รหัสโครงการ : | R000000135 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | ระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับท้องถิ่น |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | Community Knowledge Base Information System on Smart Phone for Community |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | ระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชน, สมาร์ทโฟน, ท้องถิ่น |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี > ภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 40000 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 40,000.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 12 กุมภาพันธ์ 2558 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 11 กุมภาพันธ์ 2559 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ |
สาขาวิชาการ : | สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ |
กลุ่มวิชาการ : | วิทยาการคอมพิวเตอร์ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ระดับชาติ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | ระบบเศรษฐกิจที่อาศัยความรู้ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักนี้เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานความรู้” (Knowledge-based Economy) ซึ่งทรัพย์สินความรู้นี้เรียกว่า “ทุนทางปัญญา” หน่วยงานใดที่มีการจัดการความรู้ระบบสารสนเทศที่ดีและมีประสิทธิภาพจะสามารถใช้ประโยชน์จากทุนทางปัญญาของตนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ซึ่งการสร้างสังคมให้คนในท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสารสนเทศในด้านต่างๆ และเกิดวัฒนธรรมของการแสวงหาความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องพร้อมเรียนรู้ต่อไป คือ การจัดการความรู้ เพราะความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นมีมากมายแต่ปัญหาที่พบก็คือ การนำเอาความรู้มาใช้ไม่เป็น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการจัดการกับความรู้ และไม่สามารถบูรณาการความรู้ที่มีอยู่เดิมกับความรู้ใหม่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ด้านการสื่อสารออนไลน์ อาทิ อินเทอร์เน็ต สังคมออนไลน์ และ สมาร์ทโฟน เป็น เพื่อสังเคราะห์เป็นนวัตกรรมใหม่ได้ และการบูรณาการองค์ความรู้ของท้องถิ่นเข้ากับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีใหม่เพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ได้ (ศิริรัตน์ จาปีเรือง และ อมรรัตน์ วัฒนาธร. 2553)
การบริหารจัดการความรู้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ 1) การผลิตหรือการสร้างองค์ความรู้ 2) การแพร่กระจายความรู้ หรือการถ่ายทอด และ 3) การใช้ความรู้ ซึ่งจากปัญหาเดิมที่องค์การบริการส่วนตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ได้มีการดำเนินการบริการจัดการความรู้ของชุมชนโดยได้มีการสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ความรู้เพื่อให้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ โดยมีการออกแบบกิจกรรมสร้างสุขภาวะของตำบลสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ประกอบด้วยระบบย่อยที่เกี่ยวข้อง 8 ระบบ 25 ฐานเรียนรู้และเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงแล้วนั้น ได้แก่ ระบบการบริหารจัดการตำบล ระบบสวัสดิการและการเงินชุมชน ระบบเกษตรปลอดภัย ระบบพลังงานทดแทน ระบบเศรษฐกิจชุมชน ระบบส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน ระบบการดูแลสุขภาพ และ ระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น (อภิรดา มีเดช. 2553) ซึ่งพบว่ามีการกระจายฐานเรียนรู้อยู่ในหมู่บ้านทั่วตำบล และ ผู้ที่มีความสนใจที่จะศึกษาแหล่งเรียนรู้ในเรื่องใดนั้นไม่ว่าจะอยู่ในท้องถิ่นตนเอง ท้องถิ่นใกล้เคียง หรือ ท้องถิ่นไกลๆ นั้น จะต้องเสียเวลาในการเดินทางมาศึกษาด้วยตนเองโดยในบางเรื่องก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาด้วยการทำกิจกรรมจริงในพื้นที่ ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่บางสิ่งบางอย่างหรือความรู้บางเรื่องก็สามารถที่จะศึกษาหาความรู้และสอบถามความรู้เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังพื้นที่แหล่งความรู้ในสถานที่จริง ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่าควรจะเพิ่มเทคโนโลยี หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบขององค์การแห่งการเรียนรู้หนึ่งที่สำคัญ คือ ช่องทางในการช่วยให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันท้องถิ่นภายนอกได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ได้แก่ อินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคม เป็นต้น จะช่วยทำให้มีการจัดระบบข่าวสารในท้องถิ่น การจัดเก็บสารนิเทศไว้ในรูปที่สามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวก และ สามารถผลิตสารนิเทศได้ จึงทำให้ความรู้อันมีค่าในท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและนำไปใช้ให้ก่อเกิดประโยชน์ได้สำหรับท้องถิ่นเองและประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นอื่นได้
ปัจจุบัน จำนวนการใช้สมาร์ทโฟนของประชาชนมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมได้ให้บริการเครือข่ายไร้สายผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ให้บริการได้อย่างรวดเร็วในระดับ 3G และจะมี 4G ในอนาคตนั้น มีการใช้งานที่ง่าย เรียนรู้การใช้งานได้รวดเร็ว มีการผลิตเพื่อให้เลือกใช้หลายระดับ มีหลายราคา มีประสิทธิภาพตามความต้องการ อีกทั้ง มีโปรแกรมพื้นฐานที่จะใช้ในการแสดงผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ สามารถพกพาได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา และ ทุกคนก็สามารถใช้งานได้ ซึ่งจะต่างจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะที่จะใช้งานได้เมื่ออยู่กับที่พักหรือที่ทำงาน จึงไม่สะดวกต่อความต้องการในการใช้งานในทันที แม้จะใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ (Notebook computer) ก็ยังมีขนาดใหญ่ที่จะพกพา ซึ่งสมาร์ทโฟนนี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการสืบค้นและการบันทึกข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายได้โดยการจัดหาโปรแกรมที่สะดวกต่อการใช้งาน และก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการบันทึกข้อมูลได้
การให้ความรู้ในเรื่องระบบข้อมูลสารสนเทศและการใช้เทคโนโลยีกับประชาชนด้วยการจัดการความรู้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถนำไปสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงสนใจที่พัฒนาระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนผ่านสมาร์ทโฟนสำหรับท้องถิ่นออนไลน์ที่มีการเตรียมแบบฟอร์มการกรอกข้อมูล การสืบค้น การเรียกใช้ และ การแสดงผลข้อมูลในรูปแบบแบบ Responsive Web Design ที่เป็นการออกแบบที่ทำให้เว็บไซต์แสดงผลได้อย่างเหมาะสมบนอุปกรณ์ที่ต่างกันคือ สมาร์ทโฟน รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊คได้อีกด้วย ซึ่งสามาร์ทโฟนจะเป็นเครื่องมือในการเก็บบันทึก สืบค้น และ เผยแพร่ความรู้ของชุมชนที่จะเป็นแหล่งความรู้สำหรับสาธารณะ โดยผู้วิจัยจะถ่ายทอดความรู้ในการรวบรวม บันทึก และการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ชุมชนด้วยระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนด้วยสมาร์ทโฟนที่มีใช้อยู่กันแล้ว นอกจากนี้ ชุมชนจะมีทักษะการสืบค้นและการเรียกใช้ข้อมูลจากฐานความรู้ชุมชน อีกทั้งจะสามารถนำข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ในระบบสารสนเทศนำมาเสนอเพื่อการสังเคราะห์และสร้างฐานความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในชุมชนบันทึกเข้าสู่ระบบสารสนเทศได้โดยชุมชนเอง เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการเผยแพร่ และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการตามกระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้แก่ โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่จะต้องเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการออกแบบและใช้งานโปรแกรมประยุกต์ในองค์กรเพื่อให้การจัดเก็บข้อมูล และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในองค์กรเป็นไปอย่างอัตโนมัติ อาทิ รายวิชาระบบสำนักงานอัตโนมัติ พร้อมกันนี้จะศึกษาและวิเคราะห์ระดับทักษะและความรู้การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตว่าอยู่ในระดับใด โดยจะเป็นต้นแบบให้แก่ท้องถิ่นอื่นได้อย่างไรต่อไป |
จุดเด่นของโครงการ : | - |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | 1) เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนสำหรับการบันทึกและสืบค้นด้วยสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้กับท้องถิ่นในการสร้างและเผยแพร่ฐานความรู้ของชุมชนสู่สาธารณะ
2) เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการรวบรวม บันทึก และการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ชุมชนด้วยระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนด้วยสมาร์ทโฟน และการเพิ่มทักษะและความรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นการบูรณาการการเรียนการสอน อาทิ รายวิชาระบบสำนักงานอัตโนมัติ |
ขอบเขตของโครงการ : | ในการศึกษาในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาเป็น 2 ส่วน ดังนี้
1) ขอบเขตด้านเนื้อหา
เนื้อหาในการวิจัยครั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนที่มีความสามารถในการบันทึกและสืบค้นด้วยสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่สามารถนำไปใช้ในการสร้างฐานความรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะ และ เพื่อถ่ายทอดการรวบรวม บันทึก และการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศของระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชน นอกจากนี้ จะทำการศึกษาการใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว และ ศึกษาระดับทักษะและความรู้การใช้ข้อมูลและสารสนเทศของประชาชนกลุ่มเป้าหมายสำหรับการตัดสินใจในการพัฒนาตนเองว่าอยู่ในระดับใด โดยนักศึกษาได้ใช้เป็นกรณีศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการการเรียนการสอนรายวิชาระบบสำนักงานอัตโนมัติในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการออกแบบและใช้งานโปรแกรมประยุกต์และฐานข้อมูลในองค์กร
2) ขอบเขตด้านกลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้เป็นกรณีศึกษา คือ องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า และ ชาวบ้านตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี
3) ขอบเขตด้านเวลา
ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย จำนวน 1 ปี |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | 1) ได้ระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนสำหรับการบันทึกและสืบค้นด้วยสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้กับท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมายในการสร้างและเผยแพร่ฐานความรู้ของชุมชนสู่สาธารณะ
2) ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายมีทักษะและความรู้การใช้ข้อมูลและสารสนเทศเพิ่มขึ้น
3) ท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมายมีการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในการช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสติดต่อ สื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล ค้นหาข้อมูลข่าวสาร ศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น
4) มีการบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชาระบบสำนักงานอัตโนมัติ โดยนักศึกษาได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการออกแบบฐานข้อมูล รวมถึงเครือข่ายและมีพื้นฐานในเรื่งการวิจัยเบื้องต้นอีกด้วย |
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | 1) ระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชน
เป็นระบบที่ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ ระบบเครือข่าย ฐานข้อมูล ผู้พัฒนาระบบ ผู้ใช้ระบบ เป็นต้น ทุกองค์ประกอบนี้ทำงานร่วมกันเพื่อกำหนด รวบรวม จัดเก็บข้อมูล ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างสารสนเทศและส่งผลลัพธ์หรือสารสนเทศที่ได้ให้ผู้ใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงาน การตัดสินใจ การวางแผน การบริหาร การควบคุม การวิเคราะห์และติดตามผลการดำเนินงานขององค์กร (สุชาดา กีระนันทน์, 2541) และระบบสารสนเทศนี้เป็นระบบที่ต้องอาศัยระบบฐานข้อมูลระบบจัดเก็บข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงรักษาข้อสนเทศ (Maintain information) และสามารถนำข้อสนเทศเหล่านั้นมาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ดังนั้น ฐานความรู้ชุมชนจะเป็นการรวบรวมความรู้ภายในชุมชนแล้วนำมาเรียบเรียงจัดหมวดหมู่ อาทิ การออกแบบกิจกรรมสร้างสุขภาวะของตำบลสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า เป็นต้น แล้วบันทึกอยู่ในโครงสร้างฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์เพื่อจัดเตรียมการสืบค้นและจัดทำรายงานในรูปแบบของรายงานข้อมูลและสารสนเทศให้กับผู้ใช้ได้ตามความต้องการ
2) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ. 2545-2549 ได้กำหนดความหมายของ ICT ดังนี้ “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับข่าวสาร ข้อมูล และการสื่อสาร นับตั้งแต่การสร้าง การนํามาวิเคราะห์หรือประมวลผลการรับและส่งข้อมูล การจัดเก็บ และการนําไปใช้งานใหม่ เทคโนโลยีเหล่านี้ มักจะหมายถึงคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยส่วนอุปกรณ์ (Hardware) ส่วนคําสั่ง (Software) และส่วนข้อมูล (Data) และระบบการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ระบบสื่อสารข้อมูล ดาวเทียม หรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ ทั้งมีสายและไร้สาย” โดยที่อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อการการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศฐานความรู้ต่างๆ ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย การติดต่อสื่อสารที่สะดวก และรวดเร็ว และ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแหล่งใหญ่ที่สุดของโลก (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มปป.) รวมถึงการประยุกต์ใช้สมาร์ทโฟนเป็นอุกรณ์สำคัญสำหรับการจัดเก็บ สืบค้น และ การแสดงข้อมูลสารสนเทศจากระบบสารสนเทศฐานความรู้ที่ดำเนินการได้ทุกแห่งทุกที่ได้แบบไร้สายซึ่งสามารถดำเนินการโดยผ่านอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในระบบสำนักงานอัตโนมัติ |
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | 1) สมมุติฐานการวิจัย
การนำนวัตกรรมระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนผ่านสมาร์ทโฟนมาใช้เป็นเครื่องมือบันทึกและสืบค้นเพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานความรู้ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีทักษะการสืบค้นและเรียกใช้ความรู้จากฐานความรู้ชุมชนมาสังเคราะห์เพื่อการตัดสินใจในการพัฒนาตนเองได้สูงกว่าไม่ใช้นวัตกรรมระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชน |
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้รูปแบบการวิจัยผสมผสานในการวิจัยเชิงคุณภาพ (Quality Research) และเชิงปริมาณ (Quantity Research) โดยมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 1 เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนสำหรับการบันทึกและสืบค้นด้วยสมาร์ทโฟนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้กับท้องถิ่นในการสร้างและเผยแพร่ฐานความรู้ของชุมชนสู่สาธารณะสำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า โดยกำหนดวิธีการและขั้นตอนดังนี้
1) การวิเคราะห์ความต้องการ (Requirement Analysis) เป็นการสรุปหาความต้องการของผู้ใช้ การใช้งานในแต่ละด้านของระบบใหม่ และ สรุปข้อเด่นและข้อด้อยของวิธีการทำงานในปัจจุบัน โดยการรวบรวมด้วยการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) จำนวน 2 วัน และ ทำการวิเคราะห์ตามระบบกำหนดเวลา 1 เดือน
2) การออกแบบระบบ (System Design) ทำการออกแบบรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของระบบสารสนเทศ ได้แก่ การแสดงผลลัพธ์ การป้อนข้อมูล การเก็บรักษา และการปฏิบัติงาน ในรูปแบบแบบ Responsive Web Design ที่เป็นการออกแบบที่ทำให้เว็บไซต์แสดงผลได้อย่างเหมาะสมบนอุปกรณ์ที่ต่างกันคือ สมาร์ทโฟน รวมถึงการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊คได้อีกด้วย กำหนดระยะเวลา 2 เดือน
3) การพัฒนาระบบ (System Development) ทำการเขียนโปรแกรม จัดเตรียมฐานข้อมูล กำหนดส่วนประกอบของระบบทั้งในด้านของอุปกรณ์และชุดคำสั่ง ตลอดจนคู่มือการใช้ระบบสำหรับการอบรมผู้ใช้ กำหนดเวลา 3-4 เดือน
4) การติดตั้งระบบและการบำรุงรักษา (System Implementation and Maintenance) ติดตั้งโปรแกรมและอุปกรณ์ต่างๆ ของระบบใหม่ ทดสอบการใช้งาน และประเมินผลระบบ กำหนดเวลา 1 เดือน
5) ถ่ายทอดความรู้ โดยการอบรมขยายผลผู้ใช้อีกจำนวน 40 คน
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการศึกษาตามวัตถุประสงค์การวิจัยข้อที่ 2 เพื่อถ่ายทอดความรู้ในการรวบรวม บันทึก และการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ชุมชนด้วยระบบสารสนเทศฐานความรู้ชุมชนด้วยสมาร์ทโฟนในการเป็นทางไปสู่ท้องถิ่นออนไลน์และการเพิ่มทักษะและความรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในท้องถิ่นกลุ่มเป้าหมายของชาวบ้านตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี โดยกำหนดวิธีการและขั้นตอนดังนี้
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ผู้วิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างชาวบ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่าจำนวน 10 หมู่บ้าน เลือกแบบเฉพาะเจาะจงและสมัครใจเข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวนหมู่บ้านละ 4 คน รวมทั้งสิ้น 40 คน
แหล่งข้อมูล
เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามโดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. ผู้วิจัยได้สร้างเครื่องมือที่ใช้ในการตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัย
2. ผู้วิจัยนำเครื่องมือที่สร้างผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไปทดลองใช้กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แต่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่างเพื่อหาความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม
3. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างก่อนการอบรม
4. ผู้วิจัยดำเนินการอบรมการใช้โปรแกรมให้กับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 3 วัน (นักศึกษาเป็นผู้ช่วย)
5. ผู้วิจัยกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างได้ทดลองใช้โปรแกรมระบบสารสนเทศฯ จำนวน 2 เดือน ตามกระบวนการจัดการความรู้ 7 กิจกรรม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2548) ดังนี้คือ 1) การบ่งชี้ความรู้ 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ 5) การเข้าถึงความรู้ 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และ 7) การเรียนรู้
6. ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างหลังการทดลองใช้ระบบสารสนเทศฯ โดยให้ตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมในชี้แจงและการจัดเก็บแบบสอบถาม
7. ผู้วิจัยนำผลการตอบแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างมาตรวจสอบความเรียบร้อย ความถูกต้องสมบูรณ์ในการลงข้อมูล และ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย โดยให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
1. เครื่องมือในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนั้น ผู้วิจัยได้สร้างแบบสอบถาม (Questionnaire) ขึ้น โดยศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร ตำรา วารสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีโครงสร้างคำถามครอบคลุมประเด็นเนื้อหาทักษะและความรู้การใช้ข้อมูลและสารสนเทศ โดยใช้ลักษณะคำถามเป็นแบบมาตราส่วนการประมาณค่า (Rating Scale) คือเกณฑ์การให้ค่า 5 ระดับ ดังนี้ 5 หมายถึง มากที่สุด, 4 หมายถึง มาก, 3 หมายถึง ปานกลาง, 2 หมายถึง น้อย และ 1 หมายถึงน้อยที่สุด
โดยเนื้อหาของแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 ข้อมูลสภาพทั่วไปของผู้ตอบ
ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะและความรู้ใช้ข้อมูลและสารสนเทศ
ผู้วิจัยมีวิธีการดำเนินการดังนี้
1) ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นรูปแบบในการกำหนดคำถาม กำหนดโครงสร้างและทิศทางในการจัดเก็บข้อมูล
2) กำหนดแบบสอบถามเพื่อใช้เก็บข้อมูลกับประชาการให้ครอบคลุมเนื้อหาและวัตถุประสงค์ 3) นำแบบสอบถามที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เสนอผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาความถูกต้องของเนื้อหา
4) นำแบบสอบถามที่จะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลมาปรับปรุงและแก้ไขตามข้อเสนอแนะ 5) สร้างแบบสอบถามที่จะใช้ในการจัดเก็บข้อมูลฉบับสมบูรณ์ ไปจัดเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้กำหนดไว้ในขอบเขตการวิจัย
2. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
ผู้วิจัยนำแบบสอบถามที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญไปทดลองใช้กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แต่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มตัวอย่าง เพื่อปรับปรุงแบบสอบถามให้ถูกต้อง โดยนำผลของข้อมูลมาหาค่าความเชื่อมั่น โดยหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ถ้าผลของแบบสอบถามทั้งฉบับมีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ .71 – 1.00 แสดงว่ามีความเชื่อมั่นสูง จากนั้น จึงนำไปเก็บข้อมูลกับกลุ่มอย่างจริงได้
การวิเคราะห์ข้อมูล
ผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามลำดับขั้นตอน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1) นำแบบสอบถามที่ได้กลับคืนมา ตรวจสอบความสมบูรณ์ทุกฉบับ
2) วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบโดยแจกแจงความถี่ และ คำนวณค่าร้อยละ
3. นำข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับความรู้และทักษะการใช้ข้อมูลและสารสนเทศ ที่เป็นมาตรฐานประมาณค่า มาวิเคราะห์โดยแปลผลจากค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ซึ่งกำหนดช่วงคะแนนตามเกณฑ์ ดังนี้
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 4.51-5.00 หมายถึง มากที่สุด
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.51-4.50 หมายถึง มาก
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 2.51-3.50 หมายถึง ปานกลาง
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.51-2.50 หมายถึง น้อย
ค่าเฉลี่ยระหว่าง 1.00-1.50 หมายถึง น้อยที่สุด
สถิติที่ใช้ในการวิจัย
สถิติที่ใช้ในการวิจัยแบ่งอกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1) สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย และ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2) สถิติขั้นสูง คือ การใช้สถิติเปรียบเทียบที (t-test) แบบ Paired-sample test
3) การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ได้แก่ การตรจสอบก่อนนำไปใช้โดยการวัดความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา หาค่าดัชนีความสอดคล้อง ระหว่างคำถามแต่ละข้อและจุดประสงค์ โดยใช้ค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ของแบบสอบถามโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา ของครอนบาค |
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | - |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 733 ครั้ง |