รหัสโครงการ : | R000000474 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | การศึกษาและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | A Study for Development of the Bananas Supply Chain Management Information Systems in Nakhon Sawan Province. |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | ระบบสารสนเทศ, ห่วงโซ่อุปทาน |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | สถาบันวิจัยและพัฒนา |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 247700 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 247,700.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 30 ตุลาคม 2561 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 30 กันยายน 2562 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี |
สาขาวิชาการ : | สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ |
กลุ่มวิชาการ : | อื่นๆ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ระดับชาติ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งปลูกกล้วยในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตกล้วยของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า การผลิตส่วนใหญ่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ดีพอ และไม่เป็นระบบเหมือนประเทศผู้ผลิตหลัก อายุการเก็บรักษาสั้นไม่ทนทานในการขนส่ง ขาดวางแผนการผลิตที่สอดคล้องความต้องการตลาด ขาดข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด รวมทั้งขาดความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายในโซ่อุปทานการผลิต ทำให้เกิดปัญหาในด้านการผลิตที่มีปริมาณคุณภาพผลผลิตมาตรฐานมีไม่เพียงพอกับความต้องการ การกระจุกตัวของผลผลิต ต้นทุนการผลิตสูง ขาดกลยุทธ์การตลาดทั้งในและต่างประเทศ ราคาไม่จูงใจต่อราคามีความแปรปรวนสูง และระบบขนส่งยังด้อยประสิทธิภาพ (ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร, 2559) การนำระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานจะเป็นกระบวนการโดยรวมของการไหลของวัสดุ สินค้า ตลอดจนข้อมูล และธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านองค์การที่เป็นผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ไปจนถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคโดยที่องค์การต่าง ๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจต่อกัน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตกล้วย ผู้ค้ากล้วย และผู้บริโภคกล้วย มีสามารถในการบริหารการทำงานให้สอดคล้องกัน แบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันในห่วงโซ่อุปทาน
ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดที่จะศึกษาและพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ขึ้น ซึ่งระบบสารสนเทศจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลสารสนเทศ และข้อมูลต่าง ๆ ที่มีผลกระทบการดำเนินงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทันต่อเวลา อีกทั้งยังสามารถนำสารสนเทศที่ได้มาใช้ในการแก้ปัญหา และสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
จุดเด่นของโครงการ : | ต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | 1. เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์
2. เพื่อศึกษาความต้องการในการใช้งานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์
3.เพื่อพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ |
ขอบเขตของโครงการ : | 1. ขอบเขตด้านประชากร ได้แก่ ประชาชนที่อาศัยในจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1,065,334 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2560: ออนไลน์) โดยผู้วิจัยทำการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ เกษตรกร คู่ค้า และผู้ซื้อกล้วย ซึ่งอาศัยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ มีจำนวนนับได้ไม่แน่นอน (Infinite population) โดยเลือกจากวิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ จากจำนวนประชากรที่อาศัยในจังหวัดนครสวรรค์ และกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยการใช้โปรแกรมจีพาวเวอร์ (G*Power) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สร้างจากสูตรของโคเฮน (Cohen, 1997) ผ่านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพจากนักวิจัยจำนวนมาก (นงลักษณ์ วิรัชชัย, 2555) ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 402 ตัวอย่าง
2. ขอบเขตด้านการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ ข้อมูลการจัดการผลิต ข้อมูลการบริหารจัดการ ข้อมูลการจัดส่งสินค้า และปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่อุปทาน
3. ขอบเขตด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ ได้แก่ การพัฒนาระบบสารสนเทศในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว ด้วยโปรแกรมภาษาพีเอชพี (PHP) และฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล (MySQL) เนื่องจากเป็นโปรแกรมภาษาในรูปแบบโอเพนซอร์สที่ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | 1. ทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์
2. ทราบถึงความต้องการในการใช้งานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์
3. ได้ต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ |
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | 1. แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง การบริหารจัดการเพื่อสอดประสานการดำเนินการขององค์กรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งมอบ ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีก รวมทั้งองค์กร
อื่น ๆ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า การบริหารจัดการดังกล่าว มักจะอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างองค์กร เพื่อให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ และการเคลื่อนย้ายขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว (สุธี ปิงสุทธิวงศ์, 2556 หน้า 159) จึงถือได้ว่า การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน เป็นการประสานกันของการผลิตสินค้าคงคลัง สถานที่และการขนส่งระหว่างผู้ที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่ดีที่สุดระหว่างความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของตลาด (วิทยา สุหฤทดำรง, 2545) โดยห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประกอบ ด้วยขั้นตอนทุก ๆ ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีผลต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้า มีลักษณะการเคลื่อนที่แบบพลวัตรที่เกี่ยวข้องกับการไหลที่สม่ำเสมอของข้อมูลผลิตภัณฑ์และเงินลงทุนระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ โดยแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานจะมีกระบวนการที่แตกต่างกันไป และมีความเกี่ยวข้องกับขั้นตอนอื่น ๆ ของห่วงโซ่อุปทาน (Handfield, Ernest and Nichols, 2003)
องค์ประกอบหลักของการบริหารโซ่อุปทาน แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) Supply คือ การจัดซื้อวัตถุดิบ และปัจจัยในการผลิต เป็นพื้นฐานหลักของการบริหารโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้นให้มีปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพสูง และมีต้นทุนเหมาะสม 2) Operations หมายถึง เทคนิควิธีการที่เกี่ยวกับการคาดการณ์และบริหารจัดการอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการบริหารกระบวนการภายในขององค์กร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล 3) Logistics คือ การบริหารโซ่อุปทานในด้านการขนส่งมีทั้งขาเข้าและขาออกจากองค์กร และ 4) Integration คือ เทคนิควิธีการและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการงานสำคัญในการบริหารโซ่อุปทานทั้งหมดภายในองค์กร (สุธี ปิงสุทธิวงศ์, 2556 หน้า 161)
2. แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการโซ่อุปทาน
การนำระบบสารสนเทศต่าง ๆ มาใช้ในองค์กรนั้นอาจนำระบบมาใช้ในเวลาที่แตกต่างกันหรือนำแต่ละระบบมาใช้ในแต่ละส่วนงานขององค์กร หากไม่มีการวางแผนการเชื่อมโยงระบบเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้วเมื่อมีความต้องการเรียกดูข้อมูลและติดตามผลการดำเนินงานในภาพรวมจากระบบต่าง ๆ อาจทำได้ยากและได้ข้อมูลล่าช้า องค์กรจึงมองหาแนวทางในการเชื่อมโยงระบบงานสำคัญเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อช่วยให้ผู้บริหารเข้าถึงข้อมูลและรับรู้สภาพหรือสถานการณ์ของงานต่าง ๆ ได้ทันทีทำให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้แพร่ขยายอย่างมากในธุรกิจต่าง ๆ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใน
การบริหารโซ่อุปทานต้องคำนึงถึง 4 ส่วนคือ 1) ฮาร์ดแวร์ 2) ซอฟต์แวร์ 3) การลงทุนด้านเครือข่าย และ
4) การออกแบบระบบ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีจะทำให้สามารถเตรียมข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้ในสถานการณ์และสถานที่ที่ถูกต้องได้ และยังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การทำงานโดยรวมของโซ่อุปทานเป็นไปได้ดี อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ขององค์กร ทั้งนี้ต้องพิจารณาไปถึงความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศในแต่ละองค์กรอีกด้วย โดยหลักการการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ต้องคำนึงถึงลักษณะขององค์กร ตั้งแต่กลยุทธ์ในการบริหาร จนถึงกลยุทธ์การดำเนินงานและสิ่งแวดล้อมในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในระบบ นอกจากนี้บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานออกไปสู่ระดับโลก (Global Supply Chain) ประสบความสำเร็จในการบริหาร คือ 1) เทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องสามารถสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงได้ 2) เทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องช่วยในการแปลวิสัยทัศน์มาเป็นหลักการที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ 3) เทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องช่วยในการทำงานเป็นทีม และสามารถให้ข้อมูลเพื่อช่วยการตัดสินและประมวลความสามารถของระบบได้ 4) เทคโนโลยีสารสนเทศต้องสามารถมีส่วนช่วยในการวางแผนและควบคุมการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการจัดการโซ่อุปทานนั้น หนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุด คือ การเชื่อมโยงกระบวนการในองค์กรหรือระหว่างองค์กรเข้าด้วยกัน การเชื่อมโยงกระบวนการนั้นทำได้โดยการเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน ไม่มีการปกปิดการทำงานระหว่างกัน การทำให้กระบวนการแต่ละฝ่ายหรือแต่ละองค์กรเชื่อมโยงกันได้นั้น แต่ละฝ่ายต้องรับรู้สถานการณ์ทำงานของอีกฝ่ายเสมอ นั่นก็คือการมองเห็นข้อมูลซึ่งแสดงสถานะของอีกฝ่ายได้ เรียกว่า การเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน (Data Interchange) ในการกระทำดังนี้จำต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่การจัดการและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ มีเครื่องมืออุปกรณ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์หลาย ๆ แบบ ถือกำเนิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ยิ่งอุปกรณ์หรือโปรแกรมจำพวกนี้สร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้มากเท่าไร ประสิทธิภาพของโซ่อุปทานก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะข้อมูลจะถูกส่งผ่านและไหลเวียนให้ทุก ๆ ฝ่ายรู้สถานะของตน และฝ่ายอื่น ๆ โดยภาพรวมในโซ่อุปทานได้ (ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์ และเตือนใจ สมบูรณ์วิวัฒน์, 2552) |
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | - |
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | วิธีดำเนินการวิจัย
การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ มีกระบวนการในการดำเนินการที่ประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการค้นคว้าหาข้อมูลตามห้องสมุด อินเตอร์เน็ต และ ผู้มีประสบการณ์ทางการวิจัย
2. ศึกษาและสำรวจข้อมูลเบื้องต้นในสนาม โดยการสังเกตพฤติกรรมด้วยตนเอง และสัมภาษณ์พูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง
3. สร้างแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-Structure Interview) เพื่อเก็บศึกษาและรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนการเก็บผลผลิต ขั้นตอนการบริหารจัดการ ขั้นตอนการจัดส่งสินค้า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งกระบวนการในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 402 คน จากการสุ่มอย่างง่าย
4. นำแบบสัมภาษณ์ที่ได้มาทำการสังเคราะห์ และวิเคราะห์หาค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่าง
ควอไทล์ เพื่อสังเกตแนวโน้มของการตอบว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ และนำข้อมูลที่ได้มาสร้างเป็นแบบสอบถามการศึกษาความต้องการใช้ข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วย
5. สร้างแบบสอบถามการศึกษาความต้องการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยของเกษตรกร คู่ค้า และผู้ซื้อกล้วย ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ โดยดำเนินการสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 402 คน เพื่อรวบรวบข้อมูลให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
6. นำแบบสอบถามที่ได้มาทำการวิเคราะห์หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน จากมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) ที่ได้จากการตอบแบบสอบถามของจากกลุ่มตัวอย่าง เพื่อทำการกำหนดข้อมูลในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน
7. พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ให้สามารถแสดงผลได้บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
8. ทดสอบและทำการติดตั้งระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์
9. สร้างแบบประเมินความพึงพอใจการใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานกล้วยในเขตจังหวัดนครสวรรค์ |
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | - |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 368 ครั้ง |