รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000264
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :ผลิตภัณฑ์ข้าวไทยเสริมโปรไบโอติค
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Probiotic-Supplemented Thai Rice Products
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :โปรไบโอติค (probiotics) คาริเออร์ (carrier) ข้าวไทย (Thai rice) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (dietary supplement)
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี > ภาควิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา และเทคโนโลยีชีวภาพ
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :แผนงานวิจัยหรือชุดโครงการวิจัยและโครงการวิจัยที่เสร็จสิ้นแล้ว
งบประมาณที่เสนอขอ :310900
งบประมาณทั้งโครงการ :310,900.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :01 ตุลาคม 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :30 กันยายน 2560
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :เกษตรศาสตร์
สาขาวิชาการ :ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :โปรไบโอติค (Probiotic) มาจากภาษากรีกแปลว่า เพื่อชีวิต (Fuller, 1989) โปรไบโอติคหมายถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าจุลินทรีย์ มีทั้งแบคทีเรียรวมถึงยีสต์ ที่ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ จุลินทรีย์โปรไบโอติคพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม และผลิตภัณฑ์อาหารจากการหมักดอง โปรไบโอติคจะช่วยส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ให้ดีขึ้น โดยโปรไบโอติคต้องคงสภาพมีชีวิตเท่านั้น และต้องได้รับในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะทำงานในลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Crittenden et al., 2001; ประกาศกระทรวงสาธารณสุข, 2554) ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโปรไบโอติคออกมาในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น คาริเออร์เปรียบได้กับโฮสต์หรือตัวพาถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียโปรไบโอติคเพราะ คาริเออร์เหล่านั้นอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ และเมื่อมีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์อย่างแบคทีเรียโปรไบโอติคเข้าไปยึดเกาะหรืออาศัยอยู่ ยิ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบนั้นๆ โดยคาริเออร์มีความสำคัญมากเพราะไม่สามารถเลือกวัตถุดิบอะไรก็ได้ใช้เป็นคาริเออร์เพราะว่า วัตถุดิบแต่ละชนิด แบคทีเรียโปรไบโอติคสามารถยึดเกาะและรอดชีวิตได้ต่างกัน ดังนั้นการที่จะหาวัตถุดิบที่ทำให้แบคทีเรียโปรไบโอติคสามารถยึดเกาะได้เป็นจำนวนมาก หรือสามารถรอดชีวิตได้ยาวนั้นจึงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ และยังถือว่ามีการศึกษากันยังไม่แพร่หลายมากนัก ข้าวจัดเป็นอาหารหลักของประชากรโลกและเป็นสินค้าส่งออก โดยเฉพาะประเทศไทยมีการส่งออกข้าวมากกว่า 175,000 ล้านบาท ต่อปี (กรีนพีซ สากล, 2553) ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีการส่งออกข้าวไปยังตลาดโลก ทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทย และข้าวหอมมะลิของไทย นอกจากข้าวหอมมะลิที่เป็นที่ยอมรับแล้ว ไทยยังมีข้าวพื้นเมืองอีกหลายสายพันธุ์ที่มีประโยชน์มาก เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวนางมล ข้าวเล้าแตก เป็นต้น หากแต่ขาดการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทำให้ข้าวหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ จึงสมควรจะมีการส่งเสริมข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้ติดตลาด เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้คงอยู่ นอกจากนี้ด้วยคุณประโยชน์ในตัวข้าวเอง ถือเป็นการส่งเสริมสุขภาพทางอ้อมของประชากรอีกทางหนึ่งด้วย ปัจจุบันพบว่าประชากรจำนวนมากประสบปัญหาด้านสุขภาพ ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นเหตุให้เชื้อก่อโรคดื้อต้านทานต่อยาปฏิชีวนะ การรักษากินเวลายาวนาน สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในแต่ละปี โปรไบโอติคถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ต้านทานต่อโรคร้ายต่างๆ เช่น ยับยั้งการเจริญของเซลล์ในมะเร็งในลำไส้ ลดอัตราการเกิดไข้หวัด และลดการเกิดอาการอุจจาระร่วง เป็นต้น (มงคล และเพ็ญรัตน์, 2554; Vrese et al., 2005; วันดี, 2551) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านำมารวมเข้ากับประโยชน์ของข้าวสายพันธุ์ไทย จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญหายของสายพันธุ์ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวให้สูงขึ้นและยังได้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใหม่ ที่ไม่ได้เกิดจากการสังเคราะห์ทางเคมีอีกด้วย ดังนั้นการนำข้าวไทยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งเป็นการอนุรักษ์ รักษาสายพันธุ์ข้าวให้คงอยู่ เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าของข้าวไทย รวมถึงทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ข้าวพันธุ์ไทยเป็น carrier ของแบคทีเรียโปรไบโอติค และประยุกต์ใช้แบคทีเรียโปรไบโอติคในอาหารเสริมชนิดต่างๆ
จุดเด่นของโครงการ :การนำข้าวไทยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเป็นการอนุรักษ์ รักษาสายพันธุ์ข้าวให้คงอยู่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าของข้าวไทย รวมถึงทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแบคทีเรียโปรไบโอติคบางชนิด 2 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของข้าวไทยบางชนิดในการเป็นตัวยึดเกาะแบคทีเรียโปรไบโอติค 3 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และทดสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์ข้าวไทยเสริมโปร ไบโอติค
ขอบเขตของโครงการ :7.1 ประชากรที่ศึกษา คือ ชนิดพันธุ์ข้าวไทยทั้งหมด 11 สายพันธุ์ 7.2 ทดสอบความสัมพันธ์และความสามารถของข้าวไทยในการเป็นตัวยึดเกาะแบคทีเรียโปรไบโอติค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไทยเสริมโปรไบโอติค 7.3 การจัดการองค์ความรู้ ประโยชน์ของข้าวไทยและผลิตภัณฑ์ข้าวเสริมโปรไบโอติค ด้วยการเผยแพร่ความรู้และประโยชน์จากข้าว ในรูปแบบหนังสือหรือสื่อสิ่งพิมพ์ หรือจัดอบรม ณ ศูนย์การเรียนรู้แก่ชุมชนหรือสถานศึกษา 7.4 ช่วงเวลาของการวิจัยตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2559 – เดือนกันยายน 2560 7.5 ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ 7.5.1 ข้าวไทยสายพันธุ์ต่างๆ 7.5.2 ประสิทธิภาพของข้าวไทยในการเป็นคาริเออร์ 7.5.3 ประสิทธิภาพของแบคทีเรียโปรไบโอติค
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1 ทราบข้อมูลพื้นฐานการใช้ข้าวไทยเป็นคาร์ริเออร์ สำหรับใช้แบคทีเรียโปรไบโอติคในรูปเชื้อสด 2 เป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และอาหารต่อไป
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :โปรไบโอติค (Probiotic) หมายถึง แบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายทั้งในมนุษย์และสัตว์ (Conway et al., 1987) จุลินทรีย์โปรไบโอติค เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่พบในบริเวณลำไส้ จัดอยู่ในกลุ่มของจุลชีพไม่ก่อโรคที่สร้างประโยชน์ต่อร่างกายและยังมีคุณสมบัติปกป้องร่างกายไม่ให้ได้รับอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้ภายในกระเพาะและลำไส้เกิดสมดุล หากได้รับในปริมาณที่มากพอจะช่วยให้ร่างกายผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ด้วย (Salminen et al., 1998) โปรไบโอติคจะช่วยสนับสนุนทำให้ร่างกายมีระบบขับถ่ายที่ดีขึ้น เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยส่งเสริมการดูดซึมแร่ธาตุบางชนิด ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ทองแดง เหล็ก ซึ่งเป็นผลจากภาวะความเป็นกรดที่เพิ่มสูงขึ้นในลำไส้ (ลลิตา และ สาโรจน์, 2554) โปรไบโอติคที่รวมตัวกันเกาะตามผนังลำไส้จะช่วยกันแบคทีเรียที่ไม่ดีออกไป (ชาญวิทย์ และจุฑามาส, 2552) ซึ่งแตกต่างจากยาปฏิชีวนะที่จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์อีกชนิดหนึ่งตรงข้ามกับการทำงานของยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ที่จะทำลายจุลินทรีย์เกือบทุกชนิด (Lilley and Stillwell, 1965) โปรไบโอติคไม่ได้จำกัดที่จะใช้เฉพาะในส่วนของทางเดินอาหารเท่านั้นแต่ยังอาจมีผลกับระบบอื่นๆ ด้วย เช่น ทางเดินหายใจส่วนต้น ระบบปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ (Havenaar and Veld, 1992) ด้วยประโยชน์ข้างต้น ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับจุลินทรีย์โปรไบโอติคออกมามากมายในท้องตลาดซึ่งสามารถแบ่งผลิตภัณฑ์จากโปรไบโอติคได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ อาหารทั่วไป ได้แก่ โยเกิร์ต น้ำนม เนยแข็ง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยว และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ อาหารที่อยู่ในรูปแคปซูลและรูปแบบอื่นๆ (พนารัตน์, 2555) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านพันธุ์กรรมพืช โดยเฉพาะสายพันธุ์ข้าว ซึ่งโดยเฉพาะประเทศไทยมีการส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆในตลาดโลก (กรีนพีซ สากล, 2553) ไม่เพียงแต่ข้าวหอมมะลิที่เป็นที่รู้จักของนานาชาติ ยังมีข้าวสายพันธุ์พืชเมืองอีกหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นข้าวที่มีประโยชน์มาก มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ด้วยสถานการณ์ข้าวไทยในขณะนี้ ยังขาดการส่งเสริมที่จริงจังจากทางภาครัฐ อาจทำให้ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้สูญหายไปในที่สุด ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย ข้าวเป็นพืชที่ปลูกแทบทุกพื้นที่ในโลก รวมไปถึงประเทศไทยด้วย (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, 2555) ข้าวจัดเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับสายพันธุ์ของหญ้า แต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ปลูกขึ้นง่ายทนทานต่อทุกสภาวะแวดล้อม และทุกสภาพภูมิประเทศ ทั้งพื้นที่แห้งแล้งแบบทะเลทราย พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง รวมไปถึงบนเทือกเขาที่มีอากาศหนาวเย็น (อรอนงค์, 2550) คาริเออร์ (Carrier) เปรียบได้กับโฮสต์หรือตัวพา เพื่อนำโปรไบโอติคไปยังอวัยวะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต (Liong, 2011) ซึ่งมีความสำคัญมากต่อโปรไบโอติค เนื่องจากสามารถช่วยให้จุลินทรีย์โปรไบโอติครอดชีวิตได้ยาวนานขึ้น คาริเออร์เหล่านี้อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ คาริเออร์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คาริเออร์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์จากนม และคาริเออร์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นม (Saarela et al., 2006) เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ รวมถึงธัญพืช แบคทีเรียโปรไบโอติค จัดเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์โดยจะต้องอาศัยอยู่กับโฮสต์ที่เหมาะสม และจำเป็นต้องเป็นเซลล์ที่มีชีวิตถึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะพบอัตราการรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติคอยู่อย่างต่ำ 106 CFU/g ซึ่งเมื่อรับประทานแบคทีเรียโปรไบโอติคที่อยู่ในสภาพรอดชีวิตที่เกาะอยู่บนคาริเออร์เข้าไปจะช่วยให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกระเพาะหรือลำไส้ กลุ่มแรกคาริเออร์ที่ได้จากนมเป็นหลัก ถือว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัตถุดิบชนิดอื่นๆ โดยนมที่มักใช้เป็นคาริเออร์เมื่อมีการเติมแบคทีเรียโปรไบโอติคลงไป จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่น มีรสชาติเปรี้ยวขึ้น มีรสสัมผัสที่แปลกไปอาจจะมีลักษณะเป็นลิ่ม เป็นครีม หรือบางครั้งอาจจะเป็นของแข็ง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต รวมไปถึงชีสชนิดต่างๆ (Coman et al, 2012) ที่มีมากมายแพร่หลายไปตามแต่ละพื้นที่บนโลก ล้วนเป็นคาริเออร์ชั้นดีที่แบคทีเรียโปรไบโอติคสามารถยึดเกาะหรือเจริญอยู่ได้ รวมถึงรอดอายุได้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยแบคทีเรียโปรไบโอติคที่เจริญอยู่ในผลิตภัณฑ์นมเหล่านี้ จะย่อยน้ำตาลแลคโตสที่มีอยู่ในนม ให้กลายเป็นกรดแลคติค ทำให้เกิดรสเปรี้ยวในผลิตภัณฑ์นมนั้นๆ และทำให้นมเหล่านั้นมีลักษณะที่พึงประสงค์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มคาริเออร์ที่ได้จากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นม ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในกลุ่มของธัญพืช เพราะธัญพืชเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายมีราคาถูก ล้นตลาด ดังนั้นจึงเริ่มมีงานวิจัยหลายงานที่ทำการเลือกใช้คาริเออร์ที่มาจากกลุ่มของธัญพืชอย่างเช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งศึกษา คาริเออร์จากข้าวไทยที่มีประสิทธิภาพทำให้แบคทีเรียโปรไบโอติคสามารถยึดเกาะและอยู่รอดได้ยาว มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวไทยเสริมโปรไบโอติค รวมทั้งศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งยังไม่พบการศึกษาในข้าวไทยมากนัก
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :จุลินทรีย์โปรไบโอติคเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม จุลินทรีย์โปรไบโอติคจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายต่างๆได้ดีและมีอัตราการอดชีวิตสูง ในการนำจุลินทรีย์โปรไบโอติคเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องอาศัยตัวนำพาหรือ carriers ที่เหมาะสม การใช้ carriers ที่เป็นข้าวสายพันธุ์ไทย นอกจากจะเป็น carriers ที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของจุลินทรีย์โปรไบโอติคบางชนิด ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยแร่ธาตุ วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อผนวกเข้ากับประโยชน์ของจุลินทรีย์โปรไบโอติคแล้ว จะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดและจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีมูลค่าสูงในท้องตลาด
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :1 การทดสอบความสามารถในการย่อยคาร์โบไฮเดรตในเมล็ดข้าว ดัดแปลงจากวิธีของ Ratithammatorn และคณะ, 2012 เลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย Lactobacillus amylovorus ลงในอาหารแข็งที่ประกอบด้วย เปปโตน 1 % วุ้น 1.2 % และเมล็ดข้าวที่ผ่านการบด 3 % ด้วยวิธี point inoculation เชื้อที่ต้องการทดสอบลงไปกลางจานอาหารเลี้ยงเชื้อ บ่มที่อุณหภูมิ 37 oC จากนั้นตรวจผลโดยการหยดสารละลายไอโอดีนลงไปในจานอาหารเลี้ยงเชื้อ หากแบคทีเรียมีความสามารถในการย่อยคาร์โบไฮเดรตจากเมล็ดข้าวได้จะพบโซนใสรอบรอยการเจริญ คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลโซนใสเพื่อทำการทดลองต่อไป 2 ศึกษาการเจริญที่ระยะเวลาต่างๆ (cell growth) นำ L. amylovorus มาทดสอบความสามารถในการเจริญที่ระยะเวลาต่างๆ โดยนำเชื้อแบคทีเรียเลี้ยงในอาหารเหลว MRS บ่มที่อุณหภูมิ 37 oC เป็นเวลา 18-24 ชั่วโมง จากนั้นนำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่อง spectrophotometer ที่ความยาวคลื่น 540 นาโนเมตร ให้ได้ค่าการดูดกลืนแสงที่ 0.5 เพื่อใช้เป็นเชื้อตั้งต้น จากนั้นนำเชื้อถ่ายเชื้อแบคทีเรียปริมาตร 150 ไมโครลิตร ปลูกลงในอาหารเหลว MRS และบ่มที่อุณหภูมิ 37oC วัดค่าความขุ่นของด้วยเครื่อง spectrophotometer ที่ความยาวคลื่น 540 นาโนเมตร ทุกๆ 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง แบ่งตัวอย่างมานับปริมาณเชื้อด้วยวิธี dilution plate count ในอาหารแข็ง MRS และวัดค่าความเป็นกรดด่าง นำข้อมูลที่ได้มาเขียนกราฟการเจริญ 3 การตรวจสอบความสามารถในการยับยั้งเชื้อก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยวิธี agar well diffusion ดัดแปลงจากวิธีของ Tulumoglu และคณะ, 2013 นำ L. amylovorus เลี้ยงในอาหารเหลว MRS บ่มที่อุณหภูมิ 37oC เป็นเวลา 18-24 ชั่วโมง นำไปวัดค่าการดูดกลืนแสงด้วยเครื่อง spectrophotometer ที่ความยาวคลื่น 540 นาโนเมตร ให้ได้ค่าการดูดกลืนแสงที่ 0.5 จากนั้นถ่ายเชื้อลงในอาหารเหลว MRS ปริมาตร 250 มิลลิลิตร บ่มที่อุณหภูมิ 37 oC เป็นเวลา 48 ชั่วโมง นำมาปั่นเหวี่ยงด้วยเครื่อง Centrifuge ที่ความเร็ว 7,000 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 4 oC เป็นเวลา 10 นาที นำส่วนใส ปรับ pH ให้เป็นกลางด้วย Sodium hydroxide (NaOH) ที่ปราศจากเชื้อ นำแบคทีเรียทดสอบซึ่งเป็นแบคทีเรียก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ Aeromonas hydrophila, Escherichia coli, Proteus vulgaris, Pseudomonas aeruginosa, Salmonella typhimurium, Serratia marcescens, Staphylococcus aureus, Vibrio cholerae และ Vibrio parahaemolyticus ในอาหารเหลว Nutrient (NB) บ่มที่อุณหภูมิ 37oC เป็นเวลา 18-24 ชั่วโมง ไปวัดค่าการดูดกลืนแสง ที่ความยาวคลื่น 540 นาโนเมตร ให้ได้ค่าการดูดกลืนแสงที่ 0.5 จากนั้นเกลี่ยน้ำเลี้ยงเชื้อลงบนอาหารแข็ง NA ด้วยไม้พันสำลีปราศจากเชื้อ เจาะหลุมขนาด 6 มิลลิเมตร ด้วย cork borer หยดส่วนใสที่ได้จากเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการย่อยคาร์โบไฮเดรตจากเมล็ดข้าว 3 ไอโซเลท ลงไปในหลุมที่เจาะไว้ ปริมาตร 100 ไมโครลิตร บ่มที่อุณหภูมิ 37oC เป็นเวลา 48 ชั่วโมง ทำการทดสอบ 3 ซ้ำ โดยใช้อาหารเหลว MRS เป็น negative control และใช้ streptomycin ความเข้มข้น 0.1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เป็น positive control 4 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไทยเพื่อใช้เป็น carriers สำหรับแบคทีเรียโปรไบโอติค 4.1 การผลิตเชื้อสด • การเลี้ยงเซลล์แบคทีเรียโปรไบโอติคเพื่อผลิตเชื้อสด นำ L. amylovorus เลี้ยงในอาหาร MRS บ่มที่อุณหภูมิ 37oC เป็นเวลา 18-24 ชั่วโมง จากนั้นเลี้ยงในอาหารเหลวถั่วเหลืองถั่วเขียว บ่มที่อุณหภูมิ 37oC ที่เครื่องเขย่า ความเร็วรอบ 150 รอบต่อนาที เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำเชื้อไปปั่นเหวี่ยงเอาเซลล์ด้วยเครื่อง Centrifuge ที่ความเร็ว 7,000 รอบต่อนาที ที่อุณหภูมิ 4oC เป็นเวลา 15 นาที จะได้เซลล์สดที่มีความชื้นประมาณ 20-30 % เพื่อใช้ผสมกับ carrier ข้าวไทยในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยในการยึดเกาะกับแบคทีเรียโปรไบโอติค และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารข้าวไทยผสมโปรไบโอติค ในรูปแบบต่างๆต่อไป 4.2 การทำผลิตภัณฑ์ นำเซลล์สดจากข้อ 4.1 มาผสมกับเมล็ดข้าว ที่เชื้อโปรไบโอติคสามารถย่อยได้ดีที่สุด ที่เตรียมด้วยวิธีอบ อัตราส่วน 1:9 มาตรวจสอบควาสามารถในการรอดชีวิตของเชื้อโปรไบโอติคทุกสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยวิธี dilution plate count 5 ตรวจสอบความคงตัวของผลิตภัณฑ์และการตรวจสอบทางจุลชีววิทยาหลังการผลิต 5.1 สังเกตลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น 5.2 ตรวจสอบค่าความเป็นกรดด่าง 5.3 ทดสอบ heating-cooling cycle โดยเก็บที่อุณหภูมิ 4?C เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นนำไปเก็บที่อุณหภูมิ 45?C อีก 48 ชั่วโมง และประเมินลักษณะทางกายภาพ 5.4 ตรวจเชื้อ Escherichia coli โดยวิธี MPN ต้องพบน้อยกว่า 3 ต่อตัวอย่าง 1 กรัม 5.5 ตรวจเชื้อยีสต์และรา ต้องไม่เกิน 102 ต่อตัวอย่าง 1 กรัม 5.6 ปริมาณแบคทีเรียที่ใช้อากาศในการเจริญ ต้องไม่เกิน 103 ต่อตัวอย่าง 1 กรัม 6 การวิเคราะห์ทางสถิติ วิเคราะห์ค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยใช้ one way Anova กำหนดค่า P-Values(P?0.05) ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS version
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :จุลินทรีย์โปรไบโอติคเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเมื่อรับประทานเข้าไปในปริมาณที่เหมาะสม จุลินทรีย์โปรไบโอติคจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายต่างๆได้ดีและมีอัตราการรอดชีวิตสูง ในการนำจุลินทรีย์โปรไบโอติคเข้าสู่ร่างกายจำเป็นต้องอาศัยตัวนำพาหรือ carriers ที่เหมาะสม การใช้ carriers ที่เป็นข้าวสายพันธุ์ไทย นอกจากจะเป็น carriers ที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของจุลินทรีย์โปรไบโอติคบางชนิด ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมด้วยแร่ธาตุ วิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อผนวกเข้ากับประโยชน์ของจุลินทรีย์โปรไบโอติคแล้ว จะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดและจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีมูลค่าสูงในท้องตลาด แบคทีเรียโปรไบโอติค เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยจะต้องอาศัยอยู่กับโฮสต์ที่เหมาะสม และจำเป็นต้องเป็นเซลล์ที่มีชีวิตถึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่พบอัตราการรอดชีวิตของแบคทีเรียโปรไบโอติคน้อย เมื่อรับประทานแบคทีเรียโปรไบโอติคที่อยู่ใน สภาพรอดชีวิตที่เกาะอยู่บนคาริเออร์เข้าไปจะช่วยให้การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในกระเพาะหรือ
จำนวนเข้าชมโครงการ :1303 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวเรณู อยู่เจริญ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย60
นายธีระยุทธ เตียนธนา บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย10
นายศรัณย์ พรหมสาย บุคลากรภายนอกมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย30

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด