รหัสโครงการ : | R000000472 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | The Ability Development of Community for sustainable tourism management : Case Study on The Community forest in Ban Suan Plu – Plu Tor Tambol Tap Luang Amphur Ban Rai UthaiThani Province |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | การพัฒนาศักยภาพ, การจัดการท่องเที่ยว,การพัฒนาอย่างยั่งยืน |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชาสังคมวิทยา |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 425000 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 425,000.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 01 ตุลาคม 2557 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 30 กันยายน 2558 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | สังคมศาสตร์ |
สาขาวิชาการ : | สาขาสังคมวิทยา |
กลุ่มวิชาการ : | สังคมวิทยา |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ไม่ระบุ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีความสวยงามทางธรรมชาติและมีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่ถูกถ่ายทอดและสั่งสมกันมา กิจกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับความยินยอมและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานและการกระจายรายได้
การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวนั้นถูกใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งของรัฐในการสร้างรายได้เพื่อการพัฒนาประเทศด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นข้อได้เปรียบคู่แข่ง ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างรวดเร็ว (สาคริน บุญพิทักษ์ ,2546)
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาลกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของภาค การขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ และได้ประกาศให้ปี 2541 - 2542 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อ้างถึงสถิตินักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยระหว่างปี 2548 - 2553 มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.5 % และในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยทั้งสิ้น 19,089,323 คน โดยเพิ่มขึ้น 19.84% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีมูลค่าเท่ากับ 734,519.46 ล้านบาท เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของคนในชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายด้าน เช่น ภาคการบริการโรงแรม มัคคุเทศก์ โฮมสเตย์ ร้านอาหาร ฯลฯ ซึ่งสร้างรายได้ให้คนหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ชาวบ้าน
ถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,http://www.tat.or.th/ e- journal.)
การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนมูลค่านับแสนล้านบาท ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีผลกระทบต่อทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม การจัดการการท่องเที่ยวโดยทั่วไปมักประสบปัญหาที่สวนทางกันระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ ทั้งนี้ทางองค์การสหประชาชาติได้นำเสนอ “เกณฑ์สำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ในที่ประชุม The World Conservation Congress ณ
นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 เกณฑ์มาตรฐาน โดยยึดหลักการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ นั่นคือ 1) การสาธิตให้เห็นถึงการบริหารจัดการ
การท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ 2) ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับชุมชนท้องถิ่นแต่สร้างผลกระทบทางลบน้อยที่สุด 3) ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มรดกทางวัฒนธรรมแต่สร้างผลกระทบทางลบน้อยที่สุด และ 4) ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สิ่งแวดล้อมแต่สร้างผลกระทบทางลบน้อยที่สุด พร้อมกันนี้องค์การสหประชาชาติก็ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกให้ตระหนักถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” กิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ได้ก็คือ การฝึกอบรมผู้นำชุมชนโดยมุ่งเน้นในเรื่องแนวคิด ความรู้
และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในทุกๆ ฝ่าย
จากบทเรียนของการพัฒนาประเทศ โครงการพัฒนาหลายโครงการเป็นโครงการที่ดีแต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมองที่โครงการเป็นตัวตั้งไม่ได้มองที่ประชาชน ดังนั้น การให้บทบาทและความสำคัญของประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในส่วนขององค์กรประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เห็นว่าหากจะให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศยั่งยืนต้องมองที่ชุมชนเป็นศูนย์กลาง จึงเกิดแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้น ในช่วง 2 - 3 ปี ที่ผ่านมาคำว่า "Community-based Tourism : CBT" การท่องเที่ยวที่ให้ชุมชนเป็นฐานการบริหารจัดการ
"การท่องเที่ยวโดยชุมชน" เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายๆความหมาย ความเข้าใจและประสบการณ์ ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ เป็นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ต้องมี "ชุมชน" เป็นส่วนประกอบสำคัญ หากชุมชนมีความพร้อมมีปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการเข้ามีบทบาทจัดการการท่องเที่ยวแล้วนั้น ผู้นำชุมชนและแกนนำที่หลากหลาย ตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสหกรณ์การเกษตรฯลฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น องค์การบริการส่วนตำบล เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ครู อาจารย์ในโรงเรียน เป็นต้น มีส่วนร่วมกันประชุมสัมมนาเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นการผนึกกำลังความคิดสร้างสรรค์ ประสานแนวคิดของทุกคนให้เห็นเป็นภาพเดียวกัน ในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (พจนา สวนศรี ,2546,185-188)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขยายตัวอย่างรวดเร็วและ
มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายมากขึ้น บ่อยครั้งใช้คำว่า "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" (Ecotourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" (Conservation tourism) ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์" หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" จากการให้คำนิยามของสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ให้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ชุมชนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ส่วน "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" เน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน คือ การที่มุ่งพัฒนาให้คนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการท่องเที่ยว และไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ได้เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้ใช้ความรู้ของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต เพราะการดูแลทรัพยากรเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของคนในชุมชน
ซึ่งเป็นของส่วนรวมไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ให้ความหมายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไว้ว่า “การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบในแหล่งธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศในพื้นที่ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกต่อการรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน” ซึ่งมองว่าคนและชุมชนเข้าไปมีบทบาทในการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ในลักษณะของการเข้าไปมีส่วนร่วมกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยมีแหล่งธรรมชาติเป็นฐาน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ,http://www.tat.or.th/ e- journal.)
นอกจากนี้การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในด้านเศรษฐกิจนั้น การท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นก่อให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนำมาซึ่งการจ้างงานและการสร้างอาชีพทั้งในภาคการท่องเที่ยวโดยตรงและการจ้างงานในภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้สู้ชุมชนและท่องถิ่น ซึ่งในภาพรวมจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แลความเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ด้านสังคมการพัฒนาการท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในแหล่งท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ดีขึ้น รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่นตนเอง อันนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีจิตสำนึก
จังหวัดอุทัยธานีเป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งมีศักยภาพด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ประมาณ 6,730 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง สภาพป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปีพุทธศักราช 2534 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งนับเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ควรการดูแลรักษาและนำความภาคภูมิใจมาสู่คนไทยทุกคน
ชุมชนบ้านสวนพลู – พุต่อ ชุมชนเล็กๆ ซึ่งเป็นตัวอย่างของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามานานหลายสิบปี อาศัยป่าเป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สมุนไพรรักษาโรค ชุมชนจึงสำนึกรู้คุณค่าของผืนป่า
สั่งสอนลูกหลานให้ช่วยกันดูแลรักษา เป็นวัฒนธรรมสืบต่อกันมา และเมื่อกระแสการเปลี่ยนแปลง
ย่างกรายเข้ามา ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า นายทุนเข้ากว้านซื้อที่และของป่า พวกเขาก็สามารถปรับตัว ร่วมกันหาทางแก้ไข กำหนดมาตรการกฎระเบียบที่ชัดเจน ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ ใช้ป่า
เป็นห้องเรียนธรรมชาติสืบสานสู่เยาวชน ขยายความร่วมมือสู่เพื่อนบ้านในชุมชนข้างเคียงรอบผืนป่า
นี่คือพลังของชุมชนเล็กๆ ที่สามารถปกป้องป่าผืนใหญ่ไวเป็นสมบัติของลูกหลาน ผืนป่ากว้างเกือบ 7,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 ตำบลในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี คือ ตำบลทัพหลวง ตำบลหูช้าง ตำบลบ้านใหม่คลองเคียน และตำบลห้วยแห้งในอดีตป่าผืนนี้ เคยเชื่อมต่อกับป่าห้วยขาแข้ง “มรดกโลก”
ที่ยิ่งใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ปกคลุมแนวเทือกเขาหินปูนที่สลับซับซ้อนทั้งเขาตำแย
เขาราวเทียน เขาไม้รวก เขาพุกอีควาย ฯลฯ ทอดยาวโอบล้อมบ้านสวนพลู – พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีชุมชนเล็กๆ ที่สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทร์ได้มีการพัฒนาหมู่บ้านเกิดการจัดการชุมชนในด้านการจัดการป่าชุมชนและส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพของคนในชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวในเชิงการอนุรักษ์โดยชุมชน ซึ่งทางแกนนำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล ได้ร่วมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยนำอัตลักษณ์ด้านความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อและ
ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชุมชนมีอยู่เป็นตัวตั้งในการพัฒนา เพื่อนำไปสู่“การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (community base sustainable tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม กำหนดทิศทางโดยชุมชน จัดการโดยชุมชนเพื่อชุมชน และชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของมีสิทธิในการจัดการดูแลเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้มาเยือน” โดยมองว่าการท่องเที่ยวต้องทำงานครอบคลุมการพัฒนาชุมชนในทุกด้านพร้อมกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสะท้องให้เห็นภาพของการพัฒนาแบบองค์รวมที่เกิดขึ้นโดยมีชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมใน
การจัดการการท่องเที่ยวโดยคนในชุมชน จึงเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้มีความหมายมากกว่า
การพักผ่อน เป็นการพัฒนาคนในชุมชนให้มีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนเป็นเหมือนบ้านของตนเองที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความยินดี
จากเหตุผลดังกล่าว นักวิจัยเห็นว่าการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยคนในชุมชนเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน โดยใช้การจัดการท่องเที่ยวเป็นเงื่อนไขและการสร้างโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการวางแผนทิศทางการพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยส่งเสริมการสร้างให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผน การบริหารจัดการทรัพยากรและกระจายอำนาจการตัดสินใจโดยเน้นความสำคัญของการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้การจัดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยวิธีการพัฒนาท้องถิ่น (Means) ที่ยึดชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาร่วมกับองค์กรท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายอาศัยกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนใน
การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่สอดคล้องกับบริบทและทุนทางสังคมของชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เกิดการตระหนักเห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมเพื่อรองรับการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชน รวมถึงเพื่อแสวงหาแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรภาคีท้องถิ่นต่างๆ
|
จุดเด่นของโครงการ : | - |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | 1. เพื่อสำรวจศักยภาพของชุมชนด้านการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชน
2. เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
3. เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
|
ขอบเขตของโครงการ : | 1) ขอบเขตด้านพื้นที่ ศึกษาเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
2) ขอบเขตเนื้อหา งานวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาข้อมูลบริบทชุมชนอันเป็นทุนทางสังคม ได้แก่ ประวัติความเป็นมาของชุมชน ลักษณะทางการภาพ ลักษณะประชากร ลักษณะทางด้านเศรษฐกิจ ลักษณะทางสังคม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน และลักษณะอันเป็นเฉพาะของชุมชน (อัตลักษณ์ของชุมชน) เป็นต้น
ศึกษาศักยภาพของชุมชนในด้านการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชน อาทิ ประวัติความเป็นมาของป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ คุณค่าและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางธรรมชาติ
ระบบนิเวศของป่าชุมชน นอกจานี้ การศึกษาศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวในด้านความพร้อม
ความมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ คุณค่าทางการเรียนรู้ ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ด้านบุคลากร ด้านการรองรับของชุมชนและด้านสภาพแวดล้อม และแนวทางในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชนโดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรท้องถิ่น
3) ขอบเขตประชากรที่ทำการศึกษา ได้แก่ ผู้นำชุมชน ประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงภูมิปัญญา รวมถึงผู้นำทางศาสนาในชุมชน สมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนบ้านสวนพลู – พุต่อ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล คณะครูและนักเรียนในพื้นที่ สมาชิกในชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนและภาคีเครือข่ายจากภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชน
|
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | 1. ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน เจ้าหน้าและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมโครง มีความรู้ความสามารถและทักษะ การตั้งคำถามสืบค้น การเก็บข้อมูลชุมชน การบันทึก การจัดระบบข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และตีความ คิดและเขียนโครง รวมถึงสามารถบริหารโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. เกิดกลไกความร่วมมือในกิจกรรมด้านต่างๆ ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และเกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่
3 ผู้นำชุมชนชุมชน แกนนำชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมโครงการวิจัย สามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิ มีความรู้ความเข้าใจและเท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นได้
4. เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/หน่วยงานภาครัฐ/หน่วยงานภาคเอกชนอันเป็นเสมือนดังภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นในการรู้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง
|
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | 1. แนวคิดการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
2. แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
3. แนวความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
4. แนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน
5. แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม
6. แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน
7. แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน
|
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | - |
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | การเลือกพื้นที่ในการศึกษา
การเลือกพื้นที่ชุมชนในการศึกษาด้วยข้อพิจารณาที่ว่าพื้นที่นั้นมีประเด็นและปรากฏการณ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่จะเข้าไปศึกษา ซึ่งผู้ศึกษามีความสนใจศึกษาเรื่องการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี กล่าวคือ ชุมชนมีความเข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้เป็นฐานในการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาภายในชุมชน และจากการศึกษาเบื้องต้น ทำให้ทราบว่าผลจากการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาชุมชนนั้น ทำให้ชุมชนเกิดความรัก ความหวงแหนหรือความรู้สึกเป็นเจ้าของตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นจนทำให้ชุมชนมีการจัดการ การดูแลทรัพยากรป่าชุมชนและความรู้สึกดังกล่าวได้ส่งผลให้มีการดำเนินกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ ของชุมชนตามมา อย่างไรก็ตามแนวคิดด้านการพัฒนาชุมชนมีอยู่หลายแนวคิดแต่ทุกแนวคิดสามารถที่จะเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นองค์รวม ดังนั้น เครือข่ายป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็งในด้านของการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆตามมาด้วยและสอดคล้องกับหลักการพัฒนาชุมชนแบบองค์รวม
ประชากรที่ศึกษา
ขอบเขตประชากร กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key- Information) ของงานวิจัยครั้งนี้ได้แก่
ผู้นำชุมชน ทั้งที่เป็นทางการ ได้แก่
1. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
2. กำนันตำบลตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
3. ผู้ใหญ่บ้านทัพหลวง ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
4. ประธานกลุ่มและสมาชิกกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ผู้นำที่ไม่เป็นทางการ ได้แก่
1. ผู้อาวุโส ในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับในชุมชน เป็นต้น
2. กลุ่มคนในพื้นที่การวิจัย สมาชิกเครือข่ายป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ที่มีความสนใจในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
3. ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคท้องถิ่น หรือองค์กรพัฒนาเอกชน
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้ศึกษาได้แบ่งวิธีการศึกษาไว้ 2 ขั้นตอน ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาเห็นภาพการศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น ขั้นตอนการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและขั้นตอนการศึกษาจากพื้นที่ศึกษาจริง
1. ขั้นตอนการศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง (Document Study) ผู้ศึกษาได้ค้นคว้าแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แนวคิดเกี่ยวกับชุมชนและความชุมชน แนวคิดการพัฒนาชุมชน แนวคิดกระบวนการเรียนรู้ แนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืน จากรายงานการวิจัย รวบรวมบทความจากเอกสาร วารสารต่างๆ และจากหนังสือ ตำรา เอกสารทางวิชาการ เพื่อใช้เป็นกรอบในการศึกษา การวิเคราะห์ การอภิปรายผลการศึกษา
2. ขั้นตอนการศึกษาจากพื้นที่จริงหรือศึกษาภาคสนาม (Field Study) โดยลงศึกษาที่ชุเครือข่ายป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อหาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่จะนำมาวิเคราะห์และอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาตามกรอบแนวคิดที่ผู้ศึกษากำหนดไว้ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม และการสังเกต เป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษา
2.1 การสัมภาษณ์ และการพูดคุยแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการกับผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) คือ ผู้นำชุมชนทั้งที่เป็นทางการและผู้นำตามธรรมชาติ ผู้อาวุโสภายในชุมชน สมาชิกของกลุ่มต่างๆภายในชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาชุมชน และสมาชิกชุมชนทั่วไปนอกเหนือจากที่กล่าวไว้แล้ว
2.2 สนทนากลุ่ม (Focus group) โดยผู้ศึกษาใช้วิธีการนี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆที่เป็นองค์ความรู้ในเรื่องของการปรับตัวของสมาชิกในชุมชน การพัฒนาศักยภาพของชุมชนใน
การจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
2.3 วิธีการสังเกต ใช้การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยที่ผู้ศึกษาถึงวิธีการ กระบวนการที่ผู้นำชุมชนและสมาชิกภายในชุมชนใช้ในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนั้นผู้ศึกษาจึงศึกษาจากการเข้าไปส่วนร่วมในกิจกรรมที่ชุมชนดำเนินการ ตลอดจนเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลร่วมกัน และร่วมวิเคราะห์ให้ความคิดเห็นบ้างในบางกรณี ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชนและชาวบ้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เรื่อง การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว
อย่างยั่งยืน กรณีศึกษา ป่าชุมชนบ้านสวนพลู-พุต่อ ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
ในครั้งนี้ประกอบด้วย แนวคำถามประกอบการสนทนา และการสัมภาษณ์ เพื่อให้ผู้ตอบหรือผู้ถูกสัมภาษณ์ได้พูดคุยและตอบคำถามพร้อมทั้งแสดงเหตุผลและความคิดเห็นด้วย
แนวคำถามประกอบการพูดคุย และการสัมภาษณ์ มีดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน อันได้แก่ จำนวนครัวเรือน จำนวนประชากร การนับถือศาสนา อาณาเขตหมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะการตั้งบ้านเรือน การศึกษา การประกอบอาชีพของคนในชุมชน การคมนาคม การปกครอง ประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมท้องถิ่น ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากร รูปแบบการใช้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพยากรท้องถิ่นนับจากอดีตถึงปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนทรัพยากรท้องถิ่นกับภายนอกชุมชนนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2. การพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
3. การได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกชุมชนทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ
การประมวลผลข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูล
การประมวลผลข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาเชิงคุณภาพ ผู้ศึกษาได้ทำการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงพรรณาความ (Descriptive Analysis) โดยใช้แนวคิดทฤษฎีต่างๆที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นกรอบในการวิเคราะห์ โดยนำมาอธิบายสภาพทั่วไปของชุมชน
องค์ความรู้ของชุมชนในการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะสามารถอธิบายให้เห็นถึงภาพความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์และการวิเคราะห์ตามกรอบแนวคิดทฤษฎี และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าไว้ในตอนแรก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้น และจากข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาคสนามรวมทั้งการอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการศึกษาจากเอกสาร การสังเกต และการสัมภาษณ์สมาชิกของชุมชนและผู้อื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนเพื่อให้เห็นภาพองค์ความรู้ของการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
|
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | - |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 172 ครั้ง |