รหัสโครงการ : | R000000283 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | แนวทางการจัดการทรัพยากรบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | Resource management approach on the concept of culture ecology in the Thung Yai Naresuan forest. East side. |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | การจัดการทรัพยากร, วิถีชีวิตชุมชน, นิเวศวิทยาวัฒนธรรม, กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชารัฐศาสตร์ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 444200 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 444,200.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 01 ธันวาคม 2559 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 30 พฤศจิกายน 2560 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | สังคมศาสตร์ |
สาขาวิชาการ : | สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ |
กลุ่มวิชาการ : | เศรษฐศาสตร์การเมือง |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ระดับชาติ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | ผืน?ป่าตะวันตก เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่องกันอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทยในเขตพื้นที่ของ 6 จังหวัด คือ จังหวัดตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี มีขนาดพื้นที่ป่าประมาณ 12 ล้านไร่ ทิศเหนือจรดใต้มีความยาวกว่า 300 กิโลเมตร กว้างจรดผืนป่าในประเทศพม่าทางด้านตะวันตกกว่า 100 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัยต่อกับเทือกเขาตะนาวศรีติดบริเวณชายแดนประเทศพม่า จึงจัดได้ว่าเป็นผืนป่าธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ และยังเป็นผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก, 2557: 1-2)
ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความต่อเนื่องกันของผืนป่าตะวันตก และยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารอันก่อให้เกิดลำห้วยและแม่น้ำหลายสาย ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำปิง และบางส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตทั้งในผืนป่าและในเมือง เป็นทั้งแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชและพันธุ์สัตว์มากมายหลายชนิด และยังเป็นแหล่งศูนย์รวมสิ่งมีชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของสิ่งมีชีวิตโลก ดังนั้นพื้นที่ผืนป่าตะวันตก จึงนับว่าเป็นแหล่งพันธุกรรมที่อุดมสมบูรณ์ทางนิเวศน์ที่สุดของประเทศไทย
ผืนป่าตะวันตกนอกจากจะเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางวัฒนธรรม และเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนกลุ่มชนพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ และเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน มีทั้งที่เป็นชุมชนดั้งเดิมและเป็นชุมชนที่มีการอพยพเข้าไปทำมาหากินและใช้พื้นที่ป่าที่เป็นแหล่งความอุดมสมบูรณ์อีกหลายชุมชน และแต่ละชุมชนก็มีลักษณะ วิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ที่หลากหลายแตกต่างกันไป ชุมชนเหล่านี้สามารถสืบสาวได้ว่าหลายชุมชนมีอายุเก่าแก่ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตผืนป่าตะวันตกก่อนการเกิดขึ้นของรัฐชาติของไทยเกือบทั้งสิ้น (อานันท์ กาญจนพันธุ์และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, 2538) ในผืนป่าตะวันตกแห่งนี้ นอกจากจะมีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่มีความหมายกับทั้งชีวิตของมนุษย์และสัตว์แล้วยังมีปรากฏการณ์ทางสังคมและเรื่องราวความขัดแย้งทางความคิด การแย่งชิงความหมาย และการปะทะต่อสู้ ระหว่างรัฐกับชุมชน และชุมชนด้วยกันเอง ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐชาติในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยการขยายอำนาจรัฐเพื่อการควบคุมทรัพยากรในพื้นที่ป่า และการสร้างเขตแดนด้วยการรวมเอาพื้นที่ป่าและชุมชนต่างๆ เข้าเป็นดินแดนพื้นที่เดียวกันตามที่รัฐกำหนด (Vandergreest and Peluso, 1995, อ้างถึงใน พฤกษ์ เถาถวิล, 2542: 5)
คู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก (2557: 6-7) ได้จำแนกชุมชนที่มีความเกี่ยวข้องกับผืนป่าตะวันตกตามที่ตั้งและระยะห่างของชุมชนและขอบเขตของพื้นที่คุ้มครองประมาณ 400 ชุมชน และได้แบ่งชุมชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ชุมชนที่ตั้งอยู่กลางป่าประมาณ 100 ชุมชน ส่วนใหญ่ยังไม่ชัดเจนในแนวเขตและพื้นที่ใช้ประโยชน์จริง 2) ชุมชนที่ตั้งประชิดขอบป่าประมาณ 100 ชุมชน ส่วนใหญ่มีสถานภาพที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและยังมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องแนวเขตพื้นที่คุ้มครองอีกหลายชุมชน 3) ชุมชนที่ตั้งโดยรอบป่าประมาณ 200 ชุมชน ส่วนใหญ่ชุมชนนี้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และบางส่วนได้เอกสารสิทธิทำกิน แต่อย่างไรก็ตามมักพบกรณีความขัดแย้งกับพื้นที่คุ้มครองในเรื่องการเก็บหาของป่าอยู่เสมอ
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกที่ตั้งอยู่กลางป่าและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ประชิดขอบป่ารวมกันประมาณ 200 กว่าชุมชน ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เดิมชุมชนเหล่านี้ มีหลายชุมชนที่รัฐบาลเคยมีนโยบายอพยพชุมชนออกจากพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่กลางป่า ถึงแม้ว่าชุมชนเหล่านั้นจะเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่อยู่มาก่อนการประกาศนโยบายอพยพคนออกจากป่าก็ตาม ทำให้เกิดความขัดแย้งในเชิงสิทธิมนุษยชนในกรณีที่ชุมชนเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่เคยอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ และการที่ไม่สามารถจัดพื้นที่รองรับชุมชนให้อพยพออกมาได้ จึงเกิดความขัดแย้งกัน และนำไปสู่การเคลื่อนไหวและต่อสู้กันระหว่างรัฐกับชุมชน
ชุมชนกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งก็อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำแม่จันมีประมาณ 14 ชุมชน ซึ่งเป็นอีกกลุ่มชุมชนหนึ่งที่ส่วนใหญ่อยู่อาศัยในผืนป่าแห่งนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยปี ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและลุ่มน้ำแม่จันทะของผืนป่าตะวันตก ชุมชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำแม่จันที่ไหลไปรวมกับต้นน้ำแม่กลองกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก และเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผูกพันกับป่ามายาวนาน ชุมชนกะเหรี่ยงริมสายน้ำแม่จันเหล่านี้ ใช้ป่าเพื่อการดำรงชีวิต ด้วยการทำไร่ข้าวหมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ เก็บหาของป่า พื้นที่ที่ใช้ทำไร่จะกระจายไปตามพื้นที่ราบรอบหมู่บ้าน เนื่องจากชุมชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ตามสายน้ำแม่จัน จึงมีความผูกพันกันด้วยบริบทภูมินิเวศ เพราะนอกจากความผูกพันในเครือญาติแล้ว พวกเขายังมีหลักคิดที่เหมือนกันในเรื่องการจัดการทรัพยากรและระบบนิเวศ ไม่มีการขีดเส้นแบ่งเขตแดน รักสงบและให้ความเคารพต่อธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นพื้นที่แถบนี้ยังมีการประกาศให้ผืนป่าทางด้านใต้ของสายน้ำแม่จัน ซึ่งรวมพื้นที่ชุมชนบางส่วนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อปี พ.ศ. 2517 และแยกพื้นที่ชุมชนบางส่วนให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อปีพ.ศ. 2537 แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกว่า ชุมชนกะเหรี่ยงในป่าอุ้มผางเป็นคนละพวกกับชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในทางกลับกันพวกเขากลับมีความรู้สึกร่วมกันว่า เส้นแบ่งเขตป่านั้นไม่สามารถแยกชีวิตคนกะเหรี่ยงออกจากป่า และแยกคนกะเหรี่ยงออกจากวิถีดั้งเดิมของชนกะเหรี่ยงได้
ลำห้วยแม่จันและธารน้ำเล็กๆ อีกจำนวนมากไหลลัดเลาะไปตามความคดโค้งของร่องเขา ผ่านสภาพป่าที่หลากหลายทั้งป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบชื้นของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางไปจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ก่อนที่จะไหลไปรวมกับต้นน้ำแม่กลองกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หากดูตามแผนที่ ลำห้วยแม่จันอาจจะเป็นเพียงลำน้ำสายเล็กๆ กลางป่า แต่สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในผืนป่าแห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน ลำห้วยแม่จันไม่ได้เป็นเพียงธารน้ำเล็กๆ ในป่าเท่านั้น แต่เป็นถึง “ต้นทะเล” เลยทีเดียว
ดังนั้น เมื่อมีการประกาศให้ผืนป่าทางด้านใต้ของสายน้ำแม่จันซึ่งรวมพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้านกรูโบลงไปจนถึงบ้านช่องแป๊ะเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เมื่อปีพ.ศ. 2517 และแยกพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้านหม่องกั๊วะขึ้นไปจนถึงบ้านกุยเลอตอให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง เมื่อปีพ.ศ. 2537 พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่า ชุมชนกะเหรี่ยงในป่าอุ้มผางเป็นคนละพวกกับชุมชนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในทางกลับกันพวกเขากลับมีความรู้สึกร่วมกันว่า เส้นแบ่งเขตป่าที่คนข้างนอกลากขึ้นมาเองนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่จะแยกชีวิตคนกะเหรี่ยงออกจากป่า และแยกคนกะเหรี่ยงออกจากวิถีดั้งเดิมของชนกะเหรี่ยงอีกด้วย
หลังจากมีการประกาศให้ผืนป่าแห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก ก็เริ่มเกิดผลกระทบต่อผืนป่าและชุมชนกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในป่าทันที ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ แม้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์จะรู้ว่า ชุมชนกะเหรี่ยงอยู่อาศัยในผืนป่าแห่งนี้มาก่อนประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่เพราะความไม่เข้าใจระบบการทำไร่หมุนเวียนโดยมองว่า การเข้าไปทำกินในที่ดินที่เคยผ่านการทำไร่มาแล้วหรือ ที่เรียกว่า ไร่ซาก นั้นเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า ประกอบกับเข้าใจว่าการแก้ปัญหาคนกับป่ามีเพียงวิธีการเดียวคือการ ใช้กฎหมายปราบปรามอย่างเด็ดขาด จึงนำไปสู่การยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน จึงเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่สำคัญก็คือ วิธีการยึดพื้นที่ทำกินนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ เพราะเมื่อพื้นที่ไร่ซากเดิมที่เคยทำกินใกล้หมู่บ้านถูกยึด ชาวบ้านก็จะไปเปิดพื้นที่ป่าใหม่ที่อยู่ไกลหมู่บ้านออกไป
การขยายตัวของอำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนท้องถิ่น ถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการสร้างรัฐชาติ (Nation State) ซึ่งเป็นการปกครองแบบรัฐสมัยใหม่ โดยการนำความรู้แบบใหม่เข้ามาแทนความรู้แบบเดิม เช่น การสร้างแผนที่เพื่อให้เกิดการรับรู้ในเรื่องเขตแดน และการสร้างตัวตนของรัฐชาติ และการขยายเขตพื้นที่ในการควบคุมและจัดการทรัพยากร เป็นต้น และในปัจจุบันนี้ ยังพบว่าชุมชนในผืนป่าตะวันตกเกือบหลายพื้นที่ยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตและพื้นที่ใช้การประโยชน์ ทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในวิธีการใช้ทรัพยากรป่าระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเกิดการตั้งคำถามว่าใครมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในเรื่องการรักษาและการใช้ประโยชน์
อนุสรณ์ อุณโณ (2547) ในอดีตนั้นการจัดการทรัพยากรในสังคมไทยยังมีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลาย เพราะยังมีระบอบกรรมสิทธิ์ตามจารีต ประเพณ |
จุดเด่นของโครงการ : | เป็นโจทย์ที่ท้าทายกับปมปัญหาความขัดแย้งที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียง ระหว่างรัฐกับชุมชน ว่าด้วยเรื่อง"#คนกับป่า" เพื่อหาแนวทางออกที่เป็นธรรมและยั่งยืน และพื้นที่ศึกษาเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่กลางป่าใหญ่ ของผืนป่าตะวันตก |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | 1. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
2. เพื่อศึกษาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมือง
3. เพื่อหาแนวทางการจัดการทรัพยากรบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนในเขตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก โดยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม |
ขอบเขตของโครงการ : | 1. ขอบเขตด้านช่วงเวลาของการศึกษา
การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก” ครั้งนี้นั้น ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการศึกษาด้านช่วงเวลา โดยแบ่งช่วงเวลาในการศึกษาออกเป็น การศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก โดยเน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการศึกษาชุมชนกับการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แบบจารีต/ประเพณี หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบดั้งเดิมด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาแบบพื้นบ้าน เป็นการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ ก่อนที่หน่วยงานของรัฐจะขยายอำนาจเข้าไปจัดการทรัพยากร ในเขตพื้นที่ของชุมชนที่ศึกษา
ต่อมาก็เป็นการศึกษาช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการอ้างสิทธิเหนือดินแดนทับซ้อนสิทธิดั้งเดิมของชุมชน หลังจากที่กรมป่าไม้ประกาศจัดตั้งพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 รวมทั้ง ปี 2534 ที่องค์กร UNESCO ได้ขึ้นทะเบียนให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก รวมทั้ง เขตฯ ตะวันตกและ เขตฯ ห้วยขาแข้ง เป็นเขตมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้การขยายอำนาจรัฐเข้ามาในพื้นที่ของชุมชนที่ศึกษานั้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบการจัดการทรัพยากรและวิถีการดำรงชีวิตอยู่กับป่า เป็นช่วงที่รัฐใช้อำนาจอ้างสิทธิเหนือดินแดนและทรัพยากรทั่วทั้งผืนป่าตะวันตก และมองข้ามการจัดการทรัพยากรแบบดั้งเดิมที่เป็นจารีต/ประเพณีของชุมชน
ในช่วงเวลาหลังจากที่หน่วยงานของรัฐเข้ามาจัดการทรัพยากรและพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า ผู้วิจัยต้องการที่จะศึกษาการจัดการทรัพยากรภายใต้โครงสร้างอำนาจใหม่ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจและความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน หลังจากที่รัฐเข้าใช้อำนาจในการจัดการทรัพยากร โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อทำความเข้าใจถึงบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ผลจากการบริหารจัดการและเพื่อหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรโดยใช้ฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้การจัดการทรัพยากรเกิดความเป็นธรรมต่อชุมชนและยั่งยืนทางนิเวศต่อไป
2. ขอบเขตด้านพื้นที่ของการศึกษา
การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัย?เลือกพื้นที่ศึกษา คือพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีทั้งหมด 7 กลุ่มบ้าน ปัจจุบันอาศัยอยู่กลางพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ชุมชนที่ศึกษานี้เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่มาอย่างยาวนาน และเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ก่อนมีการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์โดยรัฐ ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และเป็นชุมชนที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีความผูกพันกับป่าแห่งนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ
3. ขอบเขตด้านเนื้อหาของการศึกษา
การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก” ครั้งนี้นั้น ผู้วิจัยมุ่งศึกษาแนวทางในการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืนต่อไป โดยแบ่งขอบเขตการศึกษาด้านเนื้อหา มีดังนี้
3.1 เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของชีวิตวัฒนธรรมชุมชนที่อาศัยอยู่กลางป่า ด้วยการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ในบริบทที่มีความสัมพันธ์กับภูมินิเวศ เป็นการศึกษาวิถีชีวิตชุมชนในมิติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (interrelated) กับทรัพยากร ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตวัฒนธรรมกับทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยอาศัยกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมมาเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง “คนกับป่า” อยู่ร่วมกันอย่างไร อยู่แบบไหน มีรูปแบบการจัดการทรัพยากรอย่างไรบ้าง เป็นการศึกษาแบบแผนเฉพาะทางวัฒนธรรมของชุมชนที่สั่งสมและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อค้นหารูปแบบการจัดการทรัพยากรบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนที่สัมพันธ์กับความยั่งยืนทางนิเวศ
3.2 เป็นการศึกษาการขยายอำนาจรัฐและระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของชุมชนที่ศึกษา ทั้งรูปแบบ วิธีการจัดการและการควบคุมทรัพยากรโดยรัฐ รวมทั้งระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตและส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรในบริบทโครงสร้างของอำนาจใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังวิเคราะห์วาทกรรมและปฏิบัติการทางวาทการของกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่ใช้ในการช่วงชิงความหมายของชุมชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจและการครอบงำที่เกิดจากเครือข่ายอำนาจต่างๆ ผ่านแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง เพื่อให้เห็นบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการทรัพยากรและความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการวิภาษวิธี (Dialectic) ที่ปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ อันนำไปสู่ปมปัญหาและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ
3.3 ศึกษาหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชุมชน ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้ให้ปมปัญหาและความขัดแย้ง โดยการวิพากษ์โครงสร้างที่ดำรงอยู่ ผ่านบทวิพากษ์นิเวศวิทยาการเมือง แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เพื่อหาทางออกของปัญหาแล้วร่วมกันจัดการทรัพยากรในเชิงอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมต่อไปในอนาคต |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | 1. คาดว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะช่วยให้เข้าใจวิถีชีวิตชุมชน ในมิติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (interrelated) กับทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตวัฒนธรรมกับธรรมชาติ โดยศึกษาผ่านกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ซึ่งคาดว่าจะเกิดองค์ความรู้ใหม่ในทางวิชาการ ตลอดจนทำให้เข้าถึงความเป็นตัวตนของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่ฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจและประจักษ์ในคุณค่าของวัฒนธรรมและความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนที่อาศัยอยู่กับป่าในมิติที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
2. คาดว่าผลการศึกษาจะทำให้เกิดความเข้าในปรากฏการณ์ทางสังคม ความเป็นจริงที่ดำรงอยู่เกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจอันเป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เป็นปัญหาอยู่เบื้องหลัง นำไปสู่ข้อถกเถียง รวมทั้งเกิดปมปัญหาและความขัดแย้ง ทั้งการกระทำและในเชิงความคิด และที่ยังเป็นข้อถกเถียงจนถึงปัจจุบัน
3. คาดว่าผลการศึกษาครั้งนี้จะได้แนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งเป็นการนำเสนอฐานคิดใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ในทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ต้องทำความเข้าใจมิติของชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนในพื้นที่ศึกษา ตลอดจนผลการศึกษาครั้งนี้คาดว่าจะเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการนำไปสู่การกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม เพื่อการจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจบนฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมทางสังคมต่อไป |
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | การทบทวนวรรณกรรม ผู้วิจัยใช้วิธีการสำรวจองค์ความรู้ทั้งนามธรรมและรูปธรรม โดยการสำรวจองค์ความรู้จากแนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง |
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | การศึกษาวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรมในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก” ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำเอกสารแนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องสำหรับการศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. แนวคิดสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
2. แนวคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยาวัฒนธรรม
3. แนวคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยาการเมือง
4. แนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนทางนิเวศ
5. แนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สีเขียวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
6. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
7. กรอบแนวคิดของการวิจัย
8. ข้อมูลพื้นฐานของชุมชนและลักษณะสำคัญของป่าทุ่งใหญ่
แนวคิดสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
1. สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ระบบสิทธิกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้กลายเป็นประเด็นหลักของการศึกษาทำความเข้าใจระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน ตลอดจนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะวิธีคิดเรื่อง “สิทธิ” หมายถึงกระบวนการจัดความสัมพันธ์ของเจ้าของสิทธิกับภายนอก
สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิชุมชน เป็นการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างสมาชิกในชุมชน ความเป็นชุมชนไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ร่วมกัน แต่อาจเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นอยู่กับการตกลงร่วมกันของสมาชิกในชุมชนและเป็นที่รับรู้ของสังคม สิทธิชุมชนเป็นสิทธิโดยพฤตินัยของชุมชนในการจัดการ เนื่องจากชุมชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการผูกขาดในระบบสิทธิการจัดการป่าของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบุคคลภายนอก เช่น บริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากรัฐทำให้มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรป่าไม้เหนือสิทธิชุมชน จากสภาพความไม่มั่นคงในสิทธิ ในที่ดินและการใช้ประโยชน์จากป่าของชุมชนกลับมีส่วนผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนเพื่อเรียกร้องสิทธิโดยพฤตินัย ดังนั้น รูปแบบการกำหนดสิทธิของทรัพยากรร่วมควรแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือสิทธิในระดับปฏิบัติการและสิทธิระดับนโยบายและการจัดการ ระดับปฏิบัติการ หมายถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ส่วนระดับนโยบายและการจัดการ หมายถึง สิทธิในการจัดการ สิทธิในการจำกัดผู้ใช้ประโยชน์และสิทธิในการถ่ายโอนผลประโยชน์และสิทธิในทรัพยากร ในระบบทรัพยากรร่วม สิทธิดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเป็นสิทธิในความเป็นเจ้าของ แต่อาจเป็นสิทธิในการครอบครอง ตลอดจนทรัพยากรบางประเภทก็อาจอยู่ภายใต้สิทธิส่วนบุคคลได้
ในทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่เชื่อมั่นในกลไกตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์จะเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมีการกำหนดระบบกรรมสิทธิ์อย่างชัดเจนเพื่อการแสดงความเป็นเจ้าของทรัพยากรของปัจเจก และกีดกันผู้อื่นได้ ประเด็นเรื่องสิทธิ์ต่อทรัพยากรได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเสรีจะเน้นที่สิทธิ์ของปัจเจก ผูกขาดทรัพยากรและกีดกันการเข้าถึงของผู้อื่น ขณะที่สังคมนิยมจะเน้นให้สิทธิแก่รัฐจัดการทรัพยากรทั้งระบบ แต่ทั้งหมดล้วนอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมที่เร่งบริโภคทรัพยากรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, 2548)
บทบาทของชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ได้ทำให้ผู้มีหน้าที่วางนโยบายและนักวิชาการหันมาสนใจบทบาทของชุมชนมากขึ้น เหตุผลในการสนับสนุนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนมักจะออกมาในแนวทางที่ว่า 1) ชุมชนมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่ตนอาศัย ชุมชนย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพยากรมากกว่าคนภายนอก ดังนั้นจึงมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรได้ดีกว่า 2) การให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรจะช่วยสร้างแรงจูงใจไม่ให้สมาชิกในชุมชนใช้ทรัพยากรอย่างทำลาย 3) ชุมชนย่อมต้องการอนุรักษ์ทรัพยากรเนื่องจากเป็นฐานทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้ฐานะของแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินเพื่อสร้างรายได้
มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า สมมติฐานเกี่ยวกับชุมชนที่กล่าวมาข้างต้นมักเกิดจากการมองชุมชนว่าเป็นหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง มีโครงสร้างทางสังคมและมีกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกัน เป็นภาพนิ่งตายตัวของชุมชนในอุดมคติที่ขาดความสอดคล้องกับความเป็นจริงในกรณีของชุมชนส่วนใหญ่ โดยมิได้ให้ความสนใจแก่กระบวนการภายในชุมชนที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร เช่น ความแตกต่างในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกในชุมชน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ในชุมชน และระบบการจัดการทรัพยากรในชุมชน การละเลยประเด็นเหล่านี้ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเงื่อนไขของการจัดการทรัพยากรร่วมกันของชุมชน ที่ทำให้ชุมชนบางชุมชนประสบความสำเร็จและบางชุมชนล้มเหลว
จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบงานวิจัยเชิงประจักษ์ในประเทศต่าง ๆ นักวิชาการในประเด็นเรื่องของสิทธิที่เป็นเงื่อนไขทำให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนประสบความสำเร็จไว้ 6 ประการ (กอบกุล, 2549) ดังนี้คือ
1) ความเข้าใจชัดเจนร่วมกันว่าใครมีสิทธิและไม่มีสิทธิใช้ทรัพยากรที่เป็นส่วนรวม
2) มีวิธีการในการทำให้สมาชิกชุมชนที่มีสิทธิใช้ทรัพยากรหรือผู้แทนของบุคคลเหล่านี้มีโอกาสได้พบหรือประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถระบายความไม่พอใจ ระงับปัญหาความขัดแย้งและตัดสินใจ รวมทั้งวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน
3) ชุมชนมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นอิสระจากอำนาจรัฐที่อยู่เหนือกว่า
4) มีการถ่ายโอนสิทธิในทรัพย์สินได้ในขอบเขตที่จำกัด
5) ความสามารถของระบบในการจัดการกับปัญหาความแตกต่างทางสังคมและเศรษฐกิจ
6) การกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในชุมชน
ระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวเช่นเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรภายใต้ระบบอื่น ๆ ทั้งนี้ตัวแปรต่าง ๆ ที่มีส่วนสนับสนุนประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรของชุมชน เช่น สมาชิกชุมชนสามารถรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพของทรัพยากร ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และค่าใช้จ่าย โดยใช้ต้นทุนต่ำที่สุด สมาชิกมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติอยู่ สมาชิกมีกฎเกณฑ์ที่ต่างยอมรับนับถือ มีความเชื่อใจและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้นทุนทางสังคม และชุมชนมีความเข้มแข็ง
แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิชุมชน เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาอ้างอิง เมื่อเกิดความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรระหว่างรัฐ ทุนกับชุมชน ทั้งระหว่างรัฐกับชุมชน นายทุนกับชุมชน หรือแม้แต่ชุมชนกับชุมชนเองซึ่งปัจจุบันแนวคิดสิทธิชุมชนดังกล่าวได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ประชาชน ผู้ศึกษาจึงได้นำเสนอถึงแนวคิดสิทธิชุมชนต่อไป
ยศ สันตสมบัติ (2542) ได้กล่าวถึง สิทธิชุมชน ว่า เป็นสิทธิร่วมเหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น จึงมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์ สิทธิชุมชนให้ความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วสมาชิกของชุมชนทุกคนจะมีสิทธิตามธรรมชาติในการใช้ทรัพยากรส่วนรวม แต่ชุมชนก็สามารถใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึง ความเป็นธรรมทางสังคมเป็นสำคัญ เช่น ชุมชนหลายแห่งมีกฎเกณฑ์ให้เฉพาะครัวเรือนที่แต่งงานใหม่ และยากจนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิตัดไม้เพื่อสร้างบ้านใหม่ กฎระเบียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงหลักการทางศีลธรรมที่เน้นความเป็นธรรม และความมั่นคงในการยังชีพของชุมชนเหนือผลประโยชน์ส่วนตน แม้ว่าสมาชิกทุกคนมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรส่วนรวม แต่สิทธิการใช้ยังถูกกำหนดด้วยความยั่งยืน หรือความเป็นธรรมต่อระบบนิเวศด้วย อานันท์ กาญจนพันธ์ (2542) กล่าวว่า สิทธิชุมชน ไม่ใช่สิทธิในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นั้น พื้นที่เหล่านั้นก็ยังเป็นของรัฐ แต่อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาเป็นของชุมชน แล้วชุมชนสามารถที่จะออกกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ เพื่อพิทักษ์สิทธิและพื้นที่เหล่านั้นให้คงอยู่ สิทธิชุมชนจะเกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆ ตามคติที่มีอยู่ในเชิงคุณค่า เชิงศีลธรรมของสังคม สิทธิชุมชน จะซ้อนอยู่ในเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น “สิทธิหน้าหมู่” คือ สิทธิของคนที่จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในป่า ในที่ดินอะไรต่างๆ หรือว่าสิทธิในเรื่องของ “สิทธิการใช้” สิทธิเหล่านี้เกิดขึ้นตามหลักที่ว่า ทุกคนควรมีสิทธิในการยังชีพ มีสิทธิในการที่จะมีชีวิต เป็นระบบคุณค่าทางศีลธรรม และสิทธิชุมชนยังขยายตัวออกไปเกี่ยวข้องกับสิทธิอื่นๆ ตามความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สิทธิในความเป็นมนุษย์หรือศักดิ์ศรีของความเป็นคน สิทธิชุมชนจะเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืน
ในขณะที่ ชูศักดิ์ วิทยาภักดิ์ (2542) ได้สรุปแนวคิดของ Lock ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ซึ่งเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิโดยชอบธรรม ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของชีวิต และสรุปแนวคิดของ Kant ซึ่งแสดงความคิดเห็นในเรื่องของสิทธิในลักษณะของการครอบครอง โดยนิตินัย ด้วยการทำความเข้าใจและการรับรู้ของคนในสังคม กับการครองครองโดยประจักษ์จริง เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ยังไม่มีการครอบคลุมถึงกรรมสิทธิ์ ซึ่งข้อตกลง ของสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีสิทธิโดยนิตินัยที่สำคัญที่สุด คือ
1. สิทธิ หรือ กรรมสิทธิ์ต้องมาจากการกระทำร่วมกันของสังคม
2. สิทธิเป็นเรื่องของการยอมรับจากภายนอก หรือการยอมรับของสังคมในความชอบธรรมของการเป็นเจ้าของ ถ้าการอ้างสิทธิใดๆ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่ามีการชอบธรรมสิทธินั้นก็ไร้ประโยชน์ Kant มองระบบกรรมสิทธิ์เป็นเรื่องของความมีเหตุผล สิทธิจึงเป็นสภาพความเป็นจริงเชิงภาวะนิสัย ไม่ใช่ความจริ |
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | การวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีวิทยาการวิจัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เพื่อศึกษาวิถีชีวิตชุมชนในมิติที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (interrelated) กับทรัพยากรทางธรรมชาติ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตวัฒนธรรมกับธรรมชาติ โดยอาศัยกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมมาเป็นแนวทางในการศึกษาวิจัย และเน้นการวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองซึ่งเป็นแนวคิดเชิงวิพากษ์ (Critical approach) มาใช้ในการศึกษาบริบท ของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีอิทธิพลต่อการจัดการทรัพยากรในเขตพื้นที่ชุมชนอาศัยอยู่ เป็นการศึกษาตามแนววิภาษวิธี (dialectic) ที่ปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ และความจริงที่ดำรงอยู่ จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่เป็นปมปัญหาและความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรทางธรรมชาติระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์อย่างเป็นระบบ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุเชิงโครงสร้างที่เป็นปัจจัยอยู่เบื้องหลัง ภายใต้บริบท (contextual) ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการศึกษาด้วยกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อค้นหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานนิเวศวิทยาวัฒนธรรม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งและการจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างสันติวิธี โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัย ดังนี้
1. การเลือกพื้นที่ศึกษา และกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก
การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัย?เลือกพื้นที่ศึกษาที่เป็นพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว ที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันออก เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ใจกลางของผืนป่าตะวันตก ตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีและลุ่มน้ำแม่จันที่ไหลไปรวมกับต้นน้ำแม่กลองกลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลแม่จันทะ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีทั้งหมด 7 กลุ่มบ้านที่อาศัยอยู่กลางป่าอนุรักษ์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และยังเป็นพื้นที่ที่ได้ประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว การเลือกพื้นที่นี้เป็นกรณีศึกษา เหตุผลเพราะว่าพื้นที่ชุมชนที่เป็นกรณีศึกษานี้ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่แห่งนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ และเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ก่อนมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยรัฐ ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ที่มีสภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์ และชุมชนแห่งนี้ยังมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ และนอกจากนั้นชุมชนนี้ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผูกพันกับป่ามายาวนาน
ทั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร และการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน และลงพื้นที่จริงเพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านในเบื้องต้นแล้ว พบว่าพื้นที่ที่ผู้วิจัยเลือกศึกษานั้นเป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีระบบนิเวศชุมชน ฐานทรัพยากรที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมเรื่องราวของคนกับป่าที่น่าสนใจ รวมทั้งรูปแบบการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รวมทั้งสัตว์ป่า เป็นพื้นที่ที่น่าศึกษา ซึ่งชุมชนกะเหรี่ยงกลางป่าใหญ่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ มีวิถีที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ การดำรงชีพที่สอดคล้องกับธรรมชาติเป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อยู่ร่วมกันด้วยกฎจารีตและประเพณี อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม นอกจากนั้น วิถีชีวิตของชุมชนและการจัดการทรัพยากรตามจารีต ได้ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่น่าศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชุมชนที่ศึกษาอยู่ภายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ และยังถูกประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ชุมชนตกอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจใหม่ โดยรัฐได้เข้าไปอ้างสิทธิเพื่อการจัดการพื้นที่ผืนป่าทั้งหมดรวมทั้งพื้นที่ที่ชุมชนอยู่อาศัย ทำให้รูปแบบการจัดการทรัพยากรนั้นมีการปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ ชุมชนมีการปรับตัวทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ การจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ตามจารีตประเพณีของชุมชนดั้งเดิมถูกลดทอดบทบาทด้วยโครงสร้างอำนาจใหม่ภายใต้การจัดการของรัฐที่ยังขาดความเข้าใจในมิติวัฒนธรรม ทำให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดและแนวทางการปฏิบัติ ทำให้ชุมชนยังมีการเคลื่อนไหวต่อรองและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรตามวิถีวัฒนธรรมและชุดความรู้ดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้น ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในการค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกันทั้งรัฐและชุมชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชุมชนและยั่งยืนต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย การวิจัยในครั้งนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key Informants) ที่เกี่ยวข้อง โดยการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เพื่อใช้ในการศึกษาภาคสนาม โดยผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาแบบสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) และการสัมภาษณ์กลุ่ม (Group Interview) โดยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับรู้เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำทางธรรมชาติ ผู้อาวุโสและประชาชนทั่วไป นักวิชาการหรือนักพัฒนาหรือนักอนุรักษ์ หรือผู้มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรภายในชุมชน ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก 6 กลุ่ม จำนวน 30 คน ประกอบด้วย
1) เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จำนวน 5 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบงานในพื้นที่ศึกษา
2) ผู้นำชุมชนในพื้นที่ศึกษา จำนวน 4 คน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาเทศบาล
3) ตัวแทนชุมชน คณะกรรมการชุมชน ของแต่ละกลุ่มบ้าน จำนวน 8 คน
4) ผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางธรรมชาติ ผู้อาวุโสในชุมชน จำนวน 3 คน 5) ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่ศึกษา จำนวน 5 คน
6) นักวิชาการที่เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญด้านชาติพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ นักพัฒนาและนักอนุรักษ์หรือองค์กรภาคเอกชน จำนวน 5 คน
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถาม หรือ แบบสัมภาษณ์ที่เป็นแนวคำถามในแต่ละประเด็นที่ต้องการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังเตรียมเครื่องมืออื่นๆ เข้าพื้นที่อีกด้วย เช่น เทปบันทึกเสียง สมุดจดบันทึก ปากกา ดินสอ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยได้มีการวางแผนและเตรียมตัวเข้าพื้นที่อย่างรอบคอบ โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมภาษาท้องถิ่น การแต่งกายที่เหมาะสม ที่ผสมกลมกลืนกับคนในชุมชนนั้น ซึ่งจะทําให้สามารถอยู่ในที่ตรงนั้นได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีการเตรียมทีมคณะที่เดินทางร่วมกับผู้วิจัย และการเตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จําเป็น เช่น แผนที่ กระดาษฟลิปชาร์ท สมุดบันทึก ดินสอ กล้องถ่ายรูป เทปบันทึกเสียง เมื่อเข้าพื้นที่ในระยะแรก ผู้วิจัยต้องมีการแนะนําตัวผู้วิจัยและทีมคณะหรือผู้ช่วยวิจัย ว่าผู้วิจัยเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรบ้าง ผู้วิจัยได้แจ้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยให้กับชุมชนได้ทราบ และนอกจากนั้น ผู้วิจัยยังได้ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่เขตรักษาอุ้มผาง เพื่อขอความอนุเคราะห์เข้าพื้นที่ศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลวิจัย และนอกจากนั้นผู้วิจัยยังใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวประสานงานกับนักอนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพื่อประสานงานในการเข้าพื้นที่ชุมชน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์กับสมาชิกในชุมชน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย เช่น การเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การเข้าไปเยี่ยมหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ชุมชนที่ศึกษา เช่น กิจกรรมมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับนักเรียน การมอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ไพร เป็นต้น
ดังนั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยที่สำคัญที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ คือ ตัวผู้วิจัยเอง รวมทั้งเพื่อนร่วมเดินทาง หรือคณะผู้ช่วยวิจัย เพราะพื้นที่ที่ผู้วิจัยเข้าไปศึกษา เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าลึก ปัจจุบันอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก การเข้า – ออก ยากลำบากทั้งการเดินทาง ทั้งความไว้วางใจ เพราะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่มีข้อห้ามและข้อจำกัดต่างๆ มากมาย อีกทั้ง ชุมชนที่ศึกษายังเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่แตกต่างทั้งภาษา และวัฒนธรรม ความไว้วางใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้พยายามเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม แล้วเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเข้าร่วมเหตุการณ์ที่สำคัญๆ หรือสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งหลายๆ ครั้ง ทำให้คนในชุมชนในพื้นที่รู้และเข้าใจในตัวนักวิจัยเป็นอย่างดี ทำให้การศึกษาครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จลุล่วงได้
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) การเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยให |
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | การวิจัย ครั้งนี้ เป็นการศึกษาการจัดการทรัพยากร วิถีคนกับป่า ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับชุมชนที่เคยอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อต้องการค้นหาแนวทางในการจัดการของชุมชนตามความเชื่อและวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อให้เกิดรูปแบบในการจัดการทรัพยากรเชิงอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป และลดปัญหาความขัดแย้ง |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 166 ครั้ง |