสําหรับพัฒนาเว็บแอปพลิเคชัน - Appserv เป็น Web server - MySQL เป็นโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล - โปรแกรมสร้างหน้าจอระบบสําหรับติดต่อกับผู้ใช้?
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1) ได้ระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive 2) สามารถช่วยให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) สามารถช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ดำเนินการยื่นคำขอจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว 4) สามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ และผู้ประเมินงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โดยทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด 5) สามารถค้นหาข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานและเจ้าหน้าที่ และประโยชน์ต่อหน่วยงานในการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามหลักปฎิบัติ 6) สามารถช่วยพัฒนาให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีความปลอดภัยแก่อาสาสมัคร เพื่อให้ผลงานวิจัยเป็นที่เชื่อถือได้ และเกิดประโยชน์ต่อสังคม
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :แนวคิดเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ การวิจัยในมนุษย์เป็นกระบวนการศึกษาที่เป็นระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ทางด้านสุขภาพหรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้กระทำต่อร่างกายหรือจิตใจของผู้รับการวิจัย รวมถึงการศึกษาทางสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับสุขภาพ (คู่มือจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ 1 วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม, 2555) การทำวิจัยในมนุษย์จำเป็นที่จะต้องทำเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ความรู้ความเข้าใจ และเพื่อศึกษาพลวัตทางวัฒนธรรม นักวิจัย มหาวิทยาลัย รัฐบาล และสถาบันเอกชนที่ดำเนินการวิจัย หรือให้ทุนวิจัยในมนุษย์ เหตุผลที่ต้องดำเนินการวิจัยในมนุษย์ คือ 1) เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และความเข้าใจใหม่ 2) เพื่อเพิ่มพูนความก้าวหน้าทางความรู้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่อาสาสมัคร อาสาสมัครอาจได้ประโยชน์จากการพัฒนาการรักษาความเจ็บป่วย จากการค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดี การค้นพบทางประวัติศาสตร์ การเขียน การพูด หรือวัฒนธรรมประเพณี หรือความพึงพอใจในการเสริมสร้างสังคมผ่านการวิจัย และ 3) เพื่อเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมหรือเฉพาะคนบางกลุ่ม อาจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเมือง ซึ่งเป็นผลให้นโยบายดีขึ้น ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับอุบัติการณ์ของโรคอาจช่วยให้การสาธารณสุขดีขึ้น ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับความเป็นอยู่อาจช่วยให้เกิดการพัฒนาทางสังคม (แนวทางจริยธรรมการทำวิจัยในคนแห่งชาติ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ม.ป.ป.) ดังนั้นในการที่นักวิจัยจะดำเนินโครงการวิจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ทดลอง ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน การวิจัยทางคลินิก หรือการวิจัยทางสาธารณสุข สถาบันต่างๆ ได้พยายามออกกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติในการทำวิจัย เพื่อผลักดันให้นักวิจัยได้ปฏิบัติตาม บนพื้นฐานของหลักจริยธรรมการวิจัยสากล อาทิ Nuremberg Code, Declaration of Helzinki, US Belmont Report, CIOMS guideline, WHO GCP Guidelines หรือ ICH GCP Guideline โดยเฉพาะ Belmont Report ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการพิจารณาโครงการวิจัย ในการพิจารณาโครงการวิจัยคณะกรรมการจริยธรรมฯ จะพิจารณาโดยอาศัยหลักจริยธรรมสากล ซึ่งยึดหลักการ 3 หลัก ประกอบด้วย 1) หลักการเคารพความเป็นบุคคล (Respect for person) ได้แก่ เคารพในสิทธิ ศักดิ์ศรี ความเป็นคน โดยกลุ่มตัวอย่าง/อาสาสมัครวิจัย ต้องได้รับการบอกกล่าวและเป็นอิสระในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมในการเข้าโครงการวิจัย และเคารพในความเป็นส่วนตัว/รักษาความลับ ซึ่งไม่มุ่งแสวงหาประโยชน์ จากการวิจัยในกลุ่มคนอ่อนแอเปราะบางที่ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ต่อตนเองได้ 2) หลักผลประโยชน์หรือไม่ก่ออันตราย (Beneficence) ได้แก่ การพิจารณาอาสาสมัครต้องได้ประโยชน์จากการวิจัยมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับการเข้าร่วมวิจัย และ 3) หลักยุติธรรม (Justice) ได้แก่การกระจายความเสี่ยง ความเสมอภาคในการเข้าร่วมโครงการ ในการจัดการการขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรมฯ ต้องพิจารณาว่าโครงการวิจัยนั้นเป็นโครงการวิจัยประเภทใด ซึ่งโครงการวิจัยที่ขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบ่งโครงการวิจัยออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) การขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบยกเว้น (Exemption Review) ได้แก่ โครงการทางการศึกษา เช่น การวิจัยการเรียนการสอน การประเมินประสิทธิภาพของเทคนิคการสอน การประเมินหลักสูตร วิธีการบริหารจัดการชั้นเรียน และประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจ การสัมภาษณ์และการเฝ้าสังเกต เช่น การวิจัยที่เกี่ยวกับผลทดสอบทางการศึกษา (การประเมินความรู้ การวิเคราะห์ปัญหา เจตคติ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา) โครงการวิจัยประเมินระบบงาน โครงการวิจัยบริหารจัดการ และการวิจัยสถาบัน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้รับผิดชอบหน่วยงานหรือองค์กร และมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาระบบหรือนโยบาย โดยการศึกษา ทดสอบ หรือ ประเมินระบบการให้บริการ ประโยชน์ต่อสาธารณชน โครงการวิจัยที่ใช้ข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าผู้รับผิดชอบหน่วยงานหรือองค์กร หรือองค์กรที่เป็นเจ้าของข้อมูล โครงการวิจัยที่มีต้องขออนุญาตหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสิ่งส่งตรวจ เช่น การวิจัยในเชื้อจุลชีพ เซลล์เพาะเลี้ยง โครงกระดูก ฟัน ที่นำมาศึกษาวิจัยต้องไม่มีลักษณะที่สามารถบ่งชี้ถึงตัวบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล หรือสืบเสาะไปถึงเจ้าของข้อมูล หรือข้อมูลทางพันธุกรรมได้ รวมถึงวิธีการวิจัยในศพอาจารย์ใหญ่ 2) การขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบเร่งรัด (Expedited Review) ได้แก่ การวิจัยที่ไม่ใช่ Clinical trial และไม่มี Clinical intervention ยกเว้น การวิจัย Clinical intervention ที่ไม่รุกล้ำร่างกายของอาสาสมัคร เช่น โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น การวิจัยที่มีความเสี่ยงต่ำเทียบเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของอาสาสมัคร เช่น การเก็บเลือดจากอาสาสมัคร การวิจัยนั้นเป็นการเก็บตัวอย่างส่งตรวจด้วยวิธีที่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออาสาสมัคร การวิจัยนั้นต้องเป็นการเก็บข้อมูลโดยใช้เครื่องมือที่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออาสาสมัคร ไม่ต้องใช้ยาชา หรือยาสลบเข้าร่วมในการตรวจ และเป็นวิธีการที่ใช้ในการตรวจเพื่อการรักษาตามมาตรฐาน การเก็บข้อมูลจากรายงานต่างๆ หรือตรวจตัวอย่างส่งตรวจจากคลังที่ได้รับการเก็บไว้เพื่อการรักษาตามปกติ มิใช่เพื่อการวิจัย การเก็บข้อมูลจากการบันทึกเสียงหรือภาพโดยการถ่ายจากกล้องถ่ายรูปหรือวีดิทัศน์ การวิจัยที่เป็นการสังเกตพฤติกรรม หรือการสัมภาษณ์กลุ่มบุคคล การสัมภาษณ์เชิงลึก การ สนทนากลุ่ม การตรวจตัวอย่างส่งตรวจใดๆ ต้องไม่ใช่การตรวจทางพันธุศาสตร์อันที่จะสามารถเชื่อมโยงถึงผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลหรือสิ่งส่งตรวจได้ 3) การขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แบบเต็มรูปแบบ (Full Board Review) ได้แก่ โครงการวิจัยทาง Clinical trial และ Clinical intervention โครงการที่เกี่ยวข้องกับการประเมินความพึงพอใจและระดับคุณภาพโดยผู้บริโภคถึงรสชาด และคุณภาพอาหาร คุณภาพของสินค้าและบริการ ทั้งนี้จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด หรือสารก่อโทษต่อผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมถึงคุณภาพและปริมาณของส่วนประกอบของอาหาร ต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โครงการที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยาแผนปัจจุบัน โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการแพทย์และเครื่องมือที่นำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ท่าทางที่ไม่ได้ใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น โยคะ ท่านวด และท่าการออกกำลังกาย ฯลฯ โครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) หรือเซลล์สืบพันธุ์ ไซโกต ตัวอ่อนมนุษย์ และโครงการวิจัยอื่นๆ ที่คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์เห็นชอบ (การแบ่งประเภทโครงการวิจัย – คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์, 2554). ในส่วนประเด็นการพิจารณาโครงการวิจัยของคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมฯ แบ่งเป็น 2 ประเด็น 1) การพิจารณาด้านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะพิจารณาในประเด็นดังนี้ เหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยในมนุษย์ ความเหมาะสมของการออกแบบการวิจัยเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย เช่น จำนวนกลุ่มตัวอย่าง การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง/อาสาสมัครวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย และ ความเหมาะสมในการวิเคราะห์ข้อมูล 2) การพิจารณาประเด็นด้านจริยธรรม จะพิจารณาในประเด็นการพิทักษ์สิทธิ ศักดิ์ศรี ความปลอดภัยของกลุ่มตัวอย่าง/อาสาสมัครวิจัย ซึ่งประกอบด้วย การดูแลและคุ้มครองกลุ่มตัวอย่าง/อาสาสมัครวิจัย การรักษาความลับ กระบวนการขอความยินยอม การตอบแทน การชดเชย (คู่มือจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ 1 วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม, 2555) ในการวิจัยนี้ผู้วิจัยได้นำแนวคิดการจัดการการขอรับการพิจารณารับรองด้านจริยธรรม และประเด็นการพิจารณาโครงการวิจัยของคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมฯ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive แนวคิดเกี่ยวกับหลักการพัฒนาระบบ การพัฒนาระบบเป็นการสร้างระบบงานใหม่หรือการปรับเปลี่ยนระบบงานเดิมที่มีอยู่แล้วให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้หรือช่วยแก้ปัญหาการดำเนินงานทางธุรกิจได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานโดยการนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการทำงานแล้วทำให้ระบบงานนั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพต่อการดำเนินงานมากที่สุด เหตุผลที่มีความจำเป็นในการพัฒนาระบบสารสนเทศเนื่องมาจาก 1) การเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหารและการปฏิบัติงาน ระบบแบบเดิมไม่สามารถทำงานได้ตามต้องการ มีการดำเนินงานหลายขึ้นตอน มีความยุ่งยากในการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำข้อมูลสรุปสำหรับการติดตามการปฏิบัติงานโดยรวมขององค์กร จึงจำเป็นต้องพัฒนาหรือปรับปรุงระบบสารสนเทศที่สามารถช่วยให้ขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในและกระบวนการบริหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้าสมัย ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบมีราคาสูง จึงต้องรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานที่มีอยู่เดิม และ 3) การปรับองค์กรและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน วิธีการพัฒนาระบบมี 5 วิธี ประกอบด้วย การพัฒนาระบบงานแบบดั้งเดิม (SDLC Methodology) การสร้างต้นแบบ (Prototyping) การพัฒนาระบบโดยผู้ใช้ (End-user Development) การใช้บริการจากแหล่งภายนอก
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :สมมุติฐานของการวิจัย ความพึงพอใจในประสิทธิภาพของระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์อยู?ในระดับมาก
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย มีขั้นตอนดังนี้ 1. ทำการศึกษาและสำรวจเว็บงานจริยธรรมของสถาบันต่างๆ 2. ทำการวิเคราะห์ระบบด้วยหลักการพัฒนาระบบเชิงวัตถุ ด้วย UML และได้เลือกใช้ 2 ไดอะแกรมในการออกแบบ คือ 1) Use Case Diagram ในการออกแบบจากมุมมองผู้ใช้ภายนอก และ 2) Class Diagram ใช้ออกแบบโมดูลต่าง ๆ ในการใช้ประมวลผล 3. ทำการออกแบบหน้าจอรับข้อมูล (Input) และหน้าจอแสดงผลรายงาน (Report) 4. พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการงานจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชันแบบ Responsive โดยใช้ภาษา PHP เป็นภาษาในการพัฒนาระบบ ใช้โปรแกรม MySQL เป็นโปรแกรมการจัดการฐานข้อมูล และใช้ Apache เป็น Web Server 5. ทำการทดสอบระบบจากผู้ที่สนใจและสมัครใจเข้าร่วมทดสอบคณะละ 20 คน และประเมินความพึงพอใจในประสิทธิภาพของระบบฯ 6. ตรวจสอบความสมบูรณ์ของแบบประเมินความพึงพอใจในประสิทธิภาพของระบบฯ แล้วนำมาวิเคราะห์และสรุปผล 7. จัดทำรายงาน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :310 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวอรสา เตติวัฒน์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด