รหัสโครงการ : | R000000097 |
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) : | ความหมาย และรูปแบบพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน ; กรณีศึกษาชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ |
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) : | Meaning types of violence in children and youth ; A case Study Communities in Nakhonsawan Municipality Nakhonsawan Province |
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) : | รูปแบบพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง Violence in children and youth เด็กและเยาวชน children and youth |
หน่วยงานเจ้าของโครงการ : | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ > สาขาวิชารัฐศาสตร์ |
ลักษณะโครงการวิจัย : | โครงการวิจัยเดี่ยว |
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย : | ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย |
ประเภทโครงการ : | โครงการวิจัยใหม่ |
สถานะของโครงการ : | propersal |
งบประมาณที่เสนอขอ : | 493000 |
งบประมาณทั้งโครงการ : | 493,000.00 บาท |
วันเริ่มต้นโครงการ : | 01 ธันวาคม 2557 |
วันสิ้นสุดโครงการ : | 30 พฤศจิกายน 2558 |
ประเภทของโครงการ : | งานวิจัยประยุกต์ |
กลุ่มสาขาวิชาการ : | สังคมศาสตร์ |
สาขาวิชาการ : | สาขาสังคมวิทยา |
กลุ่มวิชาการ : | สังคมวิทยา |
ลักษณะโครงการวิจัย : | ระดับชาติ |
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : | สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ |
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : | ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ |
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา : | ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา |
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : | ไม่เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต |
ความสำคัญและที่มาของปัญหา : | เด็กและเยาวชนจะเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญต่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามวัย การหล่อหลอมพัฒนาการของเด็กทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ศีลธรรม จริยธรรม การรู้คิดให้ถูกต้องตามบรรทัดฐานสังคม รวมถึงมีทัศนคติและพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคม ซึ่งถ้าเด็กและเยาวชนในวันนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่มีความประพฤติดี มีคุณภาพย่อมเล็งเห็นอนาคตได้ว่า สังคมนั้นๆ หรือประเทศนั้นๆ จะมีแต่ความสุขและความเจริญก้าวหน้า แต่ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงในการดำรงชีวิต ทั้งการเลี้ยงดูของพ่อแม่ กระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุล ขาดการกลั่นกรองในการเลือกรับและนำไปปฏิบัติขณะเดียวกันสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการบ่มเพาะความรุนแรงและไม่มีความปลอดภัย โดยพบว่า เด็กและเยาวชนที่พบเห็นการทำผิดกฎหมายของคนในชุมชนที่พักอาศัยมีความเสี่ยงในการใช้ความรุนแรงสูงถึง ๑.๗๐ เท่าของเด็กและเยาวชนที่ไม่พบเห็นการทำผิดกฎหมายของคนในชุมชน ทั้งนี้การสำรวจของศูนย์วิจัยเอแบคโพลล์ (๑ – ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑) พบว่า เด็กสามารถเดินถึงร้านเหล้าได้ภายใน ๗ นาที ไปร้านเกมและแหล่งพนันได้ในเวลา ๑๕ นาที เข้าถึงซีดีลามกและสถานบันเทิงได้ใน ๓๐ นาที สอดคล้องกับที่โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน รายจังหวัด (๒๕๕๑ - ๒๕๕๒) ที่พบว่า หลายจังหวัดมีพื้นที่เสี่ยงแหล่งเริงรมย์ต่าง ๆ มากกว่าพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ ๒ - ๓ เท่า เช่นเดียวกับรายงานของศูนย์การศึกษาเพื่อเด็กด้อยโอกาส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบว่าพื้นที่เสี่ยงสำหรับเด็กมีเพิ่มขึ้น พื้นที่ดี ๆ ของเด็กมีน้อยมาก ในอัตราส่วน ๓ ต่อ ๑
บทบาทหน้าที่ของครอบครัวมีผลต่อความมั่นคงของเด็กและเยาวชน ผลจากการระดมความคิดเห็นในการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (๒๕๕๒) สรุปว่า ปัจจุบันครอบครัวมีการปฏิสัมพันธ์กันน้อยมาก โดยเฉพาะการพูดคุยและสร้างความเข้าใจกันภายในครอบครัวทำให้เด็กและเยาวชนหันไปหาอบายมุข สิ่งมอมเมาที่ให้ความสุขเพียงชั่วคราว และประพฤติตนเรียกร้องความสนใจจากสังคมอย่างไม่เหมาะสม ปัญหาที่สำคัญคือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้และขาดทักษะการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม มีความคาดหวังทางการศึกษาของลูกในระดับสูงจนเกินไปทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความกดดันและไม่มีความสุขกับการเรียนแนวโน้มของครอบครัวไทยในอนาคต คาดว่าจะมีรูปแบบครอบครัวเดี่ยวเพิ่มมากขึ้นเกิดสภาวการณ์พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว (Single Parent) เพิ่มมากขึ้น รวมถึงสภาวการณ์ปัจจุบันที่ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุหลักให้พ่อแม่ต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น ในท้องถิ่นชนบทหลายครอบครัวพ่อแม่ต้องไปทำงานในตัวเมือง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ ๆ ต้องให้ลูก ๆ อยู่ในความดูแลของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เด็กเติบโตมาอย่างไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติ การตาย บาดเจ็บและพิการจากการถูกทำร้ายก่อนวัยอันควรเป็นภาระและความสูญเสียทางสังคม ทั้งนี้ ผลกระทบไม่เฉพาะเกิดกับผู้ถูกกระทำ หรือผู้กระทำ เท่านั้น หากแต่ยังมีผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชนและสังคม นอกจากนั้นยังรวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในชาติ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และภาระต่อการจัดบริการทางสังคมความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบว่าอัตราตายจากความรุนแรงในเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอายุระหว่าง 10 - 24 ปี จากการเปรียบเทียบแนวโน้มอัตราการเกิดความรุนแรงในเด็กและเยาวชนในรอบ 10 ปีทั่วโลก เปรียบเทียบระหว่าง ปี พ.ศ. 2528 - 2537 ประเทศ อังกฤษเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.5 และที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 77 สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลคดีที่เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ มีประมาณ 1 ใน 3 ของการกระทำผิดทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี คือจากจำนวน 30,668 คนในปี พ.ศ. 2540 เป็น 35,245 คนในปี พ.ศ. 2545 เป็นจำนวน51,128 คนใน ปี พ.ศ. 2550 (กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, 2551) หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7 ในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2540 - พ.ศ.2550) สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์(๒๕๕๒) รายงานว่าเด็กและเยาวชนไทย มีแนวโน้มใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ ๑๐ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๔๗ และ ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา และยังพบว่าอายุเฉลี่ยของเด็กที่ใช้ความรุนแรงจนถึงกระทั่งกระทำผิดทางกฎหมายมีอายุน้อยลง โดยพบมากในช่วงอายุ ๑๒ - ๑๘ ปี ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน พบมากในโรงเรียนในลักษณะของการทะเลาะวิวาทระหว่างเพื่อนร่วมโรงเรียนและต่างโรงเรียน รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากการกระทำรุนแรงของสมาชิกในครอบครัวและความรุนแรงที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ อาทิ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีอิทธิพลต่อการรับรู้และเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรง (แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559)
ที่สำคัญข้อมูลของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีนี้ เป็นเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่แสดงปัญหาเพียงส่วนเสี้ยวเท่านั้น ยังมีปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้เป็นคดี หรือไม่ได้ตกเป็นข่าวหรือไม่ได้รับการรายงานอีกมาก เช่นการข่มขืน การกระทำความรุนแรงทางร่างกายต่อคู่รักในกลุ่มเยาวชน การข่มขู่ รีดไถในโรงเรียน เป็นต้น ภาพปรากฏเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนนับวันยิ่งวิกฤติและส่งผลต่ออนาคตและความมั่นคงของชาติและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงอาการที่สะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง พฤติกรรมความรุนแรงจึงมิอาจเป็นปัญหาที่ตัวเด็กหรือเยาวชนเฉพาะปัจเจก แต่เป็นเรื่องของบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่มีอิทธิพล ประกอบสร้าง(Social and Cultural Constructed) ให้เด็กใช้ และยอมรับกับอุดมการณ์การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนจึงจำเป็นต้องใช้ฐานคติของการมองปัญหาที่ไปไกลกว่าการมองเฉพาะปัจจัยส่วนบุคคล หรือแบบแยกส่วน หรือเพียงจัดกลุ่มว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่มีปัญหาความเบี่ยงเบนในสังคม แต่ต้องมองปัจจัยเชิงโครงสร้างและบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมและสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ที่ส่งผลต่อแนวคิดและของการยอมรับและหนุนนำให้เด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา(เพ็ญจันทร์ ประดับมุข-เชอร์เรอร์,2551)
สำหรับข้อมูลการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครสวรรค์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี จำนวน 74 คน และเยาวชนอายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี จำนวน 547 คน รวม 621 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนสูง ประกอบกับในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์มีชุมชนจำนวน 71 ชุมชนในแต่ละชุมชนจะมีเด็กและเยาวชนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละชุมชนมักจะมีหัวหน้าแก๊งค์หรือหัวโจกที่แสดงความเป็นเจ้าถิ่น ดังนั้นสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์มีระดับน่าเป็นห่วง ดังนั้นการศึกษาวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการศึกษาเพื่อสะท้อนปรากฏการณ์ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ในมุมมองของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนโดยตรงประกอบด้วย พ่อแม่ผู้ปกครอง ตัวเด็กและเยาวชนเอง ครู พระ ผู้นำชุมชน เพื่อนำเสนอถึงสถานการณ์ปัญหา พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ตลอดจนความหมายและรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในแต่ละชุมชน เพื่อนำมาวะเคราะห์ในภาพความของพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กและเยาวชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชนต่อไป |
จุดเด่นของโครงการ : | เป็นการศึกษาความหมายและรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน |
วัตถุประสงค์ของโครงการ : | เพื่อศึกษาความหมายและรูปแบบของพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและเยาวชน
เพื่อได้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน |
ขอบเขตของโครงการ : | ขอบเขตด้านพื้นที่ การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้กำหนดพื้นที่ทำการวิจัยเฉพาะชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ ซึ่งมีจำนวนชุมชน จำนวน 71 ชุมชน เป็นพื้นที่ทำการวิจัย โดยมีประชากรและกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ในแต่ละชุมชนเป็นกรณีศึกษา
ขอบเขตด้านเนื้อหา การศึกษาครั้งนี้มีประเด็นของการศึกษาที่ความรุนแรงของเด็กและเยาวชน โดยจะทำการศึกษาเพื่อให้ได้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมของชุมชน วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน วิธีคิด ประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและบริบทสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว กลุ่มเพื่อน ความสัมพันธ์และกิจวัตรประจำวัน ชีวิตในโรงเรียนและหลังเลิกเรียน ฯลฯ
ขอบเขตด้านเวลา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ : | ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความหมาย รูปแบบพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพเกี่ยวกับของและเยาวชนสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบการพัฒนาต่อไป
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ คุมประพฤติจังหวัดนครสวรรค์ สถานพินิจเด็กและเยาวชน สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผนเฝ้าระวังและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน |
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ : | แนวความคิดเกี่ยวกับอาชญากรรมและการกระทำผิด
โรคทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน
แนวคิดเกี่ยวกับความรุนแรงในเด็กและเยาวชน
ทฤษฎีความขัดแย้งทางวัฒนธรรม (Culture Conflict) |
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด : | การศึกษาเรื่อง ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน โดยต้องทำความเข้าใจ ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมวัฒนธรรมของสังคม เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมตัวเด็กและเยาวชน อันได้แก่ ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ชุมชน วัฒนธรรมความเชื่อ และสิ่งแวดล้อมทางสังคมของเด็กและเยาวชน มีอิทธิพลและกำหนดพฤติกรรมความรุนแรงในเด็กและเยาวชน ซึ่งจากกรอบแนวคิดนี้ จะต้องศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคือคุณลักษณะส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน เช่น เพศ อายุ พฤติกรรมการดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ประวัติการกระทำความผิดและ ประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ลักษณะครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัวลักษณะเพื่อน อิทธิพลของกลุ่มเพื่อนในด้านการได้รับคำแนะนำ การเห็นตัวแบบการกระทำความรุนแรงจากเพื่อน กิจกรรมและวิถีปฏิบัติของกลุ่มเพื่อน ความสัมพันธ์ของเด็กและเยาวชนต่อโรงเรียน เช่นการได้รับการยอมรับ การเห็นหรือมีประสบการณ์ความรุนแรงในในโรงเรียน และสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงในชุมชน |
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล : | การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณประกอบกัน การศึกษาเชิงคุณภาพเป็นการสะท้อนให้เห็นบริบทและประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนในเรื่องความรุนแรง และงานวิจัยเชิงปริมาณนำมาใช้เพื่อแสดงขนาด และดูความสัมพันธ์ และปัจจัยที่กำหนด ระเบียบวิธีการการศึกษาวิจัยทั้งสองแบบนำมาใช้ประกอบกันและกันเพื่อตอบคำถามหลักของการศึกษาวิจัย
พื้นที่ตัวอย่าง
เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จำนวน 71 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีเด็กและเยาวชนอยู่อาศัย
กลุ่มตัวอย่าง
ตัวอย่างในการศึกษาเชิงคุณภาพได้แก่ เด็กและเยาวชน เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ วิธีการศึกษาใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต โดยในชุมชนที่ศึกษา 71 แห่ง ได้ติดตามเก็บข้อมูลกับเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 10-18 ปี ในชุมชนจำนวนชุมชนละ 6 ราย โดยการเลือกแบบเจาะจง เพื่อให้ได้ตัวอย่างเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายได้แก่ เด็กและเยาวชนที่เรียนหนังสือ เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ (ออกจากโรงเรียน/ทำงาน) เด็กและเยาวชนทั้งหญิงและชาย โดยมีกลุ่มประชากรโดยรวมทั้งหมดในการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 426 ราย
นอกจากนั้นในชุมชนที่ศึกษา 71 แห่ง ได้ทำการจัดสนทนากลุ่ม แยกเป็นเด็กและเยาวชน 1 กลุ่ม และผู้ปกครองของเด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้นำชุมชนในหมู่บ้านที่ศึกษาอีก 1 กลุ่ม ๆละ 5 คน รวมทั้งหมด 142 กลุ่ม โดยเลือกผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่ม จากความสมัครใจ และให้ได้ความหลากหลายของประสบการณ์เพื่อนำมาสนทนากลุ่มเรื่อง ความหมายของเด็กและเยาวชนสถานการณ์และมุมมองต่อปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน แนวคิดและการจัดการปัญหา
ผู้ให้ข้อมูลสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผู้นำชุมชน ผู้ปกครองของเด็กและเยาวชนที่เป็นตัวอย่าง เพื่อนบ้าน ครู ญาติพี่น้อง พระ โต๊ะอิหม่าม เจ้าของกิจการร้านเกมส์ ร้านแต่งรถจักรยานยนต์ เครือข่ายเพื่อนเด็ก เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยประจำตำบล อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตตำบลและอำเภอ เพื่อทราบบริบททางสังคม การดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน มุมมองต่อปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ และการสังเกต
ตัวอย่างในการศึกษาเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถาม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กและเยาวชนในชุมชน และเด็กและเยาวชนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในอำเภอที่เป็นพื้นที่ศึกษา โดยการสุ่มอย่างง่าย โรงเรียนใช้การสุ่มอย่างง่าย จากโรงเรียน สังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการ ในอำเภอที่เป็นเขตพื้นที่ที่ทำการศึกษาวิจัย โดยได้ขอความร่วมมือผ่าน ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ใช้เป็นตัวอย่าง ในการเข้าไปแจกแบบสอบถามในห้องเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 ในอำเภอที่เป็นพื้นที่ศึกษา โดยใช้การสุ่มอย่างง่าย ชั้นละ 1 ห้องเรียน โดยให้เด็กนักเรียนในห้องเรียนที่ถูกสุ่ม กรอกแบบสอบถามทุกคน
เครื่องมือ
เครื่องมือในการศึกษาเชิงคุณภาพ
1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) โดยกำหนดให้มีนักวิจัยสนามเข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่จะทำการศึกษา จำนวน 90 วัน เพื่อเฝ้าสังเกต และเข้าร่วมกิจกรรรมต่าง ๆ กับชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมชุมชน และโครงสร้างทางสังคมของคนในชุมชนเครือข่ายทางสังคมของเด็กและเยาวชน วิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของเด็กและเยาวชน
2. การสัมภาษณ์แบบลึก (In-Depth Interview) อย่างไม่เป็นทางการกับเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง10 - 25 ปี ชุมชนละ 20 ราย เพื่อทราบวิธีคิด ประสบการณ์ เกี่ยวกับความรุนแรงและบริบททางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว กลุ่มเพื่อน ความสัมพันธ์ และกิจวัตรประจำวัน ชีวิตในโรงเรียน และหลังเลิกเรียน กรณีเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือทำงานจะเน้นถามสาเหตุการออกจากโรงเรียน กิจกรรรมทางสังคมที่ทำประจำวัน กับกลุ่มเพื่อน
3. การสัมภาษณ์แบบลึก (In-Depth Interview) อย่างไม่เป็นทางการกับพ่อแม่ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา เช่น ผู้นำชุมชน ครู พระ และเครือข่ายเพื่อนของเด็กและเยาวชน ในฐานะบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) เพื่อทราบลักษณะโครงสร้างทางสังคมและระบบวัฒนธรรมของชุมชน ความเข้มแข็งและการเกาะเกี่ยวกันของชุมชน
4. การจัดสนทนากลุ่ม (Group Discussion) กับกลุ่มเด็กและเยาวชนชายและหญิงอย่างละ 1 กลุ่ม และผู้ปกครองของเด็ก/เยาวชนและ ผู้นำชุมชนในชุมชนอีก 1 กลุ่มต่อหมู่บ้าน โดยมีผู้เข้าร่วมสนทนากลุ่มราว 5 คนต่อกลุ่ม ใช้เวลาจัดสนทนากลุ่ม ประมาณกลุ่มละ 2 ชั่วโมง เพื่อทราบวิธีคิด และการให้ความหมาย เกี่ยวกับความรุนแรง แนวคิดต่อวัยรุ่น และการจัดการความรุนแรงในมุมมองของเด็กและเยาวชน และผู้ใหญ่ในชุมชน
เครื่องมือในการศึกษาเชิงปริมาณ
ใช้แบบสอบถาม ศึกษา ประสบการณ์ความรุนแรง และรูปแบบการจัดการปัญหา เพื่อดูขนาดความรุนแรงของปัญหา รูปแบบและการจัดการความรุนแรง สถานการณ์และกระบวนการจัดการความรุนแรง เครื่องมือในการสำรวจ พัฒนา ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไปของผู้กรอกแบบสอบถาม ข้อมูลครอบครัวและความสัมพันธ์ ข้อมูลระดับความผูกพันในชุมชน ข้อมูลเพื่อนและความสัมพันธ์กับเพื่อน พฤติกรรมความรุนแรง การจัดการปัญหาความรุนแรง ทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นชาย ศักดิ์ศรี การใช้ปืน กับการใช้ความรุนแรง ความภาคภูมิใจในตนเอง ประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ในชุมชนและในโรงเรียน
การวิเคราะห์ข้อมูล
ด้วยเหตุที่การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายวิธีด้วยกัน ข้อมูลหลักที่นำมาวิเคราะห์คือข้อมูลประสบการณ์ความรุนแรง ข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบลึกกับเด็กและเยาวชนตัวอย่าง รวมทั้งการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์แบบลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงคุณภาพจะเป็นข้อมูลที่สะท้อนบริบทเชิงโครงสร้างสังคม แนวคิดทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และเยาวชน และความรุนแรง โดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา จากข้อมูลการบันทึกสนาม การสัมภาษณ์แบบลึก มาถอดและรวบรวม ถ้อยคำและประโยคสำคัญที่งานวิจัยนี้ต้องการศึกษา นำข้อมูลมาแยกแยะส่วน ข้อมูลเชิงปริมาณทำหน้าที่ในการแสดงภาพในระดับกว้างให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้โปรแกรม SPSSในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณา และใช้การวิเคราะห์สถิติ |
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) : | - |
จำนวนเข้าชมโครงการ : | 680 ครั้ง |