รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000389
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การศึกษาพัฒนาการใช้อาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสัตว์เคี้ยวเอื้อง
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Research and Development of medicated urea-molasses multinutrient block mix herbs to increase the efficiency of production in ruminant
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :อาหารข้นอัดก้อน แพะ พยาธิ สมุนไพร สมรรถภาพการเจริญเติบโต
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม > ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ แขนงวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :160975
งบประมาณทั้งโครงการ :160,975.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :16 ธันวาคม 2553
วันสิ้นสุดโครงการ :15 ธันวาคม 2554
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :เกษตรศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ โค กระบือ ที่เหมือนกันคือในช่วงฤดูแล้ง จะขาดแคลนหญ้าและส่วนใหญ่จะให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด เปลือกถั่ว เป็นแหล่งอาหารหยาบ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารต่ำ ทำให้สัตว์ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นผลให้สัตว์มีการเจริญเติบโตที่มีดีนัก จึงได้มีการค้นคว้าเทคโนโลยีที่ใช้แก้ไขและปรับปรุงให้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีคุณค่าทางโภชนะสูงขึ้นและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น การสับ การหมักด้วยยูเรีย หรือให้กินร่วมกับอาหารเสริม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีและวิธีการที่หน่วยงานราชการต่างๆได้ส่งเสริมถ่ายทอดแก่เกษตรกรอย่างแพร่หลายเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง อาหารก้อนคุณภาพสูง (UMMB) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรกรเลือกใช้ ส่วนปัญหาในด้านสุขภาพสัตว์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะมักพบบ่อย คือ ปัญหาพยาธิรบกวน ปัญหาท้องเสีย วิถีการเลี้ยงเลี้ยงแพะของเกษตรกรกรส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้เสริม มีการลงทุนที่ไม่สูง บางรายอาจเลี้ยงตามใต้ถุนบ้าน ส่วนใหญ่ไม่มีการเสริมอาหารข้น แต่จะมีการให้แร่ธาตุก้อนบ้าง ปัญหาที่เกษตรกรไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาหารข้น และแร่ธาตุก้อนเป็นเพราะว่าเป็นการเพิ่มต้นทุน แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถ่ายพยาธิในแต่ละปีเป็นจำนวนเงินที่สูง ดังนั้นถ้าหากมีการรวมเอาแร่ธาตุก้อนผสมกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการป้องกัน กำจัดพยาธิ ก็จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของแพะสูงตามไปด้วย แร่ธาตุนับเป็นปัจจัยในการช่วยสนับสนุนขบวนการในการดำรงชีพและให้ผลผลิตของสัตว์ แม้ต้องการในปริมาณที่น้อย แต่เป็นโภชนะที่จำเป็นโดยเฉพาะในสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งอาจได้รับไม่เพียงพอจากอาหารหยาบ กล่าวคือ ปริมาณแร่ธาตุในพืชอาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของดินที่พืชเจริญเติบโต ชนิดของพืช ระยะการเจริญเติบโต ลักษณะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Underwood, 1981) การขาดแคลนแร่ธาตุในสัตว์เคี้ยวเอื้องมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับองค์ประกอบและโครงสร้างของดิน โดยเฉพาะปริมาณแร่ธาตุในดินและปัจจัยอื่น เช่น ระดับ pH ปริมาณความชื้น และอินทรีย์วัตถุในดิน (McDowell และคณะ, 1980 ; Ammerman and Goodrich, 1983) พื้นที่ใดขาดแร่ธาตุบางอย่างก็จะทำให้สัตว์ที่กินพืชขาดแร่ธาตุนั้น ๆ ไปด้วย ซึ่งจะแสดงออกมาได้ เช่น ผสมติดยาก ซูบผอม กระดูกอ่อน โลหิตจาง โตช้า เป็นต้น ปัจจุบันการเสริมอาหารแร่นับว่าทำได้สะดวกขึ้น ทั้งรูปผงและก้อน แต่แร่ธาตุก้อนที่นิยมใช้ปัจจุบันมีน้อยและส่วนใหญ่ยังคงซื้อของต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพง การใช้แร่ธาตุผงซึ่งเกษตรกรสามารถผสมได้เองอย่างไม่ยุ่งยากอาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้นจึงได้ดำเนินการศึกษาหาวิธีการเสริมแร่ธาตุผงอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ จึงทำการศึกษาทดลองในครั้งนี้ โดยศึกษาเปรียบเทียบวิธีการเสริมแร่ธาตุผงร่วมกับอาหารข้นและอาหารหยาบต่างชนิด เพื่อศึกษาสมรรถนะการผลิตตลอดจนต้นทุนการขุนแกะเพศผู้ตอน เป็นแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปศุสัตว์ นำข้อมูลที่ได้เผยแพร่ส่งเสริม และแนะนำเกษตรกรทั่วไป การผลิตอาหารที่ปลอดภัย สมุนไพรจึงเป็นทางเลือกใหม่สำหรับ การเลี้ยงสัตว์ ใช้ทดแทนสารเคมีในการป้องกันและรักษาโรค เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนั้น การใช้พืชสมุนไพรในการดูแลสุขภาพสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยจะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายการเลี้ยงสัตว์ และยังทำให้ลดการสั่งซื้อยาเคมีจากต่างประเทศ ฉะนั้นการส่งเสริมความรู้ สร้างกระบวนการ เรียนรู้ สร้างภูมิปัญญาใหม่ โดยใช้ฐานทุนที่มีอยู่ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมของประเทศ สร้างสังคมฐานราก ให้เข้มแข็ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จะเป็นทางออกในมิติใหม่ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทดลองครั้งนี้จึงจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สมุนไพรร่วมกับอาหารข้นอัดก้อนและศึกษาผลของการใช้อาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแพะเนื้อ ซึ่งเป็นแนวทางในการนำไปใช้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไป
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อลดการใช้ยาเคมีในการเลี้ยงสัตว์ 2.เพื่อทดสอบการใช้สมุนไพรในสัตว์ 3.เพื่อเพิ่มทางเลือกในการป้องกันหรือกำจัดพยาธิภายในให้แก่เกษตรกร
ขอบเขตของโครงการ :งานวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาคุณค่าของโภชนะของอาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันและกำจัดพยาธิ และทำการทดสอบผลของอาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพรในแพะ จากนั้นนำผลการวิจัยที่ได้นำเสนอและถ่ายทอดสู่เกษตรกร
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1. ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถ่ายพยาธิให้กับเกษตรกร 2. เพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น สมุนไพรในท้องถิ่น 3. เกษตรกรสามารถทำได้เอง 4. เผยแพร่ให้กับเกษตรกรที่สนใจด้วยการลงวารสารและจัดอบรม 5. สามารถพัฒนานำไปสู่การจดสิทธิบัตร 6. นำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ 7. เป็นองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาต่อไป
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :จากข้อมูลสถิติจำนวนแพะของกรมปศุสัตว์ ปี 2551 พบว่า การเลี้ยงแพะในประเทศไทยมีหนาแน่นในเขต ภาคกลาง คือ 158,487 ตัว คิดเป็น 42.00 % ของแพะทั้งประเทศ รองลงมาคือภาคใต้ 140,939 ตัว (กรมปศุสัตว์, 2551) โดยในเขตภาคใต้ชาวมุสลิมนิยมเลี้ยงสำหรับบริโภคเนื้อและประกอบพิธีทางศาสนา แพะส่วนใหญ่ยังคงเป็นพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีระบบการเลี้ยงแบบปล่อยหากินอาหารตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งหญ้า ใบไม้ หรือแทะเล็มหญ้าในสวนผลไม้ สวนยาง ซึ่งต่างจากภาคกลางการเลี้ยงแพะในภาคกลางจะมีวัตถุประสงค์เลี้ยงเพื่อจำหน่ายมากว่าบริโภคดังนั้นลักษณะการเลี้ยงและจำนวนแพะที่เลี้ยงต่อเกษตรกร 1 คน จึงมากกว่าภาคใต้ แต่เนื่องจากพื้นที่ในภาคกลางมีพื้นการเลี้ยงไม่มากนักจึงทำให้แพะได้รับอาหารหยาบที่ไม่หลากหลายและไม่เพียงพอต่อความต้องการ จำเป็นต้องเสริมอาหารข้น สมเกียรติและคณะ (2528) รายงานว่าแพะในชนบทถูกเลี้ยงโดยระบบปล่อยแทะเล็มหญ้าและใบไม้ โดยไม่เสริมอาหารข้นเพศเมีย เมื่ออายุ 1 ปี มีน้ำหนักประมาณ 12.78-16.44 กิโลกรัม ขณะที่ Pralomkarn และคณะ (1995) รายงานว่าแพะเพศผู้หลังหย่านมที่เลี้ยงขังคอกได้รับอาหารหยาบคุณภาพต่ำและได้รับอาหารข้นเสริมเต็มที่ สามารถเจริญเติบโตได้ถึงวันละ 100 กรัม ในสภาวะปัจจุบันที่ปลาป่นและกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนหลักมีราคาสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร คือ การนำเอาใบพืชอาหารสัตว์ซึ่งได้แก่ใบพืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ หรือใบพืชอื่นๆ ที่เป็นเศษเหลือทางการเกษตรมาใช้เป็นอาหารแพะ เนื่องจากใบพืชอาหารสัตว์เหล่านี้มีโปรตีนสูงเฉลี่ยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ (นพวรรณ, 2541) สามารถใช้เป็นแหล่งอาหารเสริมโปรตีนได้อย่างดี ช่วยเพิ่มการสร้าง microbial protein โดยเฉพาะในแบคทีเรียพวกที่ย่อยเซลลูโลส (Hungate, 1966) ที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถปลูกไว้ใช้เอง จึงเหมาะที่จะนำไปใช้เลี้ยงแพะเพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร นอกจากนี้ยังได้มีการค้นคว้าหาเทคโนโลยีที่สะดวกและง่ายต่อการจัดการสำหรับเกษตรกรที่ใช้อาหารหยาบคุณภาพต่ำเลี้ยงโค กระบือ แพะ เช่น การใช้ยูเรีย-กากน้ำตาล-แร่ธาตุอัดก้อน (Urea-Molasses-Mineral Block, UMMB) เป็นอาหารเสริมให้แก่สัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งสัตว์จะได้รับไนโตรเจนจากยูเรีย และ Soluble carbohydrate จากกากน้ำตาล นอกจากนั้นยังได้รับแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นจาก UMMB ด้วย ซึ่ง UMMB จะไม่มีผลต่อความเป็นกรด-ด่างในกระเพาะรูเมน แต่จะช่วยให้มีปริมาณแอมโมเนียไนโตรเจนซึ่งเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนเพิ่มขึ้น (พิมพาพร และคณะ, 2536) ทำให้จุลินทรีย์สามารถเพิ่มจำนวนได้มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารในกระเพาะรูเมนดีขึ้นด้วย ดังนั้น UMMB จึงมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ที่ได้รับอาหารหยาบคุณภาพต่ำในช่วงแล้งได้ดี และการอัดอาหารให้เป็นก้อนมีผลทำให้สัตว์สามารถใช้ประโยชน์จากอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสัตว์ต้องเลียกินอย่างช้าๆทำให้ได้รับอาหารเสริมทีละน้อยและสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังสะดวกในการใช้และประหยัดแรงงานในการให้อาหารจึงน่าจะเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ปัญหาอีกประการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะคือ ปัญหาโรคพยาธิในแพะ พยาธิมีผลกระทบต่อการผลิตแพะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งพบว่าพยาธิภายในเป็นตัวก่อปัญหากับการเลี้ยงมากกว่าพยาธิภายนอก ถ้าแพะมีพยาธิภายในจำนวนมากจะทำให้เกิดโรคเฉียบพลันมีความรุนแรงถึงตายได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณน้อยจะไม่ถึงตาย แต่ทำให้ผลผลิตลดลง เช่น เนื้อ นม นอกจากนี้ทำให้แพะอ่อนแอ เป็นโรคอื่นๆ ได้ง่าย ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้จากผลผลิตที่ลดลงและเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อยาถ่ายพยาธิด้วยมีแนวโน้นว่าพยาธิจะมีการดื้อยาขึ้น การใช้ยาจึงต้องไม่ใช้ยาชนิดเดียวกันทั้งปี พยาธิภายในแพะมีหลายชนิดด้วยกัน เกิดกับแพะทุกภาคที่เลี้ยงแพะ โดยเฉพาะในเขต เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวตืด และพยาธิตัวแบน
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :การศึกษาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันและกำจัดพยาธิหลายชนิด หากนำสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันและกำจัดพยาธิมาผสมอาหารข้นอัดก้อน คาดว่าน่าจะช่วยในการกำจัดพยาธิได้ และคามว่าจะได้ผลดีกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สมุนไพร
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :13. วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การศึกษาคุณค่าทางโภชนะของอาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพร ทำการศึกษาสูตรอาหารข้นอัดก้อน + สมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการป้องกันและกำจัดพยาธิ สูตรที่ 1 อาหารข้นอัดก้อน (UMMB) สูตรที่ 2 อาหารก้อนคุณภาพสูง + มะเกลือ สูตรที่ 3 อาหารก้อนคุณภาพสูง + เมล็ดมะขาม สูตรที่ 4 อาหารก้อนคุณภาพสูง + สะแกนา จากนั้นนำ UMMB + สมุนไพรทุกสูตรมาวิเคราะห์หาส่วนประกอบทางเคมี ความชื้น โปรตีน ไขมัน เยื่อใย เถ้า แคลเซียม และฟอสฟอรัสรวม ตามวิธีที่แนะนำใน AOAC (1989) กิจกรรมที่ 2 ผลของการใช้อาหารข้นอัดก้อนผสมสมุนไพรในแพะรุ่น อุปกรณ์และวิธีการ สัตว์ทดลอง ใช้แผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block โดยใช้แพะอย่านมพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง + แองโกลนูเบียน อายุประมาณ 4 เดือน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 12 กิโลกรัม จำนวน 20 ตัวแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มประกอบด้วยแพะเพศผู้ 2 เพศเมีย 2 รวม 4 ตัว เลี้ยงในคอกยกพื้น กลุ่มที่ 1 ไม่เสริม อาหารข้นอัดก้อน กลุ่มที่ 2 เสริมอาหารข้นอัดก้อน (UMMB) กลุ่มที่ 3 เสริมอาหารข้นอัดก้อนผสม + มะเกลือ กลุ่มที่ 4 เสริมอาหารข้นอัดก้อนผสม + เมล็ดมะขาม กลุ่มที่ 5 เสริมอาหารข้นอัดก้อนผสม + สะแกนา ก่อนเข้าทดลองแพะทุกตัวได้รับการถ่ายพยาธิ นำแพะเข้าปรับสภาพกับอาหารตามกลุ่มทดลองเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ให้น้ำกินโดยอิสระ และวางอาหารข้นอัดก้อนให้สัตว์เลียกินอย่างอิสระ ให้อาหารหยาบกินเต็มที่ (อาหารหยาบตามฤดูกาล) เมื่อดำเนินการทดลองทำการบันทึกน้ำหนักก่อนและสิ้นสุด ใช้ระยะเวลาทดลองทั้งสิ้น 4 เดือน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :1118 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวชนณภัส หัตถกรรม บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด