รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000119
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :การเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เยาวชนระดับอุดมศึกษาในเขตจังหวัดนครสวรรค์
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :The Empowerment of Political consciousness Process for Youth in Higher Education, Nakhon Sawan Province.
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :จิตสำนึกทางการเมือง/การเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมือง/การมีส่วนร่วม/Empowerment of Political consciousness Process
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > โปรแกรมวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :40000
งบประมาณทั้งโครงการ :40,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :19 พฤศจิกายน 2556
วันสิ้นสุดโครงการ :18 พฤศจิกายน 2557
ประเภทของโครงการ :อื่นๆ
กลุ่มสาขาวิชาการ :สังคมศาสตร์
สาขาวิชาการ :สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
กลุ่มวิชาการ :รัฐประศาสนศาสตร์
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :ในปัจจุบันประเทศไทย มีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เดิมไทยใช้รูปแบบการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ ปี 2475 ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มาของผู้นำประเทศ เพราะในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้น ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้นำของตนเอง มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน โดยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยินยอมของประชาชน ดังนั้น การปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองที่อยู่ภายใต้อิทธิพลการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นหลัก โดยตามแนวทางของประชาธิปไตยจะต้องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม การมีส่วนร่วม การยอมรับฟังเสียงข้างมาก ดังรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง หรือที่เรียกว่า การเมืองภาคประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากการให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันได้แก่ ความเสมอภาค สิทธิทางการเมืองต่าง ๆ อาทิ เปิดโอกาสให้ประชาชน 50,000 คน เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้รัฐสภาพิจารณา และประชาชนยังมีสิทธิเข้าชื่อกัน 50,000 คน เสนอให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงออกจากตำแหน่งในกรอบของกฎหมาย และประชาชนยังมีสิทธิแสดงประชาพิจารณ์และมีส่วนร่วมในการแสดงประชามติ หรือใน รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ก็ได้มีการกล่าวถึงการให้สิทธิเสรีภาพเช่นกัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทในการปกครองตนเองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รากฐานความคิดที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยจึงอยู่บนฐานคติของธรรมชาติของมนุษย์ ที่ถือว่ามนุษย์เกิดมามีเหตุมีผลเพียงพอที่จะใช้สิทธิทางการเมืองของตน เพื่อจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมคุณค่าของการดำรงชีวิตที่ดีของมนุษย์ในสังคม โดยแนวทางการพัฒนาทางการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้จัดทำ เช่น สภาพัฒนาการเมือง ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองไว้ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม 2) การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมือง 3) คุณธรรม และจริยธรรมของผู้นำและนักการเมือง 4) ธรรมาภิบาลทางการเมืองและการบริหาร 5) ความมั่นคงและการจัดการความขัดแย้ง และการสร้างสังคมสมานฉันท์ 6) การกระจายอำนาจและการสร้างความเป็นธรรมในการบริหารทรัพยากร เป็นต้น แนวทางดังกล่าวข้างต้นถือเป็นภาพกว้างของการพัฒนาการเมือง แต่ทิศทางหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญกับการพัฒนาฐานทางการเมืองให้เข้มแข็งคือ การพัฒนาจิตสำนึกทางการเมือง ซึ่งหมายถึง การตระหนักรู้ และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน รวมถึงการมีพฤติกรรมที่แสดงออกทางการเมืองในสิ่งที่ถูกต้อง โดยการพัฒนาที่จิตสำนึกทางการเมืองจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กและเยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชาติ และมีจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ และเป็นกลุ่มหนึ่งภายใต้ความหลากหลายของภาคประชาสังคมในไทย นอกจากนั้นเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวต่อสิ่งเร้าใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และเป็นกลุ่มที่มีพลัง มีความคิด มีเชื้อไฟแห่งความสร้างสรรค์ที่สูงกว่ากลุ่มคนวัยอื่น ในประวัติศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตยไทย คนหนุ่มสาวมีบทบาทในเวทีทางการเมือง เวทีทางสังคม และเวทีทางเศรษฐกิจอย่างมาก เช่นในช่วง 6 ตุลาคม 2519 เราอาจจะมองเห็นพลังที่ท้วมท้นของคนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพจนสามารถชี้นำ รวมทั้งยังสามารถสร้างอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายแห่งรัฐได้ การเติบโตของคนหนุ่มสาวในอดีต เป็นเครื่องเตือนใจให้เราฉุกคิดได้ว่า การพัฒนาสังคมประชาธิปไตยโดยคนหนุ่มสาวมีความเป็นไปได้สูงมาก ถ้าหากเราสามารถวิเคราะห์สภาพ บริบท สิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง ในบริบทปัจจุบัน การนิยามขบวนการคนหนุ่มสาวต้องมีความแตกต่างไปจากสภาพก่อนหน้านี้ 40 ปี เพราะสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล เราต้องสร้างคำนิยามที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชนในปัจจุบัน (New Conceptual Operationalization) ที่แตกต่างไปจากเด็กและเยาวชนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ดังนั้นเพื่อสร้างฐานการพัฒนาการเมืองให้เข้มแข็ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างฐานทางการเมืองโดยเริ่มจากการพัฒนาจิตสำนึกให้แก่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เพราะสังคมประชาธิปไตยกับการพัฒนาสำนึกของเด็กจึงต้องทำงานไปด้วยกันฉันท์มิตร เมื่อเด็กและเยาวชนเกิดสำนึกในสังคมประชาธิปไตย เมื่อนั้นจะเกิดวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่ถูกต้องในการพัฒนาประเทศไทย สำหรับการศึกษาถึงการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม แก่กลุ่มเยาวชนในจังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นจังหวัดที่น่าสนใจทำการศึกษา เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์ มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศูนย์วิทยพัฒนานครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ วิทยาลัยบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ศูนย์วิทยบริการนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ศูนย์ตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยส่วนหนึ่งมีเยาวชนจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ จากจังหวัดอุทัยธานี พิจิตร ชัยนาท กำแพงเพชร ทั้งนี้เมื่อสำรวจในเบื้องต้นพบว่าสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เป็นแหล่งรวมของเยาวชนส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยทั้งสามแห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ซึ่งหากรวมสถิติของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาของทั้งสามแห่งนี้ มีจำนวนนักศึกษาประมาณ 11,215 คน(สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, 2555) ซึ่งถือว่ามีจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งสวนทางกับจำนวนการทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในพื้นที่นี้ พบว่ามีบทบาทไม่เด่นชัดมากนัก ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจศึกษาเรื่อง การเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนารากฐานทางการเมืองให้เข้มแข็งต่อไป
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. เพื่อศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 2. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรค พร้อมทั้งปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 3. เพื่อนำเสนอแนวทางเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์
ขอบเขตของโครงการ :ขอบเขตเชิงปริมาณ 1) ศึกษาเยาวชนในระดับอุดมศึกษา ในจังหวัดนครสวรรค์ ทั้ง 3 แห่ง อันได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ขอบเขตเชิงคุณภาพ 1) ศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 2) ศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรคและปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 3) การนำเสนอแนวทางเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :ประโยชน์ที่จะได้รับ 1) ได้ทราบระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 2) ได้ทราบสภาพปัญหา อุปสรรค และปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 3) ได้แนวทางการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 4) ได้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 5) เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ และเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมือง หน่วยงานที่นำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ 1) สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา อันได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และสถาบันการศึกษาอื่นๆ 2) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนครสวรรค์ 3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดนครสวรรค์ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ 5) เป็นผลงานวิชาการในการเผยแพร่ขยายผล หรืออ้างอิงในสถานศึกษาได้
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :ชัยอนันต์ สมุทรวณิช ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาการเมืองดำเนินไปในทิศทางที่เข้าสู่สภาวะของประชาธิปไตย โดยเน้นที่การพัฒนาจิตสำนึก เพราะสังคมไทยเราขาดปัจจัยเหล่านั้น เนื่องจาก เห็นว่าไม่เคยมีประสบการณ์ที่สั่นสะเทือนจิตสำนึกของประชาชน เหมือนในประเทศอื่นๆ ประสบการณ์ที่สร้างจิตสำนึก และการรวมตัวจัดตั้ง (แม้จะเป็นไปอย่างลับๆ) ทางการเมืองก็คือ การตกเป็นอาณานิคม อีกอย่างหนึ่งก็คือการพ่ายแพ้สงครามเหมือนอย่างญี่ปุ่น ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจที่ต้องการเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐ กลุ่มเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยพ่อค้าในประเทศไทยเป็นคนเชื้อสายจีน คนเหล่านี้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่เมืองไทย โดยจิตใต้สำนึกที่ต้องการกลับบ้านเกิด ทำให้เขาเป็นคนที่มีชีวิตอยู่อย่างเป็นการ “ชั่วคราว” ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและกีดกันอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีจิตสำนึกของความเป็นชาติ พัฒนาการของจิตสำนึกทางการเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างล่าช้าเพราะขาดสื่อที่จะเผยแพร่ และเกิดขึ้นในวงจำกัดของผู้มีการศึกษา ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเทียนวรรณที่มีความคิดทางการเมือง และต้องการเผยแพร่ความคิดนั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทในทางลับตั้งแต่ พ.ศ. 2470 แต่งานของเทียนวรรณก็อ่านกันอยู่ในหมู่คนนับจำนวนร้อยเท่านั้น ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนักหนังสือพิมพ์อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มเขียนบทความทางการเมือง และที่ชัดเจนมากกว่าใครๆ ก็คือ งานของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน ซึ่งถือว่าเป็นงานความคิดทางการเมืองที่เป็นระบบมากที่สุด กลไกทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ระดมความสนับสนุนแบบชั่วคราวเพื่อการเลือกตั้ง และเนื่องจากพรรคการเมืองขาดความต่อเนื่อง เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยๆ พรรคการเมืองก็ไม่อาจสร้างจิตสำนึกทางการเมืองขึ้นได้ ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยมาก ไม่ค่อยเสียค่าสมาชิก หรือบริจาคเงินให้พรรค ก่อให้เกิด “คณาธิปไตย” เพราะคนกลุ่มน้อยมีบทบาทในพรรค ในรูปของการให้ทุนสนับสนุนหรือไม่ก็เป็นบุคคลที่มีฐานสนับสนุนทางการเลือกตั้งอย่างมั่นคง ประชาชนไม่มี “ความภักดี” ต่อพรรคการเมืองใดๆ ทำให้พรรคไม่อาจมีฐานสนับสนุนของมวลชนได้ จึงขาดพลังและความชอบธรรม (ชัยอนันต์ สมุทรวณิช, 2552)
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :-
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :การเก็บข้อมูล 1) ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ในการวิจัยครั้งนี้ใช้ การเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถาม เพื่อศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ และใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ และใช้การสัมภาษณ์และการประชุมกลุ่มเพื่อหาแนวทางการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมแก่เยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ 2) ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ในการวิจัยครั้งนี้ การวิจัยอกสาร ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากการทบทวนเอกสาร หนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ วารสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง 1) ประชากร ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ผู้บริหาร คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยกลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็นดังนี้ 2) กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้ สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ คือ นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 375 คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 11,215 คน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยเทียบจากตารางสำเร็จรูปของเครซซี่และมอร์แกน และใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง รวมทั้งสิ้น จำนวน 50 คน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ - อธิการบดีหรือรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยละ 1 คน - คณาจารย์ มหาวิทยาลัยละ 5 คน - ผู้นำนักศึกษาและนักศึกษา มหาวิทยาลัยละ 10 คน - พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์ 1 คน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเยาวชน - เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนครสวรรค์ 1 คน สำหรับวัตถุประสงค์ที่ 3 เพื่อหาแนวทางเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้วิธีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง มีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 25 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น ผู้นำนักศึกษา และนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้ง 3 แห่ง จำนวน 10 คน คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง จำนวน 3 คน คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง จำนวน 10 คน เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลงานพัฒนาเยาวชน ในสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 1 คน สถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยภาคกลาง และมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเรื่องการเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษา โดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้ วัตถุประสงค์ ข้อ 1 เพื่อศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้แบบสอบถาม วัตถุประสงค์ ข้อ 2 เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษา ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง วัตถุประสงค์ ข้อ 3 เพื่อหาแนวทางเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้แบบสัมภาษณ์ และใช้การประชุมกลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยจะนำข้อมูลที่ได้รับไปจำแนกหมวดหมู่ตามหัวข้อที่วางไว้ เพื่อตอบคำถามการวิจัย ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย เพราะในช่วงเก็บรวมรวมข้อมูลก็ได้มีการวิเคราะห์เป็นระยะๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผน วัตถุประสงค์ ข้อ 1 เพื่อศึกษาระดับจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วัตถุประสงค์ ข้อ 2 เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรค และปัจจัยเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้การพรรณาความ วัตถุประสงค์ ข้อ 3 เพื่อหาแนวทางเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมของเยาวชนระดับอุดมศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ใช้การพรรณาความ
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :457 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นางสาวคุณากร กรสิงห์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย60
นายณัฐชัย นิ่มนวล บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยผู้ร่วมวิจัย40

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด