รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000222
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ กรณีศึกษา กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :The participation of communities in planning marketing strategies to promote the operations of a massage for health group: Case study the massage for health group of Wat Klong Kang in Nakhon Sawan Province
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :การวิจัยแบบมีส่วนร่วม, กลยุทธ์การตลาด, การนวดเพื่อสุขภาพ, จังหวัดนครสวรรค์
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :78000
งบประมาณทั้งโครงการ :78,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาการตลาด
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์มีการพัฒนาในทุกๆด้าน ทั้งทางด้าน สังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง, เทคโนโลยี และการประกอบอาชีพ ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่จากอดีตที่เคยเรียบง่ายกลับกลายเป็นวิถีชีวิตที่เร่งรีบที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ผู้คนทำงานหารายได้มากขึ้นเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งความเครียด อาการเมื่อยล้า และโรคต่างๆที่ตามมาจากพฤติกรรมประจำวัน การรักษาสุขภาพกายใจมีอยู่หลายวิธี การนวดแผนโบราณนับเป็นทางเลือกหนึ่ง มีแนวโน้มที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนในสังคมสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น (วราพรรณ เพ็งแจ่ม, 2010) การนวดนับเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของคนไทย มีประวัติและเรื่องราวสืบทอดกันมาช้านาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการรักษาสุขภาพองค์รวม (Holistic healing) ส่งผลให้การนวดมีบทบาทที่สำคัญในการรักษาโรคตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เข้าใช้บริการนวดนั้นไม่จำกัดเฉพาะ หากรวมถึงประชากรทุกเพศ ทุกวัย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่ต้องการการผ่อนคลายความตึงเครียด และความต้องการรักษาโรค ดังจะเห็นได้จากผลการการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการสปาในเอเชีย พบว่า การนวด (massage) เป็นบริการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (Favorite spa treatment) คิดเป็น 54% รองลงมาได้แก่ บริการอื่นๆ (บริการหลายชนิดรวมกัน) คิดเป็น 18% การขัดตัว (body scrub) คิดเป็น 14% การห่อตัว-พอกตัว (body wrap) คิดเป็น 10% และการดูแลความงามใบหน้า (facial) คิดเป็น 4% ตามลำดับ (Thailand paradise for spa lovers, 2011) จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของการนวดเพื่อสุขภาพมีโอกาสที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก การนวด ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ผู้ให้บริการนวดจะต้องตระหนักถึงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี โดยส่งเสริมให้มีทักษะความรู้ความสามารถในการทำงาน ทักษะการพูดคุย การเอาใจใส่ดูแล การนวดเพื่อการรักษา และการบริการส่วนอื่นๆที่ประกอบเกี่ยวเนื่องกัน เช่น การตกแต่งสถานที่ ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นของสถานบริการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ และองค์ประกอบอื่นๆอีกมากมายที่จะช่วยให้การสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ประสบผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ สถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ ที่มีแนวโน้มจะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น จัดเป็นธุรกิจบริการที่สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับบุคคลในชุมชน อาทิ หมอนวดเพื่อสุขภาพ กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสมุนไพรในชุมชน สำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพนั้นนอกจากกลุ่มวัยทำงาน ที่ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนมีแนวโน้มความต้องการนวดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนวดเพื่อผ่อนคลาย และการนวดเพื่อกระตุ้นระบบต่างๆของร่างกายทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ผ่อนคลาย นอนหลับสบาย จากสถิติการเพิ่มของประชากรผู้สูงอายุ ในปี 2556 มีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 13.2 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดไว้ว่า หากประเทศใดมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นๆ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Age Society) ดังนั้น ประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่ก้าวสู่สังคมสูงอายุ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2557) ด้วยเหตุนี้กลุ่มภาคธุรกิจต่างๆ จึงได้มีการวางแผนและพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้สูงอายุ ตัวอย่างเช่น มีการขยายตัวของสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นหลายแห่ง เนื่องจากธุรกิจนวดเพื่อสุขภาพเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานและอายุที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วยที่มีราคาถูกและนอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย ปัญหา/อุปสรรคของธุรกิจการนวดเพื่อสุขภาพ ปัญหาและอุปสรรคของสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพในจังหวัดนครสวรรค์ กรณีศึกษา กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง โดยรวมปรากฏดังนี้ กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคางเปิดดำเนินการภายในวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีเจ้าอาวาสวัดคลองคางเป็นแกนนำในการเปิดดำเนินการเพื่อสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน หมอนวดทั้งหมดที่ทำงานในกลุ่มนวดวัดคลองคางจึงมาจากบุคคลากรในชุมชน อีกทั้งสมุนไพร ที่นำมาใช้ประกอบการนวด ก็ได้มาจากชุมชน นับได้ว่ากลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคางได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน อย่างไรก็ตาม มีปัญหาหลากหลาย ได้แก่ คุณภาพของการให้บริการ มาตรฐานการนวด การวางแผนกลยุทธ์การตลาด ไม่มีหน่วยงานใดเป็นแกนให้มีส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพ และความรู้ด้านการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาและการวางแผนกลยุทธ์การตลาด นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้กลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน และสามารถพัฒนาคุณภาพการบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสถานให้บริการนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการวางแผนกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ จากทางภาครัฐ ชุมชน ผู้นำชุมชน หมอนวดและผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ ร่วมกับคณะผู้วิจัย เพื่อช่วยให้การวางแผนกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพได้รับคุณภาพจากการนวด และประทับใจ มีความพึงพอใจกับการใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ เป็นการสร้างความจงรักภักดีต่อผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพในระยะยาว
จุดเด่นของโครงการ :พัฒนาสังคมและส่งเสริมให้ชุมชนมีอาชีพที่ยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้าใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และความต้องการของผู้บริโภคต่อสถานบริการนวดเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 3. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนนำไปสู่การวางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :ขอบเขตด้านประชากร แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้แก่ หมอนวด องค์กรชุมชน กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้ใช้บริการนวด ขอบเขตด้านพื้นที่ คือ สถานบริการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านเวลา คือ ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย 1 ปี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :1. ประโยชน์เชิงนโยบาย เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบาย วางแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมกลุ่มหมอนวดและผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นให้มีอาชีพที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดนครสวรรค์ต่อไป 2. ประโยชน์เชิงชุมชนและสังคม ทำให้ผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพทั้งที่อยู่ในท้องถิ่น และต่างถิ่นได้รับคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น จะส่งผลให้ทั้งกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพมีรายได้มากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ ทำให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้เรื่องกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพไปประยุกต์ใช้ กับกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพแหล่งอื่นๆได้ 3. ประโยชน์เชิงวิชาการ ได้องค์ความรู้ในด้านกลยุทธ์การตลาดของกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพ
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action Research - PAR) ดร.อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ (2548:31) ให้คำจำกัดความไว้ว่า เป็นการวิจัยที่จัดอยู่ในลักษณะของสิ่งที่จะศึกษา วิธีการศึกษาหรืองานวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยน่าจะมีที่มาจากการวิจัย 2 ลักษณะ คือ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชุมชนในลักษณะให้ชุมชนมีส่วนร่วม (Participatory and Community-based Research) กับงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ดร.อุทัย ดุลยเกษม (2545: 115,144) ให้คำจำกัดความ PAR คือ กระบวนการแสวงหาคำตอบอย่างเป็นระบบต่อคำถามที่ตั้งขึ้น โดยวิธีการปฏิบัติตามที่นักวิจัยเลือกใช้ แบบมีส่วนร่วม การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) จึงหมายถึง กระบวนการแสวงหาคำตอบอย่างเป็นระบบต่อคำถามที่ตั้งขึ้น โดยวิธีการปฏิบัติที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เฉลียว บุรีภักดี และคณะ (2545: 238-240) ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม สรุปได้ดังนี้ ลักษณะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะ 3 ประการ คือ 1. เป็นการค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้คำตอบที่จำเป็น เช่น ข้อมูล ความจริง ปัญหาเชิงพัฒนาที่จะต้องแก้ไข สมมติฐานสำหรับการทดสอบต่อไป แผนงานดำเนินงานสำหรับการพัฒนาหรือแก้ปัญหาและการติดตามประเมินผลการพัฒนาแก้ไขปัญหา 2. เป็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนท้องถิ่น ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้ร่วมดำเนินการวิจัยและผู้ได้รับผลลัพธ์ของการวิจัย 3. เป็นการปฏิบัติการในการดำเนินชีวิตจริง มิใช่เป็นการจำลองจากชีวิตจริงมา เพื่อการวิจัย อย่างที่มักกระทำกันในห้องทดลองของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ผู้เข้ามีส่วนร่วมในการวิจัยจะต้องเอาการดำเนินชีวิตที่ตนกระทำอยู่เป็นปกติธรรมดามาเป็น “เดิมพัน” และจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจกรรมครั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม 1. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น แต่ละแห่งเข้ามาร่วมกันศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลตลอดจนประเด็นปัญหาเชิงพัฒนา และวิธีการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาของชุมชนของตน มิใช่รอคอยนักวิจัยและนักพัฒนาจากภายนอกมาดำเนินงานให้ตน 2. เพื่อให้ได้ข้อมูลความจริงที่เป็นจริงและแนวทางพัฒนาที่เหมาะสมหรือมี “ความพอดี” กับสภาพบริบทชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้เพราะประชาชนในท้องถิ่นซึ่งสัมผัสกับบริบทของท้องถิ่นของตนเองมาตลอด ย่อมรู้จักสภาพของท้องถิ่นของตนดีกว่าบุคคลภายนอก 3. เพื่อให้มีการขับเคลื่อน มวลสมาชิกเข้าด้วยกัน เป็นกระบวนการของผู้มีความรับผิดชอบร่วมกัน เรียนรู้ไปด้วยกันและแก้ปัญหาไปด้วยกัน รูปแบบของการมีส่วนร่วม PAR อาจมีรูปแบบของการมีส่วนร่วม แบบหนึ่งแบบใด คือ 1. มีนักวิจัยจากภายนอกเป็นนักวิจัยหลัก ในระยะแรก ๆ หรือวงรอบแรก ๆ ของกระบวนการ PAR โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเข้ามาเป็นนักวิจัยร่วม จนกระทั่งถึงระยะหนึ่งหรือวงรอบหลัง ๆ จึงค่อยถ่ายโอนความรับผิดชอบของบทบาทผู้นำของนักวิจัยหลักจากภายนอกไปยังสมาชิกในชุมชนเอง โดยอาจจะมีนักวิจัยหลักหรืออาจไม่มีก็ได้ 2. ไม่มีนักวิจัยหลักจากภายนอก แต่อาจมีผู้ให้คำปรึกษาจากภายนอกคนเดียวหรือเป็นคณะผู้ให้คำปรึกษาก็ได้ และมีสมาชิกผู้ร่วมวิจัยจากในชุมชนท้องถิ่นนั้นเองจัดรูปองค์กรคณะผู้วิจัยขึ้นเองตามที่เหมาะสมกับลักษณะปัญหาเชิงพัฒนาที่ต้องการจะแก้ไขของชุมชนท้องถิ่น 3. รูปแบบอื่น ๆ ที่ดัดแปลงหรือประยุกต์ไปจากรูปแบบทั้งสองที่กล่าวแล้วข้างต้น เช่น ไม่เรียกว่านักวิจัยหลักจากภายนอกและไม่เรียกว่าผู้ให้คำปรึกษาแต่อาจเรียกว่า ผู้อำนวยกระบวนการ เป็นต้น ปรัชญาของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการ“วิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม” เป็นกระบวนการที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อหรือปรัชญาเกี่ยวกับตัวมนุษย์บางประการ อันได้แก่ 1. ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนร่วมของประเทศ การทรุดโทรมหรือเสียหายของชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง หมายถึง ความเสียหายส่วนหนึ่งของประเทศ ดังนั้นการที่นักวิจัยจากภายนอกจะกระทำการใด ๆ กับชุมชน เสมือนที่กระทำกับ “หนูตะเภา” หรือ “วัตถุสำหรับการวิจัย” (Research Object ) ตามอำเภอใจ โดยที่สมาชิกในชุมชนไม่มีส่วนร่วมด้วยย่อมไม่เป็นการสมควร เพราะนักวิจัยจะไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลที่ตนกระทำกับชุมชน 2. ชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตนที่อาจไม่เหมือนกับแห่งอื่น ๆ ที่นักวิจัยเคยรู้จักมาและอาจไม่เหมือนกับที่กล่าวไว้ในตำราเชิงทฤษฎีที่นักวิจัยได้เล่าเรียนมา ดังนั้นนักวิจัยภายนอกจะถือว่าความรู้และประสบการณ์ของตนมีมากพอสำหรับจะกระทำกับชุมชนย่อมไม่สมควร 3. สมาชิกแต่ละคนของชุมชนท้องถิ่นนอกจากจะได้รับการปกป้องตามหลัก “สิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นผู้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีคุณงามความดี จึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างผู้มีเกียรติ 4. มนุษย์ทุกคนมีความสามารถโดยธรรมชาติในระดับหนึ่งที่จะร่วมคิดร่วมวางแผนสร้างสรรค์อนาคตที่ดีของตนเองและของกลุ่มของตน 5. มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ไม่อาจเจริญรุดหน้าได้มากนักโดยลำพังตนเองที่แยกจากหมู่คณะ มนุษย์จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างความเจริญของชุมชนท้องถิ่นของตน ควบคู่กับความเจริญเอกัตตบุคคล 6. สิ่งที่เรียกว่า “ความน่าเชื่อถือ” สำหรับการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นนั้น จะใช้เกณฑ์จากภายนอกหรือจากตัวแบบทางความคิดเชิงทฤษฎีในตำราวิจัยเพียงด้านเดียวหาพอไม่ จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ของความเห็นชอบจากสมาชิกในท้องถิ่นด้วยเป็นสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตเขา และเขาเองก็มีความรู้มีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง สำหรับจะใช้ตัดสินว่าอะไรควรอะไรไม่ควร 7. “ความยั่งยืน” ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ก็คือ ความคงอยู่อย่างถาวรของทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต ตามแนวคิดเชิงระบบ การมี PAR เป็นกระบวนการต่อเนื่องและถาวรในชุมชนท้องถิ่นใด จึงเท่ากับมีปัจจัยนำเข้า กระบวนการที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลผลิตคือความเจริญที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นนั้น PAR เป็นการวิจัยในลักษณะที่มุ่งสร้างความสำนึกและความตระหนักของกลุ่มเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหรือองค์กร โดยให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนรับรู้และเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ตื่นตัวถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำและพร้อมที่จะร่วมรับรู้ผลงานวิจัยนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้เป็นการอาศัยศักยภาพ ของชุมชน และการตัดสินใจของชุมชน กระบวนการตัดสินใจของชุมชนบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทั้งกาย ความคิด สินทรัพย์ ทรัพยากรชุมชน กระบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตยอย่างมีเหตุมีผลของกระบวนการกลุ่ม และด้วยความพึงพอใจ ขั้นตอนที่สำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) ขั้นตอนที่สำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม สรุปได้ดังนี้ ศ.ดร.อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ (2548: 33-37) 1. การพิจารณาปัญหา โดยเปิดโอกาสให้ใช้ภูมิปัญญาของกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่มีมุมมองและวิธีการวิเคราะห์ปัญหาต่างกัน โดยอาศัยความเข้าใจในคุณค่า ค่านิยม วัฒนธรรม และบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของชาวบ้าน หรือกลุ่มเป้าหมาย อาจจะโดยวิธีการอภิปรายกลุ่ม การทัศนศึกษา การเยี่ยมชมดูงานต่างพื้นที่ การปรึกษาหารือกับผู้ชำนาญการ การทดสอบ การทดลอง ตลอดจนการศึกษาจากสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น เอกสาร คน สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีและวีดิทัศน์ เป็นต้น 2. การจัดกลุ่มและประเภทของปัญหา เช่น ด้านอาชีพ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา หรืออาจจะแบ่งประเด็นย่อยออกไปอีกก็ได้ แต่ต้องมีความเชื่อมโยงกับประเด็นใหญ่ 3. การเลือกวิธีการและออกแบบการวิจัย โดยเลือกปัญหาและวิธีการวิจัยที่เหมาะสม ผ่านการใช้กระบวนการกลุ่มแบบไม่ชี้นำและให้กลุ่มเป้าหมายหรือชาวบ้านมีส่วนในการออกแบบการวิจัย โดยเฉพาะเครื่องมือวิจัยในรูปแบบ แบบสอบถาม ประเด็นการอภิปรายกลุ่ม ประเด็นการสังเกต หรือสัมภาษณ์ เป็นต้น 4. การจัดเก็บและรวบรวมข้อมูล หลังจากมีการทดสอบและปรับปรุงเครื่องมือวิจัยในสนามแล้ว โดยมีการดำเนินการดังนี้ 1) การศึกษาสภาพปัจจุบันโดยอาศัยความร่วมมือและเรียนรู้กันระหว่างชาวบ้านกับนักวิจัย ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักและเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 2) การศึกษาสถานการณ์ที่คาดหวัง ภายใต้ประเด็นที่กำหนดไว้ โดยข้อมูลแต่ละเรื่องสามารถพิจารณาได้หลายมุมมอง ไม่ด่วนสรุป 5. การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสภาพปัจจุบันและที่คาดหวังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหลากหลาย และการคัดเลือกข้อมูลที่เหมาะสม กลุ่มเป้าหมายต้องใช้ความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และอาจจะต้องหาข้อมูลเพิ่มขึ้นอีก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลกลายเป็นความต้องการ ปัญหา อุปสรรคและข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วสำหรับประกอบการตัดสินใจ กำหนดแนวทางดำเนินงานต่อไป 6. การรายงานและนำเสนอ อาจเป็นรูปเอกสารการประชุมชี้แจง แผนภูมิฝาผนัง หรือแม้แต่การออกรายการวิทยุในชุมชน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการได้มีส่วนรับรู้และวิเคราะห์หรือวิจารณ์ต่อเนื่อง 7. การวางแผนอย่างมีส่วนร่วม หลังจากการนำเสนอผลการวิจัยแล้ว กลุ่มวิจัย PAR จำเป็นต้องมีความเห็นสอดคล้องกัน เพื่อนำไปสู่การวางแผนงานอย่างมีส่วนร่วม อันประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ 1) การจำแนกปัญหา 2) กำหนดจุดประสงค์และเป้าหมาย อาจจะเป็นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ 3) กำหนดทรัพยากร และวางแผนงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ 4) เตรียมแผนปฏิบัติ ทั้งด้านกลุ่มเป้าหมาย เวลา สถานที่ เทคนิค กระบวนการ และขั้นตอนของงานธุรการ
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :-
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย 1. ขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) กับกลุ่มหมอนวด กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง องค์กรชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเก็บข้อมูลโดยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกต การจัดประชุมกลุ่มย่อย สำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และเสนอแผนกลยุทธ์การตลาดที่ได้ต่อกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ 2. แหล่งข้อมูล - แหล่งข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและข้อมูลระดับชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูล แนวคิด ประเด็นที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ เป็นแนวทางในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ตลอดจนนำไปใช้ในการวางแนวทางการวางแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับกลุ่มการนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง จังหวัดนครสวรรค์ - แหล่งข้อมูลปฐมภูมิ เป็นข้อมูลที่ศึกษาได้จากการเก็บข้อมูลโดยตรงจากกลุ่มประชากรที่ศึกษา จำนวน 2 กลุ่ม ระยะที่ 1 ผู้วิจัยศึกษาข้อมูลจากกลุ่มที่ 1 จำนวน 30 ตัวอย่าง คัดเลือกขนาดตัวอย่างโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากผู้ดำเนินงานในกลุ่มนวดเพื่อสุขภาพวัดคลองคาง ใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยการสำรวจพื้นที่ สัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกต และการจัดประชุมกลุ่มย่อย ระยะที่ 2 ผู้วิจัยเก็บข้อมูลจากลุ่มที่ 2 จำนวน 400 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มขนาดตัวอย่าง โดยใช้สูตรไม่ทราบค่าประชากร ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถาม 3. กลุ่มประชากร ประชากรที่ใช้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หมอนวด องค์กรชุมชน กรรมการวัดคลองคาง เจ้าอาวาสวัดคลองคาง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลุ่มที่ 2 ผู้ใช้บริการนวดเพื่อสุขภาพ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :1009 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวธิติยา ทองเกิน บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด