รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000384
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Policy Recommendation for Local Economic Development According to the Digital Economy Concept in Nakhonsawan Province.
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจชุมชน , ข้อเสนอเชิงนโยบาย
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชารัฐศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :แผนงานวิจัยหรือชุดโครงการวิจัยและโครงการวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้ว
งบประมาณที่เสนอขอ :323700
งบประมาณทั้งโครงการ :323,700.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :30 ตุลาคม 2560
วันสิ้นสุดโครงการ :29 ตุลาคม 2561
ประเภทของโครงการ :การวิจัยพื้นฐาน
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
กลุ่มวิชาการ :รัฐประศาสนศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ในโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคแห่งสารสนเทศ ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร โดยการเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายหรือระบบอินเตอร์เน็ท ซึ่งเรียกว่าอินเตอร์เน็ทคือทุกสิ่ง(Internet of thing : IoT) หมายความว่า สภาพแวดล้อมอันประกอบด้วยสรรพสิ่งที่สามารถสื่อสารและเชื่อมต่อกันได้ผ่านโพรโทคอลการสื่อสารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย โดยสรรพสิ่งต่างๆ มีวิธีการระบุตัวตนได้ รับรู้บริบทของสภาพแวดล้อมได้ และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบและทำงานร่วมกันได้ ความสามารถในการสื่อสารของสรรพสิ่งนี้จะนำไปสู่นวัตกรรมและบริการใหม่อีกมากมาย ผ่านการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นสายใย เทคโนโลยีดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเฉกเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป หากแต่เป็นการทำให้สังคมและเศรษฐกิจไทยผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการเข้าใจถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ของโลกที่มีผลต่อประเทศไทย ได้แก่ กระแสการเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์มีผลเป็นรูปธรรมที่กระทบต่อการดำรงชีวิต ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางความคิดการเรียนรู้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ดังนั้นการเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อขวนขวายแสวงหาความรู้ใหม่ให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่จุดการค้าเสรีมากขึ้น โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นโลก/ยุคไร้พรมแดน (Borderless World) ในลักษณะที่มีการลดกฎเกณฑ์หรือขั้นตอนในด้านต่าง ๆ พลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการ และกระบวนการทางสังคมอื่นๆ รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไปอย่างสิ้นเชิง กระแสโลภาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทสำคัญๆ ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาค (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2549 : 23) เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้ใช้ระบบอินเตอร์เน็ท มาอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้า ทำให้ยุคหลังเกิดเป็นสินค้าออนไลน์ที่เติบโตมากขึ้น และมีแนวโน้มขยายกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด กระบวนการทางกฎหมายจึงเข้ามามีส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้กำหนดแนวนโยบายในมาตรา 84 ที่รัฐต้องดำเนินการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่เป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐ รวมไปถึงส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง นอกจากนั้นยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และฉบับที่ 12 ที่จะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสอดคล้องโดยตรงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, 2559) ที่กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้ากับยุคปัจจุบันที่มีการใช้สมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มากมายในแทบทุกสาขาเศรษฐกิจรวมไปถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ทำให้เห็นช่องทางและโอกาสในการรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น และเน้นรูปแบบการสร้างระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญของการผลิต และสอดรับประสานการทำงานระหว่าง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในระดับท้องถิ่นได้เริ่มสนใจที่ต้องการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลสำหรับการเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเริ่มต้น และสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบของตนเองเพื่อกระจายออกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจระดับโลกและภายในประเทศ โดยเฉพาะภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับมือให้ทันกับการแข่งขันนี้ การศึกษาเศรษฐกิจชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์ เป็นชุมชนเก่าแก่ชุมชนหนึ่ง ดังนั้น ชาวบ้านมีเศรษฐกิจในชุมชน ที่บางส่วนได้นำภูมิปัญญาของตนเองที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และค้นพบด้วยตนเองมากมายหลายด้านมาพัฒนา ภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าสนใจ เช่น การทำมาหากิน การกินอยู่ ศิลปกรรม ภาษาและวรรณกรรม ศาสนาและประเพณี และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สืบค้นจากเว็บไซต์ http://aritc.nsru.ac.th/local/local_ns/intellect.php : วันที่ 15 สิงหาคม 2559) สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนก่อให้เกิดเป็นรายได้ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นจุดเด่นที่สำคัญของจังหวัดด้วย นอกจากนั้นจังหวัดนครสวรรค์ยังได้เปรียบในทำเลที่ตั้ง ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นประตูเชื่อมสู่เขตภาคเหนือ และมีระยะทางไม่ไกลจากเมืองหลวง มีระบบขนส่งที่หลากหลายทั้งทางราง ทางน้ำ และทางถนน และโครงข่ายสื่อสารที่เชื่อมโยงถึงทุกพื้นที่ สามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้เป็นอย่างดี ซึ่งประเด็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในสังคมไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นานนี้ แต่กลับมีผู้สนใจต้องการหาช่องทางและพร้อมลงทุนกับธุรกิจประเภทดังกล่าว แต่สิ่งที่ยังขาดคือความรู้ความเข้าใจและทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชุนชนในจังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสถิติของกลุ่มวิสาหกิจในจังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนทั้งสิ้น 968 กลุ่ม (กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร, 2559) ซึ่งหากไม่มีการเตรียมตัวรองรับกระแสการพัฒนาแนวใหม่อาจส่งผลต่อการคงอยู่ของกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาเรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดนครสวรรค์ ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่นให้สามารถสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ท้องถิ่น และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ไปให้ยังพื้นที่อื่นที่มีความสนใจในประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไปในอนาคตได้
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบเศรษฐกิจชุมชน และความพร้อมของเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ในจังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล 3) เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
ขอบเขตของโครงการ :- ขอบเขตด้านระยะเวลา ใช้ระยะเวลา ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2560 ถึง เดือน กันยายน 2561 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 1 ปี - ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ 1) รูปแบบเศรษฐกิจชุมชน และความพร้อมของเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ในจังหวัดนครสวรรค์ 2) ปัจจัยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล 3)ข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นในการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :ได้องค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานในการบริการทางวิชาการเกี่ยวกับการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงเครือข่ายทางการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนต่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :2.1 แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน 2.1.1 ความหมายของคำว่าเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจชุมชน เป็นระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีลักษณะองค์รวม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตรวมถึงระบบคุณค่า โดยที่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่ดี ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคิด เรียนรู้ และร่วมตัดสินใจ คิดเป็น ทำเป็น และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวด้วยการพัฒนากลุ่มอาชีพของชุมชนขึ้นมา จนเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีขีดความสามารถในการประกอบอาชีพและเลี้ยงดูตนเอง (ธเนศ ศรีวิชัยลำพันธ์, 2556) สอดคล้องกับแนวคิดการจัดการวิสาหกิจชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (เสรี พงศ์พิศ, 2552) ที่กล่าวถึงการพัฒนาจะต้องมุ่งเน้นทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป ด้านเศรษฐกิจคือการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ลดหนี้สิน ซึ่งจะสามารถเพิ่มทรัพย์สินได้ ด้านสังคมคือ การพัฒนาด้านความสัมพันธ์ของคนในสังคมให้ปราศจากความขัดแย้ง มีความสามัคคีกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข (อินท์ชลิตา วัชรีจิระโชติ, 2556) เศรษฐกิจชุมชน หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมทางการผลิต กิจกรรมทางการขายผลผลิต กิจกรมการซื้อ และการบริโภคของชุมชน และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้าง ค่าเช่า และกำไรของชุมชน หากกล่าวโดยอิงคำจำกัดความของร็อบบิน (Robbins) เศรษฐกิจชุมชนก็คือพฤติกรรมของชุมชนในการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อสนองความต้องการชุมชน ร็อบบิน เห็นว่าความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด แต่ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นโลกมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น มนุษย์จึงต้องแสวงหาความรู้ต่างๆ เพื่อทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นเพียงพอต่อความต้องการอันไม่จำกัด ของมนุษย์ 2.1.2 แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจชุมชน กระบวนการเศรษฐกิจชุมชน และกำไรส่วนเกินจากเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่โดยมีกลไกที่สำคัญ ได้แก่ (มงคล ด่านธานินทร์, 2541) 2.1.2.1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งผู้นำในพื้นที่ชาวบ้านในชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความเป็นผู้ประกอบการของคนในชุมชนจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจเกิดความชัดเจนโดยการมุ่งเน้นภาวะความเป็นผู้นำที่เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน (Raymond, 1996) 2.1.2.2 การพัฒนากลุ่มหรือองค์กรชุมชนให้มีความเข้าใจในการสร้างกลุ่มและการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบกลุ่ม โดยตั้งเป้าหมายร่วมกันเพื่อดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างความร่วมมือกันระหว่างบุคคลกับชุมชน (Blatchford, 1994) 2.1.2.3 การพัฒนาพื้นฐานเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งเงินทุนจากการระดมทุนในหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้อย่างสมเหตุสมผล มีความต่อเนื่อง และไม่มีการคิดโกงด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งต่างจากเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชนที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่ระมัดระวัง 2.1.2.4 การพัฒนาพื้นฐานทางกายภาพหรือโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะซึ่ง คราว (Crowe, 2006) เสนอแนะว่าการพัฒนาทุนทางสังคมจะทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้ดีกว่าการพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทางอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อชุมชน จะนำมาซึ่งความได้เปรียบในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้ Markusen (2004) ยังพบว่าการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุนมนุษย์ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์ในระดับน้อย ซึ่งประชาชนในชุมชนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่นโดยการเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มอาชีพ ซึ่งการจะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จควรมีการวางแผน และกำหนดเป้าหมายของกลุ่ม เมื่อมีความพร้อมในปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจชุมชน จึงทำให้กระบวนการเศรษฐกิจชุมชนพร้อมที่จะดำเนินการได้ ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิตการบริโภค การแปรรูปและการขาย ซึ่งกระบวนการเศรษฐกิจชุมชน หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรม บริการและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต การบริโภค และการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชนด้วยตนเอง ประกอบด้วย 1) จะผลิตอะไร (What) โดยให้ชุมชนร่วมคิดว่าควรจะผลิตสินค้าอะไร จำนวนเท่าไร เนื่องจากทรัพยากรการผลิตของชุมชนมีจำกัด นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงจำนวนการผลิตที่เหมาะสมกับการบริโภค และการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตของชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่จำเป็นต่อไป 2) จะผลิตอย่างไร (How) โดยให้ชุมชนร่วมพิจารณาว่าควรจะผลิตสินค้าอย่างไร ด้วยเทคนิคการผลิตแบบไหนใช้ปัจจัยการผลิตอะไรบ้าง และเลือกใช้ปัจจัยแต่ละชนิดในสัดส่วนเท่าไร จึงจะได้ผลผลิตสูงสุด และ3) จะผลิตเพื่อใคร (For Whom) โดยให้ชุมชนตัดสินใจว่าควรจะผลิตสินค้าเพื่อใครในชุมชน อีกทั้งต้องพิจารณาว่า เมื่อผลิตสินค้าได้แล้วจะกระจายผลผลิต หรือแจกจ่ายสินค้าออกไปอย่างไร(กระทรวงศึกษาธิการ, 2545) เมื่อชุมชนดำเนินกระบวนการเศรษฐกิจชุมชนได้ผลดีจะมีกำไรส่วนเกินที่ได้หักค่าใช้จ่ายออก และจะแบ่งส่วนกำไรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมในชุมชนโดยไม่เรียกเงินคืนในภายหลัง ได้แก่ 1) การให้การศึกษาแก่เยาวชนในรูปของหนังสือเรียน อาหารกลางวัน อุปกรณ์การกีฬา อีกทั้งได้ให้การสนับสนุนในรูปของการศึกษา ดูงาน การพัฒนาแก่เยาวชนและชาวบ้าน 2) การให้ความอนุเคราะห์แก่ เยาวชนในชุมชนที่เมื่อออกจากการศึกษาภาคบังคับแล้วต้องการมีเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพ ส่วนคนชราเป็นการอนุเคราะห์ในรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือการรักษาพยาบาลและคนพิการเป็นการอนุเคราะห์ในรูปแบบการสนับสนุนกิจกรรมที่เหมาะสมกับเขาเหล่านั้น 3) การสร้างสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างประปาหมู่บ้าน การสร้างถนนคอนกรีตขนาดเล็ก และการขุดสระโดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ได้จากการแบ่งกำไรจากกองทุนพัฒนาหมู่บ้าน และกิจกรรมเศรษฐกิจชุมชนมาสนับสนุน และ 4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกลุ่มอาชีพในปัจจุบันได้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ (มงคล ด่านธานินทร์, 2541) ซึ่งคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนชนบท (Park et al., 2009) นอกจากนี้ แจ๊กสัน (Jackson, 2004) ได้เสนอแนะผู้ประกอบวิชาชีพว่าไม่เพียงแต่มุ่งสนใจในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการไม่แสวงหาผลกำไรต่อชุมชนอีกด้วย โดยควรมีการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างชุมชน และควรสนับสนุนปัจจัยด้านอื่นๆ ได้แก่น้ำสะอาดเพื่อการบริโภค การสุขาภิบาล การให้การศึกษา การสร้างคุณภาพให้แก่เด็กในชุมชน และมีการบริการเพื่อสุขภาพให้แก่คนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Blatchford, 1994; Crowe, 2006) 2.2 แนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) นั้นเข้ามามีบทบาทในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างมาก ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยสนับสนุนในกลยุทธ์การแข่งขันเพื่อสร้างความเป็นเลิศในธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ก้าวกระโดดและใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ หลายๆ องค์กรสามารถประสบความสำเร็จได้ เกิดจากการมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันหลายๆ องค์กรก็อาจจะประสบความล้มเหลว หากไม่ได้มีการวางแผนระบบสารสนเทศที่เหมาะสมให้ขับเคลื่อนตามกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ขององค์กร ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายตามเงื่อนไขและปัจจัยในการดำรงชีวิตของแต่ละคน ทำให้บางครั้งมนุษย์ต้องพบเจอกับปัญหาหรือความต้องการที่จะทำให้การดำรงชีวิตดีขึ้น เราเรียกว่าสถานการณ์เทคโนโลยี การพิจารณาว่าสถานการณ์ใดเป็นสถานการณ์เทคโนโลยี จะพิจารณาจาก 3 ประเด็นคือ เป็นปัญหาหรือความต้องการของมนุษย์ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ การแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่พบในสถานการณ์เทคโนโลยีจะต้องใช้ทรัพยากรความรู้และทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีวิธีการหรือกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการอย่างเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ซึ่งเรียกกระบวนการนั้นว่า กระบวนการเทคโนโลยี จากความต้องการและปัญหาจึงนำไปสู่กระบวนการทางเทคโนโลยีซึ่งได้เข้ามาตอบสนองและแก้ปัญหาต่างๆ สำหรับกระบวนการทางเทคโนโลยีประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2544) ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหาหรือความต้องการ เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการเทคโนโลยีคือการกำหนดปัญหาหรือความต้องการ ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจหรือวิเคราะห์ปัญหาหรือความต้องการหรือสถานการณ์เทคโนโลยีอย่างละเอียด เพื่อกำหนดกรอบของปัญหาหรือความต้องการให้ชัดเจนมากขึ้น ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือความต้องการที่กำหนดไว้ในขั้นกำหนดปัญหา หรือความต้องการจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ศึกษาจากตำรา วารสาร บทความสารานุกรม สืบค้นจากอินเทอร์เน็ต ระดมสมองจากสมาชิกในกลุ่ม โดยควรมีการรวบรวมข้อมูลรอบด้านให้ครอบคลุมปัญหาหรือความต้องการซึ่งจะทำให้เราสามารถสรุปวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการได้ครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้น ขั้นที่ 3 การเลือกวิธีการ เป็นการพิจารณาและเลือกวิธีการแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการที่เหมาะสม และสอดคล้องกับปัญหาหร
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : 2.7 กรอบแนวคิดในการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำแนวคิดเกี่ยวเศรษฐกิจชุมชนเป็นฐานในการนำไปสู่การค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปัจจัยที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชเพื่อการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจ จากแนวคิดและทฤษฎีรวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยกรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัยมีดังต่อไปนี้
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :1) ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชุมชน 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในจังหวัดนครสวรรค์ 3) ผู้นำและผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นเป้าหมาย 4) ผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ในจังหวัดนครสวรรค์ 5) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 2) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเลือกอำเภอที่มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใน 15 อำเภอ จำนวน 278 กลุ่ม จากทั้งหมด 968 คน (กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, 2559) โดยกำหนดขนาดจากตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน 3) ผู้นำ หรือผู้บริหารชุมชนท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชุมชน จำนวน 8-15 คน 4) ตัวแทนผู้บริโภคสินค้าขายออนไลน์ในจังหวัดนครสวรรค์ 8 – 15 คน 5) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล จำนวน 8-15 คน 2) ขอบเขตด้านเนื้อหา เนื้อหาที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน 2) แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :848 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายณัฐชัย นิ่มนวล บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด