รหัสโครงการ : | R000000170 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ กรณีศึกษา ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | A Community Economic Development Guildlines Model : Case Study ,Tambon Ta Kier Luan ,Amphur Muang,Nakhonsawan Provice |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | เศรษฐกิจชุมชน,การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | คณะวิทยาการจัดการ > สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 450000 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 450,000.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 01 ธันวาคม 2557 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 30 พฤศจิกายน 2558 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | สังคมศาสตร์ |
สาขาวิชาการ : | สาขาสังคมวิทยา |
กลุ่มวิชาการ : | พัฒนาสังคม |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ระดับชาติ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | เศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มรวมตัวของชุมชน เพื่อรวมกันใช้ศักยภาพของสมาชิกแต่ละคนให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน และเมื่อได้รับผลประกอบการก็จะนำไปแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างเป็นธรรม ซึ่งการดำเนินงานในรูปนี้ย่อมจะทำให้เกิดความเข้มแข็งและความสามัคคีในชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ประกอบด้วย ความเป็นเจ้าของร่วม การใช้ทรัพยากรท้องถิ่น/ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีบุคลากรแกนนำ สมาชิกที่เข้มแข็ง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของสมาชิก และการบริหารจัดการ
ชุมชนบ้านตะเคียนเลื่อน ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ชาวบ้านปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเอง ที่เหลือเก็บขาย ปลูกผัก ปลูกพืชล้มลุกไว้ขาย ร่วมกันส่งเสริมทำปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้กันเอง จัดตั้งร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ บางส่วนเปิดร้านขายพันธุ์ไม้หารายได้อีกทางหนึ่ง พืชผักที่ปลูกจะเป็นพวกถั่วฝักยาว แตง ข้าวโพด ฟักอ่อน พริก มะเขือ ส่วนไม้ผลที่ใหญ่ขึ้นไปหน่อยปลูกกันมากก็คือ กล้วยไข่ ในเรื่องงานการส่งเสริมในชุมชนนั้น มีการจัดตั้งกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์บ้านตะเคียนเลื่อน กลุ่มผู้ค้าไม้ประดับ กลุ่มอาชีพการทำดอกไม้ประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นกล้วยไข่ โดยนำเอาต้นกล้วยไข่หลังเก็บผลผลิตแล้วตัดเอามาทำเป็นกระดาษ จากกระดาษก็นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กรอบรูป กล่องใส่กระดาษทิสชู ฯลฯ ส่งขายที่ร้านค้าชุมชนและตามงานต่างๆ กลุ่มผู้ผลิตดินปลูกพืชกระถาง บรรจุถุงขาย ใช้ชื่อว่า "ดินดี หมู่ 2 เศรษฐกิจพอเพียงบ้านตะเคียนเลื่อน" ที่บ้านตะเคียนเลื่อนกลายเป็นแหล่งผลิตทั้งดินปลูกพืชและปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องใช้กับพืช ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ใช้ตรา "ตะเคียนงาม" นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการรวมกลุ่มออมทรัพย์ในรูปของกลุ่มสัจจะ ออมทรัพย์ นับว่าเป็นชุมชนที่มีการนำทุนทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น ทุนทางธรรรมชาติ ทุนแรงงาน ทุนภูมิปัญญาของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเศรษฐกิจชุมชนของตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมุ่งเน้นศึกษาในเรื่อง การบริหารจัดการของเศรษฐกิจชุมชนเป็นหลัก ศึกษาถึงการรวมกลุ่มของสมาชิกชุมชน จุดแข็งและจุดอ่อนของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ปัญหาในด้านต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ อาทิเช่น ด้านการตลาด ด้านการผลิต การคิดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงการสังเคราะห์ปัญหาร่วมกันระหว่างนักวิจัยและชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จากเหตุผลนี้ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษา "แนวทางการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน กรณีศึกษา ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์" ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วยเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนย่อมทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและส่งผลโดยตรงต่อชุมชนในพัฒนาศักยภาพของตนเอง
|
จุดเด่นของโครงการ : | - |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | 1 เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปทางเศรษฐกิจและสังคม ของตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
2 เพื่อศึกษาถึงโครงการและการรวมกลุ่มต่าง ๆ ของสมาชิกในชุมชนที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ของตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
3 เพื่อศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค (SWOT) ของกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม ของตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
4 เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ
|
ขอบเขตของโครงการ : | ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการสังเกต (Observation) สัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยมีขอบเขตการวิจัย ดังนี้
ขอบเขตด้านเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิชุมชน ในตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในเรื่องของข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน การวิเคราะห์ SWOT Analysis
ของเขตด้านประชากร คือ กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนในตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ที่ยังคงดำเนินการอยู่ โดยเก็บข้อมูลจากตัวแทนกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ ประธาน รองประธาน เหรัญญิก หรือสมาชิกซึ่งประธานได้มอบหมายให้เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่นักวิจัย
ขอบเขตด้านพื้นที่ กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนในตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
|
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | - |
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | - |
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | ทฤษฎี สมมุติฐาน (ถ้ามี) และกรอบแนวความคิดของโครงการวิจัย 1 แนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียง
ในแผนพัฒนาฉบับที่ ๙ ได้อัญเชิญ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มาใช้ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะชี้ถึงแนวการใช้ชีวิต และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับสังคมประเทศ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์
แนวความคิดนี้ได้ให้ความหมายของความพอเพียงโดยหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขึ้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในแผนพัฒนา ฉบับที่ ๙ ได้กล่าวถึงการพัฒนาไปสู่ความมีดุลยภาพที่เน้น “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” การพัฒนาสู่ “สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้” และพัฒนาเป็น “สังคมแห่งความเอื้ออาทร การพึ่งพาอาศัยกัน”
2 แนวความคิดด้านเศรษฐกิจชุมชน
เศรษฐกิจชุมชน คือ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน คือ ให้มีส่วนร่วมคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ บนรากฐานของความสามารถที่มีอยู่ จากการใช้ “ทุนของชุมชน”
สมาชิกในชุมชนจะเป็นผู้ตัดสินว่า พวกเราจะผลิตอะไรได้บ้างตามศักยภาพและทุนประเภทต่างๆ ที่มีอยู่เราจะผลิตกันอย่างไร โดยที่ชุมชนสามารถคิดเอง ทำเอง ได้เอง เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน โดยใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้าง “กระบวนการเรียนรู้” ซึ่งจะทำให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ ในขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ
ฐานคิด
1. เน้นการพัฒนาอย่างบูรณาการ มีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และยึดพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้การพัฒนาตอบสนองความต้องการของคนในชุมชน และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่น
2. สร้างภาคีและเครือข่ายความร่วมมือ ในลักษณะ “พหุภาคี” เพื่อประสาน “พลังสร้างสรรค์” ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยมีองค์กรชุมชนเป็นแกนกลาง ส่วนภาคีอื่นๆ ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้น อำนวยความสะดวก ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนา
3. เริ่มการพัฒนาจากชุมชนท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ และให้องค์กรชุมชนเป็นจักรกลสำคัญในการดำเนินการพัฒนา เพื่อให้เกิดพลังการพัฒนาจากความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวบ้านและการสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณะสุข การผลิต การตลาด การระดมทุน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
5. ใช้กิจกรรมเศรษฐกิจสร้างการเรียนรู้และสร้างอาชีพที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่คนในชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านเพศ วัย การศึกษา ความถนัด ฐานะเศรษฐกิจ ฯลฯ
6. ยึดปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวพระราชดำรัส “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” ตามขั้นตอนของ “ทฤษฎีใหม่”
แนวทางปฏิบัติ
1. สร้างเวทีการเรียนรู้ เช่น เวทีประชาคมตำบล/อำเภอ ร้านค้าชุมชน ตลาดนัดชุมชน ฯลฯ
2. วิเคราะห์ศักยภาพของท้องถิ่น (ทุนในชุมชน)
3. วางแผนพัฒนา “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” ตามขั้นตอนของ “ทฤษฎีใหม่”
4. ส่งเสริมการรวมกลุ่ม (กลุ่มอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์) และการสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชน
5. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป การบรรจุหีบห่อ การสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
6. พัฒนาระบบตลาด เช่น ตลาดในท้องถิ่น สร้างเครือข่ายผู้ผลิต-ผู้บริโภค เชื่อมโยงผู้ผลิตกับตลาดในเมือง/โรงงาน อุตสาหกรรมการเกษตร ฯลฯ
7. พัฒนากิจกรรมทางด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
8. วิจัยเพื่อสนับสนุนงานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
9. สร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจชุมชนแบบเบ็ดเสร็จระดับอำเภอ/จังหวัด โดยเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนท้องถิ่น
10. สร้างหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และพัฒนาสถานที่ศึกษาดูงาน
11. พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร เพื่อใช้ช่วยตัดสินใจในการทำธุรกิจชุมชน
12. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนสู่สังคมในวงกว้าง
ความสำคัญของเศรษฐกิจชุมชน
1. แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรูปแบบเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับความเป็นอยู่และลักษณะของสังคมไทย
2. เศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบเศรษฐกิจที่มอง และวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆอย่างเป็นระบบ
หรืออย่างเป็นองค์รวม
3. เศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกระจายตัว กระจายความเข้มแข็งและยั่งยืนไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค
4. เศรษฐกิจชุมชนสามารถพัฒนาขีดความสามารถของคน ครอบครัว ชุมชน จากการสร้าง กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้พึ่งตนเองได้
เศรษฐกิจชุมชนเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กัน
3 การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม (Participatory Development)
เป็นการพัฒนาที่เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา(Partnership in Development) อันเป็นกระแสแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาและอยู่ในแผน ฉบับที่ ๘ โดยความคิดพื้นฐานที่สำคัญคือ ประชาชนในชุมชนควรเป็นผู้ระบุปัญหา ความต้องการ ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีผลทำให้มีการเพิ่มบทบาทการมีส่วนของประชาชนในการพัฒนา อีกทั้งเพิ่มความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของท้องถิ่นของตนเอง และการพัฒนาชนบทหากมองในภาพกว้าง ๆ ภาคการพัฒนาต่าง ๆ ที่มาประกอบเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชนบทที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง นั้นยังประกอบด้วยภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภาคราชการ ภาคประชาชนและชุมชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคอื่น ๆ เช่น นักวิชาการ สื่อมวลชน ซึ่งภาคต่าง ๆ ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามหน้าที่ของตน โดยทุกส่วนประกอบจะต้องมีส่วนร่วมกัน เพื่อทำการพัฒนาประเทศให้สามารถพึ่งตนเองได้
4 การวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมภายนอก ( External Environment Analysis )
เนื่องจากสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ และ มีอิทธิพลต่อการดำเนินงานหากผู้บริหารหรือผู้ดำเนินการทราบถึงความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์การก็จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ดังนั้น องค์กรจึงควรมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่างๆที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ เพื่อเป็นการประเมินหา จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค ขององค์การ ผลการวิเคราะห์มักถูกใช้เป็นรากฐานของการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อที่จะทำให้บรรลุตาม วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย หรือ นโยบายขององค์กร ในการวิเคราะห์ SWOT Analysis
8.4.1 ความหมายของ SWOT Analysis
เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การ หรือหน่วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคตซึ่งแบ่งไว้คือ
SWOT เป็นตัวย่อที่มีความหมายดังนี้
1. Strengths - จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ
2. Weaknesses - จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ
3. Opportunities - โอกาสที่จะดำเนินการได้
4. Threats - อุปสรรค ข้อจำกัด หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงานขององค์การ
หลักการสำคัญของSWOT ก็คือการวิเคราะห์โดยการสำรวจจากสภาพการณ์ 2 ด้าน คือ สภาพการณ์ภายในและสภาพการณ์ภายนอก ดังนั้นการวิเคราะห์ SWOT จึงเรียกได้ว่าเป็นการวิเคราะห์สภาพการณ์ (Situation Analysis) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อให้รู้ตนเอง (รู้เรา) รู้จักสภาพแวดล้อม (รู้เขา) ชัดเจน และวิเคราะห์โอกาส-อุปสรรค การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารขององค์กรทราบถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกองค์กร ทั้งสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่มีต่อองค์กรธุรกิจ และจุดแข็ง จุดอ่อน และความสามารถด้านต่าง ๆ ที่องค์กรมีอยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์และการดำเนินตามกลยุทธ์ขององค์กรระดับองค์กรที่เหมาะสมต่อไป
8.4.2 ประโยชน์ของการวิเคราะห์ SWOT
เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายนอกและภายในองค์กรซึ่งปัจจัยเหล่านี้แต่ละอย่างจะช่วยให้เข้าใจได้ว่ามีอิทธิพลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างไรจุดแข็งขององค์กรจะเป็นความสามารถภายในที่ถูกใช้ประโยชน์เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่จุดอ่อนขององค์กรจะเป็นคุณลักษณะภายใน ที่อาจจะทำลายผลการดำเนินงาน โอกาสทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ให้โอกาสเพื่อการบรรลุเป้าหมายองค์กรในทางกลับกันอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมจะเป็นสถานการณ์ที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายขององค์กร ผลจากการวิเคราะห์ SWOT นี้จะใช้เป็นแนวทางในการกำหนดวิสัยทัศน์ การกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้องค์กรเกิดการพัฒนาไปในทางที่เหมาะสม
ขั้นตอน / วิธีการดำเนินการทำ SWOT Analysisการวิเคราะห์ SWOT จะครอบคลุมขอบเขตของปัจจัยที่กว้าง ด้วยการระบุจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคขององค์กรทำให้มีข้อมูล ในการกำหนดทิศทางหรือเป้าหมายที่จะถูกสร้างขึ้นมาบนจุดแข็งขององค์กร และแสวงหาประโยชน์จากโอกาสทางสภาพแวดล้อม และสามารถ กำหนดกลยุทธ์ที่มุ่งเอาชนะอุปสรรคทางสภาพแวดล้อมหรือลดจุดอ่อนขององค์กรให้มีน้อยที่สุดได้ ภายใต้การวิเคราะห์ SWOT นั้น จะต้องวิเคราะห์ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก องค์กร โดยมีขั้นตอนดังนี้
(1) การประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์กรการประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์กร จะเกี่ยวกับการวิเคราะห์และพิจารณาทรัพยากรและความสามารถภายในองค์กร ทุกๆ ด้าน เพื่อที่จะระบุจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กรแหล่งที่มาเบื้องต้นของข้อมูลเพื่อการประเมินสภาพแวดล้อมภายใน คือระบบข้อมูลเพื่อ การบริหารที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในด้านโครงสร้าง ระบบ ระเบียบ วิธีปฏิบัติงาน บรรยากาศในการทำงานและทรัพยากรในการบริหาร(คน เงิน วัสดุ การจัดการ รวมถึงการพิจารณาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรเพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์และผลกลยุทธ์ก่อนหน้านี้ด้วย - จุดแข็งขององค์กร (S-Strengths) เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยภายในจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในองค์กรนั้นเองว่าปัจจัยใดภายในองค์กรที่เป็นข้อได้เปรียบหรือจุดเด่นขององค์กรที่องค์กรควรนำมาใช้ในการพัฒนาองค์กรได้ และควรดำรงไว้เพื่อการ เสริมสร้างความเข็มแข็งขององค์กร - จุดอ่อนขององค์กร (W-Weaknesses) เป็นการวิเคราะห์ ปัจจัยภายในจากมุมมองของผู้ที่อยู่ภายในจากมุมมอง ของผู้ที่อยู่ภายในองค์กรนั้น ๆ เองว่าปัจจัยภายในองค์กรที่เป็นจุดด้อย ข้อเสียเปรียบขององค์กรที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือขจัดให้หมดไป อันจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กร
(2) การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกภายใต้การประเมินสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรนั้นสามารถค้นหาโอกาสและอุปสรรคทางการดำเนินงานขององค์กรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรเช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นโยบาย การเงิน การงบประมาณ สภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น ระดับการศึกษาและอัตรารู้หนังสือของประชาชน การตั้งถิ่นฐานและการอพยพของ ประชาชน ลักษณะชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ความเชื่อและวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมทางการเมือง เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา มติคณะรัฐมนตรี และสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี หมายถึง กรรมวิธีใหม่ๆและพัฒนาการทางด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพในการผลิตและให้บริการ - โอกาสทางสภาพแวดล้อม (O-Opportunities) เป็นการวิเคราะห์ว่าปัจจัยภายนอกองค์กร ปัจจัยใดที่สามารถส่งผล กระทบประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำเนินการขององค์กรในระดับมหาภาค และองค์กรสามารถฉกฉวยข้อดีเหล่านี้มาเสริมสร้างให้ หน่วยงานเข็มแข็งขึ้นได้ - อุปสรรคทางสภาพแวดล้อม (T-Threats) เป็นการวิเคราะห์ว่าปัจจัยภายนอกองค์กรปัจจัยใดที่สามารถส่งผล กระทบในระดับมหภาคในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งองค์กรจำต้องหลีกเลี่ยง หรือปรับสภาพองค์กรให้มี ความแข็งแกร่งพร้อมที่จะเผชิญแรงกระทบดังกล่าวได้
(3) ระบุสถานการณ์จากการประเมินสภาพแวดล้อมเมื่อได้ข้อมูลเกี่ยวกับ จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส-อุปสรรค จากการวิเคราะห์ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกด้วยการประเมินสภาพ แวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอกแล้ว ให้นำจุดแข็ง-จุดอ่อนภายในมาเปรียบเทียบกับ โอกาส-อุปสรรค จากภายนอกเพื่อดูว่าองค์กร กำลังเผชิญสถานการณ์เช่นใดและภายใต้สถานการณ์ เช่นนั้น องค์กรควรจะทำอย่างไร โดยทั่วไป ในการวิเคราะห์ SWOT ดังกล่าวนี้ องค์กร จะอยู่ในสถานการณ์ 4 รูปแบบดังนี้
สถานการณ์ที่ 1 (จุดแข็ง-โอกาส) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่พึ่งปรารถนาที่สุด เนื่องจากองค์กรค่อนข้างจะมีหลายอย่าง ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรควรกำหนดกลยุทธ์ในเชิงรุก (Aggressive - Strategy) เพื่อดึงเอาจุดแข็งที่มีอยู่มาเสริมสร้างและปรับใช้และฉกฉวยโอกาสต่างๆ ที่เปิดมาหาประโยชน์อย่างเต็มที่
สถานการณ์ที่ 2 (จุดอ่อน-ภัยอุปสรรค) สถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เนื่องจากองค์กรกำลังเผชิญอยู่กับอุปสรรคจากภายนอกและมีปัญหาจุดอ่อนภายในหลาย ประการ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุดคือกลยุทธ์ การตั้งรับหรือป้องกันตัว (Defensive Strategy) เพื่อพยายามลดหรือหลบหลีกภัยอุปสรรค ต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตลอดจนหามาตรการที่จะทำให้องค์กรเกิดความสูญเสียที่น้อยที่สุด
สถานการณ์ที่ 3 (จุดอ่อน-โอกาส) สถานการณ์องค์กรมีโอกาสเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันอยู่หลายประการ แต่ติดขัดอยู่ตรงที่มีปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนอยู่ หลายอย่างเช่นกัน ดังนั้น ทางออกคือกลยุทธ์การพลิกตัว (Turnaround-Oriented Strategy) เพื่อจัดหรือแก้ไขจุดอ่อนภายในต่างๆ ให้ พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสต่างๆที่เปิดให้
สถานการณ์ที่ 4 (จุดแข็ง-อุปสรรค) สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน แต่ตัวองค์กรมีข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็งหลายประการ ดังนั้นแทนที่จะรอจนกระทั่งสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถที่จะเลือกกลยุทธ์การแตกตัว หรือขยายขอบข่ายกิจการ (diversification Strategy) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีสร้างโอกาสในระยะยาวด้านอื่นๆแทน
9. การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ (information) ที่เกี่ยวข้อง
เปรมชญา ชนะวงศ์และคณะ (2553) ศึกษาเรื่อง การพัฒนาศักยภาพชุมชนบนเพื่อการพึ่งตนเองบนฐานทุนทางสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทุนทางสังคมของอำเภอดอนสักที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของชุมชน ระบบเศรษฐกิจชุมชนอำเภอดอนสักภายใต้พลวัตการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของชุมชน การพัฒนาศักยภาพการพึ่งตนเองบนฐานทุนทางสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใน 4 ตำบล โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชุมชนระดับครัวเรือนไปสู่การพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลการวิจัยพบว่า ทุนทางสังคมมีรูปแบบเชิงสาระและโครงสร้าง มีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ทุนคน ทุนสถาบัน ทุนวัฒนธรรม และทุนองค์ความรู้ มีระบบเศรษฐกิจชุมชน 6 ระบบประกอบด้วย เศรษฐกิจชุมชนหาของป่าพึ่งพาธรรมชาติ เศรษฐกิจภาคการประมง เศรษฐกิจชุมชนภาคการเกษตร เศรษฐกิจชุมชนนอกภาคเกษตร เศรษฐกิจชุมชนด้านการเลี้ยงสัตว์ เศรษฐกิจชุมชนจากการสนับสนุนของรัฐเพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ปัจจุบันเศรษฐกิจทุนได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีการผลิตที่ต้องพึ่งพาตลาดกระทบต่อวิถีชีวิต ผลการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเกิดชุมชนพึ่งตนเองเข้มข้น 2 ชุมชนใน 2 ตำบล ผลลัพธ์ในด้านการพัฒนาศักยภาพชุมชน ชุมชนมีปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือดูแล เอื้ออาทร เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการให้ การแบ่งปัน และต่างตอบแทน มีความไว้วางใจกันจากการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มและเครือข่ายพึ่งตนเองและพึ่งกันเองในกิจกรรมที่ปฏิบัติมีจิตสำนึกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติแหล่งน้ำในชุมชนด้วยการมีส่วนร่วมเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตน ผลลัพธ์ในด้านเศรษฐกิจพอเพียงเกิดการลดรายจ่ายในการทำการเกษตรและรายจ่ายด้านอาหาร
ชลธี เจริญรัฐ (2542) ศึกษาเรื่อง การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการจัดการโดยการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของสถาบันราชภัฎอุดรธานีกับชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ผลการศึกษาด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพบว่า ๑) ด้านการจัดการชุมชนพบว่ามีการจัดตั้งกลุ่มให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อการวางแผน การดำเนินงานและการแก้ไขอุปสรรค ปัญหาของชุมชนคือการขาดงบประมาณ ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ การขาดเอกสารสิทธ์ในที่ดินและการขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน ๒)ด้านการวางแผนชุมชน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลมีส่วนร่วมในการวางแผนงานชุมชนระยะ 5 ปีขององค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยการในความรู้ด้านต่างๆแก่ประชาชน แผนพัฒนาเส้นทางคมนาคม แผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตร การตรวจสอบกิจกรรมของแผนต่างๆ ๓)ด้านการพัฒนาชุมชนพบว่ามีการปรับปรุงถนนในเขตหมู่บ้านให้เป็นถนนคอนกรีตหรือถนนลาดยาง การปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การปรับปรุงระบบประปาประจำหมู่บ้านเพื่อการบริโภคและการเกษตร การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน การแก้ไขปัญหาขยะและความสะอาดของชุมชน การเสริมสร้างการรวมกลุ่มและความสามัคคี ผลการศึกษาด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากพบว่าจุดแข็งคือเป็นแหล่งผลิตดอกไม้ประดับ กลุ่มเกษตรกรมีความรู้ มีแหล่งน้ำในการผลิต จุดอ่อนคืออุปกรณ์ล้าสมัย ไม่มีแบบแผนการผลิต ขาดทักษะในการจัดมาตรฐานและแปรรูป โอกาสคือมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนทางวิชาการและเงิน มีการเรียนรู้ระหว่างชุมชนผลิตแหล่งอื่น อุปสรรคคือมีโรคพืชหลายชนิด สภาพอากาศไม่อำนวยตลอดปี
เดชวิทย์ นิลวรรณ (2553) ศึกษาเรื่อง การจัดการความรู้ การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชน กลุ่มตัดเย็บบ้านดอกแดง ตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณกรรมการการวิจัยแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการบริหารจัดการของกลุ่มตัดเย็บบ้านดอกแดง และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการกลุ่ม ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ สภาพปัญหาการบริหารยังมีการรวมตัวของสมาชิกไม่เหนียวแน่นเท่าที่ควร โครงสร้างการบริหารไม่ชัดเจน เนื่องจากการแบ่งหน้าที่ไม่ชัดเจน การผลิตทำกันในลักษณะของการรับจ้างผลิตตามจำนวน จากพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก ช่องทางการจัดจำหน่ายปลีกของกลุ่มจะจำหน่ายเฉพาะสถานที่ผลิต ไม่ได้นำไปจำหน่ายที่อื่น ๆ ไม่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การคิดคำนวนต้นทุน ค่าแรง ค่าใช้จ่าย ยังไม่ชัดเจน รวมทั้งมีเงินทุนหมุนเวียนน้อย แบ่งปัญหาออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ปัญหาด้านการตลาด ปัญหาด้านการผลิต และปัญหาด้านบัญชีการเงิน ดังนั้นการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการของกลุ่มจึงเน้นไป 3 ด้าน คือ ด้านทัศนคติ ด้านความรู้และด้านทักษะ ผลจากการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน ทำให้กลุ่มมีความสามัคคีและมีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบของศูนย์การเรียนรู้บ้านดอกแดง ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนบ้านดอกแดง ทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาธุรกิจชุมชนและการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็มต่อไป
10. เอกสารอ้างอิงของโครงการวิจัย
กวี สุจิปุริและคณะ. (2554). การวิจัยและพัฒนาการผลิตผักชีฝรั่งเพื่อการส่งออก. รายงายผลการวิจัยฉบับสมบรูณ์. สำนักงานคณกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
กาญจนา สุระและคณะ. (2553). การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคชนบทและชุมชนเมือง จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการงานวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ขวัญกมล ดอนขวาและคณะ. (2555). การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. รายงานผลการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนนารี
จรัส สุวรรณมาลาและคณะ. (2548). วิถีใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชลธี เจริญรัฐ. (2542). การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยอุดรธานี
เดชวิทย์ นิลวรรณ. (2553). การจัดการความรู้ การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชน กลุ่มตัดเย็บบ้านดอกแดง ตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานวิจัยฉบับสมบรูณ์. สำนักงานคณกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
เปรมชญา ชนะวงศ์และคณะ. (2553).งานวิจัยและพัฒนาการพัฒนาศักยภาพชุมชนบนเพื่อการพึ่งตนเองบนฐานทุนทางสังคมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. รายงานวิจัย.มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ศิริวรรณ เจนการและคณะ. (2550). โครงการพลังแผ่นดิน : กรณีศึกษาด้านธุรกิจชุมชน. รายงานผลการวิจัย. สถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
สุรีย์รัตน์ ขาวสุข. (2555). การบริหารจัดการโครงการเศรษฐกิจชุมชนของตำบลท่าลาด อำเภอชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น
องค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์. (2555). แผนพัฒนาตำบล 3 ปี พ.ศ. 2555-2557
11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เช่น ด้านวิชาการ ด้านนโยบาย ด้านเศรษฐกิจ/พาณิชย์ ด้านสังคมและชุมชน รวมถึงการเผยแพร่ในวารสาร จดสิทธิบัตร ฯลฯ และหน่วยงานที่นำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์
11.1 ได้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม เพื่อเป็นแนวทางในกำหนดนโยบายของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มโอกาสและลดอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน
11.2 กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนได้แนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่ม และเกิดองค์ความรู้ร่วมกันในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
11.3 ได้กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนต้นแบบ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนบริเวณใกล้เคียง
12. แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผลการวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมาย
12.1 จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนและประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลการดำเนินงานให้กับชุมชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียง
12.2 การนำเสนอในรูปเอกสารวิชาการ บทความ เพื่อเผยแพร่สู่สังคม
13. วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล
13.1 การทบทวนวรรณกรรมจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง
การทบทวนวรรณกรรม โดยการเก็บข้อมูลเชิงทุติยภูมิ ( secondary data ) จากสำนักห้องสมุดภาครัฐองค์กรภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน เว็ปไซท์ และการประชุมเครือข่ายภาคประชาชนในระดับต่างๆ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หอสมุดแห่งชาติ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ มูลนิธิพัฒนาไท สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา การประชุมเครือข่ายประชาสังคม เป็นต้น
13.2 จัดทำ focus group discussion กลุ่มเศรษฐกิจชุมชน
การทำสนทนากลุ่มย่อย ( focus group discussion ) โดยเชิญชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ประธานกลุ่ม รองประธาน เหรัญญิก สมาชิกกลุ่ม ที่สามารถถ่ายทอดแนวคิดพัฒนาการเกิดขึ้นของกลุ่ม รวมไปถึง เงื่อนไข ปัญหา ข้อดี ข้อเสีย (SWOT) จากการดำเนินงานเศรษฐกิจชุมชนของแต่ละกลุ่ม โดยทำการสนทนากลุ่มย่อยในแต่ละกลุ่มมีจำนวน ๘–๑๐ คน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และเครื่องมือระดมสมองกลุ่มย่อย การทำแผนที่ความคิด ( mind map ) เข้ามาใช้ในการระดมความคิดในกลุ่มย่อยด้วย
13.3 การสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลสำคัญ (key informants)
เหตุที่คณะผู้วิจัยต้องทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำกลุ่มหรือผู้นำชุมชน เนื่องจากหากนำกลุ่มผู้นำชุมชนหรือผู้นำกลุ่มมาทำสนทนากลุ่มย่อยร่วมกับสมาชิกในชุมชนหรือกลุ่มธุรกิจชุมชนแล้ว สมาชิกอาจเกรงใจและไม่กล้าตอบ รวมทั้งการทำการสัมภาษณ์เชิงลึกจะได้ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดในเชิงลึกซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นจริง เพราะคณะผู้วิจัยจะมีโอกาสซักถามรายละเอียดได้มากขึ้น
นอกจากนั้นผู้วิจัยจะทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจชุมชน ซึ่งแนวคำถามจะเน้นถึงกระบวนการทำงานร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน ชุมชน หรือกลุ่มธุรกิจชุมชน รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับนโยบาย หรือโครงการต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาส่งเสริมการทำธุรกิจชุมชน เช่น โครงการประชารัฐ โครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล โครงการแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
13.4 สรุปและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด ตามวัตถุประสงค์และขั้นตอนของการวิจัย พร้อมจัดทำรูปเล่มฉบับสมบูรณ์
14. ระยะเวลาทำการวิจัย และแผนการดำเนินงานตลอดโครงการวิจัย (ให้ระบุขั้นตอนอย่างละเอียด)
ระยะเวลาการทำงานวิจัย ระหว่าง 1 ตุลาคม 2557 ถึง 30 กันยายน 2558
|
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | - |
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | - |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 2292 ครั้ง |