รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000290
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การศึกษาพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาบปลีของกล้วย
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Study of formulation development of cosmetic product from banana bracts
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :(EN) banana bracts, agricultural waste, cosmetic (TH) กาบปลีกล้วย, ของเหลือใช้ทางการเกษตร, เครื่องสำอาง
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี > ภาควิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา และเทคโนโลยีชีวภาพ
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :แผนงานวิจัยหรือชุดโครงการวิจัยและโครงการวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้ว
งบประมาณที่เสนอขอ :81000
งบประมาณทั้งโครงการ :81,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :01 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :30 กันยายน 2560
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :อื่นๆ
สาขาวิชาการ :อื่นๆ
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทยที่มีการส่งออกสูง เป็นพืชอาหารโลกที่มีการปลูกมากกว่า 135 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรที่มีการปลูกกล้วยประมาณ5 แสนไร่ โดยปลูกกล้วยน้ำว้ามากที่สุด รองลงมาคือ กล้วยหอม และกล้วยไข่ตามลำดับ สถานการณ์การปลูกกล้วยในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ต. ตะเคียนเลื่อน ต. บางมะฝ่อ มีการปลูกกล้วยมากกว่า 6 พันไร่ ให้ผลผลิตมากกว่า 4 ตันต่อไร่ เป็นพื้นที่ที่มีการส่งออกต่างประเทศในอันดับต้นๆของประเทศ (สำนักพิมพ์มติชน, 2558) แต่อย่างไรก็ตาม พบปัญหาในการปลูกกล้วย ส่วนใหญ่ที่พบคือ เกษตรกรประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น น้ำท่วม ระบบชลประทานไม่ทั่วถึงทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ขาดข้อมูลสนับสนุนการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดความหลากหลาย และเกิดการระบาดของโรคพืช ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลผลิตที่ได้ไม่ได้มาตรฐานการส่งออก ทำให้ราคากล้วยตกต่ำ ต้นกล้วยหรือส่วนต่างๆที่ไม่ได้มาตรฐานและเหลือใช้จากการส่งออกหรือการเก็บเกี่ยว ซึ่งของเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้นิยมนำมาทำปุ๋ย แต่ยังไม่มีการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆให้เกิดความหลากหลายสูงสุด ดังนั้น การนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอาง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเพิ่มมูลค่า สร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร นำไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นการลดการเกิดมลพิษจากการเผาไหม้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ปัจจุบันตลาดเครื่องสำอางในประเทศมีการนำเข้ามูลค่าเป็นพันล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการผลิตเครื่องสำอางจากธรรมชาติโดยใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เพื่อทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ตลาดเครื่องสำอางส่วนใหญ่ที่ผลิตในชุมชนยังไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงควรส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ผลิตเครื่องสำอางในชุมชน เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สารสกัดธรรมชาติ จากทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน และปลอดภัยต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของผู้ใช้เครื่องสำอางที่พบได้บ่อยต่อผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้งานวิจัยวัสดุเหลือใช้จากกล้วยยังไม่พบข้อมูลในประเทศไทยมากนักถึงฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ และยังไม่มีการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษา สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อเชื้อจุลชีพก่อโรค ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาบปลีของกล้วยที่มีประสิทธิภาพในการลดเชื้อจุลชีพและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ทางการเกษตรจากกาบปลีของกล้วยเหล่านี้
จุดเด่นของโครงการ :เป็นการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดรูปแบบใหม่
วัตถุประสงค์ของโครงการ :5.1 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากกาบปลีกล้วยในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคผิวหนังบางชนิดและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 5.2 เพื่อพัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์
ขอบเขตของโครงการ :6.1 ประชากรที่ศึกษาคือ กาบของปลีกล้วย โดยใช้ตัวทำละลายในการสกัด ได้แก่ น้ำ เอทานอลและเอทิลอะซิเตท 6.2 ทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคผิวหนัง Staphylococcus aureus และทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดในการต้านอนุมูลอิสระ 6.3 พัฒนาตั้งตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกาบปลีของกล้วย 6.4 การจัดการองค์ความรู้โดยแผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจในรูปของเอกสาร หนังสือ สิ่งพิมพ์หรือจัดอบรม ณ ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนหรือสถานศึกษา หรือเผยแพร่ในงานประชุมวิชาการหรือวารสารทางวิชาการ 6.5 ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 6.5.1 วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กาบปลีของกล้วย 6.5.2 ประสิทธิภาพของสารสกัดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในการยับยั้งเชื้อ ก่อโรคผิวหนัง Staphylococcus aureus 6.5.3 ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ 6.5.4 ประสิทธิภาพ ความคงตัวของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :10.1 ทราบประสิทธิภาพการมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคผิวหนังบางชนิด การเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จากกาบปลีของกล้วย 10.2 ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ 1 ผลิตภัณฑ์ และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ 10.3 เป็นแนวทางให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้มีราคาสูง เกิดรายได้ และลดการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :กล้วย (Musa spp.) เป็นผลไม้เขตร้อนในวงศ์ Musaceae มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในแถบเส้นศูนย์สูตร ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน พบว่า วงศ์กล้วยมีความหลากหลายมากถึง 16 ชนิด ไทยมีการปลูกกล้วยทั่วไปแต่เพื่อการค้าได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร เป็นต้น กล้วยแบ่งได้เป็นสกุล Ensete และ Musa ใช้เพื่อรับประทานเป็นส่วนใหญ่ และมีการจัดจำแนกตามจีโนมได้ดังนี้ กลุ่ม AA กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็ก รสหวาน กลิ่นหอม พบในกล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอม ส่วนกลุ่ม AAA จะมีขนาดใหญ่กว่า AA ผลเรียวยาว เนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม ได้แก่ กล้วยหอมทอง กล้วยหอมเขียว ส่วนกลุ่ม BB ได้แก่ กล้วยตานี กล้วยงูเป็นต้น กล้วยเป็นแหล่งอุดมด้วยวิตามินและโพแทสเซียมที่ดี พบปริมาณ 370 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักเนื้อผล 100 กรัม เป็นผลไม้ที่ให้พลังงานเร็วและป้องกันการเกิดตะคริวได้เป็นอย่างดี (เบญจมาศและทรรศนียา, 2548) กล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์ในหลายส่วนทั้งใช้ ผล หัวปลีเป็นอาหาร ใบใช้เป็นวัสดุห่อหุ้มเป็นภาชนะธรรมชาติ หยวกกล้วยใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลช่วยในการขับถ่าย ใช้ในผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นปาก เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนเปลือกกล้วย กาบปลีหรือส่วนที่ห่อหุ้มด้านนอกของหัวปลีที่มีสีแดงอมม่วงนั้น เป็นส่วนเหลือใช้ทางการเกษตรที่ยังไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ จากรายงานการวิจัยของสุคนธ์และคณะ (2554) พบว่า เปลือกผลไม้สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งของยาต้านจุลินทรีย์ โดยสารสกัดน้ำ เอทานอลและอะซิโตนของเปลือกกล้วยน้ำว้าดิบ สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ได้ และพบปริมาณฟีนอลิกอยู่ในช่วง 0.3-0.9 มิลลิกรัม GAE ต่อ 100 กรัมน้ำหนักแห้งและงานวิจัยของณัฐวดีและพลอยนารี (2554) พบว่า สารสกัดเอทานอลจากเปลือกกล้วยหอมดิบมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ อนุมูลอิสระเป็นอะตอมหรือกลุ่มอะตอมคู่โดดเดี่ยวไม่มีความเสถียร ซึ่งแหล่งที่มาของอนุมูลอิสระมีสาเหตุจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบ เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์เป็นต้น (Reuter et al, 2010) ดังนั้นการได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อไปทำลายอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นซึ่งพบได้ในกลุ่มที่เป็นสารธรรมชาติเช่น สารประกอบฟีนอลิก วิตามิน ซึ่งสามารถพบได้ในพืช ผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นต้น จากรายงานการวิจัยส่วนใหญ่พบการศึกษาถึงประสิทธิภาพของเปลือกกล้วยดิบแต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยถึงฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาบปลีกล้วย ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดกาบปลีในการยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดสิว และเชื้อก่อโรคทางผิวหนัง เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดสิวและเชื้อก่อโรคทางผิวหนัง และมีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพ และนำสารสกัดจากกาบปลีของกล้วยมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อพัฒนาให้ได้ตำรับผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการใช้วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าการเป็นเพียงปุ๋ยที่ใช้การเพาะปลูกในภาคเกษตรกรรม
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากกาบปลีของกล้วยซึ่งพบปริมาณมากและหาได้ง่ายในท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง เกษตรกรจะทำการกำจัดโดยการไถกลบเพื่อทำปุ๋ย ดังนั้นการนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบต้องหาง่ายและมีปริมาณมากหากมีการต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต โดยในงานวิจัยนี้จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคสิวและโรคผิวหนังบางชนิด และบำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่มีการใช้ทรัพยากรจากของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน นอกเหนือจากการทำการเพาะปลูกกล้วยซึ่งประสบปัญหาในการเพาะปลูกหลายด้าน อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ ได้ผลิตภัณฑ์จากสารธรรมชาติที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยใหม่ที่ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารสกัดจากกาบปลีของกล้วยต่อการออกฤทธิ์ทางชีวภาพและการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง นอกจากได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :12.1.การเตรียมสารสกัดจากของเหลือทิ้งจากกาบปลี นำกาบปลี มาบดและสกัดด้วยตัวทำละลายน้ำ เอทานอล 95% และเอทิลอะซิเตท จากนั้นกรองและระเหยตัวทำละลายออกด้วยเครื่องระเหยระบบสุญญากาศ (Rotary Vacuum Evaporator) และนำไปเก็บที่อุณหภูมิ 4?C เพื่อใช้ในการทดสอบขั้นต่อไป 12.2 การทดสอบความสามารถของสารสกัดในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทดสอบด้วยวิธี Agar well diffusion (คณาจารย์สาขาจุลชีววิทยา, 2557) 12.2.1 เพาะเลี้ยงเชื้อ Staphylococcus aureus ในอาหารเลี้ยงเชื้อ บ่มที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 18 - 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ความขุ่นของแบคทีเรียเทียบเท่า McFarland standards 0.5 12.2.2 จากนั้นใช้ไม้พันสำลีปลอดเชื้อจุ่มลงในหลอดเพาะเชื้อแต่ละชนิด นำมาเกลี่ยบนผิวหน้าอาหาร NA ใช้ cork borer ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร เจาะลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อ แล้วหยดสารสกัดยาปฏิชีวนะ จากนั้นบ่มที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง บันทึกเส้นผ่านศูนย์กลางวงใสของการยับยั้ง 12.3 การหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียทดสอบ (MIC) และหาค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารทดสอบที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียทดสอบ (MBC) ด้วยวิธี Broth dilution (ณรงค์ศักดิ์, 2553) 12.3.1 ทำการเจือจางสารสกัดที่ยับยั้งที่ดีที่สุด เติมแบคทีเรียทดสอบ นำไปบ่มที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 24 - 72 ชั่วโมง อ่านผลการเกิดความขุ่นของแบคทีเรียทดสอบในหลอดทดลองด้วยตาเปล่า เทียบกับหลอดควบคุม ค่า MIC คือ ค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารทดสอบในหลอดที่ไม่มีความขุ่นเกิดขึ้น 12.3.2 นำหลอดทดสอบที่ไม่พบการเจริญของเชื้อในข้อ 12.3.1 มา streak plate และบ่มที่ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง อ่านเป็นค่า MBC คือค่าที่ให้ผลของการนับจำนวนเซลล์ไม่เกิน 0.01 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเซลล์เริ่มต้น 12.4. การทดสอบกิจกรรมต้านออกซิเดชันด้วยวิธี DPPH assay (ดัดแปลงจาก Duan, 2007) 12.4.1 เจือจางสารสกัดที่ความเข้มข้นต่างๆ จากนั้นเติมสารสกัดลงในหลอดทดลองและเติม 1M Tris- HCl (pH 7.9) และ 130 ?M DPPH methanol solution ผสมให้เข้ากัน บ่มในที่มืดอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 20 นาที นำไปวัดค่าดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 517 นาโนเมตร คำนวณหา % inhibition ตามสมการ ดังนี้ % inhibition = [(A517 control- A517 test sample)/ A517control] x 100 12.4.2 จากค่า % inhibition ที่ได้นำมาคำนวณเป็น gallic acid equivalent (gallic acid mg/mL และ gallic acid/g dry weight) 12.5. การวัดปริมาณ Phenolic compound (ดัดแปลงจาก Chandler and Dodds, 1983) 12.5.1 เจือจางสารสกัดที่ความเข้มข้นต่างๆ ผสมสารสกัดและ50% Folin-Ciocalteu reagent บ่มที่อุณหภูมิห้องนาน 5 นาที เติม 5% Na2CO3 บ่มไว้ในที่มืด 1 ชั่วโมง และวัดค่าการดูดกลืนคลื่นแสงที่ความยาวคลื่น 725 นาโนเมตร โดยใช้เครื่องวัดค่าการดูดกลืนแสง 12.5.2 นำค่าการดูดกลืนแสงที่ 725 นาโนเมตร มาคำนวณเป็น gallic acid equivalent (gallic acid mg/mL และ mg gallic acid/g dry weight) 12.6 ตั้งตำรับพื้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เตรียมตำรับพื้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกาบปลีของกล้วย 12.6.1 การทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและความคงตัวของตำรับพื้นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Romanowski et al, 2006) -สังเกตลักษณะทางกายภาพของตำรับพื้น คือ ความเป็นกรด ด่าง สี ลักษณะเนื้อผลิตภัณฑ์และความหนืด -ทดสอบความคงตัวของตำรับพื้น โดยเก็บตำรับพื้น ในสภาวะอุณหภูมิต่างๆ และ heating/cooling cycle พร้อมบันทึกผลการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตำรับพื้น แล้วเลือกตำรับพื้นที่ดีที่สุดมาผสมสารสกัด 12.6.2 ตั้งตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผสมสารสกัดและทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและความคงตัวของตำรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (Romanowski et al, 2006) เลือกสารตัวอย่างที่มีฤทธิ์ดีที่สุด โดยประเมินผลจากการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อนำมา ผสมในตำรับ โดยเติมสารสกัดที่ออกฤทธิ์ดีที่สุดลงในตำรับพื้น และสังเกตลักษณะทางกายภาพของตำรับ ที่เติมสารสกัดคือ ความเป็นกรด ด่าง สี ลักษณะเนื้อผลิตภัณฑ์ 12.6.3 การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ วิเคราะห์ความแตกต่างของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดแต่ละชนิดโดยใช้โปรแกรม SPSS version 17.0 for windows 12 ระยะเวลาทำการวิจัย และแผนการดำเนินงานตลอดโครงการวิจัย (ให้ระบุขั้นตอนอย่างละเอียด) ระยะเวลาโครงการ 1 ปี พ.ค. 2560- เม.ย. 2561
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :การนำกาบปลีกล้วยมาสกัดสารสำคัญและทดสอบการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระและนำมาผสมตั้งตำรับเครื่องสำอาง
จำนวนเข้าชมโครงการ :2376 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวเรณู อยู่เจริญ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด