รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000153
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :People’s Participation on Conservation and Development for Folk Songs for Cultural tourism in Nakhon sawan Province
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :-
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชาดนตรี
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :425000
งบประมาณทั้งโครงการ :425,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :13 มกราคม 2557
วันสิ้นสุดโครงการ :12 มกราคม 2558
ประเภทของโครงการ :งานวิจัยประยุกต์
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :เพลงพื้นบ้านเป็นศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและมีความสำคัญในสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเพลงพื้นบ้านเป็นเครื่องสะท้อนและเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของคนไทยมาช้านาน อีกทั้งเพลงพื้นบ้านยังเป็นศูนย์รวมศิลปะอันล้ำค่าหลายด้าน เช่น วรรณศิลป์ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ซึ่งผสมผสานกันอย่างลงตัว ด้วยเหตุนี้ เพลงพื้นบ้านจึงกลายเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นที่นิยมของชาวไทย อย่างไรก็ตามเพลงพื้นบ้านนั้นมิได้มุ่งเน้นเฉพาะความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังแฝงไว้ซึ่งความงาม ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณีอันดีงาม เพลงพื้นบ้านของจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบไปด้วยการขับร้อง การฟ้อนรำ และการบรรเลงดนตรี มีเพลงพื้นบ้านที่สำคัญและเป็นเพลงที่นิยมร้องเล่น เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพิษฐาน เพลงระบำบ้านไร่ ฯลฯ ซึ่งโอกาสในการเล่นเพลงส่วนใหญ่พบในเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและงานบุญต่างๆ จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดหนึ่งที่สมัยก่อนชาวบ้านนิยมเล่นเพลงพื้นบ้านกันมาก และมีเพลงพื้นบ้านหลายเพลงที่มีการร้องเล่นกันในทุกฤดูกาล ทุกเทศกาล บางเพลงเป็นเพลงท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ไม่พบในถิ่นอื่น เช่น เพลงรำวงโบราณ เพลงเหล่านี้มีคุณค่าทางวัฒนธรรม มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวนครสรรค์มาช้านาน ซึ่งในอดีตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นักเพลงในอดีตได้มีโอกาสนำเพลงพื้นบ้านจากนครสวรรค์เผยแพร่ต่อสังคมในระดับจังหวัดและระดับประเทศ อีกทั้งสถาบันการศึกษาท้องถิ่นได้จัดการศึกษาในด้านเพลงพื้นบ้านโดยให้นักเรียนได้ฝึกร้อง รำ และออกแสดงในงานสำคัญต่างๆ จากการออกสำรวจภาคสนามของผู้วิจัยที่จังหวัดนครสวรรค์ พบปัญหาที่สนใจอย่างยิ่งคือ เพลงพื้นบ้านอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกำลังได้รับผลกระทบเชิงลบและตกอยู่ในสภาวการณ์ที่กำลังสูญหายลงไปทุกขณะ จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ส่งผลให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เนื่องมาจากการหลั่งไหลของกระแสความเชื่อและวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าสู่ชุมชนอย่างรวดเร็ว การที่ผู้คนในท้องถิ่นถูกเชื่อมโยงกับกระแสแห่งโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนกระบวนการในการดำเนินชีวิตตามแบบทุนนิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเริ่มถูกกลืนและจางหายไป สาเหตุสำคัญคือ ประชาชนขาดโอกาสและไม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ดังนั้นหากไม่เร่งดำเนินการป้องกันและสร้างความเข้าใจต่อชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนตนเองในอนาคต จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างแน่นอน แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับภาคเหนือตอนล่างได้กำหนดให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับชาติ ประกอบกับเป็นประตูสู่ภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์รวมความเจริญในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว ฯลฯ จังหวัดนครสวรรค์จึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง เป็นแหล่งรวบรวมผสมผสานศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆมากมาย และงานประเพณีที่ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จากความพร้อมในด้านต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้จังหวัดนครสวรรค์ทุ่มเทให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า “ศูนย์กลางการค้าข้าวและสินค้าเกษตร เมืองแห่งการศึกษา สังคมเข้มแข็ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ” ด้วยเหตุนี้ทำให้จังหวัดนครสวรรค์หันมาให้ความสำคัญกับการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการพัฒนาการท่องเที่ยว จังหวัดนครสวรรค์จึงมองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาและสร้างความตระหนักแก่ชุมชนเจ้าของท้องถิ่นให้เกิดความรู้รักษ์ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยการฟื้นวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้าน ตลอดจนวางรากฐานจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นหลังและคนในท้องถิ่นได้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนว่าแท้จริงแล้วสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านเพลงพื้นบ้านมาสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถใช้จุดเด่นเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนในทิศทางที่เหมาะสมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม และนำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนให้สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์อย่างครบวงจรที่สร้างรายได้ภายใต้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จากสภาพดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญของเพลงพื้นบ้านในฐานะที่เป็นมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า และได้เคยมีบทบาทหน้าที่ในสังคมมาอย่างยาวนาน หากสามารถนำความงดงามและสาระสำคัญของเพลงพื้นบ้านให้กลับคืนมาสู่สังคมได้จะเป็นการสงวนรักษาคุณค่าของเพลงพื้นบ้านไว้ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย จึงเป็นที่มาของงานวิจัย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์เพื่อนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งนี้การมีส่วนร่วมของชุมชนย่อมทำให้ชุมชนได้แสดงถึงศักยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิ รักใคร่และหวงแหนใน “มรดกทางวัฒนธรรม” ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรทุนทางวัฒนธรรมสืบต่อไป
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการใช้เพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :ขอบเขตด้านพื้นที่ พื้นที่ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังพบว่ามีวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านปรากฏอยู่ ขอบเขตด้านเนื้อหา 1. กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์ 2. การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการใช้เพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ขอบเขตด้านเวลา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :เกิดชุดความรู้เพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์และเกิดกลไกความร่วมมือในกิจกรรมด้านต่างๆ เช่น ด้านเยาวชน ด้านสุขภาพ ด้านวัฒนธรรม และเกิดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระดับพื้นที่ (P) พัฒนาศักยภาพของชุมชนในการมีส่วนร่วมร่วมอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน และสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย ระดับความสำเร็จ คือ (I) เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนอันเป็นเสมือนดังภูมิคุ้มกันของท้องถิ่นในการรู้เท่าทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง (G)
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :9.1 แนวคิดเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน 9.2 แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม 9.3 แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 9.4 แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 9.1 แนวคิดเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน ไพบูลย์ ช่างเรียน (2516 : 39)ได้กล่าวถึงเพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่ถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งของสังคมในการที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง เพราะนอกเหนือจากความบันเทิงซึ่งเป็นความมุ่งหมายหลักแล้ว เพลงพื้นบ้านยังเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ ความนึกคิด ความเชื่อ ประเพณี และค่านิยมของกลุ่มชน ผู้เป็นเจ้าของวรรณกรรมอีกด้วย สุกัญญา สุจฉายา (2525:1) กล่าวว่า เพลงพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมทางดนตรี ซึ่งมีความเก่าแก่สืบทอดปากต่อปากมาหลายชั่วอายุคน โดยอาศัยการจดจำ ไม่มีกำเนิดที่แน่ชัดแต่มีการยอมรับและถ่ายทอดกันอย่างแพร่หลาย ลักษณะเด่นของเพลงพื้นบ้านคือ ความเรียบง่ายและความเฉพาะถิ่น ความเรียบง่ายนั้นปรากฏอยู่รูปแบบและทำนองเพลง ความเรียบง่ายของรูปแบบคือ การซ้ำคำซ้ำวรรค ซ้ำโครงสร้างของจังหวะผสม (Isorhymic structure) ภาษาที่ใช้เป็นภาษพูดธรรมดา ส่วนความเรียบง่ายนั้นในท่วงทำนองเพลง คือมีทำนองไม่ซับซ้อน และมีระดับเสียงซ้ำไปซ้ำมา สุกรี เจริญสุข (2538 : 41) ได้กล่าวถึงเพลงพื้นบ้านว่าเป็นเพลงที่มุ่งเพื่อความสนุก ซึ่งเป็นความสนุกของชาวบ้านที่ใช้ดนตรีเข้ามาประกอบ เพลงพื้นบ้านเป็นผลงานเพลงของชาวบ้านที่ไม่ต้องฝึกฝนเชี่ยวชาญ ที่ปฏิบัติกันอยู่เพราะความเคยชินไม่ได้มุ่งความไพเราะหรือความสวยงาม แต่มุ่งเน้นที่ความสนุกเป็นหลัก นักบรรเลงเพลงพื้นบ้านสืบต่อกันมาด้วยการเลียนแบบ ลอกเลียนตามกันมาโดยเด็กทำตามผู้ใหญ่ ในระบบครอบครัวหรือระบบชาวบ้าน ไม่ได้มีการฝึกฝนเพื่อความเป็นเลิศทางศิลปะแต่อย่างใด “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” นอกเหนือจากความสนุกแล้ว เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพของชาวบ้านอีกด้วย เล่นกันเองเพื่อดูกันเอง จากความหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวโดยสรุปว่า เพลงพื้นบ้าคือบทเพลงที่เกิดจากคนในท้องถิ่นต่าง ๆ คิดรูปแบบการร้อง การเล่นขึ้น เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนอง ภาษาเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มุ่งความสนุกสนานรื่นเริง ใช้เล่นกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ ตรุษจีน ลอยกระทง ไหว้พระประจำปี หรือแม้กระทั่งในโอกาสที่ได้มาช่วยกันทำงาน ร่วมมือร่วมใจเพื่อทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน สุกรี เจริญสุข (2538 : 41) ได้กล่าวถึงเพลงพื้นบ้านว่าเป็นเพลงที่มุ่งเพื่อความสนุก ซึ่งเป็นความสนุกของชาวบ้านที่ใช้ดนตรีเข้ามาประกอบ เพลงพื้นบ้านเป็นผลงานเพลงของชาวบ้านที่ไม่ต้องฝึกฝนเชี่ยวชาญ ที่ปฏิบัติกันอยู่เพราะความเคยชินไม่ได้มุ่งความไพเราะหรือความสวยงาม แต่มุ่งเน้นที่ความสนุกเป็นหลัก นักบรรเลงเพลงพื้นบ้านสืบต่อกันมาด้วยการเลียนแบบ ลอกเลียนตามกันมาโดยเด็กทำตามผู้ใหญ่ ในระบบครอบครัวหรือระบบชาวบ้าน ไม่ได้มีการฝึกฝนเพื่อความเป็นเลิศทางศิลปะแต่อย่างใด “ไม่เก่งแต่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญแต่เคยมือ” นอกเหนือจากความสนุกแล้ว เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพของชาวบ้านอีกด้วย เล่นกันเองเพื่อดูกันเอง เนื้อร้องของเพลงพื้นบ้าน (Text) เกี่ยวข้องกับชีวิต การงาน ความรัก ความสนุกสนานเฮฮา การดื่มกินสังสรรค์ การเกี้ยวพาราสี เป็นต้น อาจจะพูดได้ว่าเนื้อร้องเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องของชีวิตของชาวบ้าน เว้นไว้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อนิทานพื้นบ้าน วรรณคดีที่เป็นรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรม ความมีเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านก็คือการพูดถึงเรื่องชีวิตตัวเอง การเล่าเรื่องเล่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องของหมู่บ้าน เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของชีวิต ทำให้ทุกคนในสังคมของหมู่บ้านมีความผูกพันซึ่งกันและกัน นอกจากเนื้อร้องเพลงพื้นบ้านเป็นสื่อแล้ว เนื้อร้องยังเป็นศิลปะรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมของคนในหมู่บ้าน ซึ่งทำหน้าที่ถมช่องว่างให้แต่ละครอบครัวมีความผูกสัมพันธ์กัน ความเด่นของเพลงพื้นบ้านอยู่ที่ความไพเราะ คารมหรือถ้อยคำง่าย ๆ แต่มีความหมาย กินใจ ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบกัน เพลงพื้นบ้านส่วนใหญ่จะมีเนื้อร้อง และทำนองง่าย ๆ ร้องเล่นได้ไม่ยาก ฟังไม่นานก็สามารถร้องเล่นตามได้ การเล่นเพลงชาวบ้าน จะเล่นกัน ตามลานบ้าน ลานวัด ท้องนา ตามลำน้ำ แล้วแต่โอกาสในการเล่นเพลง เครื่องดนตรี ที่ใช้เป็นเพียงเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง กรับ กลอง หรือเครื่องดนตรี ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองบางทีก็ไม่มีเลยใช้การปรบมือประกอบจังหวะสิ่งสำคัญในการร้องเพลงชาวบ้านอีกอย่างก็คือ ลูกคู่ที่ร้องรับ ร้องกระทุ้ง หรือร้องสอดเพลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นยิ่งขึ้น 9.2 แนวคิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วม เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทางด้านจิตใจและอารมณ์ (Mental and Emotional Involvement) ของบุคคลหนึ่งในสถานการณ์กลุ่ม (Group Situation) ซึ่งผลของการเกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นเหตุเร้าใจให้กระทำการให้บรรลุจุดมุ่งหมายของกลุ่มนั้น กับทั้งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมรับผิดชอบกับกลุ่มดังกล่าวด้วย (นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์, 2527, หน้า 183) ซึ่งถ้าหากพิจารณาถึง “การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม” แล้ว เมตต์ เมตต์การรุณ์จิต (2541, หน้า 22) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นกระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องในการดำเนินการพัฒนา ร่วมคิด ตัดสินใจแก้ปัญหาของตนเอง เน้นการมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันของประชาชน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนติดตามผลการปฏิบัติงานขององค์การและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชน” ปาริชาติ วลัยเสถียร (2537, หน้า 1) ได้เรียบเรียงจากหนังสือ Community Organization: Theory, Principles and Practice โดย Marray G. Ross ได้กล่าวว่า เป็นผลมาจากความเห็นพ้องกันในเรื่องของความต้องการและทิศทางของการเปลี่ยนแปลง ความเห็นพ้องต้องกันนั้นจะต้องมีมากพอจนเกิดความริเริ่มโครงการเพื่อปฏิบัติการ กล่าวคือ ต้องเป็นความเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ที่จะเข้าปฏิบัติการนั้นๆ และนอกจากนั้นยังให้ความเห็นที่เกี่ยวกับเงื่อนไขที่จำเป็นของการมีส่วนร่วม 3 ประการคือ ความมีอิสระที่จะเข้าร่วมความสามารถที่จะเข้าร่วม และความเต็มใจที่จะเข้าร่วม สายทิพย์ สุคติพันธ์ (2534) กล่าวว่า การมีส่วนร่วมเป็นการเปลี่ยนแปลงกลไกในการพัฒนาจากการพัฒนาโดยรัฐมาเป็นการพัฒนาที่ประชาชนมีบทบาทหลัก การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงหมายถึง การคืนอำนาจ (Empowerment) ในการกำหนดการพัฒนาให้แก่ประชาชน อย่างน้อยที่สุดประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการริเริ่มวางแผน และดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสภาพความเป็นอยู่และอนาคตของเขา นเรศ สงเคราะห์สุข (2541) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมของประชาชนในลักษณะที่เป็นกระบวนการของการพัฒนา ตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ ได้แก่ การวิจัย (ศึกษาชุมชน) การวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินงาน การบริหารจัดการ การติดตามและประเมินผล ตลอดจนการจัดสรรผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น สุรัสวดี อาสาสรรพกิจ (2542) ได้ให้ความหมายของการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว หมายถึง กระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆได้ร่วมกันคิด พิจารณาและตัดสินใจในการท่องเที่ยวในด้านที่ตนมีความถนัดและมีศักยภาพเพียงพอ รวมทั้งโอกาสที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในท้องถิ่นนั้น รำพรรณ แก้วสุริยะ (2544) ได้ให้ความหมายการมีส่วนร่วมของชุมชนในการท่องเที่ยวว่า หมายถึง การให้โอกาสชุมชนยอมรับกิจกรรมการท่องเที่ยวแต่ละประเภท ร่วมดำเนินการ ร่วมวางแผนการจัดการด้วยกัน ร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนด้วยกัน และได้รับผลประโยชน์ทั้งรายได้และผลกำไรอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งสอดคล้องกับ สินธุ์ สโรบล (2545) ที่กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยว ว่าหมายถึง การมีสิทธิในการควบคุมดูและกระบวนการท่องเที่ยว โดยมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นการสำรวจ วางแผน จัดการ ดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ต่อท้องถิ่นแล้ว ยังชี้ถึงความสำคัญของท้องถิ่นและเป็นกระบวนการเรียนรู้ลู่ทางการพัฒนาความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชนอีกด้วย สำหรับการวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยได้เลือกศึกษาถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งหมายถึง บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะของการร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ที่มีผลกระทบต่อตนเองหรือชุมชน ลักษณะการมีส่วนร่วมของประชาชน มนัส ศุภลักษณ์ (2544, หน้า 83) กล่าวถึงลักษณะการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆด้วยกัน ได้แก่ การมีส่วนร่วมแบบจอมปลอม (Pseudo-Participation) ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การมีส่วนร่วมแบบได้รับการเลี้ยงดู (Domestication) เป็นการใช้อำนาจและการควบคุม ซึ่งผู้วางแผน บริหาร อภิสิทธิ์ชนท้องถิ่น นักวิชาการ หรือพวกมืออาชีพทั้งหลายมีอยู่ในมือ เป็นการทำให้เกิดการยอมรับโดยเทคนิคการมีส่วนร่วมแบบจอมปลอม ในการดึงดูดให้ประชาชนยอมตาม ในสิ่งซึ่งบุคคลภายนอกเหล่านี้เห็นดีเห็นควร เพื่อประโยชน์ของพวกเขามากกว่าที่จะให้สิทธิและอำนาจแก่ประชาชนผู้เข้าร่วม อีกลักษณะหนึ่งคือ การมีส่วนร่วมแบบให้ได้รับความช่วยเหลือ (Assistencialism หรือ Paternalism) ซึ่งอำนาจและการควบคุมยังคงอยู่ในมือของบุคคลภายนอก ประชาชนผู้เข้าร่วมได้รับข่าวสารข้อมูล และได้รับการปรึกษาหารือ ได้รับการช่วยเหลือหรือปลอบใจ ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ทำให้ผู้รับเป็นเหมือนวัตถุ ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันใดๆ ในเรื่องผลประโยชน์ อีกรูปแบบหนึ่งคือ รูปแบบการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (Genuine Participation) แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ เช่นกัน ได้แก่ การมีส่วนร่วมแบบความร่วมมือ (Cooperation) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประชาชนร่วมมือกับบุคคลภายนอกในการทำกิจกรรมใดๆที่ผลลัพธ์จะกลายเป็นผลประโยชน์ของพวกเขา การตัดสินใจเกิดขึ้นโดยการเสวนาระหว่างบุคคลภายในและบุคคลภายนอก อำนาจและการควบคุมของประชาชนได้รับการแบ่งปันตลอดกระบวนการ รูปแบบที่สอง คือ การมีส่วนร่วมแบบประชาชนมีอำนาจ (Empowerment) ซึ่งเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งประชาชนจะมีศักดิ์ศรีและอำนาจในทุกมิติ ทุกขั้นตอน ตลอดกระบวนขององค์กร และกระบวนการ ซึ่งเพื่อที่จะได้มาซึ่งอำนาจดังกล่าว ประชาชนจะต้องสามารถควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ ในโครงการหรือสถาบัน รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจและการบริหารจัดการ นำไปสู่การสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย ความสมานฉันท์ และการเป็นผู้นำ การมีส่วนร่วมควรอยู่ในรูปแบบของ “การกำหนดหนทางร่วมกัน” กับบุคคลภายนอก ซึ่งประชาชนผู้เข้าร่วมสร้างความหมายใหม่ให้เกิดขึ้นด้วยข้อต่อรองของพวกเขาเองโดยการเสวนาร่วม ซึ่งเป็นผลมาจากหลักการพื้นฐานของการออกแบบและวิธีวิจัยในกระบวนของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เฉพาะในรูปแบบของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงเท่านั้นที่ประชาชนจะต้องมีบทบาทในทุกกระบวนการด้วยตนเอง โคเฮน และอัฟฮอฟ (1980. p. 219) สุเมธ ทรายแก้ว (2536, หน้า 15) และ ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ (2534, หน้า 72) กล่าวถึงลักษณะการมีส่วนร่วมของประชาชน 4 มิติ ดังนี้ มิติที่หนึ่ง คือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ว่าอะไรควรทำและทำอย่างไร มิติที่สอง คือ การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการ ประกอบด้วย การสนับสนุนด้านทรัพยากรการบริหาร และการประสานขอความร่วมมือ มิติที่สาม คือ การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านวัตถุ ผลประโยชน์ทางด้านสังคม หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล มิติที่สี่ คือ การมีส่วนร่วมในการประเมินผล ในทำนองคล้ายคลึงกัน เฉลิม เกิดโมลี (2543) ได้เสนอลักษณะของการมีส่วนร่วม คือ การร่วมคิดตัดสินใจ คือ ต้องทั้งร่วมคิดและต้องมีอำนาจตัดสินใจในระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง การร่วมปฏิบัติ คือ ร่วมในขั้นตอนของการดำเนินการทั้งหมด และการร่วมสนับสนุน อาจเป็นไปได้ตั้งแต่ให้ข่าวสารข้อมูล ถึงการสนับสนุนทรัพยากรบริการ ปาริชาติ วลัยเสถียร (2543, หน้า 144) กล่าวถึงลักษณะของการมีส่วนร่วม โดยแบ่งตามบทบาทและหน้าที่ของผู้เข้าร่วม ได้แก่ การเป็นสมาชิก การเป็นผู้เข้าประชุม การเป็นผู้บริจาคเงิน การเป็นกรรมการ และการเป็นประธาน ซึ่งสอดคล้องกับ ดุสิต เวชกิจ และคณะ (2547) และจินตนา ทองรอด (2529, หน้า 97) ได้ทำการศึกษาลักษณะของการมีส่วนร่วม และได้แบ่งลักษณะของการมีส่วนร่วมออกเป็น ได้แก่ การมีส่วนร่วมประชุม การมีส่วนร่วมออกเงิน การมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ และการมีส่วนร่วมเป็นผู้นำ และพบว่าลักษณะของการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนใหญ่จะเข้ามาร่วมในลักษณะของการใช้แรงงาน การร่วมออกเงินมากกว่าการแสดงความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะ การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้าน สุกัญญา ภัทราชัย ( 2528 : 275 ) กล่าวว่า การอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านให้คงอยู่อย่างมีชีวิตและมีบทบาทเหมือนเดิมคงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่อาจทำได้ใน ขณะนี้ก็คือการอนุรักษ์ เพื่อช่วยให้วัฒนธรรมของชาวบ้านซึ่งถูกละเลยมานานปรากฏอยู่ใน ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยเช่นเดียววัฒนธรรมที่เราถือเป็นแบบฉบับ การอนุรักษ์มี 2 วิธีการ ได้แก่ การอนุรักษ์ตามสภาพดั้งเดิมที่เคยปรากฏ และการอนุรักษ์โดยการประยุกต์ การอนุรักษ์ตามสภาพดั้งเดิมที่เคยปรากฏ หมายถึงการสืบทอดรูปแบบเนื้อหา วิธีการร้อง เล่น เหมือนเดิมทุกประการ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การอนุรักษ์โดยการประยุกต์ หมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเนื้อหาให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันเพื่อให้คงอยู่และมีบทบาทในสังคมต่อไป ทั้งนี้การอนุรักษ์ทั้งสองวิธีการนั้น ควรปฏิบัติดังนี้ 1. การบันทึกและการศึกษายังเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรกระทำต่อไป แม้ว่าจะมีบุคคลและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายแห่งได้ดำเนินการสำรวจ บันทึกและศึกษาเพลงพื้นบ้านใน ท้องถิ่นต่าง ๆ ไว้จำนวนมากก็ตาม แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านยังคงมีอีกมากมายที่รอให้นักวิชาการและผู้สนใจได้บันทึกและศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาเพลงพื้นบ้านด้วยหลักทฤษฎีต่าง ๆ ยังมีไม่มากนัก 2. การถ่ายทอดและการเผยแพร่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรกระทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ขาดช่วงการสืบทอด ปกติศิลปินพื้นบ้านส่วนใหญ่มักจะเต็มใจที่จะถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านให้แก่ลูกศิษย์และผู้สนใจทั่วไป แต่ปัญหาที่พบคือไม่มีผู้สืบทอดหรือมีก็น้อยมาก ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่การเผยแพร่เพื่อชักจูงใจให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญ รู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดความหวงแหนและอยากฝึกหัดต่อไป การจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาฝึกหัดเพลงพื้นบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วิธีการที่น่าจะทำได้ ได้แก่ การเชิญศิลปินอาชีพมาสาธิตหรือแสดง การเชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญมาฝึกอบรมหรือฝึกหัดกลุ่มนักเรียนนักศึกษาให้แสดงในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้จะได้ทั้งการถ่ายทอดและการเผยแพร่ไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านจะอาศัยเฉพาะศิลปินพื้นบ้านคงไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น เวลา สถานที่ และงบประมาณ แนวทางการแก้ไขก็ควรสร้างผู้ถ่ายทอดโดยเฉพาะครูอาจารย์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการปลูกฝังวัฒนธรรมของชาติ และมีกำลังความสามารถในการถ่ายทอดให้แก่เยาวชนได้จำนวนมาก แต่การถ่ายทอดทฤษฎีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ครูอาจารย์ควรสร้างศรัทธาโดย “ทำให้ดู ให้รู้ด้วยตา เห็นค่าด้วยใจ” เพราะเมื่อเด็กเห็นคุณค่าจะสนใจศึกษาและใฝ่หาฝึกหัดต่อไป อนึ่ง การเผยแพร่เพลงพื้นบ้านเท่าที่ปรากฏมามีหลายรูปแบบ ได้แก่ การแสดง การสาธิต การบรรยาย การบันทึกแถบเสียงและแถบภาพ รวมทั้งการเผยแพร่ในรูปงานเขียน เช่น บทความ สารคดี ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสารและเอกสารทางวิชาการ ทั้งโดยสถาบันของรัฐและเอกชน นักวิชาการ ผู้สนใจและศิลปินพื้นบ้าน อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าควรจะเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีอันทันสมัยและการร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการจัดทำแถบบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพเผยแพร่ให้แก่สถานศึกษาต่าง ๆ และผ่านสื่อมวลชน ซึ่งมีศักยภาพในการกระจายข่าวสารสู่ผู้ฟังอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง รวมทั้งมีอิทธิพลต่อผู้ฟังอย่างมากด้วย นอกจากนี้อาจเชิญชวนศิลปินนักร้องและนักแสดงรุ่นใหม่มาฝึกหัดและเผยแพร่การแสดงเพลงพื้นบ้านผ่านสื่อต่าง ๆ บ้าง ก็จะช่วยจูงใจผู้ชมได้มากยิ่งขึ้น 3. การส่งเสริมและการสนับสนุนเพลงพื้นบ้าน เป็นงานหนักที่ต้องอาศัยบุคคลที่เสียสละและทุ่มเท รวมทั้งการประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย ที่ผ่านมาปรากฏว่ามีการส่งเสริมสนับสนุนเพลงพื้นบ้านค่อนข้างมากทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ได้แก่ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัด สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพฯ สำนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งเสริมเพลงพื้นบ้านที่ควรกระทำ ได้แก่ 3.1 การพัฒนาความรู้ความสามารถของศิลปิน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นัก วิชาการและนักปกครอง ควรให้ความรู้และแนะนำศิลปินพื้นบ้านให้มีความตื่นตัวที่จะแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อจะได้รอบรู้และนำความรู้นั้นมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงและเผยแพร่แก่ประชาชน อันจะทำให้ผู้ฟังศรัทธาและนิยมเพลงพื้นบ้านต่อไป 3.2 การปรับรูปแบบและเนื้อหาให้เหมาะกับสภาพสังคมแต่ไม่ควรละทิ้ง แบบแผนเดิม เช่น การเพิ่มแสง สี เสียงประกอบพอควร การใช้เครื่องแต่งกายที่สีฉูดฉาดแต่คงรูปแบบการนุ่งโจงกระเบน การเพิ่มเครื่องดนตรีไทยเพื่อประกอบจังหวะขณะร้อง หรือแสดงตลกคั่นรายการ การแต่งบทเพลงเกี่ยวกับท้องถิ่นของผู้ฟัง การนำเรื่องราวในสังคมมาล้อเลียน ประชดประชัน การนำมุขตลกที่ทันสมัยมาแทรกในการร้อง เป็นต้น อนึ่ง แม้ว่าการปรับปรุงรูปแบบและเนื้อหาให้เหมาะกับสังคมจะเป็นหน้าที่ของศิลปินพื้นบ้าน แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ควรให้ความรู้และชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง เพราะเท่าที่ปรากฏมีคณะเพลงบางคณะพยายามปรับรูปแบบการเล่นเพลงให้ทันสมัยแต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น นำการเต้นแบบสากลมาประกอบการแสดง ทำให้ผู้ชมรุ่นเก่าบางคนไม่ยอมรับและผู้ชมรุ่นใหม่ก็ไม่นิยม เพราะเห็นว่าเป็นการประยุกต์แบบครึ่ง ๆ กลางๆ สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัญหาต่อการสืบทอดเพลงพื้นบ้านที่ไม่ควรมองข้าม 3.3 การให้การศึกษาและปลุกจิตสำนึกแก่ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องควรให้การศึกษาแก่ชาวบ้านให้เข้าใจ และยอมรับเพลงพื้นบ้านว่าเป็นวัฒนธรรมของชาติและเป็นมรดกทางปัญญาของบรรพชนของท้องถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความศรัทธาและภาคภูมิใจในฐานะที่เป็น เจ้าของ และตระหนักถึงความรับผิดชอบในการบำรุงรักษาและสืบทอดเพลงนี้ต่อไป นอกจากนั้นยังควรปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ดีต่อเพลงพื้นบ้านแก่ประชาชนทั่วไป โดยให้ความรู้และจูงใจให้ประชาชนยอมรับและศรัทธาว่า เพลงพื้นบ้านเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของผู้แต่ง ผู้ร้อง และพยายามชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและภูมิปัญญาของชาวบ้าน ที่เห็นได้จากเนื้อเพลงที่ไพเราะ คมคาย สะท้อนให้เห็นถึงความเฉียบคมของความคิดที่คนรุ่นใหม่ควรสนใจและภาคภูมิใจ 3.4 การจัดโครงการและกิจกรรมส่งเสริมเพลงพื้นบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินพื้นบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้แสดงหรือสาธิตแก่ประชาชนและผู้ที่สนใจ อันจะทำให้ศิลปินเกิดความภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นบุคคลสำคัญในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติและมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานและสืบทอดเพลงต่อไป 3.5 การส่งเสริมเพลงพื้นบ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยแทรกเพลงพื้นบ้านในกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ ได้แก่ กิจกรรมของชีวิตส่วนตัว เช่น งานฉลองคล้ายวันเกิด งานมงคลสมรส งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ กิจกรรมในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ ลอยกระทงหรือสงกรานต์ กิจกรรมในสถาบันการศึกษา เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ งานกีฬาน้องใหม่ งานฉลองบัณฑิต และกิจกรรมในสถานที่ทำงาน เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ งานประชุมสัมมนา เป็นต้น การส่งเสริมดังกล่าวนี้หมายรวมว่าเจ้าของงานฝึกหัดและแสดงเอง หรือเชิญชวนญาติมิตรมาแสดง หรือเชิญศิลปินมาแสดงก็ได้ แต่ถ้าหากแสดงเองก็ควรหาผู้ฝึกหัดเพื่อความมั่นใจ นอกจากนั้นก็ต้องอาศัยความกล้าแสดงออก ความอุตสาหะและความคิดสร้างสรรค์ เพราะเป็น พ่อเพลงแม่เพลงสมัครเล่น โอกาสที่จะแสดงผิดพลาดย่อมเกิดได้ง่าย จึงควรมีความพยายาม ไม่ท้อแท้ แม้การแสดงครั้งแรก ๆ จะไม่ประสบผลสำเร็จ ควรทบทวนหาสาเหตุว่ามาจากอะไร เช่น แต่งเนื้อร้องไม่ถูกต้อง ร้องผิดทำนอง จำเนื้อร้องไม่ได้ ผู้ฟังไม่สนใจเพราะไม่มีมุขตลก เป็นต้น แล้วปรับปรุงแก้ไข สิ่งสำคัญต้องสร้างความมั่นใจว่าการแสดงเพลงพื้นบ้านได้นั้นเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสามารถพิเศษที่น้อยคนจะทำได้ 3.6 การส่งเสริมให้นำเพลงพื้นบ้านไปเป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งในระบบราชการและในวงการธุรกิจ เท่าที่ผ่านมาปรากฏว่ามีหน่วยงานของรัฐและเอกชนหลายแห่งนำเพลงพื้นบ้านไปเป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรีเชิญขวัญจิต ศรีประจันต์ ไปร้องเพลงพื้นบ้านประชาสัมพันธ์ผลงานของจังหวัด บริษัทที่รับทำโฆษณาน้ำปลายี่ห้อทิพรส ใช้เพลงแหล่สร้างบรรยากาศความเป็นไทย อุดม แต้พานิช ร้องเพลงแหล่ในโฆษณาโครงการหารสอง รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน บุญโทน คนหนุ่ม ร้องเพลงแหล่โฆษณาน้ำมันเครื่องท็อปกัน 2 T การใช้เพลงกล่อมเด็กภาคอีสานในโฆษณาโครงการสำนึกรักบ้านเกิดของ TAC เป็นต้น การใช้เพลงพื้นบ้านเป็นสื่อในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวนับว่าน่าสนใจและควรส่งเสริมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะทำให้เพลงพื้นบ้านเป็นที่คุ้นหูของผู้ฟัง และยังคงมีคุณค่าต่อสังคมไทยได้ตลอดไป 9.3 แนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เป็นกระบวนการวิจัยที่นำแนวคิด 2 ประการมาผสมผสานกัน คือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) กับการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participation research) มาใช้ในกระบวนการดำเนินการวิจัย ซึ่งการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้เป็นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์โดยอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีดังต่อไปนี้ กรมการศึกษานอกโรงเรียน (2538, หน้า 8) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เป็นการวิจัยที่พยามยามศึกษาชุมชน โดยเน้นการวิเคราะห์ปัญหา ศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ปฏิบัติตามแผน และติดตามประเมินผล ทั้งนี้ในการดำเนินการวิจัยทุกขั้นตอน ชาวบ้าน ประชาชน หรือสมาชิกของชุมชนนั้นๆจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย พันธุ์ทิพย์ รามสูต (2540, หน้า 31) กล่าวว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมเป็นรูปแบบของการวิจัยที่ประชาชนผู้เคยเป็นประชากรที่ถูกวิจัยกลับบทบาทเปลี่ยนเป็นผู้ร่วมในการกระทำวิจัยนั้นเอง โดยการมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการวิจัย จนกระทั่งการกระจายความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปสู่การลงมือปฏิบัติ กมล สุดประเสริฐ (2540, หน้า 8) ได้ให้ความหมาย การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมคือ การวิจัย ค้นคว้า และหาความรู้ตามหลักการของการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์แบบเดิมๆ แต่เน้นการมุ่งแก้ปัญหา และเป็นการวิจัยที่ดำเนินไปด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ร่วมงาน รวมทั้งในกระบวนการวิจัยและในการมีหุ้นส่วนใช้ประโยชน์ของการวิจัย สุภางค์ จันทวานิช (2547, หน้า 67) กล่าวถึง การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ว่าหมายถึง วิธีการที่ใช้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมร่วมวิจัย เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการวิจัย นับตั้งแต่การกำหนดปัญหาการดำเนินการ การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมกิจกรรม ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ (2531, หน้า 45) ได้สรุปลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วม ว่ามีลักษณะดังนี้ 1. เน้นการศึกษาชุมชน โดยมองคนในฐานะสมาชิกของชุมชนและพฤติกรรมของคนถูกำหนดโดยสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง 2. เน้นการสังเกตและการสัมภาษณ์ รวมทั้งการใช้ชีวิตในชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลเฉพาะเรื่องอย่างลึกซึ้ง 3. เน้นการใช้เวลาที่ยาวนานในการเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถแน่ว่านักวิจัยและชาวบ้านเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน 4. เน้นการให้ความสำคัญกับข้อมูล และความคิดของชาวบ้าน การเก็บข้อมูลเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร แบบการสื่อสารสองทาง 5. เน้นการหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยประชาชนมีส่วนร่วมการวิเคราะห์ปัญหาชุมชน และศึกษาดูว่าทรัพยากรในท้องถิ่นมีอะไรบ้างที่จะนำไปสู่การแก้ไข 6. เน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกโครงการเพื่อนำไปปฏิบัติ 7. เน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ปัญหา และสามารถทำต่อไปได้หลังจากนักวิจัยออกจากพื้นที่แล้ว ชอบ เข็มกลัด และโกวิทย์ พวงงาม (2537, หน้า 31) ได้นำเสนอแนวคิดและขั้นตอนของการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมไว้ สรุปได้ดังนี้ การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เป็นยุทธวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันขึ้นมาในรูปขององค์กรประชาชน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง ทั้งโครงสร้างและการดำเนินงานโดยอาศัยเงื่อนไขของการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนด้วยระบบข้อมูล ทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของข้อมูล เพราะข้อมูลจะช่วยให้ประชาชนสามารถวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนและทำการพัฒนาต่อไปได้ ประกอบด้วยขั้นตอนของการดำเนินการวิจัย ดังนี้ 1. ระยะก่อนทำการวิจัย ประกอบด้วย - การคัดเลือกชุมชนและการเข้าถึงชุมชน - การบูรณาการตัวนักวิจัยเข้ากับชุมชน - การสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน - การแพร่แนวคิด PAR แก่ชุมชน 2. ระยะการทำวิจัย ประกอบด้วย - การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชน - การพิจารณากำหนดปัญหา - การออกแบบการวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูล - การวิเคราะห์ข้อมูล - การนำเสนอข้อมูลต่อชุมชน 3. ระยะการจัดทำแผน ประกอบด้วย - การกำหนดโครงการหรือกิจกรรม - การศึกษาความเป็นไปได้ของแผนงาน - การวางแผนเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน 4. ระยะการนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย - การกำหนดทีมงานปฏิบัติงาน - การอบรมผู้ปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในชุมชน 5. ระยะการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน การติดตามและประเมินผล นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญในกระบวนการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ดังนั้น ควรมีการจัดตั้งทีมงานติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยการรับฝึกอบรมความรู้เทคนิคในการติดตามและประเมินผลโครงการ และจะต้องรวบรวมข้อมูลและผลการประเมินเสนอต่อที่ประชุมหมู่บ้านรับทราบและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนั้น การศึกษาในครั้งนี้จึงเลือกใช้รูปแบบของการวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เนื่องจากรูปแบบการวิจัยนี้เปลี่ยนแนวความคิดของนักวิจัยให้เชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนซึ่งเป็นการพัฒนาจากรากฐานของประเทศ และสอดคล้องกับแนวความคิดการพัฒนาในปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และแก้ปัญหาด้วยกระบวนการเรียนรู้ 9.4 แนวคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม Mc. Intosh and Goeldner (อ้างใน อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์, 2542) ให้คำจำกัดความของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมว่า เป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมของการท่องเที่ยวที่มนุษย์สามารถศึกษาวิถีชีวิตและความนึกคิดซึ่งกันและกัน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2542) สรุปไว้ว่า การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมคือ การท่องเที่ยวที่มุ่งเสนอลักษณะทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถานที่ต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอยู่ของสังคม เป็นการท่องเที่ยวในเชิงการให้ความรู้ และความภาคภูมิใจ Pigram (อ้างใน อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์, 2542) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ที่สะท้อนความเป็นไทยที่แท้จริง เพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัส สิ่งจูงใจสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคือ ความลึกซึ้งในความแตกต่างของวิถีชีวิต และการได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดซึ่งกันและกัน World Tourism Organization (อ้างใน วาลิกา แสนคำ, 2545) ได้ให้ความหมายการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมว่า เป็นการเคลื่อนไหวของผู้คนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยกระตุ้นทางวัฒนธรรม เช่น การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการศึกษา การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชื่นชมศิลปวัฒนธรรม ประเพณี เทศกาล การเข้าเยี่ยมชมอนุสรณ์สถาน การเดินทางเพื่อศึกษาขนบธรรมเนียมความเชื่อที่สืบทอดกันมาของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :-
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :ผู้วิจัยได้เสนอวิธีดำเนินการวิจัยตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อม 1) ศึกษารวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากวารสาร งานวิจัย บทความ จากฐานข้อมูลต่างๆ 2) ประชุมชี้แจงโครงการวิจัยระหว่างนักวิจัยและนักวิจัยในพื้นที่เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน 3) จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำเครื่องมือในเก็บรวบรวมข้อมูลเพลงพื้นบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ 4) เก็บรวบรวมข้อมูลเพลงพื้นบ้านในจังหวัดนครสวรรค์ ขั้นตอนที่ 2 ขั้นดำเนินการ 1) จัดเวทีระดมความคิดและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน 2) ระดมความคิดเห็นแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้าน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นการพัฒนาและบูรณาการองค์ความรู้ 1) ระดมความคิดและถอดบทเรียนเกี่ยวกับกลไกการบูรณาการความรู้เพลงพื้นบ้านกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 2) ส่งเสริมและสร้างกลไกในการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยการอบรม/การศึกษาดูงาน 3) ดำเนินการบูรณาการองค์ความรู้เพลงพื้นบ้าน (การคิด การวางแผน และการปฏิบัติ) เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ 4) จัดประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนในการพัฒนาเพลงพื้นบ้านจังหวัดนครสวรรค์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขั้นตอนที่ 4 ขั้นการวิเคราะห์และการประเมินผล 1) การวิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปภาพรวมเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาเพลงพื้นบ้านเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :903 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายภิญโญ ภู่เทศ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด