รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000394
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การผลิตสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในเห็ดถั่งเช่าสีทอง ที่เพาะเลี้ยงในอาหารแข็งธัญพืช
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Cordycepin and adenosine production from Cordyceps militaris in cereal medium
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :สารอะดีโนซีน, สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ, สารคอร์ไดเซปิน, เห็ดถั่งเช่าสีทอง
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :420800
งบประมาณทั้งโครงการ :420,800.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :01 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :30 กันยายน 2560
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :เกษตรศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :เห็ดถั่งเช่า (Cordycep mushroom) เป็นเชื้อรากินแมลง (Entomofungus) จัดอยู่ในกลุ่ม Ascomycetes เห็ดถั่งเช่าเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่อดีตกาล ชาวจีนเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ มีสรรพคุณช่วยปรับสมดุลของร่างกาย เป็นสมุนไพรธาตุร้อน ในสมัยโบราณเห็ดถั่งเช่าถูกจำกัดการใช้เฉพาะจักรพรรดิ และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของจีนเท่านั้น ตำราการแพทย์ทิเบตมีการบันทึกไว้ว่า เห็ดถั่งเช่าถูกใช้เป็นยาชูกำลัง ใช้รักษาสารพัดโรค (Winkler, 2008) เห็ดถั่งเช่าที่มีบทบาทสำคัญและเป็นที่รู้จักในเรื่องของการเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคมี 4 ชนิดคือ เห็ดถั่งเช่าทิเบต (Ophicordyceps sinensis) หรือชื่อเดิม (Cordyceps sinensis) เห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militalis) เห็ดถั่งเช่าหิมะ (Paecilomyces tenuipes หรือ Isaria japonica) และเห็ดถั่งเช่าจั๊กจั่น (Paecilomyces cicadae หรือ Isaria sinclairii) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุลคอร์ไดเซป [Cordyceps (Fr.) Link] จัดว่าเป็นราแมลงกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) จากการศึกษาค้นคว้าทางเภสัชวิทยาพบว่า เห็ดถั่งเช่ามีสารสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด ได้แก่ โพลีแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) แมนนิทอล (mannitol) หรือกรดคอร์ไดเซปิก (cordycepic acid) อะดีโนซีน (adenosine) คอร์ไดเซปิน (cordycepin หรือ 3'-deoxyadenosine) เออโกสเตอรอล (ergosterol) เป็นต้น (Shashidhar et al., 2013) นอกจากนี้ยังพบสารชนิดอื่นๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก คอปเปอร์ แมงกานีส สังกะสี เป็นต้น (Bhandari et al., 2010) การวัดคุณภาพของเห็ดถั่งเช่าในรายงานส่วนใหญ่จะวัดจากปริมาณของสารกลุ่มนิวคลีโอไซด์เป็นหลัก เช่น อะดีโนซีน และคอร์ไดเซปิน (Li et al., 2006) ซึ่งอะดีโนซีนเป็นสารสำคัญที่ช่วยป้องกันและรักษาภาวะโรคหัวใจล้มเหลว (Kitakaze and Hori, 2000) ส่วนคอร์ไดเซปินมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มพลังภายในร่างกาย มีคุณสมบัติบำรุงไตและปอด (Nakamura et al., 2005) ช่วยต้านอนุมูลอิสระ (Li et al., 2006) ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Yu et al., 2006) ช่วยในการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง (Schmidt et al., 2003) กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยรักษาสมดุลของคลอเรสเตอรอลในหลอดเลือด และลดการอักเสบ (Kim et al., 2010) ยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Lee et al., 2012) สามารถต้านการเกิดเนื้องอก (Dai et al., 2001) และต้านมะเร็ง (Yoshikawa et al., 2004; Weil and Chen, 2011) และเชื่อว่ามีสรรพคุณที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศได้ (Lim et al., 2012) จากการค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพดังกล่าวจึงทำให้เห็ดถั่งเช่าเริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ และเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่มีราคาสูงมาก เนื่องจากความต้องการบริโภคมีมากขึ้น ในปัจจุบันเห็ดถั่งเช่าทิเบตที่เกิดจากธรรมชาติมีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ ทำให้หาซื้อได้ยากมากขึ้นและมีราคาแพง ที่ผ่านมามีหลายประเทศพยายามทำการวิจัยเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าทิเบตในห้องทดลอง แต่ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงให้เกิดดอกค่อนข้างยากและมีข้อจำกัดหลายอย่าง (Huang et al., 2009) ทำให้มีการศึกษาเห็ดสกุลคอร์ไดเซพสายพันธุ์อื่น ๆ ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ด้วยกรรมวิธีง่าย ๆ และมีสารสำคัญทางยาที่ใกล้เคียงกับเห็ดถั่งเช่าทิเบต พบว่า เห็ดถั่งเช่าสีทองเป็นเห็ดที่มีสรรพคุณทางยาเหมือนกับเห็ดถั่งเช่าทิเบตและไม่เป็นพิษต่อผู้บริโภค (Hong et al., 2010) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเห็ดถั่งเช่าสีทองมีสารสำคัญทางยาบางชนิดสูงกว่าเห็ดถั่งเช่าทิเบต โดยเฉพาะสารคอร์ไดเซปิน (Li et al., 2006) ซึ่งพบครั้งแรกในเห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cunningham et al., 1951) รวมถึงการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองก็ทำได้ง่ายกว่าเห็ดถั่งเช่าทิเบต เนื่องจากสามารถเพาะได้ในแมลงหลายชนิด เช่น ดักแด้ไหม (Hong et al., 2010; Luerdara et al., 2015) และสามารถเพาะเลี้ยงได้ในอาหารเทียมที่เป็นเมล็ดและกากธัญพืช เช่น ข้าวฟ่าง, ข้าวขาว, ข้าวกล้อง, ถั่ว, เมล็ดข้าวโพด, ข้าวสาลี เป็นต้น (Lim et al., 2012; Kim et al., 2010; Dong al., 2012; Gregori, 2014; ธัญญา และคณะ, 2557; รัฐพล และคณะ, 2559) ทำให้เห็ดถั่งเช่าสีทองกลายเป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่มาแทนเห็ดถั่งเช่าทิเบตและมีราคาจำหน่ายสูงใกล้เคียงกับเห็ดถั่งเช่าทิเบต จากเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงสนใจที่ศึกษาการปรับปรุงสูตรอาหารเทียมโดยเปรียบเทียบชนิดของเมล็ดธัญพืชที่เป็นแหล่งคาร์บอนสำคัญ และชนิดของแมลงที่เป็นแหล่งไนโตรเจนสำคัญที่มีราคาถูกและหาได้ง่ายในท้องถิ่นมาทำการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง โดยศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตที่ได้ และวิเคราะห์หาปริมาณสารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณทางยาที่สำคัญ 2 ชนิดคือ คอร์ไดเซปินและอะดีโนซีน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองต่อไป
จุดเด่นของโครงการ :พัฒนาสูตรอาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองที่ให้ผลผลิตและสารอะดีโนซีนและคอร์ไดเซปินสูงกว่า
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษาผลของสูตรอาหารแข็งธัญพืชต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ดถั่งเช่าสีทอง 2. เพื่อศึกษาผลของสูตรอาหารแข็งธัญพืชต่อการผลิตสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนของเห็ดถั่งเช่าสีทอง
ขอบเขตของโครงการ :1. เพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดถั่งเช่าสีทองลงในอาหารแข็ง PDA เพื่อให้มีการผลิตเส้นใยเห็ด 2. นำเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะเลี้ยงได้ในอาหารแข็ง PDA มาเพาะเลี้ยงต่อในอาหารเหลว PDB 3. นำเส้นใยที่เพาะเลี้ยงในอาหารเหลว PDB มาเพาะเลี้ยงในอาหารแข็งธัญพืชโดยมีส่วนผสมที่แตกต่างกันของแต่ละสูตรอาหาร ดังนี้ 3.1 Control PBD : ข้าวเสาไห้ : ดักแด้ไหม = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.2 NSRU 1 PBD : ข้าวเสาไห้ : แมงกระชอน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.3 NSRU 2 PBD : ข้าวเสาไห้ : ตั๊กแตน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.4 NSRU 3 PBD : ข้าวเสาไห้ : จิ้งหรีด = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.5 NSRU 4 PBD : ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ : แมงกระชอน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.6 NSRU 5 PBD : ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ : ตั๊กแตน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.7 NSRU 6 PBD : ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ : จิ้งหรีด = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.8 NSRU 7 PBD : ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ : ดักแด้ไหม = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.9 NSRU 8 PBD : ข้าวโพด : แมงกระชอน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.10 NSRU 9 PBD : ข้าวโพด : ตั๊กแตน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.11 NSRU 10 PBD : ข้าวโพด : จิ้งหรีด = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.12 NSRU 11 PBD : ข้าวโพด : ดักแด้ไหม = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.13 NSRU 12 PBD : ข้าวฟ่าง : แมงกระชอน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.14 NSRU 13 PBD : ข้าวฟ่าง : ตั๊กแตน = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.15 NSRU 14 PBD : ข้าวฟ่าง : จิ้งหรีด = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 3.16 NSRU 15 PBD : ข้าวฟ่าง : ดักแด้ไหม = 50:50:20 (มล./ก./ก.) 4. นำดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะเลี้ยงได้ในแต่ละสูตรอาหารมาศึกษาอัตราการเจริญเติบโต การออกดอกให้ผลผลิต และการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1. ทราบชนิดสูตรอาหารแข็งธัญญาพืชที่เหมาะสมสำหรับเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง 2. ทราบชนิดสูตรอาหารแข็งธัญญาพืชที่ทำให้เห็ดถั่งเช่าสีทองมีการผลิตสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนสูงสุด
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :2.1 เกี่ยวกับเห็ดถั่งเช่า ถั่งเช่าหรือ ฉงเฉ่า เป็นชื่อในภาษาจีน มีความหมายว่า "หญ้าหนอน" หรือ "ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า" เห็ดถั่งเช่า (Cordyceps mushroom) เป็นเชื้อราที่เจริญเติบโตในแมลง อาจจะอยู่ร่วมกับแมลงที่มีชีวิต หรือทำให้เกิดโรคและสามารถฆ่าแมลงได้ โดยราที่เจริญเติบโตในแมลงที่มีชีวิตนั้นจะอยู่ในรูปของเซลล์ยีสต์ซึ่งเรียกว่า Yeast-Like Endosymbionts (YLSs) และจะสามารถเปลี่ยนรูปเป็นลักษณะที่มีเส้นใย (filamentous) ได้ ซึ่งจะเป็นลักษณะที่ทำให้เกิดโรคในแมลง (Entomopathogenic) แต่ในขณะที่อยู่ในรูปของ YLSs นั้น จำเป็นที่แมลงต้องมีชีวิต เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการเจริญของ YLSs คือ สารอินทรีย์ และแหล่งไนโตรเจนที่ได้จากตัวแมลง ซึ่ง YLSs จะมีความจำเพาะต่อชนิดของแมลงที่อาศัย (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) เห็ดถั่งเช่าที่จัดอยู่ในกลุ่ม Ascomycetes มีอยู่หลายจีนัส เช่น Ophicordyceps sp., Cordyceps sp., Paecilomyces sp. และ Isaria sp. เป็นต้น เห็ดถั่งเช่าที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรมและทางการค้ามี 4 ชนิดคือ เห็ดถั่งเช่าทิเบต (O. sinensis) หรือชื่อเดิม (C. sinensis) เห็ดถั่งเช่าสีทอง (C. militalis) เห็ดถั่งเช่าหิมะ (Paecilomyces tenuipes หรือ Isaria japonica) และเห็ดถั่งเช่าจั๊กจั่น (P. cicadae หรือ I. sinclairii) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสกุลคอร์ไดเซป (Cordyceps (Fr.) Link) จัดว่าเป็นราแมลงกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างสูง (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) มีรายงานว่าพบราแมลงมากกว่า 700 สายพันธุ์ทั่วโลกซึ่งพบมากในแถบทวีปเอเชียตะวันออก เช่น ทิเบต เนปาล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และไทย มีจำนวนประมาณ 300 สายพันธุ์ที่รายงานว่าเป็นเห็ดถั่งเช่าสกุลคอร์ไดเซป (Cordyceps mushroom) (Hong et al., 2010) สำหรับประเทศไทยนั้น Hywel-Jones (1994) ได้รายงานการค้นพบเห็ดถั่งเช่าและราแมลงสายพันธุ์ใหม่ 2 ชนิดคือ C. khaoyaiensis และ C. pseudomilitaris ในเขตร้อนของประเทศไทย ซึ่งเห็ดทั้งสองสายพันธุ์ที่ค้นพบนี้มีลักษณะคล้ายกับสายพันธุ์ C. vinosa และ C. militaris ตามลำดับ แต่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างแอสโคสปอร์ (ascospores) โดย C. pseudomilitaris ไม่พบการสร้าง ascospore และได้รายงานว่าเส้นใยที่เจริญในอาหารเลี้ยงเชื้อเป็น anamorph ชนิด Hirsutella sp. และมีการศึกษาสำรวจความหลากหลายของราสกุลคอร์ไดเซปจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพและดอยปุย พบว่า พบราสกุลนี้มากถึง 80 ชนิด เชื้อราสกุลคอร์ไดเซปอยู่ในวงศ์ Clavicipitaceae ที่มีความหลากหลายของจำนวนชนิดและแมลงอาศัยมากที่สุด แมลงเจ้าบ้านของราแมลงสกุลคอร์ไดเซปมีมากมายหลายชนิด เช่น มด ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุม เพลี้ยด้วง แมลงปอ ผีเสื้อ และหนอน โดยทั่วไปราแมลงจะมีความจำเพาะกับแมลงเจ้าบ้านชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น หรือใกล้เคียงแมลงเจ้าบ้านชนิดนั้นๆ และไม่เป็นอันตรายกับคน แต่อย่างไรก็ตามมีเชื้อราแมลงเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถรับประทานได้ (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) 2.2 สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและสรรพคุณของเห็ดถั่งเช่า เห็ดถั่งเช่าหลายชนิดมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ เช่น เห็ดถั่งเช่าทิเบต เห็ดถั่งเช่าสีทอง เห็ดถั่งเช่าหิมะ และเห็ดถั่งเช่าจักจั่น เห็ดเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันมานานว่าเป็นเห็ดสมุนไพรใช้รักษาโรคมานานนับพันปี มีการบันทึกในตำหรับยาแผนโบราณของชาวทิเบต (Winkler, 2008) ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีการบันทึกการใช้เห็ดถั่งเช่าในจีนไว้ว่ามีการใช้เป็นยามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (ประมาณ ค.ศ. 618–907) ด้วยความที่เห็ดชนิดนี้หาได้ยากและมีราคาสูงจึงถูกจำกัดการใช้เฉพาะจักรพรรดิและเชื้อพระวงศ์ของจีนเท่านั้น และเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกจากการที่หมอสอนศาสนาได้นำตัวอย่างของเห็ดถั่งเช้าที่ได้รับจากองค์จักรพรรดิจีนไปเข้าร่วมแสดงที่งานประชุมทางวิชาการในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1726 ซึ่งถือว่าเป็นการแนะนำเห็ดถั่งเช่าต่อศาสตร์การแพทย์แผนตะวันตก อันนำมาซึ่งงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากมายถึงคุณประโยชน์ต่อร่างกาย (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) มีงานวิจัยทางด้านเภสัชวิทยามากมายที่ค้นคว้าเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเห็ดถั่งเช่า ได้แก่ Li et al. (2006) ได้ศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเห็ดถั่งเช่าทิเบตที่เจริญในแมลงเจ้าบ้านพบว่า เห็ดถั่งเช่าสดในธรรมชาติมีปริมาณนิวคลีโอไซด์อยู่น้อยกว่าอันที่แห้งแล้ว ความชื้นและความร้อนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณนิวคลีโอไซด์ของเห็ดถั่งเช่าที่ขึ้นตามธรรมชาติ การเก็บเห็ดถั่งเช่าที่ความชื้นสัมพัทธ์ 75% ที่อุณหภูมิ 40 ํC เป็นเวลา 10 วัน จะทำให้เห็ดถั่งเช่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีปริมาณนิวคลีโอไซด์เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว แต่อย่างไรก็ตามความชื้นและความร้อนไม่มีผลต่อเส้นใยเห็ดถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยง และเชื่อว่านิวคลีโอไซด์ในเห็ดถั่งเช่าทิเบตที่ขึ้นตามธรรมชาติต่างจากที่ได้จากการเพาะเลี้ยง โดยปกติการวัดคุณภาพของเห็ดถั่งเช่าจะวัดจากคุณภาพของนิวคลีโอไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะดีโนซีน อินโนซีน และคอร์ไดเซปิน และได้มีการศึกษาพบว่า เห็ดถั่งเช่าประกอบไปด้วยโพลีแซ็กคาไรด์ 3–8% ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งสารนี้มีส่วนช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระ Wu et al. (2007) ได้ศึกษาวิจัยประสิทธิภาพสารสกัดจากเส้นใยเห็ดถั่งเช่าทิเบตโดยใช้สารเอทธิลอะซิเตทเป็นตัวสกัด พบว่า สารสกัดที่ได้จากเห็ดถั่งเช่าสามารถต่อต้านการเกิดเนื้องอกได้ และสามารถยับยั้งการเกิดเซลล์เม็ดสีของอาร์บูทิน (arbutin) ในหนูทดลองได้ Lin et al. (2007) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการผลิตเสปิร์มในหมูจากการกินเห็ดถั่งเช่าทิเบต พบว่า หมูมีอัตราการผลิตจำนวนสเปิร์มเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยเสริมสมรรถนะทางเพศได้ Lui et al. (2008) ได้ทดสอบประสิทธิภาพของเห็ดถั่งเช่าทิเบตกับคนไข้ที่ผ่านการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง พบว่า ช่วยทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น Huang et al. (2009) ได้ศึกษาวิเคราะห์ปริมาณสารคอร์ไดเซปิน และอะดีโนซีนในเห็ดตระกูลถั่งเช่า พบว่า ปริมาณสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะเลี้ยงมีค่าเท่ากับ 2.64 ? 0.02 และ 2.45 ? 0.03 มิลลิกรัมต่อกรัม ตามลำดับ ส่วนในเห็ดถั่งเช่าทิเบตที่ได้จากธรรมชาติมีค่าเท่ากับ 0.9801 ? 0.01 และ 1.643 ? 0.03 มิลลิกรัมต่อกรัม ตามลำดับ ปริมาณสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองมีค่าเท่ากับ 0.9040 ? 0.02 และ 1.592 ? 0.03 มิลลิกรัมต่อกรัม ตามลำดับ นั่นแสดงให้เห็นว่าสารอะดีโนซีนที่พบในดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองมีค่ามากกว่าที่พบในเส้นใยของดอกเห็ดถั่งเช่าทิเบตที่ได้จากธรรมชาติ Das et al. (2010) ได้ศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเห็ดถั่งเช่าสีทองต่อการรักษาโรค พบว่า มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น เสริมสมรรถนะทางเพศ ต้านการอักเสบ ยับยั้งอนุมูลอิสระชะลอความชรา ต้านมะเร็งและเซลล์เนื้องอก เพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านจุลชีพชนิดต่างๆ ต้านการเกิดเส้นใยพังผืด ลดไขมันในเส้นเลือด ขัดขวางการสร้างหลอดเลือดฝอย ป้องกันโรคเบาหวาน ต้านเชื้อเอดส์ ต้านโรคมาลาเรีย ลดอาการเหนื่อยล้า ป้องกันเซลล์ประสาท ป้องกันการเสื่อมสภาพของตับ ไต และปอด เป็นต้น Lim (2012) ได้ทดสอบเกี่ยวกับปริมาณการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในดอกเห็ดถั่งเช่าสีทอง พบว่า สารอะดีโนซีน คอร์ไดเซปิน และดี-แมนนิทอล มีคุณสมบัติช่วยแก้ความผิดปกติทางเพศทั้งในผู้ชายและผู้หญิงได้ Shashidhar et al. (2013) ได้รายงานว่าเห็ดถั่งเช่ามีสารสำคัญทางชีวภาพหลายชนิด ได้แก่ สารกลุ่มพอลิแซ็กคาไรด์ (polysachharide) เช่น (1 ? 3), (1 ? 4)-?-D-glucan), แมน-นิทอลหรือกรดคอร์ไดเซปิก (mannitol หรือ cordycepic acid), แมนโนกลูแคน (mannoglucan) เป็นต้น สารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ สารกลุ่มนิวคลีโอไซด์ (nucleosides) เช่น อะดี-โนซีน (adenosine) อินโนซีน (innosine), กัวโนซีน (guanosine) โคไดเซปิน (cordycepin) สารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยในการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะสารคอร์ไดเซปินมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มพลังภายในร่างกาย และสามารถต้านการเกิดเนื้องอกและมะเร็งได้ สารจำพวก สเตอรอล (sterols) เช่น ergosterol, ?-sitosterol, glucopyranoside เป็นต้น สารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบสารประเภทโปรตีน เช่น cordymine (peptide), cordycedipeptide A (cyclodypeptide) และ cordyceamides A และ B เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ต้านการเจริญของแบคทีเรียได้ 2.3 ลักษณะและคุณสมบัติของเห็ดถั่งเช่าสีทอง เห็ดถั่งเช่าสีทองเป็นรากินแมลงชนิดหนึ่งของเห็ดสกุลคอร์ไดเซป ลักษณะของสโตรมาหรือดอกจะมีสีเหลืองทอง จึงเรียกว่า “เห็ดถั่งเช่าสีทอง” (chainese golden grass) ดังภาพที่ 1 ส่วนใหญ่เกิดในตัวหนอน และดักแด้ผีเสื้อ (Lepidopteran) เช่น ไหมป่า (Bombyx pithyocampa), B. caja, B. rubi เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบในด้วง เช่น หนอนนก (Tenebrio moliter) ในต่อ แตน (Hymenopteran) เช่น ต่อฟันเลื่อย (Cimbex similis) และในแมลงวัน (Dipteran) เช่น แมลงวันแมงมุม หรือยุงยักษ์ (Tipula paludosa) เป็นต้น เห็ดถั่งเช่าสีทองสามารถนำมาเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ได้และได้มีการเพาะเป็นการค้ามานานหลายสิบปีแล้วที่ประเทศจีนทดแทนเห็ดถั่งเช่าทิเบตซึ่งหาได้ยากมากขึ้นเนื่องจากมีปริมาณลดลงทำให้มีราคาที่สูงมาก มีการสำรวจตลาดถั่งเช่าสีทองในปี 2008 โดยศูนย์ติดตามการตลาดของจีน ซึ่งระบุว่าความต้องการตลาดนานาชาติปัจจุบันอยู่ที่ 1,000 ตันต่อปี ขณะที่ตลาดภายในจีนอยู่ที่ 500 ตัน อัตราการเจริญของตลาดอยู่ที่ 13% มีผู้ผลิตในจีนประมาณ 50 ราย มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 250 กรัมต่อปี สำหรับประเทศไทยการขายเห็ดถั่งเช่าสีทองจะขายในรูปเห็ดอบแห้ง ราคาขายอยู่ระหว่างกิโลกรัมละ 80,000–150,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดอกเห็ด ถ้าขายเป็นดอกสดในขวดเพาะเลี้ยง ราคาขวดละ 700–800 บาท (น้ำหนักดอกสดประมาณ 2.5 กรัม) (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) ภาพที่ 1 เห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ 2.3.1 การจัดจำแนกอนุกรมวิธาน เห็ดถั่งเช่าสีทองมีการจัดจำแนกตามอนุกรมวิธานดังนี้ (Das et al, 2010) ชื่อทั่วไป ถั่งเช่าสีทอง หญ้าหนอน (Chainese golden grass) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cordyceps militaris Kingdom Fungi Phylum Ascomycota Sub-phylum Ascomycotina Class Ascomycetes/Pyrenomycetes Order Hypocreales Family Clavicipataceae Genus Cordyceps Species militaris 2.3.2 สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญและสรรพคุณ เห็ดถั่งเช่าสีทองมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีสรรพคุณทางยาหลายชนิดเช่นเดียวกับเห็ดสกุลถั่งเช่า (Cordyceps) ชนิดอื่นๆ ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญของเห็ดถั่งเช่าสีทองคือ คอร์ไดเซปิน (cordycepin หรือ 3'–deoxyadenosine) ซึ่งพบครั้งแรกในเห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cunningham et al., 1951) สารชนิดนี้เป็นอนุพันธ์ของสารอะดีโนซีนโดยมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกัน ประกอบด้วยเบสอะดีนีน (adenine) จับกับน้ำตาลที่มีคาร์บอนจำนวน 5 อะตอม แต่มีความแตกต่างกันตรงที่คาร์บอนตำแหน่งที่ 3 ของคอร์ไดเซปินจะไม่มีออกซิเจนมาจับกับไฮโดรเจน ดังแสดงในภาพที่ 2 สารทั้งสองชนิดนี้อยู่ในกลุ่มสารปฏิชีวนะกรดนิวคลีอิกที่มีรายงานหลายฉบับยืนยันว่าเห็ดถั่งเช่าสีทองมีคุณสมบัติทางยาเทียบเท่ากับเห็ดถั่งเช่าทิเบต และมีอีกหลายฉบับรายงานว่าเห็ดถั่งเช่าสีทองมีสารคอร์ไดเซปิน และอะดีโนซีนสูงกว่าเห็ดถั่งเช่าทิเบต สารสกัดจากเห็ดถั่งเช่าสีทองมีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายด้านและมีคุณสมบัติที่น่าสนใจทางเภสัชวิทยา เช่น เสริมสมรรถนะทางเพศ ต้านมะเร็งและเนื้องอก ต้านการอักเสบ ยับยั้งอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ป้องกันน้ำตาลในเลือดสูง ลดไขมันในเส้นเลือด บรรเทาอาการโรคเบาหวาน ลดการเหนื่อยล้า ป้องกันเซลล์ประสาท ปองกันการเสื่อมสภาพของตับ ไต และปอด เป็นต้น (Das et al., 2010) ดังนั้นเห็ดถั่งเช่าสีทองจัดว่าเป็นเห็ดเป็นยาที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เห็ดถั่งเช่าจำหน่ายในรูปแบบต่างๆ เช่น แคปซูล ดอกถั่งเช่าแห้งหรือผงชงเป็นชา ถั่งเช่าอัดเม็ด ถั่งเช่าซุปสกัด กาแฟ เป็นต้น ภาพที่ 2 แสดงลักษณะโครงสร้างของสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีน ที่มา : Tuli and Sandhu (2014) 2.4 วงจรชีวิตของเห็ดถั่งเช่า เห็ดถั่งเช่าส่วนใหญ่จะชอบเจริญเติบโตบนที่ราบสูงและอากาศเย็น ธัญญา ทะพิงค์แก (2555) ได้อธิบายวงจรชีวิตของเห็ดถั่งเช่าว่า เมื่อเชื้อราแมลงได้ล่วงล้ำเข้าไปในวงจรชีวิตของแมลง อาจเกิดจากสปอร์เชื้อราตกลงบนที่ตัวแมลง หรือจากการที่แมลงกินอาหารที่ปนเปื้อนราเข้าไป เส้นใยของรา (hypha) จะฝังตัวเข้าสู่อวัยวะภายในและเจริญเติบโตอยู่ในเจ้าบ้าน (ตัวแมลง) ด้วยการกินอาหารจากตัวแมลงนั้น จากนั้นราที่เป็นปรสิตจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเข้าไปแทนที่อยู่ในลำตัวของแมลงนั้นทั้งตัว และกลายเป็นกลุ่มเส้นใยของราหรือไมซีเลียม (mycelium) เส้นใยของราแมลงเมื่อเจริญเติบโตจะรวมตัวกันเป็นดอกคล้ายๆ ต้นหญ้างอกออกมาจากตัวของแมลง ตัวอย่างเช่นในวัฏจักรของเห็ดถั่งเช่าทิเบต หรือเห็ดถั่งเช่าแท้ ซึ่งเป็นเห็ดที่จัดได้ว่ามีชื่อเสียงและมีค่ามากที่สุดในบรรดาราแมลงในสกุลเห็ดถั่งเช่า เห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดที่ขึ้นค่อนข้างเฉพาะเจาะจงกับตัวหนอนผีเสื้อค้างคาว หรือผีเสื้อกะโหลก (ghost moth) ซึ่งอยู่ตามที่ราบสูงแถบภูเขาหิมาลัยในทิเบต เนปาล ภูฐาน อินเดีย และจีน ความสูงระหว่าง 3,500–5,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล การเกิดขึ้นของถั่งเช่าทิเบตเข้าใจว่าช่วงฤดูหนาวหนอนผีเสื้อขุดรูลงไปอยู่ใต้ดินเพื่อหลบอากาศหนาวซึ่งหนอนผีเสื้อได้รับเชื้อราแมลงจากสภาพแวดล้อมหรือจากการที่ตัวหนอนกินอาหารปนเปื้อนเชื้อราเข้าไป เชื้อจะเจริญภายในตัวหนอนทำให้หนอนตาย โดยผิวนอกลำตัวของตัวหนอนยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ที่เราเห็นว่าเห็ดเป็นตัวหนอนนั้นเป็นเฉพาะเปลือกภายนอกเท่านั้น ข้างในตัวหนอนจะถูกอัดแน่นไปด้วยเส้นใยของราแมลง เมื่ออากาศอบอุ่นขึ้นเส้นใยในตัวหนอนจะรวมกันเป็นดอกคล้ายๆ ต้นหญ้างอกออกมาต้นหนึ่งตรงที่ส่วนหัวของหนอน รูปลักษณะภายนอกคล้ายไม้กระบองยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนตัวหนอนคงอยู่ในลักษณะของหนอนตายซากอยู่เช่นนั้นดังภาพที่ 3 เห็ดถั่งเช่าทิเบตที่ใช้ทำเป็นยาคือตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง ภาพที่ 3 วัฏจักรชีวิตของเห็ดถั่งเช่า (a) คือ วัฏจักรชีวิตของผีเสื้อกลางคืน (b) วัฏจักรชีวิตของเชื้อรา เห็ดถั่งเช่าสีทองที่เจริญในหนอนผีเสื้อกลางคืน ที่มา : Zhou et al. (2014) 2.5 วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่า ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555 อธิบายวิธีการเพาะเห็ดถั่งเช่าว่าสามารถเพาะเลี้ยงได้ 2 แบบ ใหญ่ๆ คือ การเพาะด้วยตัวหนอนดักแด้ และการเพาะด้วยอาหาร 1) การเพาะด้วยตัวหนอน เป็นวิธีที่เลียนแบบธรรมชาติ โดยทำการใส่เชื้อลงไปในหนอนผีเสื้อกลางคืน (Moth) โดยที่หนอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ เมื่อหนอนได้รับเชื้อจะค่อยๆ อ่อนแอและตายในที่สุด เห็ดจะงอกออกมาจากตัวหนอน หนอนที่ใช้เพาะเลี้ยงอาจเก็บมาจากธรรมชาติ โดยเก็บรังไหมมาแล้วทำการเพาะจนได้ดักแด้ก็ได้ สำหรับบ้านเราอาจใช้หนอนไหมหรือหนอนรถด่วนแทนก็ได้ การเพาะด้วยตัวหนอนทำได้ทั้งในสภาพปลอดเชื้อ โดยเลี้ยงในขวดแก้ว หรืออาจเพาะในโรงเรือนที่สะอาดอาจเพาะในโรงเรือนที่สะอาด สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในได้ โดยเพาะในกระบะ 1.1) เพาะในขวดแก้ว (สภาพปลอดเชื้อ) ต้องทำในห้องปฏิบัติการ และตู้เขี่ยเชื้อที่สะอาด อยู่ในสภาพปลอดเชื้อ โดยมากจะใช้ดักแด้ที่ผ่าออกมาจากรังไหม โดยนำดักแด้มาเช็ดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 70% ก่อน เพื่อทำความสะอาดหรือจะใช้เลยก็ได้ เพราะดักแด้ที่อยู่ในรังไหมค่อนข้างสะอาดอยู่แล้ว ทำการใส่เชื้อเห็ดลงในตัวดักแด้ในตู้เขี่ยเชื้อ โดยวิธีป้าย สเปรย์ ฉีด หรือกรีดให้เป็นแผลแล้วใส่เชื้อเห็ดลงไปในตัวดักแด้ จากนั้นใส่ลงในขวดแก้วที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ปิดฝาให้สนิท นำไปเพาะเลี้ยงต่อไป ช่วงแรกหลังจากใส่เชื้อให้นำไปเก็บไว้ในที่มืดเป็นเวลาประมาณ 7–10 วัน จากนั้นจึงให้แสงสว่าง 1.2) เพาะในกระบะ (โรงเรือน) ทำการเลี้ยงหนอนไหม (Bombyx mori) ในกระบะในโรงเรือนแบบปิดที่สะอาด และสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมภายในได้ โดยทำการสเปรย์หัวเชื้อเห็ดลงบนตัวหนอนที่เพิ่งลอกคราบระยะที่ 5 (ช่วงลอกคราบหนอนจะอ่อนแอที่สุด) โดยจะทำการสเปรย์ 3 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ทำการให้อาหารหนอนด้วยใบไม้ไปจนกระทั่งเข้าดักแด้ หลังจากเข้าดักแด้เป็นเวลา 11 วัน ให้ทำการผ่าตัดรังไหมเอาดักแด้ที่ติดเชื้อออกมา นำไปบ่มบนกระบะเพาะที่ควบคุมอุณหภูมิที่ 20–22 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 95% ในที่มืดเพื่อให้เชื้อพัฒนาเป็นดอกเห็ด มีการให้น้ำเป็นระยะเพื่อป้องกันไม่ให้แห้งเกินไป วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการเพาะเห็ดถั่งเช่าหิมะที่ประเทศเกาหลี มีการปรับปรุงพันธุ์หนอนไหมให้เหมาะแก่การเพาะเห็ดถั่งเช่าโดยเฉพาะโดย Hong et al. (2010) ได้ทำการศึกษาเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองในตัวหนอนไหม (B. mori) 3 สายพันธุ์คือ Daeseungjam, Baegokjam และ Keumokjam โดยศึกษาวิธีการที่แตกต่างกันที่จะทำให้เชื้อราเห็ดถั่งเช่าสีทองเข้าก่อโรคในตัวหนอนไหม และสภาวะที่ชักนำให้เกิดดอก พบว่า เชื้อเห็ดถั่งเช่าสีทองมีการเจริญเติบโตและสามารถเข้าก่อโรคกับดักแด้ไหมพันธุ์ Daeseungjam ได้ดีที่สุด 90.8% โดยช่วงอายุที่เหมาะสมของหนอนไหมที่ติดเชื้อได้ดีที่สุดคือหลังจากที่ลอกคราบไปแล้ว 9 – 11 วัน กรรมวิธีการฉีดสารแขวนลอยเชื้อราเห็ดถั่งเช่า (hyphal bodies) ที่ความเข้มข้นมากกว่า 2?105 cfu ในปริมาณ 100 ไมโครลิตร บริเวณทรวงอกของตัวหนอนไหมเป็นสภาวะที่เหมาะสมที่สุดที่ทำให้หนอนไหมติดเชื้อ สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าในตัวหนอนไหม เช่น กนกวรรณ ลือดารา และคณะ (2559) ที่ได้ทำการศึกษาการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองในดักแด้ไหมไทยพื้นบ้านพันธุ์นางลาย (B. mori) และไหมป่าอีรี่ (Samia ricini) ซึ่งก็พบว่า กรรมวิธีการฉีดสารแขวนลอยเชื้อเห็ดถั่งเช่าสีทองสายพันธุ์ CMRU-1 เข้าตัวดักแด้เป็นกรรมวิธีที่ดีที่สุด มีการเจริญเติบโตและสามารถเข้าก่อโรคกับดักแด้ไหมพันธุ์นางลายสูงสุด 72.50% มีการเจริญของดอกเห็ดสูงสุด 85.50% และได้ดอกเห็ดที่มีน้ำหนักสด 42.70 กรัม นอกจากนี้ยังมีรายงานของ รัฐพล ศรประเสริฐ และคณะ (2559) ได้รายงานว่า สูตรอาหารที่ใส่แมงกระชอนผสมอาหารเหลว PDB เป็นสูตรอาหารที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ผลผลิต และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสูงสุดมากกว่าสูตรอื่นๆ 2) การเพาะด้วยอาหาร เห็ดถั่งเช่าแต่ละชนิดต้องการอาหารที่ไม่เหมือนกัน แต่สามารถเจริญบนอาหารสูตรพื้นฐานได้ ส่วนการที่จะเจริญเติบโตให้ผลผลิตดีนั้น ควรเลือกใช้สูตรอาหารที่เหมาะสมกับเชื้อเห็ดชนิดนั้นๆ อาหารที่ใช้เพาะเชื้อเห็ดนั้นอาจเป็นอาหารวิทยาศาสตร์ ได้มาจากการผสมสารเคมีหลายๆ ชนิด หรืออาจเป็นวัตถุดิบตามธรรมชาติก็ได้ วัตถุดิบแต่ละชนิดที่นำมาทำอาหารมีคุณค่าทางสารอาหารต่างกัน สามารถแบ่งตามลักษณะของอาหารได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ 2.1) อาหารแข็ง อาจเป็นอาหารวุ้น หรือเมล็ดธัญพืชก็ได้ โดยจะนำหัวเชื้อเห็ดมาวางบนอาหาร แล้วนำไปบ่มที่ 20–25 ํC ประมาณ 30–45 วัน โดยใน 2 สัปดาห์แรก บ่มในที่มืด จากนั้นให้ได้รับแสงประมาณ 14–16 ชั่วโมงต่อวัน ความเข้มของแสง 1,000–3,000 ลักซ์ 2.2) อาหารเหลว โดยปกติในการเพาะอาหารเหลวผลผลิตเห็ดถั่งเช่าจะเป็นเส้นใย การเพาะด้วยอาหารเหลวจำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษในการเพาะเลี้ยง เช่น การเลี้ยงแบบเขย่า (shaking culture) การเลี้ยงแบบแช่ในอาหาร (submerged culture) การเลี้ยงบนผิวหน้าอาหารเหลว (surface liquid culture) และการเลี้ยงแบบต่อเนื่อง (continuous culture) เทคนิคการเลี้ยงแบบเขย่า ทำได้โดยตัดหัวเชื้อเห็ดที่ขึ้นบนอาหารวุ้นด้วยมีดที่ฆ่าเชื้อแล้วขนาด 5 ตารางมิลลิเมตร นำไปใส่ลงในขวดรูปชมพู่ขนาด 250 หรือ 500 มิลลิเมตร ที่มีอาหารเหลวบรรจุอยู่ 50–100 มิลลิลิตร นำไปบ่มที่อุณหภูมิ 20–25 ํC โดยวางบนเครื่องเขย่าที่ความเร็ว 50–150 รอบต่อนาที ประมาณ 5–7 วัน จากนั้นนำเชื้อมาใช้ได้ 2.6 ปัจจัยที่สำคัญในการเพาะเห็ดถั่งเช่า 1) สายพันธุ์ ความแข็งแรงของแม่พันธุ์หรือเชื้อเห็ดมีผลต่อการสร้างของดอกเห็ด แม่พันธุ์ที่อ่อนหรือแก่จนเกินไปจะทำให้การเกิดดอกไม่มีคุณภาพ เช่น เส้นใยเดินช้า จำนวนดอกน้อย ดอกสั้นจนเกินไป และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพน้อย เป็นต้น เชื้อเห็ดอาจได้มาจากแหล่งเก็บรักษาพันธุ์จุลินทรีย์ต่างๆ เช่น หน่วยเก็บรักษาพันธุ์จุลินทรีย์ทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (DOA) ศูนย์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (TISTR) หน่วยเก็บรักษาจุลินทรีย์เฉพาะทางของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (BCC) เป็นต้น หรือทำการแยกเชื้อเห็ดเองจากเห็ดสดก็ได้ 2) อาหารเพาะเลี้ยง อาหารเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่ามีมากมายหลายสูตร ส่วนประกอบหลักในอาหารเพาะเห็ดถั่งเช่า ประกอบด้วย 2.1) แหล่งให้คาร์บอน (carbon source) ได้แก่ เมล็ดธัญพืช แป้ง น้ำตาล มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวการใช้มล็ดธัญพืชในการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่า เช่น Kim et al. (2010) ได้ศึกษาการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสายพันธุ์ cardinalis ในเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ พบว่า เมื่อเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าบนข้าวกล้อง ข้าวฟ่างเยอรมัน และข้าวฟ่างทั่วไป จะทำให้ดอกเห็ดมีความยาวมากที่สุด รองลงมาคือข้าวบาร์เลย์จีน ข้าวฟ่างอินเดีย ข้าวดำ และข้าวบาร์เลย์ทั่วไป ตามลำดับ ส่วนข้าวโอ๊ต บดทำให้ดอกเห็ดสั้นมากที่สุด และเมื่อเติมดักแด้ไหมหรือตัวหนอนไหมร่วมกับเมล็ดธัญพืชจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และพบว่าดักแด้ไหมจะให้ผลผลิตดีกว่าตัวหนอนไหม 2.2) แหล่งให้ไนโตรเจน (nitrogen source) ได้แก่ ยีสต์สกัด (yeast extract) เปปโตน (peptone) เนื้อสกัด ไข่ ผงดักแด้ไหม มันฝรั่งสด 2.3) บัฟเฟอร์ (buffer) ได้แก่ ปุ๋ยเคมีสูตร 0-52-34 (monopotassium phosphate) กรดมะนาว (citric acid) 2.4) ดีเกลือ (magnesium sulphate) 2.5) วิตามิน (vitamin) ใช้วิตามินบี 1 (Thiamine chloride) สูตรอาหารที่มีสารอาหารมาก (rich media) เช่น Czapek Yeast Extract Agar (CZYA), Sabouraud Maltrose agar plus Yeast Extract (SMAY), Sabouraud Dextrose agar plus Yeast Extract (SYDA) จะส่งเสริมในการสร้างเม็ดสี (pigmentation) ของดอกเห็ดถั่งเช่ามากขึ้น ทำให้สีสด สวยงาม ก่อนที่จะนำเชื้อเห็ดเพาะเลี้ยงในอาหารเพาะจะต้องนำอาหารเพาะมานึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 ํC เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หรือที่อุณหภูมิ 100 ํC เป็นเวลา 8–10 ชั่วโมง เสียก่อน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อชนิดอื่นๆ นอกจากวิธีการนึ่งฆ่าเชื้อแล้ว ยังสามารถใช้สารไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogenperoxide; H2O2) แทนการนึ่งฆ่าเชื้อได้ เนื่องจากสารชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้สูง จากการทดลองพบว่าสามารถลดขั้นตอนที่ซับซ้อน ลดต้นทุน และสามารถทำตามได้ง่ายโดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ตามท้องถิ่น (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) 3) อุณหภูมิ เห็ดถั่งเช่าชอบเจริญที่อุณหภูมิต่ำ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบของเส้นใยและเกิดดอกอยู่ระหว่าง 22–25 ํC ในช่วงก่อนเปิดดอกจะนำมาเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 15-18 ํC เพื่อกระตุ้นให้เกิดปุ่มตาดอก จากนั้นจึงนำไปเปิดดอกที่อุณหภูมิ 22–25 ํC เหมือนเดิม 4) ความชื้น เห็ดถั่งเช่าจะเจริญได้ดีในบริเวณที่มีความชื้นสัมพัทธ์เหมาะสม ถ้าเป็นช่วงระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการบ่มเพื่อให้เส้นใยเจริญความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม คือ อยู่ระหว่าง 60–70% แต่ถ้าเป็นช่วงระยะเวลาที่มีการเจริญพัฒนาเป็นดอกเห็ดความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม คือ อยู่ระหว่าง 80–90% 5) แสงสว่าง แสงสว่างเป็นปัจจัยสำคัญเนื่องจากมีผลต่อความหนาแน่นเนื้อ (density texture) และการเกิดสี (pigmentation) ของเส้นใยเห็ดที่เพาะ (Shrestha et al., 2006) ในช่วงที่มีการกระตุ้นให้เกิดปุ่มตาของดอกความความเข้มข้นแสงที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 500 ลักซ์ เป็นเวลา 12–14 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อปุ่มดอกเห็ดเจริญเป็นดอกที่สมบูรณ์แล้วจะเพิ่มความเข้มของแสงเป็น 600–1,000 ลักซ์ เป็นเวลา 12–14 ชั่วโมงต่อวัน มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ทำการศึกษาถึงสภาวะการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมต่อการเจริญของเห็ดถั่งเช่า ในด้านปริมาณผลผลิตของดอก และปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น Masuda et al. (2006) ได้ศึกษาประสิทธิภาพการผลิตสารคอร์ไดเซปินในเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะเลี้ยงบนผิวหน้าอาหาร (surface culture) โดยใช้ยีสต์สกัด เพปโตน และกรดคาซามิโน (casamino acid) เป็นแหล่งไนโตรเจน และใช้กลูโคสเป็นแหล่งคาร์บอน พบว่า ได้ปริมาณสารคอร์-ไดเซปินสูงสุด 640 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เคยมีการศึกษามา Shih et al. (2007) ได้ศึกษาผลของการเจริญเติบโตของเส้นใยและการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเห็ดถั่งเช่าที่เพาะเลี้ยงในอาหารเหลว พบว่า ค่า pH ที่ต่ำ เป็นสภาวะที่เหมาะสมในการเจริญของเส้นใย การผลิต exopolysachharide (ESP) และการผลิตสารคอร์ไดเซปิน ซึ่งยีสต์สกัดจะเป็นแหล่งสำคัญต่อการผลิตสาร EPS และสารคอร์ไดเซปิน และเมื่อนำมาเพาะเลี้ยงโดยวิธีแบบเขย่าที่จะทำให้มีเห็ดถั่งเช่าสีทองมีการผลิตสารคอร์ไดเซปินเพิ่มขึ้น Lim et al. (2012) ได้ศึกษาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในเห็ดถั่งเช่าสีทอง 3 ชนิด คือ ปริมาณอะดีโนซีน คอร์ไดเซปิน และ ดี–แมนนิทอล ที่เพาะเลี้ยงในอาหารแข็ง พบว่า การใช้เมล็ดข้าวฟ่างเพาะเห็ดถั่งเช่าสีทองจะทำให้ได้ปริมาณอะดีโนซีน และดี–แมนนิทอลสูง แต่ในช่วงสัปดาห์แรกจะต้องเลี้ยงในที่มืด หากต้องการอะนิโนซีนสูงจะทำการเก็บผลผลิตได้หลังการเพาะไปได้ 40 วัน แต่ถ้าหากต้องการ ดี-แมนนิทอลสูงจะต้องเก็บวันที่ 50 แต่ถ้าหากต้องการคอร์ไดเซปินสูงควรเพาะด้วยเมล็ดถั่วเหลือง โดยช่วงสัปดาห์แรกจะเลี้ยงในที่มืดและจะทำการเก็บผลผลิตได้หลังการเพาะไปได้ 50 วัน ในช่วงหลังการเพาะไปได้ 40–50 วัน ปริมารอะดีโนซีนจะลดลง แต่คอร์ไดเซปินจะเพิ่มขึ้น Dong et al. (2012) ได้ศึกษาอิทธิพลของสารบางอย่างที่มีผลต่อปริมาณของสารออกฤทธิ์ทางยาของเห็ดถั่งเช่าสีทอง พบว่า การใส่สาร sodium selenite ลงไป ความเข้มข้น 18.0 ppm ลงในวัสดุเพาะที่เป็นข้าวสาลี จะช่วยทำให้กิจกรรมของเอนไซม์ซุปเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเทส (superoxide dismutase; SOD) ปริมาณสารคอร์ไดเซิน กรดคอร์ไดเซปิก อะดีโนซีน พอลีแซ็กคาไรด์ และกรดอะมิโนโดยรวมเพิ่มขึ้น 121/145%, 124/74%, 325/520%, 130/248%, 121/145% และ 157/554% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับวัสดุเพาะที่ไม่ได้ใส่สารนี้ นอกจากนี้ Dong et al. (2012) ยังได้ทำการศึกษาสีของแสงว่ามีผลต่อปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอย่างไร จากการทดลองพบว่าสีของแสงมีผลต่อปริมาณคอร์ไดเซปิน อะดีโนซีน และการเจริญของเส้นใย โดยเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะในอาหารเหลวภายใต้สภาพแสงสีน้ำเงินจะมีปริมาณคอร์ไดเซปินสูงกว่าที่เลี้ยงภายใต้แสงสีชมพู และที่เพาะภายใต้แสงสีชมพูจะมีปริมาณคอร์ไดเซปินสูงกว่าที่เพาะในแสงปกติ แสงสีแดง และที่มืด เห็ดถั่งเช่าสีทองที่เพาะภายใต้แสงสีแดงมีปริมาณอะดีโนซีนสูงกว่าที่เพาะภายใต้แสงสีชมพู ที่มืด แสงปกติ และแสงสีน้ำเงิน ด้านการเจริญของเส้นใยพบว่า แสงสีแดงส่งเสริมการเจริญดีกว่าแสงสีชมพู ที่มืด และแสงปกติ ส่วนแสงสีน้ำเงินให้ผลการเจริญของเส้นใยต่ำสุด 2.7 การเก็บดอกและการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันดอกเห็ดสดที่เก็บผลผลิตได้จะถูกเก็บรักษาโดยการทำให้แห้ง (drying) หรือการดึงน้ำออก เป็นการลดความชื้นในอาหาร หรือลดค่าวอเตอร์แอคทิวิตี้ (water activity; aw) ซึ่งเป็นค่าที่แสดงถึงปริมาณน้ำอิสระที่จุลินทรีย์จะสามารถนำไปใช้ในการเจริญได้ โดยอาหารที่มีความชื้นต่ำกว่า 13% หรือมีค่า aw ต่ำกว่า 0.60 จะไม่มีจุลินทร์ย์ใดๆ สามารถเจริญได้ (นิอร โฉมศรี, 2555) เห็ดถั่งเช่าที่เลี้ยงในอาหารเหลวสามารถเก็บผลผลิตโดยการกรองเอาเส้นใยเห็ด หากเลี้ยงด้วยอาหารกึ่งเหลวจะสามารถเก็บผลผลิตเห็ดเป็นลักษณะแผ่นเส้นใยเห็ด หลังจากเก็บผลผลิตแล้วนำมาทำให้แห้งเพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อรา โดยอบที่อุณหภูมิ 60 ํC เป็นเวลา 48 ชั่วโมง แล้วนำไปบดให้ละเอียดเพื่อบรรจุแคปซูล ในกรณีที่เพาะเลี้ยงบนอาหารจนเป็นดอกเห็ดนั้น เห็ดถั่งเช่าเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากภาชนะที่เพาะเลี้ยงแล้วดอกเห็ดจะเหี่ยวลงอย่างรวดเร็ว และถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจปนเปื้อนเชื้อราและเกิดการเสื่อมสภาพของเห็ดได้ การทำแห้งของเห็ดถั่งเช่าในระดับอุตสาหกรรมเมื่อเพาะให้เกิดดอกแล้ว จะอบแบบถาด Tray Dryer ในเตาอบที่อุณหภูมิ 60–70 ํC เป็นเวลา 8–12 ชั่วโมง แล้วนำมาบรรจุถุงพลาสติกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555)
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :เมล็ดธัญพืชและแมลงชนิดที่แตกต่างกันมีผลทำให้เห็ดถั่งเช่าสีทองมีการเจริญเติบโตและผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้แตกต่างกัน
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :3.1 การวางแผนการทดลอง ทำการศึกษาผลของสูตรอาหารแข็งธัญพืชต่อการเจริญเติบโตและการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองในสูตรอาหารที่แตกต่างกันจำนวน 15 สูตร เปรียบเทียบกับสูตรอาหารที่เป็นตัวควบคุม (Control) จำนวน 1 สูตร สาเหตุที่ผู้วิจัยเลือกเปรียบเทียบกับสูตรอาหารควบคุมดังกล่าวเนื่องวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในสูตรอาหารนี้เป็นสูตรอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงกันอยู่ทั่วไปในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทอง จึงได้นำสูตรอาหารนี้มาเปรียบเทียบกับสูตรอื่น ๆ ที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ ดังนั้นรวมสูตรอาหารที่ใช้ในการศึกษานี้ทั้งหมด 16 สูตร โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomize Designed ; CRD) จำนวน 3 ซ้ำๆ ละ 3 ขวด 3.2 วัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือ สารเคมี และเชื้อจุลินทรีย์ 3.2.1 วัสดุและอุปกรณ์ 1) จานเพาะเชื้อ 2) เข็มเขี่ย 3) หลอดทดลอง 4) ขวดรูปชมพู่ 5) กระบอกตวง 6) กรวย 7) บีกเกอร์ 8) มีดผ่าตัด 9) ขวดโซดา 10) ตะเกียงแอลกอฮอล์ 11) คีมหนีบ 12) ขวดแก้วพร้อมฝา ขนาด 28 ออนซ์ 13) กระดาษฟอยด์ 14) หลอดปั่นเหวี่ยง 15) กระดาษกรอง Whatman No. 1 16) แผ่นเยื่อกรองที่มีรูพรุนขนาด 0.45 ไมครอน 17) เข็มฉีดยา 18) สำลี 3.2.2 เครื่องมือ 1) โครมาโทกราฟฟีเหลวความดันสูง (High Performance Liquid Chromatography; HPLC) 2) หม้อนึ่งฆ่าเชื้อความดันไอระบบอัตโนมัติ (Autoclave) 3) ตู้บ่มเชื้อปรับระดับอุณหภูมิ (Incubator) 4) ตู้ถ่ายเชื้อ (Laminar air flow) 5) ตู้เย็น (Freezer) 6) ตู้อบลมร้อน (Hot air oven) 7) เครื่องชั่งน้ำหนักดิจิตอลไฟฟ้า 8) เครื่องปั่นเหวี่ยงควบคุมอุณหภูมิ (Refrigerated Centrifuge) 9) เครื่องเขย่าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonic) 10) เครื่องเขย่า (Shaker) 11) เครื่องวัด pH (pH meter) 12) เครื่องทำไอน้ำ 13) เครื่องวัดสี (Color meter) 14) เครื่องวัดค่าความแน่นเนื้อ (Texture analyzer) 3.2.3 สารเคมี สารเคมีสำหรับการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่า 1) เปปโตน (Peptone) 2) น้ำตาลเด็กโทรส (Dextrose) 3) ยีสต์สกัด (Yeast extract) 4) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide; H2O2) 5) วิตามินบี 1 (Thiamine) สารเคมีสำหรับการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 1) Adenosine 2) Cordycepin 3) เมทานอลสำหรับใช้กับเครื่อง HPLC 4) น้ำกลั่นสำหรับใช้กับเครื่อง HPLC 3.3 วิธีดำเนินการทดลอง 3.3.1 การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองลงบนอาหารแข็ง PDA นำเชื้อราเห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ที่ซื้อมาจากสถานีเห็ด จ.ปทุมธานี เพาะเลี้ยงในอาหารแข็งพีดีเอ (potato dextrose agar; PDA) ประกอบด้วย มันฝรั่ง 200 กรัม, ข้าวโพดอ่อน 50 กรัม, กลูโคส 20 กรัม, ยีสต์สกัด 5 กรัม, เปปโตน 5 กรัม, วิตามิน B1 200 มิลลิกรัม ผงวุ้นบริสุทธิ์ 15 กรัม และน้ำกลั่น 1 ลิตร ปรับค่า pH ที่ 6.5–7 จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 ํC เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นเทใส่จานเพาะเชื้อทิ้งให้เย็น ใช้เข็มเขี่ยเชื้อปลายงอลนไฟฆ่าเชื้อแล้วเขี่ยเอาเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองปลูกลงในอาหารแข็งที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ จากนั้นนำไปบ่มในที่มืด อุณหภูมิ 22–24 ํC เป็นเวลา 14–21 วัน (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) 3.3.2 การเตรียมหัวเชื้อในอาหารเหลว ใช้ Cork Borer เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5 เซนติเมตร เจาะบริเวณรอบนอกโคโลนีให้ได้ชิ้นวุ้นที่มีเส้นใยจำนวน 2 ชิ้นวุ้น วางลงในขวดขนาด 250 มิลลิลิตร ที่มีอาหารเหลว PDB (potato dextrose broth) ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วปริมาตร 50 มิลลิลิตร โดยสูตรอาหารเหลวประกอบด้วย มันฝรั่ง 200 กรัม, ข้าวโพดอ่อน 50 กรัม, กลูโกส 20 กรัม, ยีสต์สกัด 5 กรัม, มอลต์สกัด 5 กรัม, เปปโตน 5 กรัม, วิตามิน B1 200 มิลลิกรัม และน้ำกลั่น 1 ลิตร ปรับค่า pH ที่ 6.5–7 จากนั้นนำไปบ่มบนเครื่องเขย่า (shaker) ที่ความเร็วรอบ 120 รอบต่อนาที ในที่มืดที่อุณหภูมิ 22–24 ํC เป็นเวลา 7 วัน (ธัญญา ทะพิงค์แก, 2555) 3.3.3 การเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดถั่งเช่าสีทองจากอาหารเหลวลงบนอาหารแข็งธัญพืช 1) เตรียมอาหารแข็งธัญพืชแต่ละสูตรโดยมีส่วนผสมของวัตถุดิบชนิดต่างๆ ประกอบด้วย (1) อาหารเหลว PDB (2) เมล็ดธัญพืชที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ ข้าวขาวเสาไห้ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เมล็ดข้าวโพด และเมล็ดข้าวฟ่าง และ (3) วัตถุดิบที่เป็นแมลงที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ ดักแด้ไหม จักจั่น ตั๊กแตน และจิ้งหรีด แต่เนื่องจากในช่วงที่ทำการทดลองผู้วิจัยไม่สามารถหาชนิดของแมลงที่เป็นจักจั่นได้ ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงเปลี่ยนชนิดของแมลงเป็นแมงกระชอนแทน ทำการผสมวัตถุดิบของแต่ละสูตรอาหารดังแสดงในตารางที่ 1 ลงในขวดแก้วขนาด 28 ออนซ์ 2) นำไปนึ่งฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ที่อุณหภูมิ 121 ํC เป็นเวลา 20 นาที ตั้งทิ้งไว้ให้เย็น 3) ทำการหยอดเชื้อเห็ดที่เจริญในอาหารเหลวลงไปในขวดอาหารแข็งธัญพืชปริมาณ 2 มิลลิลิตร ปิดฝาขวดแล้วนำไปบ่มในที่มืด ที่อุณหภูมิ 22 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 60–70% ทำการบันทึกผลการเจริญของเส้นใย 4) กระตุ้นให้เกิดตุ่มดอกเห็ดโดยเพาะเลี้ยงที่อุณหภูมิ 18 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 60– 70% ให้แสง 500 ลักซ์ วันละ 12–14 ชั่วโมง จนกระทั่งมีตุ่มดอกเกิดขึ้นแล้วทำการบันทึกผล 5) เพาะเลี้ยงให้ตุ่มดอกเจริญเติบโตที่อุณหภูมิ 22 ํC ความชื้นสัมพัทธ์ 80–90% ให้แสง 600– 1,000 ลักซ์ วันละ 12 ชั่วโมง และบันทึกผลการเจริญเติบโตของดอกเห็ด 3.3.4 การเก็บเกี่ยวเพื่อประเมินผลผลิต และการวัดคุณสมบัติทางกายภาพของเห็ดถั่งสีทอง สเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อบริเวณที่จะทำการเก็บเกี่ยวเห็ดถั่งเช่าสีทอง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและเช็ดให้แห้ง ใช้มือเปิดฝาขวดและนำผลผลิตออกมาทั้งชิ้นจากขวดเพาะแล้ววางบนภาชนะที่สะอาด ใช้คีมคีบที่เช็ดทำความสะอาดแล้วดึงก้านเห็ดถั่งเช่าสีทองออกมาเรียงกันในถาดทีละก้านให้ถึงโคนต้นหรืออยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ด้วยความระมัดระวัง ประเมินผลผลผลิตที่ได้โดยนับจำนวนดอก และวัดน้ำหนักของดอกสด วัดคุณสมบัติทางกายภาพของดอกเห็ด ได้แก่ ค่าความแน่นเนื้อด้วยเครื่องวัดความแน่นเนื้อ (model QTS 25, Brookfield, USA) โดยใช้หัวเข็มปลายทู่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.2 เซนติเมตร แสดงผลของหน่วยเป็นกิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (kg/cm2) และวัดค่าสีด้วยเครื่องวัดสี (Minolta Model DP-1000, USA) โดยแสดงผลค่าสีแดงด้วยค่า a* และแสดงผลค่าสีเหลืองด้วยค่า b* ตารางที่ 1 อัตราส่วนของวัตถุดิบแต่ละชนิดในสูตรอาหารที่แตกต่างกัน สูตรอาหาร วัตถุดิบ ข้าวเสาไห้ (กรัม) ข้าวไรซ์เบอรี่ (กรัม) ข้าวโพด (กรัม) ข้าวฟ่าง(กรัม) แมงกระชอน (กรัม) จิ้งหรีด (กรัม) ตั๊กแตน (กรัม) ดักแด้ไหม (กรัม) อาหารPDB (มิลลิลิตร) Control 50 - - - - - - 20 50 NSRU 1 50 - - - 20 - - - 50 NSRU 2 50 - - - - 20 - - 50 NSRU 3 50 - - - - - 20 - 50 NSRU 4 - 50 - - 20 - - - 50 NSRU 5 - 50 - - - 20 - - 50 NSRU 6 - 50 - - - - 20 - 50 NSRU 7 - 50 - - - - - 20 50 NSRU 8 - - 50 - 20 - - - 50 NSRU 9 - - 50 - - 20 - - 50 NSRU 10 - - 50 - - - 20 - 50 NSRU 11 - - 50 - - - - 20 50 NSRU 12 - - - 50 20 - - - 50 NSRU 13 - - - 50 - 20 - - 50 NSRU 14 - - - 50 - - 20 - 50 NSRU 15 - - - 50 - - - 20 50 3.3.5 การวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ วิเคราะห์หาปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ 2 ชนิด คือ คอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองที่เจริญบนอาหารแข็งธัญพืชทุกสูตร ตามวิธีการของ Huang et al. (2009) โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1) การเตรียมสารสกัดหยาบ นำตัวอย่างดอกเห็ดถั่งเช่าสีทองมาอบแห้งด้วยลมร้อนที่อุณหภูมิ 50 ํC เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นนำมาปั่นให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่น (homogenizer) ชั่งตัวอย่างที่ปั่นละเอียดมา 1 กรัม ใส่ในหลอดสำหรับปั่นเหวี่ยงขนาด 50 มิลลิลิตร เติมสารละลาย เมทานอลความเข้มข้น ร้อยละ 50 ปริมาตร 10 มิลลิลิตร และผสมให้เข้ากันด้วยเครื่องเขย่า (vortex mixture) จากนั้นนำไปแช่ในเครื่องอัลตราโซนิกชนิดอ่าง (ultrasonic bath) เป็นเวลา 30 นาที และแยกสารละลายส่วนใสโดยนำไปปั่นเหวี่ยงที่ความเร็ว 9,900 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 4 ํC เป็นเวลา 10 นาที เทส่วนใสเก็บไว้ ทำการสกัดตัวอย่างสองรอบ เทสารสกัดที่ได้รวมกันและบันทึกปริมาตร กรองสารสกัดที่ได้ผ่านเมมเบรนที่มีรูพรุนขนาด 0.45 ไมครอน ใส่ในขวดเก็บสารเพื่อเตรียมวิเคราะห์สารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนต่อไป 2) การวิเคราะห์หาสารอะดีโนซีนและคอร์ไดเซปิน นำสารที่สกัดหยาบที่ได้มาแยกและวิเคราะห์หาสารคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนด้วยเครื่องโครมาโทกราฟีของเหลวสมรรถนะสูง (High Performance Liquid Chromatography: HPLC) (Shimadzu, Japan) คอลัมน์ยี่ห้อ Restek รุ่น Ultra IBD (ขนาด 4.6 x 150 มิลลิลิตร ที่มีอนุภาค 5 ไมครอน) และตัวตรวจวัดสัญญาณ (detector) เป็นอุลตราไวโอเล็ต (UV) ที่กำหนดความยาวคลื่นเท่ากับ 254 นาโนเมตร โดยมีสภาวะที่ใช้สำหรับแยกสาร ได้แก่ สารละลายเคลื่อนที่ (mobile phase) คือ น้ำและสารละลายเมทานอลในอัตราส่วน 90:10 (V/V) อัตราการไหลเท่ากับ 1 มิลลิลิตรต่อนาที ปริมาณสารที่ฉีดเท่ากับ 20 ไมโครลิตร อุณหภูมิของช่องใส่คอลัมน์เท่ากับ 35 ํC ใช้สารมาตรฐานคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีน ของบริษัท Sigma Chemical Corporation เตรียมสารละลายมาตรฐานคอร์ไดเซปินและอะดีโนซีนในช่วงความเข้มข้นเท่ากับ 0 - 100 และ 0 - 50 ppm ตามลำดับ 3.3.6 การวิเคราะห์ผล เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยวิธี DMRT (Duncan’s Multiple Range Test) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS 15
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของอาหารแข็งธัญพืชต่อผลผลิตและการผลิตสารออกฤทธิ์ชีวภาพของเห็ดถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Complete Randomized Design) จำนวน 3 ซ้ำ ๆ ละ 3 ขวด ทำการเพาะเลี้ยงเห็ดถั่งเช่าสีทองบนอาหารแข็งจำนวน 16 สูตรที่แตกต่างกัน โดยแต่ละสูตรประกอบด้วยวัตถุดิบเมล็ดธัญพืชที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ ข้าวเสาไห้ ข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ เมล็ดข้าวโพด และเมล็ดข้าวฟ่าง และแมลงที่แตกต่างกัน 4 ชนิด คือ แมงกระชอน จิ้งหรีด ตั๊กแตน และดักแด้ไหม ผสมกับอาหารเหลว อาหารเหลว PDB (potato dextrose broth)
จำนวนเข้าชมโครงการ :4231 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายรัตนะ ยศเมธากุล บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย50
นายณัฐพงษ์ สิงห์ภูงา บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย50

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด