รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000219
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :The Development of Learning Activities for Moderate Class More Knowledge by School-Base Management
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :กิจกรรมการเรียนรู้, ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะครุศาสตร์ > ภาควิชาทดสอบและวิจัยการศึกษา
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :70000
งบประมาณทั้งโครงการ :70,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :19 กุมภาพันธ์ 2559
วันสิ้นสุดโครงการ :18 กุมภาพันธ์ 2560
ประเภทของโครงการ :การวิจัยและพัฒนา
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาการศึกษา
กลุ่มวิชาการ :หลักสูตรและการสอนการวัดและประเมิณผลการศึกษา
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :แนวทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม นโยบายหนึ่งของรัฐบาล คือ การลดเวลาเรียน ภาควิชาการลง แต่ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็ก ๆ ควรรู้ ซึ่งหมายความว่าครูต้องใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนได้สาระที่ต้องรู้ครบถ้วนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากนโยบายการลดเวลาเรียนดังกล่าว จึงนำมาสู่การปฏิบัติโดยกำหนดให้โรงเรียนเรียนภาควิชาการ ถึงเวลาบ่าย 2 โมงครึ่งหรือเวลา 14.30 น. แต่เวลาที่โรงเรียนเลิกยังคงเหมือนเดิมตามกำหนดของแต่ละโรงเรียนซึ่งมักจะเป็นช่วงบ่าย 4 โมง หรือเวลา 16.00 น. ดังนั้นช่วงระยะเวลาระหว่างหลังเลิกเรียนจนกว่านักเรียนจะกลับบ้านซึ่งนักเรียนยังคงอยู่ที่โรงเรียน โรงเรียนจะต้องจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ให้นักเรียนปฏิบัติ และควรเป็นกิจกรรมที่มีความหลากหลายที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ความมีน้ำใจต่อกัน การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญควรมีกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กได้ค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเอง ซึ่งเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความพิเศษ มีความสามารถในแบบฉบับของตนเอง การจัดกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดให้เฉพาะห้องเดียวกัน หรือระดับชั้นเดียวกัน บางกิจกรรมสามารถศึกษาหรือทำร่วมกันหลายระดับชั้นได้ เพื่อให้เด็กๆรู้จักปรับตัว การช่วยเหลือดูแลกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายช่วงวัย โดยเป็นการจำลองสภาพจริงในสังคมให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับเด็กไทยต่อไป การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นกรอบวิสัยทัศน์ด้านการศึกษา เพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของไทยนั้น สอดคล้องกับหลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลก ที่เห็นพ้องกันกับแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 เรื่องของจิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานการประกอบสัมมาอาชีพ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง (กับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน รัฐ และประเทศชาติ) โลกกำลังเปลี่ยนแปลง คนที่มีความรู้และทักษะในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 จะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนั้น จากผลการสังเคราะห์เอกสาร งานวิจัยเกี่ยวกับหลักสูตร และผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตลอดจนผลการประเมินคุณภาพการศึกษาต่างๆ พบว่าผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดทั้งผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) ผลการสอบ PISA ทั้ง ๆ ที่โรงเรียนใช้เวลาจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เป็นเวลา7 หรือ 8 ชั่วโมงต่อวันอัดแน่นเนื้อหาวิชาการมากกว่าให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีภาระงาน หรือการบ้านมาก หรือต้องนำการบ้านไปทำที่บ้านเกิดความเครียด เด็กคิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่ได้ ขาดทักษะชีวิตเป็นต้น จากที่กล่าวข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้น้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการเวลาเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” มาสู่การปฏิบัติในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรมครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น นักเรียนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ให้เริ่มปฏิบัติตามนโยบายลดเวลาเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ส่งผลให้โรงเรียนต้องบริหารจัดการเวลาเรียน และจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สถานศึกษาที่เข้าโครงการนำร่องควรมีการตรวจสอบ หรือทบทวนการจัดการศึกษาของสถานศึกษาตามหลักสูตรสถานศึกษา ในประเด็นโครงสร้างเวลาเรียน รายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การจัดการเรียนรู้ของครู และศึกษาทำความเข้าใจนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”นอกจากนี้สถานศึกษาควรปรับกิจกรรมให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน หรือใช้โรงเรียนเป็นฐาน การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะเน้นในเรื่องลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละโรงเรียนที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมเป็นหลักสำคัญหลักการในเรื่องความหลากหลายนั้น เป็นทฤษฎีการบริหารสมัยใหม่ที่ตรงกับแนวคิดของแฮกแมน และวอลตั้น(Hackman and Walton) แคทและคาน (Katz and Kahn)ฮอยและมิสเกล (Hoy and Miskel) ที่เชื่อว่าการที่โรงเรียนจะบรรลุเป้าหมายนั้นกระทำได้หลายวิธี การบริหารควรมีความยืดหยุ่น โดยให้โรงเรียนได้บริหารตนเองในสถานการณ์ที่เป็นจริง เนื่องจากแต่ละโรงเรียนและชุมชนที่มีความแตกต่างกันจึงไม่เหมาะที่จะกำหนดให้ใช้วิธีการดำเนินงานหรือใช้วิธีแก้ปัญหาที่เหมือนกันต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้บริหารตนเองจึงจะเป็นการบริหารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยฮอยและมิสเกล ได้กล่าวว่าการกระจายอำนาจและการรวมอำนาจนั้น เป็นหลักการบริหารที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การกระจายอำนาจนั้นเป็นกลไกสำคัญสำหรับการปฏิรูปสำหรับระบบการบริหารสมัยใหม่หลักพื้นฐานสำหรับการบริหารโรงเรียนก็คือ การบริหารโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องที่ล่าช้า และมักจะมีปัญหาต่าง ๆ โดยตรงจะทำให้การแก้ปัญหานั้นมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ด้วยวิธีการที่เหมาะสมของตนเองให้ลุล่วงและทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงควรจัดให้มีการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้มีความชัดเจน สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียน จัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และนักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละบุคคล และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง
จุดเด่นของโครงการ :สนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. เพื่อทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 3. เพื่อประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ขอบเขตของโครงการ :ผู้วิจัยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การศึกษาในระยะนี้ มุ่งให้ครูใช้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และหมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ประชากร ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์จาก 3 โรงเรียน ดังนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวน 3 คน และครูผู้สอนจำนวน 70 คนได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรที่ศึกษา ได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านระยะเวลา ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 ระยะเวลา 2 เดือน ระยะที่ 2 การทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ออกแบบในระยะที่ 1 ไปทดลองใช้ในสถานศึกษา ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ จาก 3 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตัวแปรตาม ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม และคุณธรรม จริยธรรม ขอบเขตด้านระยะเวลา ดำเนินการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ระยะเวลา 3 เดือน ระยะที่ 3 การประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หลังจากการนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ไปใช้ จะดำเนินการประเมินความเหมาะสมและความเป็นประโยชน์ ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ จาก 3 โรงเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ได้ทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ขอบเขตด้านตัวแปร ตัวแปรอิสระ ได้แก่ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตัวแปรตาม ได้แก่ ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : 1. ประโยชน์ด้านวิชาการ 1.1 ได้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”สำหรับสถานศึกษา 1.2 สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียน และจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ได้อย่างเหมาะสม 1.3 ครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่นักเรียนได้ปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น 1.4 นักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละบุคคล และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริง 2. การเผยแพร่ผลการวิจัย 2.1 เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ สมศ. หรือ สกว. 2.2จัดทำคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เผยแพร่ให้กับโรงเรียน หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ หน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนระดับประถมศึกษา สามารถนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : ผู้วิจัยได้ศึกษาและนำเสนอวรรณกรรม/สารสนเทศที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1. แนวคิดการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. ทฤษฎีการเรียนรู้ 3. หลักการของการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 4. บทบาทครูในการจัดการเรียนรู้กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 5. แนวทางการจัดกิจกรรม“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 6. แนวทางการวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 7. การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน แนวคิดการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการจัดการเรียนรู้ในปัจจุบันเพราะโรงเรียนหลายแห่งดำเนินการอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนนักเรียน ผู้ปกครอง มีความกังวล สงสัยว่าทำไมต้องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในประเด็นนี้ถ้าเราพิจารณาแล้วจะพบว่า ในปัจจุบันนี้การเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากมีแหล่งเรียนรู้สื่อและเทคโนโลยีเช่น Internet, Computer, Tablet หรือ Smart Phone และอื่น ๆ อีกมากมายที่นักเรียนสามารถใช้ในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะในห้องเรียนตามเวลาที่ครูกำหนด นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกแห่ง ทุกเวลาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนตามความพร้อม ความสามารถของนักเรียน ครูผู้สอนต้องปรับวิธีการจัดการเรียนรู้ และนักเรียนต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง จัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิเช่น การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่ม (Group Process) การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน (Project-Base Learning) เรียนรู้จากกิจกรรมการปฏิบัติจริง จากประสบการณ์ตรง ใช้คำถามเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูล นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้มีการจัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ครูจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นที่ปรึกษา ชี้แนะ ช่วยเหลือนักเรียนให้ประสบผลสำเร็จ และนักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้เป็นทีมหรือจากกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ภายใต้แนวคิด ดังนี้ 1. กิจกรรมเป็นทางเลือก สนองตอบความสนใจความถนัดของผู้เรียนอย่างหลากหลาย 2. เรียนรู้หลักการ สร้างความรู้ผ่านกระบวนการและกิจกรรม (Process and Content) 3. ลงมือปฏิบัติและสร้างความรู้ในบรรยากาศที่อบอุ่น อิสระ และปลอดภัย 4. ปรับบทบาทครูจากการเป็นผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาชี้แนะ (Coach & Mentor) 5. ครูผู้สอนควรใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และเป็นการประเมินตามสภาพจริง วิเคราะห์คุณภาพและพัฒนาการของนักเรียน มากกว่าการประเมินนักเรียนจากการสอบเท่านั้น ทฤษฎีการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สนับสนุนแนวคิด การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivist) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียน เชื่อว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างกระตือรือร้น กรอบแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์(Constructivist) 1. นักเรียนเป็นผู้สร้างความรู้ด้วยตนเอง และนักเรียนแต่ละคนสร้างความรู้ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันรวมทั้งอาจแตกต่างกับแนวทางของผู้สอน 2. ประสบการณ์เดิมของนักเรียนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความรู้ใหม่และนักเรียนแต่ละคน มีความรู้และประสบการณ์เดิมที่แตกต่างกัน 3. การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การมีประสบการณ์ตรง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันของผู้เรียนมีส่วนช่วยในการสร้างความรู้ใหม่ 4. ครูมีบทบาทในการจัดบริบทการเรียนรู้ตั้งคำถามที่ท้าทายความสามารถ กระตุ้นสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการสร้างความรู้ และให้ความช่วยเหลือนักเรียนในทุก ๆ ด้าน สมมติฐานของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์(Constructivist) ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ มีสมมติฐานเกี่ยวกับการสร้างความรู้ของนักเรียน ดังนี้ 1. มนุษย์สร้างความรู้ผ่านกิจกรรมการไตร่ตรอง การสื่อสาร และการอภิปราย ซึ่งทำให้พวกเขาสร้างประสบการณ์ในการแก้ปัญหา โดยมีแผนภาพโมเดลการเพิ่มพลังการเรียนรู้ของผู้เรียน ในการอธิบายความอยากรู้อยากเห็นการมีปฏิสัมพันธ์ ความขัดแย้ง การไตร่ตรอง การจัดโครงสร้างใหม่ การสร้างพลังกับเพื่อนทางปัญญาการเรียนรู้ดังนี้ 1.1 ความอยากรู้อยากเห็นและความขัดแย้งเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียน 1.2 การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญา 1.3 ความขัดแย้งทางปัญญานำมาซึ่งการไตร่ตรอง 1.4 การไตร่ตรองกระตุ้นให้เกิดการจัดโครงสร้างใหม่ทางปัญญา 1.5 จากข้อที่กล่าวข้างต้นเกิดเป็นวงจร โดยประสบการณ์ของนักเรียนมีผลต่อการเกิดของวงจรและวงจรนี้เองที่ทำให้นักเรียนสามารถสร้างพลังการเรียนรู้ให้กับตนเอง 2. การสร้างความรู้ของนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกันและต่างจากที่ผู้สอนคาดหวังผู้สอนต้องยอมรับและจัดการที่จะสนับสนุนสิ่งที่ผู้เรียนคิด 3. องค์ประกอบสำคัญในการจัดการเรียนรู้ มีดังนี้ 3.1 การรวบรวมสิ่งที่นักเรียนสร้างขึ้นให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง 3.2 การสร้างแรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความรู้ 3.3 การวิเคราะห์ความคิดของนักเรียนในกระบวนการเรียนการสอน ดังนั้น การจัดการเรียนรู้“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ครูผู้สอนต้องใช้เวลาสอนเนื้อหาสาระให้น้อยลง แต่จัดเวลาส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ครูผู้สอนต้องกระตุ้นให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งบทบาทการสอนของครูผู้สอนแม้จะน้อยลง แต่บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของครูผู้สอน คือ ต้องมีการวางแผนและออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน เตรียมสื่อ แหล่งเรียนรู้ และเตรียมคำถามที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลักการของการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้ 1. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต ทักษะการแก้ปัญหาการทำงานเป็นทีม สร้างเสริมคุณลักษณะ ค่านิยมที่ดีงามและความมีน้ำใจต่อกัน 2. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ครอบคลุมหลักองค์ 4 แห่งการศึกษา ได้แก่ 2.1 ด้านพุทธิศึกษา คือ ความรอบรู้วิชาการที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตการศึกษา และการเรียนรู้ 2.2 ด้านจริยศึกษา คือ การมีศีลธรรมจรรยาที่ดี มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีสำนึกที่ดีต่อส่วนรวม 2.3 ด้านหัตถศึกษา คือ ความรู้และทักษะในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ มีทัศนคติที่ดีต่องาน และเห็นคุณค่าของการทำงาน 2.4 ด้านพลศึกษา คือการมีสุขภาพแข็งแรง การกินอาหารที่ถูกต้อง และการออกกำลังกายให้เหมาะสม รวมทั้งความสะอาดและสุขาภิบาลด้วย 3. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนองตอบความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนทุกคน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล 4. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงมีประสบการณ์ตรง สร้างความรู้ด้วยตนเอง และเรียนรู้อย่างมีความสุข 5. จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีความหมายและเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียน ใช้ชุมชนภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสารสนเทศรอบตัวเป็นแหล่งเรียนรู้ 6. จัดกิจกรรมการเรียนรู้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้วางแผน คิดวิเคราะห์ อภิปราย สรุปความรู้นำเสนอ จุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมุ่งมั่นเพื่อแสวงหาความรู้ การแก้ปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรม 7. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ 8. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม เป็นการเรียนรู้ในระหว่างการทำงานที่ทุกคนในทีมเน้นความเป็นระบบ มีวิจารณญาณร่วมกันตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร จะทำให้ดีขึ้นอย่างไรแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูล มีความสามัคคี มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันมีความเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี 9. จัดกิจกรรมเรียนรู้ควบคู่กับการประเมินผลการเรียนรู้ที่เน้นการประเมินสภาพจริง (Authentic Assessment) โดยใช้เทคนิควิธีการประเมินสภาพจริงที่หลากหลาย ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment) บทบาทครูในการจัดการเรียนรู้กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ครูผู้สอน ต้องลดบทบาทจากเดิมที่คอยสอนเนื้อหา สาระ ใช้เวลาในชั้นเรียนมาก สั่งการให้นักเรียนได้ทำตามที่ครูกำหนด มาเป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวก ลดเวลาเรียนเนื้อหาในชั้นเรียนให้น้อยลง และส่งเสริม กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง กลุ่มเพื่อนมากขึ้น เพิ่มเวลารู้จากสื่อเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ครูจัดให้ทั้งในและนอกห้องเรียน ตามความถนัดความสนใจและความต้องการของนักเรียน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่ครูผู้สอนต้องคำนึงถึงในการจัดการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ดังนี้ 1. ครูผู้สอนต้องเข้าใจแนวคิดที่ว่า ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเชื่อมโยงความรู้เดิมที่มีอยู่ภายในเข้ากับการได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นครูจึงควรนำแนวคิดนี้ไปพัฒนาวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ที่คงทนและเกิดทักษะที่ต้องการ 2. ครูผู้สอนต้องตระหนักว่าในการจัดการศึกษาแก่นักเรียนนั้น ควรส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนรู้ และมีกำลังในการเรียนรู้ ไม่ใช่เน้นแต่เพียงเนื้อหา ความรู้ที่จะสอนเท่านั้น 3. ครูมีบทบาทเป็นผู้แนะนำ สร้างบรรยากาศและจัดสถานการณ์ที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มากกว่าการเรียนจากคำบอกของผู้สอน 4. ครูต้องจัดกิจกรรมให้เชื่อมโยงระหว่างผู้เรียนด้วยกัน ผู้เรียนกับครู และครูภายในสถานศึกษาเดียวกันหรือต่างสถานศึกษา ระหว่างสถานศึกษา และสถานศึกษากับชุมชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติอันจะก่อให้เกิดประสบการณ์ตรงกับนักเรียน 5. ครูมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะการเรียนรู้แบบร่วมมือระหว่างนักเรียนกับครูและนักเรียนกับนักเรียนด้วยกัน เพื่อฝึกทักษะการท างานเป็นทีม การเรียนรู้ด้วยตนเอง และทักษะสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 6. ครูออกแบบ สร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนมากกว่าการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้หน้าห้องเพียงอย่างเดียว 7. ครูผู้สอนควรสอนให้นักเรียนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับมโนทัศน์ และแนวคิดที่สำคัญ มากกว่าการท่องจำได้ 8. ครูผู้สอนควรกระตุ้นให้นักเรียนเห็นคุณค่า มีทัศนคติที่ดี และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มากกว่าที่จะนำความรู้ไปใช้ในการสอบเท่านั้น 9. ครูผู้สอนควรสอนให้นักเรียนเห็นภาพรวมของเนื้อหาและเข้าใจการเชื่อมโยงกันของเนื้อหามากกว่าที่จะสอนเนื้อหาแยกกันเป็นเรื่องๆ 10. เน้นที่กระบวนการของการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการเน้นไปที่ผลการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว 11. ส่งเสริมให้นักเรียนคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยการใช้คำถามกระตุ้น มากกว่าการให้นักเรียนปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น 12.ครูเอาใจใส่ผู้เรียนเป็นรายบุคคล และแสดงความเมตตาต่อผู้เรียนอย่างทั่วถึง 13.ครูจัดกิจกรรมและสถานการณ์เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้แสดงออกและคิดอย่างสร้างสรรค์ 14.ครูส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกคิด ฝึกทำและฝึกปรับปรุงตนเอง 15.ครูส่งเสริมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกลุ่ม พร้อมทั้งสังเกตส่วนดีและปรับปรุงส่วนด้อยของผู้เรียน 16.ครูใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายและเชื่อมประสบการณ์กับชีวิตจริงเพื่อฝึกการคิดการแก้ปัญหา และการค้นพบความรู้ 17. ส่งเสริมให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นและเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มากกว่าการที่นักเรียนเรียนรู้จากการทำแบบฝึกหัดและท่องจำ 18. คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน ทั้งในด้านความเหมาะสมกับนักเรียนมากกว่าการใช้วิธีสอนแบบเดียวกันกับนักเรียนทั้งหมดทุกคน 19. ใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย และเป็นการประเมินตามสภาพจริง ในการวิเคราะห์คุณภาพและพัฒนาการของนักเรียนมากกว่าการประเมินนักเรียนจากการสอบเท่านั้น แนวทางการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่โรงเรียนสามารถจัดได้อย่างหลากหลายเพื่อช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ความมีน้ำใจต่อกัน การทำงานเป็นทีม และกระตุ้นให้นักเรียนได้ค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเองเพราะมีความเชื่อว่านักเรียนทุกคนมีความพิเศษ มีความสามารถในแบบฉบับของตนเอง กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ปฏิบัติตามความถนัด ความสนใจ ความต้องการทั้งปฏิบัติด้วยตนเอง หรือปฏิบัติเป็นกลุ่ม เป็นทีม โดยการปฏิบัติกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดให้เฉพาะนักเรียนห้องเดียวกัน หรือระดับชั้นเดียวกัน บางกิจกรรมสามารถศึกษาหรือทำร่วมกันหลายระดับชั้นได้ เพื่อให้นักเรียนรู้จักการปรับตัว การช่วยเหลือดูแลกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายช่วงวัย โดยเป็นการจำลองสภาพจริงในสังคม ให้นักเรียนได้เรียนรู้จะยิ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับเด็กไทย การจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้” ได้กำหนดหมวดกิจกรรมและแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้ หมวดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แบ่งออกเป็น 4 หมวด 16 กลุ่มกิจกรรม มีรายละเอียด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร) 1. กิจกรรมแนะแนว 2. กิจกรรมนักเรียน 3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณะประโยชน์ หมวดที่ 2 สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ 4. พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร 5. พัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง (Growth Mindset) 6. พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา 7. พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี 8. พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ หมวดที่ 3 สร้างเสริมคุณลักษณะและค่ำนิยม 9. ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคมมีจิตสาธารณะและการให้บริการด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อส่วนรวม 10. ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 11. ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) 12. ปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและหวงแหนสมบัติของชาติ หมวดที่ 4 สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต 13. ตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล 14. ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ ทรัพย์สินทางปัญญา อยู่อย่างพอเพียงและมีวินัยทางการเงิน 15. พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต 16. สร้างเสริมสมรรถนะทางกาย แนวทางการวัดและประเมินผลการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้กิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ใช้วิธีการวัดผลและประเมินผลที่หลากหลายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ โดยเน้นการประเมินสภาพจริง (Authentic Assessment) ใช้เทคนิควิธีการประเมินสภาพจริงที่หลากหลาย ที่ให้ความสำคัญกับการประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment) 1. หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่จัดเป็นกิจกรรม“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” บังคับตามหลักสูตรประกอบด้วย กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียนและกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ ให้ตัดสินผลการประเมินเป็น “ผ่าน” และ “ไม่ผ่าน” ตามเกณฑ์การประเมินที่หลักสูตรกำหนด และเป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตรสถานศึกษา 2. หมวดที่ 2 – 4 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และกิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพและทักษะชีวิต ให้ประเมินผลความก้าวหน้าพัฒนาการของนักเรียนเป็นรายบุคคล และประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ผู้เกี่ยวข้อง โดยอาจจะบันทึกผลการประเมินเป็นแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) ของนักเรียนรายบุคคล การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Base Management : SBM) แนวคิดพื้นฐาน แนวคิดเรื่องการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้นได้รับอิทธิพลมาจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จจาก หลักการ วิธีการ และกลยุทธ์ในการทำให้องค์การมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ผลการปฏิบัติงานมีคุณภาพ สร้างกำไรและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องยิ่งขึ้น ความสำเร็จดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นนั้น ต้องปรับกระบวนการและวิธีการที่เคยเน้นแต่เรื่องการเรียนการสอน ปรับไปสู่การบริหารโดยการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติและให้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาอย่างแท้จริง ความหมาย การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากส่วนกลางไปยังสถานศึกษาโดยตรง โดยให้สถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ มีอิสระและความคล่องตัวในการตัดสินใจการบริหารจัดการทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากรและการบริหารทั่วไป โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชน ตัวแทนครู ผู้ทรงคุณวุฒิ มีส่วนร่วมกันบริหารสถานศึกษาให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียนและผู้ปกครองให้มากที่สุด ทั้งนี้การบริหารจัดการที่รับผิดชอบร่วมกันตามภาระงานของสถานศึกษานั้น จะทำให้เกิดความเป็นเจ้าของและทำให้ผลการปฏิบัติงานของสถานศึกษาเป็นที่ยอมรับได้ หลักการ หลักการสำคัญในการบริหารแบบ (School-Based Management โดยทั่วไป ได้แก่ 1. หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาจากกระทรวงและส่วนกลางไปยังสถานศึกษาให้มากที่สุด โดยมีความเชื่อว่าโรงเรียนเป็นหน่วยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาเด็ก 2. หลักการมีส่วนร่วม (Participation or Collaboration or Involvement) เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการบริหาร ตัดสินใจ และร่วมจัดการศึกษา ทั้งครู ผู้ปกครองตัวแทนศิษย์เก่า และตัวแทนนักเรียน การที่บุคคลมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษามากขึ้น 3. หลักการคืนอำนาจจัดการศึกษาให้ประชาชน (Return Power to People) ในอดีตการจัดการศึกษาจะทำหลากหลายทั้งวัดและองค์กรในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมามีการร่วมการจัดการศึกษาไปให้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐานทางการศึกษา แต่เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ความเจริญต่าง ๆ ก้าวไปอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาโดยส่วนกลางเริ่มมีข้อจำกัด เกิดความล่าช้าและไม่สนองความต้องการของผู้เรียนและชุมชนอย่างแท้จริง จึงต้องมีการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นและประชาชนได้จัดการศึกษาเองอีกครั้ง 4. หลักการบริหารตนเอง (Self-managing) ในระบบการศึกษาทั่วไป มักจะกำหนดให้โรงเรียนเป็นหน่วยปฏิบัติตามนโยบายของส่วนกลาง โรงเรียนไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง สำหรับการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานนั้น ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย และนโยบายของส่วนรวม แต่มีความเชื่อว่าวิธีการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั้นทำได้หลายวิธี การที่ส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำหนดนโยบายและเป้าหมายแล้วปล่อยให้โรงเรียนมีระบบการบริหารด้วยตนเอง โดยให้โรงเรียนมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งอาจดำเนินการได้หลากหลายด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน แล้วแต่ความพร้อมและสถานการณ์ของโรงเรียน ผลที่ได้น่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ที่ทุกอย่างกำหนดมาจากส่วนกลาง ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม 5. หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมมาตรฐาน มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพการบริหารและการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนดและมาตรฐานเป็นไปตามกำหนด และเป็นไปตามนโยบายของชาติ จากหลักการดังกล่าวทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน จะเป็นการบริหารงานที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่ารูปแบบการจัดการศึกษาที่ผ่านมา รูปแบบการบริหาร จากการศึกษาพบว่า มีรูปแบบที่สำคัญอย่างน้อย 4 รูปแบบ ได้แก่(อุทัย บุญประเสริฐ 2544) 1. รูปแบบที่มีผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก (Administration Control SBM) ผู้บริหารเป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนกรรมการอื่น ๆ ได้จากการเลือกตั้งหรือคัดเลือกจากกลุ่มผู้ปกครอง ครู และชุมชน คณะกรรมการมีบทบาทให้คำปรึกษา แต่อำนาจการตัดสินใจยังคงอยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียน 2. รูปแบบที่มีครูเป็นหลัก (Professional Control SBM) เกิดจากแนวคิดที่ว่า ครูเป็นผู้ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด ย่อมรู้ปัญหาได้ดีกว่าและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ตัวแทนคณะครูจะมีสัดส่วนมากที่สุดในคณะกรรมการโรงเรียน ผู้บริหารยังเป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียนบทบาทของคณะกรรมการโรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร 3. รูปแบบที่ชุมชนมีบทบาทหลัก (Community Control SBM) แนวคิดสำคัญ คือ การจัดการศึกษาควรตอบสนองความต้องการและค่านิยมของผู้ปกครองและชุมชนมากที่สุด ตัวแทนของผู้ปกครอง และชุมชนจึงมีสัดส่วนในคณะกรรมการโรงเรียนมากที่สุด ตัวแทนผู้ปกครองและชุมชนเป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นกรรมการและเลขานุการ บทบาท หน้าที่ของคณะกรรมการ โรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร 4. รูปแบบที่ครูและชุมชนมีบทบาทหลัก (Professional Community Control SBM) แนวคิดเรื่องนี้เชื่อว่า ทั้งครูและผู้ปกครองต่างมีความสำคัญในการจัดการศึกษาให้แก่เด็ก เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มต่างอยู่ใกล้ชิดนักเรียนมากที่สุด รับรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีที่สุดสัดส่วนของครูและผู้ปกครอง (ชุมชน) ในคณะกรรมการโรงเรียนจะมีเท่า ๆ กันแต่มากกว่าตัวแทนกลุ่มอื่น ๆ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นประธาน บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการโรงเรียนเป็นคณะกรรมการบริหาร
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) เป็นนโยบายเตรียมนักเรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของไทยสอดคล้องกับแนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ 21 เรื่องของจิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานการประกอบสัมมาอาชีพ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี ทักษะการทำงาน ทักษะชีวิตที่ใช้ได้ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นอกจากนี้การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ควรมีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการเวลาเรียน จัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ครูผู้สอนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนได้ปฏิบัติ เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น และนักเรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามความสนใจ ความถนัดของแต่ละบุคคล และมีความสุขในการเรียนรู้อย่างแท้จริงจากเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :ผู้วิจัยดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 3 ระยะ มีรายละเอียดการดำเนินงานดังนี้ ระยะที่ 1 การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ โรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนทุกคนในโรงเรียน จำนวน 3 วัน โดยดำเนินการครั้งละ 1 โรงเรียนตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. คัดเลือกโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมดำเนินการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จำนวน 3 โรงเรียน 2. กำหนดวันเพื่อจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ แต่ละโรงเรียนดำเนินการ 3 วัน 3. กำหนดตัวชี้วัดภาพความสำเร็จของการบริหารจัดการเวลาเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน อย่างชัดเจน มีความเข้าใจตรงกัน 4. จัดทำข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียน 5. วิเคราะห์โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา และการนำหลักสูตรไปใช้ หลักสูตรระดับชั้นเรียน ความพร้อมของครูผู้สอน สื่อ แหล่งเรียนรู้ อาคารสถานที่ และห้องปฏิบัติการ 6. ปรับและออกแบบตารางเรียนที่เอื้อต่อการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 7. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัย สนองความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียนซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม หมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต แต่ละกิจกรรมประกอบด้วยประเด็นที่สำคัญดังนี้ ชื่อกิจกรรม วัตถุประสงค์ เวลาที่ใช้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ การวัดและการประเมินผล 8. นำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่จัดทำ นำเสนอผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสม และความสอดคล้องของกิจกรรม 9. ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ 10. จัดทำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ฉบับสมบูรณ์เพื่อนำไปทดลองใช้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินความสอดคล้องของกิจกรรม ระยะที่ 2 การทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ผู้วิจัยนำกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่สร้างในระยะที่ 1 ไปทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง จำนวน 3 โรง โดย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน เป็นผู้นำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นไปใช้กับนักเรียน ระยะเวลา 2 เดือน ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ประชุมชี้แจงผู้ปกครองเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ประสานและแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน แหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษาและภูมิปัญญาต่างๆ มาร่วมในการบริหารจัดการเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 3. ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ตามวัน เวลา ที่กำหนด 4. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (ศึกษานิเทศก์) และผู้วิจัยนิเทศ กำกับ ติดตาม อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 5. จัดเวทีเสวนาทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) 6. นำผลการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน และผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการเวลาเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน 7. ประเมินและพัฒนานักเรียนเต็มตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน 8. รายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1. กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” 2. แบบประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ 3. แบบประเมินการทำงานเป็นทีม 4. แบบประเมินคุณธรรม จริยธรรม ระยะที่ 3 การประเมินกิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” หลังเสร็จสิ้นการทดลองใช้กิจกรรมการเรียนรู้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ผู้วิจัยทำการสนทนากลุ่ม ผู้เข้าร่วมสนทนาได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน ตามขั้นตอนต่อไปนี้ 1. ผู้วิจัยนัดหมายสถานศึกษาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล 2. ผู้วิจัยชี้แจงวัตถุประสงค์ เริ่มการสนทนาในประเด็น การดำเนินกิจกรรม ปัญหา/อุปสรรค ข้อเสนอแนะ/แนวทางการแก้ไข 3. วิเคราะห์และสรุปผลการประเมิน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประเด็นการสนทนากลุ่ม
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :กิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ให้โรงเรียนนำร่องดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 กิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัย สนองความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียนซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด ดังนี้ หมวดที่ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หมวดที่ 2 กิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ หมวดที่ 3 กิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม หมวดที่ 4 กิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต
จำนวนเข้าชมโครงการ :3505 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสิริพร ปาณาวงษ์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด