รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000190
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การจัดการพลังงานชุมชนอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง กรณีศึกษา บ้านหนองจิกรี ตำบลสร้อยละคร อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :A Sustainable energy management, the concept of sufficiency economy case study Ban Hnaghiktree sub district ladyao district, NakhonSawan
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :-
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :392000
งบประมาณทั้งโครงการ :392,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :13 มกราคม 2557
วันสิ้นสุดโครงการ :12 มกราคม 2558
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
สาขาวิชาการ :ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :วิกฤตการณ์พลังงานและราคาน้ำมันที่มีความผันผวนสูง ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ทั้งในทางตรงและทางอ้อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ทำให้ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันโลก นักวิชาการด้านเศรษฐกิจได้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะถีบตัวสูงขึ้นจนผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตประมาณปี พ.ศ. 2583 สังคมโลกคงต้องเผชิญหน้ากับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันอย่างแน่นอน (ปัทมา ศิริธัญญา, 2549: 2) โดยเฉพาะประเทศไทย มีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เป็นมูลค่าที่สูงในแต่ละปี โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีการนำเข้าพลังงานเชิงพาณิชย์สุทธิคิดเป็นมูลค่าสูงถึง890,700 ล้านบาท (กระทรวงพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน, 2551ก: 6) ปัญหาดังกล่าวทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานเพิ่มมากขึ้นและมีการคิดและพัฒนาพลังงานทดแทนจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ โดยการนำแหล่งพลังงาน จากธรรมชาติ เช่น ความร้อนจากดวงอาทิตย์ แรงขับดันของน้ำ คลื่น แรงลม รวมทั้งความร้อนใต้พิภพมาพัฒนาประยุกต์ให้เป็นพลังงานที่สามารถนำมาบริโภคได้ เพื่อแก้ปัญหาการหมดไปของพลังงานประเภทสิ้นเปลือง (Non Renewable Energy) และผลักดันพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพลังงานทางเลือก (Alternative Energy) ให้เป็นพลังงานหลักในอนาคตต่อไป นอกจากการนำพลังงานทางเลือกที่ว่ามาช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว เครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาคือต้องมีการจัดการพลังงานและอนุรักษ์พลังงานที่ดี เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดความยั่งยืน จากการศึกษากิจกรรมด้านการพลังงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) รัฐได้วางยุทธศาสตร์ที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงาน โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้ 1. ส่งเสริมการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่ผลิตได้ในชุมชนและที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนใช้ในระดับครัวเรือนและชุมชน เช่น ไบโอดีเซล พลังงานความร้อนจากการเผาไม้เศษวัสดุทางการเกษตรก๊าซชีวภาพที่ได้จากการหมักมูลสัตว์และเศษขยะอินทรีย์ เป็นต้น 2. สนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนภายในชุมชน โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน ทั้งจากวัตถุดิบเหลือใช้จากครัวเรือนและการเกษตร อาทิ มูลสัตว์ ขยะฟางแกลบ เศษไม้ ตลอดจนถ่ายทอดวิธีการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงให้แก่ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระดับชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านพลังงาน รวมถึงลดมลภาวะแก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทนที่ไม่ใช่อาหารและมีความเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เช่นสบู่ดำ เป็นต้น ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานสิ้นเปลืองจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะน้ำมันดิบเกือบ 90% ของน้ำมันดิบที่ใช้ในประเทศต้องนำเข้า ซึ่งทำให้ขาดความมั่นคงด้านพลังงาน และพลังงานสิ้นเปลืองยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น การปล่อยมลพิษทางอากาศ การเกิดภาวะโลกร้อน การที่สามารถพึ่งตนเองได้โดยการนำพลังงานที่มีอยู่ในประเทศมาใช้จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้และด้วยสภาพ ภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือกที่มีภายในประเทศ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานความร้อนใต้พิภพวัสดุเหลือใช้ (Waste to Energy) เช่น ยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ประเทศสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้การจัดหาแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในประเทศมาใช้นั้นเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยต้องคำนึงถึงการใช้ที่ไม่สิ้นเปลืองใช้อย่างมีเหตุมีผล พึ่งตนเองเป็นหลัก และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบๆ เช่นกัน หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสเสนอแนะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยนับเป็นเวลานานกว่า 25 ปี ในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ เน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งคำว่าความพอเพียงจะประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อมๆ กัน คือ (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2548: 15-16) 1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ 2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ 3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล และมี 2 เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ 1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ 2. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้นำมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ดังจะเห็นได้จากเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นการนำกรอบแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างการนำมาใช้ที่เห็นได้ชัดเจนและมีประสิทธิผลที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยมีการจัดแบ่งที่ดินเป็นสัดส่วน 30:30:30:10 ในการปลูกข้าว ปลูกพืชไร่ ขุดสระน้ำและที่อยู่อาศัย ตามลำดับ ซึ่งได้มีการนำไปใช้กับชุมชนต่างๆทั่วประเทศเป็นจำนวนมากและยังมีการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม เช่น สหกรณ์โคนมหนองโพธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงแรม และในบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศหลายบริษัท เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการพลังงานของประเทศเป็นสิ่งที่ควรจะกระทำอย่างยิ่ง ทุกวันนี้เราใช้พลังงานอย่างขาดความระมัดระวัง โดยที่ไม่ได้มองถึงอนาคตที่จะมีการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งไม่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เราใช้พลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการโดยที่ไม่ได้คิดจะลดการใช้พลังงานโดยการประหยัดพลังงานมากกว่าที่จะหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และที่สำคัญเราต้องพึ่งพาต่างประเทศด้านการจัดหาพลังงาน เช่น น้ำมันดิบ น้ำมันเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการไม่พึ่งตนเองและยังทำให้ประเทศขาดความมั่นคงด้านพลังงาน ฉะนั้นประเทศควรหาทางสร้างความพอประมาณและสร้างภูมิคุ้มกันด้านพลังงาน คงมีคำถามที่ว่าเราจะพึ่งตนเองด้านพลังงานได้มากขนาดไหนและจะทำได้ในลักษณะใดบ้าง ผู้ศึกษาจะมุ่งเน้นหาข้อเสนอแนะการจัดการพลังงานในระดับชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้เพราะเป็นการจัดการพลังงานขนาดเล็กสามารถที่จะบริหารจัดการและพึ่งตนเองได้ง่าย การผลิตพลังงานใช้ได้เองภายในชุมชนสามารถช่วยประเทศลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ซึ่งเป็นการลดการกู้ยืมเงินจากต่างชาติได้
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชน บริบทชุมชน และการใช้พลังงานของชุมชน 2. เพื่อสร้างเทคโนโลยีพลังงานชุมชนที่เหมาะสมของชุมชน 3. เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนที่เหมาะสมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
ขอบเขตของโครงการ :เพื่อให้การวิจัยครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้วิจัยจึงได้กำหนดของเขตของการวิจัยไว้ดังนี้ คือ 7.1 ขอบเขตประชากร/พื้นที่การวิจัย 7.1.1 ขอบเขตด้านประชากร ได้แก่ กลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่บ้านหนองจิกรี ตำบลสร้อยละคร อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ คือ ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ฯลฯ 7.1.2 ขอบเขตด้านพื้นที่ ได้แก่ บ้านหนองจิกรี ตำบลสร้อยละคร อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ 7.2 ขอบเขตด้านเนื้อหาการศึกษาวิจัย ได้แก่ บริบทพื้นฐานของชุมชน ด้านการใช้พลังงาน การสร้างเทคโนโลยีพลังงานชุมชนที่เหมาะสมของชุมชน และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานชุมชนที่เหมาะสมกับชุมชนอย่างยั่งยืน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :-
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :แนวคิดการจัดการพลังงาน การจัดการพลังงาน หมายถึง การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ผู้รับผิดชอบ ในการนำไปปฏิบัติการวางแผนจะต้องรอบคอบ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีการติดตามประเมินผลเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การจัดการพลังงานนั้นมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้โดยต้องครอบคลุมและให้ความสำคัญในทุกๆมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรม โดยมีการบริหารจัดการที่ดี มีพหุภาคีร่วมทุกขั้นตอนเป็นตัวขับเคลื่อน ระบบการจัดการพลังงาน สิ่งสำคัญประการแรกที่ต้องมีคือนโยบายพลังงาน ซึ่งกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบ ดูแลพลังงาน เพื่อที่จะได้นำนโยบายที่กำหนดขึ้นนี้ไปประกาศให้ทราบและถือปฏิบัติทั้งองค์กร ประการต่อมาคือต้องมีการกำหนดโครงสร้างหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อดำเนินการวางแผนอนุรักษ์พลังงาน โดยผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดการพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งหมดของโครงการจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการอนุรักษ์พลังงานเป็นอย่างดี และต้องรวบรวมมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ ในการอนุรักษ์พลังงานของอุปกรณ์แต่ละประเภท เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนด และดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวางแผนอนุรักษ์พลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็นำไปปฏิบัติโดยมีการตรวจสอบและปฏิบัติการแก้ไข ซึ่งต้องมีการตรวจวัดการใช้พลังงานที่ถูกต้อง และนำบทสรุปของการดำเนินการทั้งหมดมาทบทวน ปรับปรุง เพื่อนำไปวางแผนและกำหนดนโยบายพลังงานใหม่ จึงจะก่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานที่ยั่งยืนในที่สุด (รัฐฐาน์ ฤทธิเกริกไกร, 2546) ภาพที่ 1 ภาพรวมและองค์ประกอบในการจัดระบบการจัดการพลังงาน แหล่งที่มา: รัฐฐาน์ ฤทธิเกริกไกร, 2546 1. การจัดการพลังงานชุมชน วิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้จะมีปริมาณลดน้อยลง ราคาสูงขึ้นทุกวัน ติดตามมาด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ทั่วโลกต้องแสวงหาพลังงานทดแทน เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต นอกจากนี้ เรื่องพลังงานยังเป็นเรื่องที่กระทบโดยตรงกับทุกคนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเมืองการวางแผนพลังงานของท้องถิ่น หรือของชุมชน จึงเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับประเทศไทย กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการวางแผนจัดการพลังงานระดับท้องถิ่น (Local Energy Plan: LEP) ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยมีเป้ าหมายสำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ และพัฒนาพลังงานอย่างมีดุลยภาพควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกประสานงานหลัก ทศพนธ์ นรทัศน์ (2551) ได้กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานดังกล่าว พบว่า "แผนจัดการพลังงานระดับท้องถิ่น" หรือ "แผนพลังงานชุมชน" ได้มีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และพบว่า "ความไม่รู้" ทำให้ชาวบ้านต้องประสบกับความยากจนโดยไม่รู้ตัว บางครัวเรือนมี "ค่าใช้จ่ายพลังงาน" สูงถึงร้อยละ 60 หากปล่อยทิ้งไว้ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โครงการดังกล่าวถือเป็นการสนองแนวพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่มุ่งเน้นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมเป็นเครื่องมือ การวางแผนพลังงานระดับชุมชน จะมุ่งเน้นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมในการจัดการพลังงาน สิ่งแวดล้อม และแผนงบประมาณในท้องถิ่นของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องพลังงาน ศึกษาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลในชุมชน แล้วนำมาประเมินผลกระทบของระบบพลังงานในอนาคตได้ จากนั้นจึงร่วมกันวางแผนปฏิบัติการในการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในชุมชนโดยคนในชุมชนนั่นเอง (บัณฑิต เอื้ออาภรณ์, 2548: 10) การวางแผนพลังงานชุมชนอาจกล่าวได้ว่า เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาคมในการจัดการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเน้นตามศักยภาพในพื้นที่ บนพื้นฐานแห่งความพอเพียงและความเหมาะสมของท้องถิ่นนั้นๆ(วิจิตรา ชูสกุล, 2551) จะเห็นได้ว่าการวางแผนพลังงานชุมชนนั้นเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการพลังงานโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตามศักยภาพของชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จากรายงานติดตามประเมินผลโครงการจัดทำแผนพลังงานในระดับชุมชน (กระทรวงพลังงานสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2551: 22-25) สามารถสรุปแนวทางในการจัดการพลังงานระดับชุมชนจากปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะของโครงการที่ดำเนินการแล้วดังนี้ 1. เน้นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เป็นกระบวนการเชิงระบบคือเริ่มตั้งแต่ขั้นของการคิดริเริ่มการจัดทำโครงการ การวางแผนและพัฒนาโครงการ การลงมือทำ การติดตามผลการรับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เพื่อความต่อเนื่องและการเป็นเจ้าของการดำเนินงานหลังจากที่สิ้นสุดโครงการทั้งในเรื่องของ แนวคิด กระบวนการทำงาน ทรัพยากรบุคคลงบประมาณและการสนับสนุน 2. การบูรณาการ จัดกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน การให้ความรู้และจัดการพลังงานต้องให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ชีวิตจริง สามารถที่จะเชื่อมโยงกับกิจกรรมชุมชน เพื่อความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิต 3. การเรียนรู้พัฒนาภูมิปัญญาจากการปฏิบัติ หลอมรวมเป็นกระบวนการเรียนรู้ก่อเกิด การคิดใหม่ ทำใหม่ ในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและการจัดการพลังงาน 4. การจัดหาเทคโนโลยีต้องให้สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง สามารถสนองตอบความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและต้องคำนึงถึงการดูแลรักษา ชุมชนต้องมีศักยภาพมากพอในการดูแลด้วย 5. เสริมสร้างความตระหนักรู้ และพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชน ในการจัดการความรู้และประสานความร่วมมือกับภาคีหน่วยงานองค์กรท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาในชุมชนร่วมกันอย่างมีระบบและเกิดการขยายผล 6. ยกระดับความรู้ที่บูรณาการใน 3 ระดับ คือ ระดับวิชาการ ระดับการจัดการ ระดับวิถีวัฒนธรรมชุมชนในแต่ละบริบท ให้เกิดการขยายผลที่เป็นรูปธรรม โดยใช้ประเด็น วิถีวัฒนธรรมชุมชน เป็นสื่อหรือตัวเดินเรื่องให้เกิดเวทีทางสังคมในการจัดการความรู้ 7. เสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนทางสังคมและชุมชน สู่การผลักดันในระดับนโยบายสาธารณะในการเสริมสร้างความตระหนักร่วมให้กับชุมชนและสังคมในการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชนแต่ละบริบท หรือให้ชุมชนเป็นตัวตั้ง 8. เสริมสร้างความรู้ให้กับทีมงานในการจัดการความรู้ที่สามารถเชื่อมโยงกับเนื้องานเดิมและใช้ทุนทางสังคมเป็นสื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องและยั่งยืน 2. แนวคิดการพัฒนาและการจัดการพลังงานที่ยั่งยืน ในปี ค.ศ.1983 องค์การสหประชาชาติ ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการโลก ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และการพัฒนา (World Commission on Environment and Development : WCED) ขึ้น ต่อมาปี ค.ศ.1986 WCEDก็ได้เสนอเอกสารสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิด การพัฒนายั่งยืนในทางระหว่างประเทศมาก นั่นคือรายงาน "อนาคตร่วมกันของพวกเรา (Our Common Future)" ซึ่งเป็นเอกสารที่เรียกร้องให้ชาวโลกเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตที่ฟุ่มเฟือย และเปลี่ยนแปลงแนวทางการพัฒนาใหม่ ให้เป็นแนวทางที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับข้อจำกัดของธรรมชาติมากขึ้นโดยย้ำว่า "มนุษย์สามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้" ทั้งนี้รายงานฉบับนี้ได้ให้ความหมายของคำว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน"หมายถึง การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นอนาคตต้องประนีประนอม เพื่อลดขีดความสามารถที่จะสนองความต้องการของเขาลงไปได้ อำไพ หรคุณารักษ์ (2550: 6) ได้ให้ความหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่า หมายถึง การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน ซึ่งหมายถึง การพัฒนาที่ก่อให้เกิดดุลยภาพระหว่าง การกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างความเข้มแข็งทางสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทุกคน ทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต โดยมีพื้นฐานความคิดว่าเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดดุลยภาพของการพัฒนาได้นั้น จำเป็นต้องเป็นเศรษฐกิจในสังคมที่มีรากฐานมั่นคง มีความสามารถในการแข่งขัน และสามารถพึ่งตนเองได้ ในขณะเดียวกัน ประชาชนในสังคมสามารถพัฒนาระเบียบวิถีชีวิต ทั้งของตนเองและส่วนรวม ให้ดำรงอยู่ได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมดังนั้น นัยยะสำคัญในการส่งเสริมแนวคิดของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) มุมมอง (perspectives) และค่านิยม (values) ของคนในสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สมดุลและยั่งยืน นักวิชาการหลายท่านได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยรวบรวมไว้ในเอกสารสรุปผลการประชุมโต๊ะกลม เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ยรรยงศ์ อัมพวา, 2550: 6) แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเวศ วะสี (2546 อ้างถึงใน ยรรยงศ์ อัมพวา, 2550: 6) สรุปได้ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดดุลยภาพของทุกมิติ กล่าวคือ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมจิตใจ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการบริหารจัดการที่ดี ที่มีพหุภาคีร่วมทุกขั้นตอนเป็นกลไกขับเคลื่อน การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยจำเนี
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :-
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :13.1 ขั้นตอนของการวิจัย ผู้วิจัยได้กำหนดขั้นตอนของการศึกษาประกอบไปด้วยขั้นตอนการวิจัยที่จำแนกได้ 3 ระยะ ดังรายละเอียด คือ ระยะที่ 1 ศึกษาบริบทชุมชน การใช้พลังงาน และศักยภาพ (1) การประชุมชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย ผลประโยชน์ที่จะได้รับของชุมชนและ ของคณะผู้วิจัยโดยการจัดเวทีสาธารณะ (2) คณะผู้วิจัยร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการจากพลังงานจังหวัด และชาวบ้านที่สนใจด้านการจัดการพลังงาน ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลพลังงานในพื้นที่ โดยการสำรวจข้อมูลด้านพลังงานในระดับชุมชน โดยการศึกษาสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เอกสารทางวิชาการต่างๆ และการสนทนากลุ่ม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานด้านศักยภาพของชุมชนบ้านหนองจิกรี (3) คณะผู้วิจัยร่วมกับแกนนำของชุมชนและชาวบ้าน บ้านหนองจิกรีเดินทางไปศึกษาตามศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน และเทคโนโลยีพลังงาน ตามชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา (4) คณะผู้วิจัยร่วมกับแกนนำของชุมชนบ้านหนองจิกรีจัดสนทนากลุ่ม โดยสะท้อนข้อมูลได้รับรู้และตรวจสอบข้อมูลด้านพลังงานของชุมชนเองว่ามีปริมาณเท่าใด และสูญเสียเงินไปกับการบริโภคพลังงานประเภทต่างๆเป็นมูลค่าเท่าใด ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้คนในชุมชนได้คิดทบทวนถึงสาเหตุของการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง และก่อให้เกิดความตระหนักว่า มีค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสิ่งกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงวิธีการในการลดค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานได้เป็นอย่างดี เพื่อนำมาวิเคราะห์โดยใช้หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับรูปแบบของเทคโนโลยีพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อดำเนินการหาทางเลือกเบื้องต้นด้านรูปแบบการผลิตเทคโนโลยีพลังงานที่มีความเหมาะสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับการนำไปศึกษาและทดลองจริงกับกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ ระยะที่ 2 ศึกษาและผลิตเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมกับชุมชน (1) คณะผู้วิจัย สืบค้นและนำเสนอข้อมูลทางวิชาการของเทคโนโลยีพลังงานในรูปแบบต่างๆ จากข้อเสนอในระยะที่ 1 อาทิเช่น รูปแบบเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพแบบครัวเรือน(Biogas for Home) รูปแบบเทคโนโลยีพลังงานชีวมวล เป็นต้น เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มชาวบ้านต่อรูปแบบเทคโนโลยีพลังงานที่เลือกใช้โดยวิธีการสนทนากลุ่ม (2) คัดเลือกพื้นที่วิจัย ภายในชุมชน เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของระบบเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมสำหรับบ้านหนองจิกรี โดยศึกษาถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีพลังงานที่เลือกใช้ (3) คณะผู้วิจัยร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการจากพลังงานจังหวัด และชาวบ้าน ร่วมกันจัดเวทีสาธารณะเพื่อคืนข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและทดลอง มาตรวจสอบความถูกต้อง ศึกษาถึงข้อจำกัดและข้อดีของเทคโนโลยีพลังงานที่เลือกใช้ โดยร่วมกันวิเคราะห์เทคโนโลยีที่ศึกษาเพื่อนำสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่ให้กับคนในชุมชน (4) คณะผู้วิจัยร่วมกับผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาชุมชนบ้านหนองจิกรีและร่วมกันสร้างเทคโนโลยีพลังงานกับพื้นที่ในชุมชนเพื่อเป็นฐานในการเรียนรู้ ระยะที่3 การสร้างความยั่งยืนการใช้เทคโนโลยีพลังงานชุมชน (1) คณะผู้วิจัย นำเสนอผลการศึกษาในปัจจัยที่ได้ให้ผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบความถูกต้อง สังเคราะห์และถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาของชุมชน (2) คณะผู้วิจัย นำเสนอรูปแบบพลังงานทางเลือกเทคโนโลยีพลังงานที่เหมาะสมสำหรับระดับครัวเรือนระดับชุมชน ให้กับคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลสร้อยละคร เพื่อพัฒนาไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น (3) คณะผู้วิจัย นำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่ผ่านการสังเคราะห์ผลการวิจัยอย่างเป็น ระบบ ในลักษณะของการสื่อสารสาธารณะ ให้กับสังคมได้รับทราบถึงการสร้างพลังงานทางเลือกเทคโนโลยีพลังงานให้ชุมชนโดยชุมชนและเพื่อชุมชน (4) คณะผู้วิจัย จัดการถ่ายทอดและฝึกอบรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกให้กับกลุ่มชาวบ้าน
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :867 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายณัฐเศรษฐ์ น้ำคำ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย60
นายสุรชัย บุญเจริญ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย15
นายมนตรี ใจเยี่ยม บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย15
นายภูริช ยิ้มละมัย บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย10

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด