รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000140
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่วรรณคดีโบราณด้วยการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ : กรณีศึกษา อิเหนา
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Increasing Value of Traditional Thai Literature by Adaptation to TV Drama : a case study of Inoa
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :อิเหนา การสืบทอดวรรณคดีโบราณ ละครโทรทัศน์
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชาภาษาไทย
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :40000
งบประมาณทั้งโครงการ :40,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :12 กุมภาพันธ์ 2558
วันสิ้นสุดโครงการ :11 กุมภาพันธ์ 2559
ประเภทของโครงการ :การวิจัยพื้นฐาน
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขาสังคมวิทยา
กลุ่มวิชาการ :อื่นๆ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :อิเหนาเป็นวรรณคดีไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากนิทานปันหยี ซึ่งเป็นนิทานอิงพงศาวดารของชวา ปรากฏหลักฐานขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275-2301) ดังปรากฏเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระธิดาสองพระองค์ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลังหรืออิเหนาใหญ่ และ อิเหนา หรืออิเหนาเล็กขึ้น ตามเรื่องเล่าของนางกำนัลชาวปัตตานี เชื้อสายมลายู ชื่อยะโว แต่บทละครทั้งสองเรื่องก็ได้ชำรุดสูญหายไป เมื่อคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ต่อมาเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูพระนครให้เจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ๆ เหมือน “ครั้งบ้านเมืองดี” รวมทั้งด้านวรรณกรรมด้วย จึงทรงโปรดให้มีการประชุมกวีเพื่อแต่งวรรณคดีเรื่องสำคัญขึ้นใหม่หรือแต่งซ่อมส่วนที่ขาดหายให้มีความสมบูรณ์ เพื่อเป็น “ฉบับสำหรับพระนคร” ซึ่งอิเหนาก็เป็นหนึ่งในวรรณคดีเหล่านั้นด้วย โดยบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนาฉบับนี้ มีลักษณะคำประพันธ์เป็นกลอนบทละคร แต่เนื้อความยังขาดตอนเป็นระยะ ๆ ไม่ต่อเนื่องกันอย่างสมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่อง อิเหนา ขึ้นเพื่อใช้สำหรับเล่นละครใน ดังปรารภในเพลงยาวท้ายพระราชนิพนธ์ว่า “...ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่...” ซึ่งนอกจากจะพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาฉบับนี้ จะเป็นฉบับที่มีความสมบูรณ์ทางด้านเนื้อหามากที่สุดแล้ว ในสมัยต่อมายังได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นยอดกลอนบทละครใน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ชื่นชมบทละครเรื่องนี้ว่า “... อิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ซึ่งมีเนื้อเรื่องแปลกออกไปอีก ทรงดัดแปลงร้อยกรองโดยเฉพาะให้เป็นท่วงทีงดงามดี เหมาะแก่การเล่นละคร ในเชิงรำก็ให้ท่าที่จะรำได้แปลก ๆ งาม ๆ ในเชิงจัดหมู่ละครก็ให้ท่าที่จะจัดได้เป็นภาพงามโรง ในเชิงร้องก็ให้ทีที่จะจัดลู่ทางทำนองไพเราะเสนาะโสต ในเชิงกลอนก็สละสลวยเพราะพริ้งไม่มีที่เปรียบ อาจจะเล่นละครให้สมบูรณ์ครบองค์ห้าของละครได้ คือ 1. ตัวละครงาม 2. รำงาม 3. ร้องเพราะ 4. พิณพาทย์เพราะ 5. กลอนเพราะ ซึ่งสำเร็จเป็นทั้งทัศนานุตตริยะ และ สวนานุตตริยะ อย่างไพบูลย์” ความแพร่หลายของวรรณคดีเรื่องอิเหนามีปรากฏอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ทั้งนี้จะพบว่ามีการนำ เนื้อเรื่องบางตอนของอิเหนามาแต่งเป็นวรรณคดีขนาดสั้น เช่น อิเหนาคำฉันท์ ของ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และ คำฉันท์เรื่องนางจินตะหรา ของ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ หรือนำมาตัดตอนมาแต่งเป็นวรรณคดีการแสดงลักษณะอื่น ได้แก่ บทละครพูดเรื่องอิเหนา พระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร บทเจรจาลครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บทละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง อิเหนา พระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นอกจากนั้นยังมีความพยายามแปลวรรณคดีอันเป็นต้นเรื่องของอิเหนา ได้แก่ หิกะยัต ปันหยี สมิรัง. พระนิพนธ์แปล ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงแปลจากต้นฉบับภาษามลายู อิเหนาฉบับอารีนครา. แปลจากอิเหนาชวา ผู้แต่งชื่ออารีนครา ขุนนิกรการประกิจ เป็นผู้แปล เป็นต้น แม้ในปัจจุบัน วรรณคดีเรื่องอิเหนาก็ยังได้รับการนำมาผลิตซ้ำในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ละครรำของกรมศิลปากร หรือ การตัดตอนมาบรรจุไว้ในแบบเรียนภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษา หรือมีนำมาถอดความเป็นสำนวนร้อยแก้ว ซึ่งการผลิตซ้ำดังกล่าวอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการผลิตซ้ำตัวบทเดิม นำเสนอในรูปแบบลักษณะเดิม และจำกัดวงความสนใจเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตซ้ำวรรณคดีเรื่องอิเหนา พบว่ามีวรรณกรรมอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการนำวรรณคดีเรื่องอิเหนา มาสร้างสรรค์ใหม่และนำเสนอให้เหมาะสมกับรูปแบบของสื่อและบริบทสังคมร่วมสมัย และเป็นที่สนใจของคนในวงกว้าง ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะของการพยายาม “ต่อยอด” “ทำให้ฟื้นคืนชีพ” หรือ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” ให้แก่วรรณคดีโบราณแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนฐานคิดที่ว่า “วรรณกรรมจึงมักมีทวิวิจน์ (dialogue) กับวรรณกรรมด้วยกัน ทั้งคิดตามและคิดแย้ง” ได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็คือ รูปแบบละครโทรทัศน์ ดังต่อไปนี้ ในปีพุทธศักราช 2546 ได้มีการนำวรรณคดีเรื่องอิเหนา มานำเสนอในรูปแบบละครโทรทัศน์ โดยบริษัท ทีวีสแควร์ จำกัด แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 17.00-18.00 น. นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำวรรณคดีเรื่องนี้มานำเสนอในรูปแบบละครโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อมหาชนที่มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อเรื่องที่นำเสนอนั้นดำเนินตามโครงเรื่องของบทละครพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่มีการดัดแปลง ตัดทอน และเพิ่มเติมเหตุการณ์และตัวละครต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบและธรรมชาติของสื่อโทรทัศน์ ขณะเดียวกับก็พยายามรักษาหัวใจและบรรยากาศของเรื่องให้ตรงตามวรรณคดีต้นเรื่อง ละครโทรทัศน์อีกเรื่องซึ่งดัดแปลงมาจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง อิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เช่นกัน ก็คือ ละครโทรทัศน์เรื่อง สุดหัวใจเจ้าชายเทวดา ของ บริษัท กันตนา จำกัด ซึ่งแพร่ภาพทางสถานีวิทยุโทรทัศน์โมเดิร์น ไนท์ ทีวี ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์เวลา 19.00-19.30 น. ซึ่งละครโทรทัศน์เรื่องนี้มีความน่าสนใจในการดัดแปลงองค์ประกอบศิลป์ต่าง ๆ ของเรื่องให้ร่วมสมัยใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมละครได้ง่าย ดังที่ รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ (2554 : 3) ได้กล่าวถึงละครโทรทัศน์เรื่องนี้ว่า ละครโทรทัศน์เรื่อง สุดหัวใจเจ้าชายเทวดา ดัดแปลงพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ให้เป็นละครวัยรุ่นสมัยใหม่ ที่ใช้สเปคเชียลเอฟเฟคในฉากแฟนตาซีต่าง ๆ ท้องพระโรงจึงเป็นห้องรับแขกในบ้านสมัยใหม่ ตัวละครแต่งตัวตามสมัยปัจจุบันที่ผสมผสานกันแบบหัวมังกุท้ายมังกร เช่น อิเหนาใส่เสื้อกั๊กทับเสื้อเชิ้ต สวมหมวกปีกแคบ ประสันตาและ สังคามาระตาสวมสูทดำผูกหูกระต่าย วิหยาสะกำสวมกางเกงสีขาว ใส่เสื้อกล้ามขาว ทับด้วยเสื้อเชิ้ตลายดอกที่พับแขนสูงแบบจิ๊กโก๋หลังวัง และสวมหมวกปีกแคบ จรกาแต่งตัวแนวเร้กเก้ใส่เสื้อผ้าที่สดแสบ ไว้ผมทรงเดรดล็อก ส่วนบุษบาสวมชุดขี่ม้าแบบฝรั่ง ใช้ธนูแบบที่แข่งในสนามยิงธนู ตัวละครอื่น ๆ ก็แต่งตัวกันแบบล้ำจินตนาการ จนคาดเดาไม่ได้ว่าเหตุเกิดที่ไหน ในช่วงเวลาอะไรบนโลกนี้ เพราะในขณะที่แต่งตัวกันแบบ คนสมัยใหม่ ใช้ไอพอด มือถือ สู้กันด้วยปีน ธนู และกริช แต่ตัวละครก็เป็นเจ้าหญิงเจ้าชายเสนาอำมาตย์ ใช้ราชาศัพท์กันให้วุ่นวายไปหมด พูดให้เก๋ ก็อาจจะโมเมว่าเป็นละครแนว fusion คือ ผสมปนเปแบบยำใหญ่ นอกจากการดัดแปลงสิ่งที่เป็นฉากท้องเรื่องตลอดจนการแต่งกายให้เป็นยุคสมัยปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดายังได้ปรับเปลี่ยนลักษณะตัวละครสำคัญอีกหลายตัว เช่น วิหยาสะกำเป็นพวกนับถือซาตาน เมื่อหลงรักบุษบาก็ไปบูชาซาตานขอให้ช่วย ซึ่งซาตานก็คือแม่มดหมอผีที่สามารถแปลงร่างเป็นค้างคาวได้ หรือ จรกาเป็นคนปัญญาอ่อน (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ 2554 : 4) ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าผู้สร้างสรรค์บทละครโทรทัศน์นั้นมีกระบวนการคิดอย่างไรในการดัดแปลงดังกล่าว ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีแนวความคิดที่จะศึกษาเปรียบเทียบบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา ซึ่งผลการวิจัยจะทำให้ได้แนวทางในการดัดแปลงวรรณคดีโบราณเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวรรณคดีโบราณ และทำให้วรรณคดีโบราณสามารถดำรงคุณค่าอยู่ในสังคมปัจจุบันได้
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :5.1 เพื่อเปรียบเทียบบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา 5.2 เพื่อวิเคราะห์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำวรรณคดีโบราณมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์
ขอบเขตของโครงการ :ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยจะได้กำหนดขอบเขตในการศึกษาไว้ ๒ ประเด็น ได้แก่ 6.1 ขอบเขตด้านข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา ละครโทรทัศน์ จำนวน 2 เรื่อง ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเรื่องอิเหนา ได้แก่ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา ของ บริษัท ทีวีสแควร์ จำกัด และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา ของ บริษัท กันตนา จำกัด 6.2 ขอบเขตด้านวัตถุประสงค์ในการศึกษา 6.2.1 เพื่อเปรียบเทียบบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า นภาลัย กับ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา . 6.2.2 เพื่อวิเคราะห์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำวรรณคดีโบราณมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :10.1.1 ได้ทราบความเหมือนและความแตกต่างบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา 10.1.2 ได้แนวทางในการดัดแปลงวรรณคดีโบราณเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวรรณคดีโบราณ และทำให้วรรณคดีโบราณสามารถดำรงคุณค่าอยู่ในสังคมปัจจุบัน
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :จากการสืบค้นงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องอิเหนา พบว่ามีนักวิชาการศึกษาวรรณคดีเรื่องนี้ในแง่มุมต่าง ๆ ตามความถนัดและสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านประวัติความเป็นมา เช่น วิทยานิพนธ์เรื่อง A Study of the Dramatic Poems of the Panji Cycle in Thailand ของ คมคาย นิลประภัสสร (1966) วิทยานิพนธ์เรื่อง Panji Thai dalam Perbandingan dengen Cerita-cerita Panji Melayu ของ รัตติยา สาและ (1988) และ วิทยานิพนธ์เรื่อง การเปรียบเทียบเรื่องดาหลังและอิเหนากับเรื่องปันหยีมลายู ของ โสมรัศมี สินธุวณิก (2547) ด้านนาฏยศิลป์และการแสดง ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง ละครในของหลวงในสมัยรัชกาลที่ 2 ของ อารดา สุมิตร (2516) วิทยานิพนธ์เรื่อง จารีตการใช้อุปกรณ์การแสดงละครเรื่องอิเหนา ของ สุภาวดี โพธิเวชกุล (2540) วิทยานิพนธ์เรื่อง รำอาวุธของตัวพระในละครในเรื่องอิเหนา ของ รุ่งนภา ฉิมพุฒ (2541) วิทยานิพนธ์เรื่อง ลงสรงโทน : กระบวนท่ารำในการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ของ วรรณสินี สุขสม (2545) วิทยานิพนธ์เรื่อง การรำตรวจพลของตัวพระในการแสดงละครในเรื่องอิเหนา ของ ขวัญใจ คงถาวร (2548) วิทยานิพนธ์เรื่อง ลีลาท่ารำและบทบาทการแสดงตัวนางจินตะหราจากละครในเรื่องอิเหนา ของ รติยา สุทธิธรรม (2552) ด้านสังคมวิทยาและการสะท้อนภาพสังคม ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์บทละครรำเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิสหล้านภาลัย โดยเฉพาะสภาพชีวิตความเป็นไปที่ปรากฏในเรื่อง ของ บัวงาม อรรถพันธุ์ (2517) และ วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรม ในละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ของ วรรษชล ฤกษ์วันดี (2548) ด้านภาษาและวรรณศิลป์ ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง ความเปรียบในบทละครในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ของ ญาดา อรุณเวช (2526) วิทยานิพนธ์เรื่อง การสร้างอารมณ์สะเทือนใจในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ 2 ของ สุภัค มหาวรากร (2540) วิทยานิพนธ์เรื่อง ลักษณะคำยืมภาษาชวามลายูในบทละครเรื่องดาหลังและอิเหนา ของ สุพัชรินทร์ วัฒนพันธุ์ (2537) และ วิทยานิพนธ์เรื่อง พระราชนิพนธ์อิเหนาในรัชกาลที่ 2 : การสร้างนิทานปันหยีให้เป็นยอดแห่งวรรณคดีบทละครใน ของ ธานีรัตน์ จัตุทะศรี (2552) และ ด้านตัวละคร ได้แก่ วิทยานิพนธ์เรื่อง กษัตริย์ในวรรณคดีไทย ของ สุวคนธ์ จงตระกูล (2513) วิทยานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์พฤติกรรมของพระเวสสันดร พระลอ ขุนแผน และอิเหนา ตามแนว จริยศาสตร์ ของ พีระพันธุ์ บุญโพธิ์แก้ว (2532) อย่างไรก็ตาม การศึกษาต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น มักจะเป็นการศึกษาบทละครพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นสำคัญ และปรากฏว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมร่วมสมัยที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาเพียงเรื่องเดียว คือ วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาการดัดแปลงเรื่องอิเหนาเป็นบทละครโทรทัศน์ ของ จักรสุรักษ์ จันทรวงศ์ (2549) ซึ่งเน้นการเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างบทละครพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ บทละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา ของ บริษัท ทีวีสแควร์ จำกัด เป็นหลัก
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :7.1 ทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงสหบท (Intertextuality) ทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงสหบท เป็น การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบทหนึ่งกับตัวบทที่มีมาก่อนว่ามีการตอบโต้เชื่อมโยงกันอย่างไร โดยจูเลีย คริสติวา ได้พัฒนาขึ้นจาก ทฤษฎี Translinguistic Approach ของ บาคคติน (Bakhtin, 2000) ที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของลักษณะภาษาในตัวบทหนึ่งกับตัวบทอื่น ๆ โดยแนวคิดเรื่องทฤษฎีสหบทนี้ ตั้งอยู่บนความเชื่อว่า ตัวบททุกตัวบทที่เกิดขึ้นล้วนถูกประกอบสร้างขึ้นจากตัวบทหลาย ๆ ตัวบทที่มาก่อนหน้า ตัวบทหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายโยงใยไปสู่ตัวบทอื่น ๆ ในลักษณะของการสนทนาสื่อสัมพันธ์ (dialogic relationship) นักภาษาศาสตร์หลายคนได้นำแนวคิดเรื่องทฤษฎีสหบทนี้มาศึกษาภาษาและวรรณกรรม อาทิ แฟร์เคลาฟ์ (Fairclough, 1995, 1997) ได้ใช้ทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงสหบทมา วิเคราะห์กลวิธีทางภาษาที่อยู่ในตัวบท เช่น การสื่อแทนทางวาทกรรม (discourse representation) ข้อสมมติเบื้องต้น (presupposition) การปฏิเสธ (negation) การประชดประชัน (irony) เป็นต้น แนวคิดเรื่อง “สัมพันธบท” ซึ่งเชื่อว่าตัวบททุกบทจะดูดกลืนและแปรรูปตัวบทอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้านั้น อาจจะเป็นการอ้างถึงตรง ๆ หรือการนำข้อความเดิมมาบิดผันให้เกิดความหมายใหม่ หรือการยั่วล้อขนบนิยมหรืออนุภาคในงานเรื่องเดิม... การศึกษาแนวสัมพันธบทอาจจะล้มล้างความเชื่อในเรื่องความคิดริเริ่มของผู้แต่งและความมีเอกลักษณ์ของปัจเจกบุคคล แต่การศึกษาเช่นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีตัวบทวรรณกรรมใดเกิดจากความว่างเปล่า สิ่งที่กล่าวถึงในวรรณกรรมแต่ละชิ้นเคยถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมชิ้นอื่น ๆ มาก่อน วรรณกรรมจึงมักมีทวิวิจน์ (dialogue) กับวรรณกรรมด้วยกัน ทั้งคิดตามและคิดแย้ง 7.2 ทฤษฎีเรื่องเล่า การเล่าเรื่อง และศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง (Narrative, Narration, Narratology) เรื่องเล่า การเล่าเรื่อง และศาสตร์แห่งการเล่าเรื่อง เป็นศัพท์ที่ Tzvetan Todorov นักวรรณกรรมศึกษาชาวรัสเซียเป็นผู้กำหนดขึ้นมา และเป็นสาขาวิชาที่เพิ่งสถาปนาตัวเองขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 อันที่จริงการศึกษาการเล่าเรื่องนั้นมีมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในสายมนุษยศาสตร์ เช่น วรรณคดี คติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งอาจจะเรียกการศึกษาการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนทศวรรษ 1970 ว่า กระบวนทัศน์เดิม ซึ่งความแตกต่างระหว่างศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องที่เป็นกระบวนทัศน์เดิมและกระบวนใหม่
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :12.1 สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องอิเหนา 12.2 สำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสืบทอดวรรณคดีโบราณสู่วรรณกรรมร่วมสมัย 12.3 เรียบเรียงเอกสารข้อมูล/หนังสือ/งานวิจัย/บทความ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับใช้เขียน บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดกลุ่มของข้อมูลเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 12.3.1 ข้อมูลเกี่ยวกับอิเหนา 12.3.2 ข้อมูลเกี่ยวกับอิเหนาในบริบทสังคมร่วมสมัย 12.3.3 แนวคิดในการดัดแปลงวรรณกรรมให้เข้ากับบริบทสังคมร่วมสมัย 12.3.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอิเหนา 12.4 เปรียบเทียบบทละครพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับ ละครโทรทัศน์เรื่องอิเหนา และ ละครโทรทัศน์เรื่องสุดหัวใจเจ้าชายเทวดา 12.5 วิเคราะห์การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำวรรณคดีโบราณมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ 12.6 เรียบเรียงผลการวิเคราะห์เป็นบทที่ 4 12.7 สรุปผลการวิจัยและจัดทำเป็นรูปเล่ม
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :6584 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายอาทิตย์ ดรุนัยธร บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด