รายละเอียดโครงการวิจัย
กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด

รหัสโครงการ :R000000015
ชื่อโครงการ (ภาษาไทย) :เครื่องกรองแคดเมียมทางชีวภาพ โดยราจากตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ชื่อโครงการ (ภาษาอังกฤษ) :Cadmium biofilter by fungus from Maetaw brook sediment in Maesord distric, Tak province
คำสำคัญของโครงการ(Keyword) :1. เครื่องกรองทางชีวภาพ หมายถึงเครื่องกรองที่มีตัวดูดซับแคดเมียมที่ทำมาจากราในตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2. ราที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง ราที่ได้จากตะกอนดินห้วยแม่ตาวอำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่สามารถทนทาน และสามารถดูดซับแคดเมียม ได้
หน่วยงานเจ้าของโครงการ :คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ลักษณะโครงการวิจัย :โครงการวิจัยเดี่ยว
ลักษณะย่อยโครงการวิจัย :ไม่อยู่ภายใต้แผนงานวิจัย/ชุดโครงการวิจัย
ประเภทโครงการ :โครงการวิจัยใหม่
สถานะของโครงการ :propersal
งบประมาณที่เสนอขอ :340000
งบประมาณทั้งโครงการ :340,000.00 บาท
วันเริ่มต้นโครงการ :01 ตุลาคม 2556
วันสิ้นสุดโครงการ :30 กันยายน 2557
ประเภทของโครงการ :การพัฒนาทดลอง
กลุ่มสาขาวิชาการ :วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
สาขาวิชาการ :สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
กลุ่มวิชาการ :วิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ลักษณะโครงการวิจัย :ระดับชาติ
สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์ : ไม่สะท้อนถึงการใช้ความรู้เชิงอัตลักษณ์
สร้างความร่วมมือประหว่างประเทศ GMS : ไม่สร้างความร่วมมือทางการวิจัยระหว่างประเทศ
นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา :ไม่นำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาณภาพการศึกษา
เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต : เกิดจากความร่วมมือกับภาคการผลิต
ความสำคัญและที่มาของปัญหา :โลหะหนัก (heavy metal) เป็นองค์ประกอบที่มักพบตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม ทองแดง สังกะสี แมงกานีส และอาเซนิก เป็นต้น ปัจจุบันการปนเปื้อนจากโลหะหนักนับเป็นปัญหาสำคัญ ต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งใน อากาศ ดิน และน้ำ โลหะหนักบางชนิด เช่น ทองแดง แมงกานีส และสังกะสี มีความจำเป็นต่อพืช และสัตว์ แต่หากมีปริมาณมากเกินไปก็สามารถเป็นพิษต่อพืชและสัตว์ได้ แหล่งกำเนิดของโลหะหนักมีที่มาทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวเร่ง อัตราการแพร่กระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้น และเกิดการถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหาร สะสมอยู่ในสิ่งมีชีวิต และนำมาสู่ผลกระทบต่อมนุษย์เป็นสำคัญ แคดเมียม (cadmium) เป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนทั้งในดิน และในน้ำ ส่วนมากเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานทำสี และโรงงานทำพลาสติก พิษของสารแคดเมียม คือ ถ้าได้รับปริมาณมากอาจทำให้เกิดโรค อิไต อิไต (itai-Itaie) มีผลให้กระดูกเปราะ และปวดอย่างรุนแรง ถ้าได้รับสารในปริมาณน้อยแต่เป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ไตทำงานผิดปกติ กระวนกระวาย ขาดสมาธิ ความจำเสื่อม บางครั้งซึมเศร้า บางครั้งร่าเริง (manic depressive behavior) ถ้ามีอาการอ่อนเพลียอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ ปัจจุบันบางพื้นที่ของประเทศไทยยังประสบปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมในดินและพืชอยู่ ตัวอย่างเช่น บริเวณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งแร่สังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้วในเหมืองแร่สังกะสีจะมีแคดเมียมเป็นอนุพันธ์ผสมอยู่ สาเหตุของการปนเปื้อนจึงเกิดจากการที่ฝนตกชะหน้าดินที่ปนเปื้อนแคดเมียม ลงสู่ต้นน้ำของ ลำน้ำธรรมชาติ ซึ่งหนึ่งในแหล่งน้ำที่พบแคดเมียมปนเปื้อนในปริมาณสูง คือ ห้วยแม่ตาว ในกรณีนี้ทำให้เกิดการสะสมแคดเมียมในตะกอนท้องน้ำ (กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, 2553) จากงานวิจัยของ Thanee และ Phalaraksh (2012) ที่ศึกษาปริมาณแคดเมียมในตะกอนดินบริเวณลำน้ำ รอบเหมืองสังกะสี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พบว่า ในลำน้ำแม่ตาวมีความเข้มข้นของแคดเมียมในตะกอนดินสูงที่สุด โดยเฉพาะบริเวณบ้านผาแดง โดยมีความเข้มข้นของแคดเมียมเท่ากับ 40.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตะกอนดิน ขณะที่งานวิจัยของ Unhalekhaka และ Kositanont (2008) พบว่า ปริมาณแคดเมียมในลำห้วยแม่ตาวบริเวณ ปลายน้ำมีความเข้มข้นของแคดเมียมปริมาณสูง ซึ่งมีค่าเท่ากับ 22.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตะกอนดิน ปัจจุบันการบำบัดโลหะหนักส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีการทางเคมีในการบำบัด เนื่องจากมีความสะดวก และเห็นผลอย่างรวดเร็ว แต่ในกระบวนการบำบัดทางเคมีนั้นจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกิดสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ จึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำที่รองรับน้ำทิ้งนั้น ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงมุ่งเน้นความสนใจในการใช้จุลินทรีย์ทั้ง แบคทีเรีย ยีสต์ รา และสาหร่าย มาใช้ในการบำบัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำทิ้งมากขึ้น โดยการใช้โครงสร้างบางส่วนของจุลินทรีย์ที่ตายแล้ว หรือที่มีชีวิตมาใช้บำบัดน้ำทิ้ง ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการทางชีวภาพ ไม่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม และมีประสิทธิ์ภาพดีกว่าวิธีการอื่นๆ เนื่องจากสามารถใช้กากชีวมวลจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตยาที่มีการใช้จุลินทรีย์ในกระบวนการผลิตมาใช้เป็นตัวดูดซับโลหะหนักได้ โดยราจัดเป็นจุลินทรีย์กลุ่มที่มีความสามารถในการดูดซับ และมีความทนทานในสภาพแวดล้อมได้ดี จากงานวิจัยของ ทินพันธุ์ เนตรแพ (2545) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้รา Aspergillus oryzae ในการกำจัดแคดเมียมและตะกั่ว พบว่า ชีวมวลที่มีชีวิตของ A. oryzae มีประสิทธิภาพในการดูดซับสูงสุดของแคดเมียมและตะกั่วโดย ชีวมวลที่มีชีวิตมีค่าเท่ากับ 1.93 และ18.61 มิลลิกรัมต่อกรัมชีวมวลแห้ง ขณะที่รา Microsphaeropsis sp. และ Aspergillus niger สามารถดูดซับแคดเมียม และตะกั่วได้สูงถึง 247.5 และ 47.62 มิลลิกรัมต่อกรัมชีวมวลแห้ง ตามลำดับ (Xiao และคณะ, 2010; Netpae, 2012) แต่ในงานวิจัยการบำบัดโลหะหนัก โดยชีววิธีส่วนใหญ่จะทำการศึกษาในภาคทฤษฏี แต่ยังขาดการทำนวัตกรรมเพื่อนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ในระบบบำบัดอย่างแท้จริง ดังนั้นคณะผู้ศึกษาซึ่งจึงสนใจที่จะผลิตเครื่องกรองแคดเมียมทางชีวภาพ จากราที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับแคดเมียมจากตะกอนดินธรรมชาติจากตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ดูดซับแคดเมียมในน้ำทิ้งของระบบบำบัดน้ำเสียต่อไป
จุดเด่นของโครงการ :-
วัตถุประสงค์ของโครงการ :1. คัดเลือกราที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับแคดเมียมจากตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 2. ประเมินประสิทธิภาพการดูดซับแคดเมียม โดยราจากตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว ในสภาวะต่างๆ 3. สร้างเครื่องกรองแคดเมียมที่ผลิตจากชีวมวลราที่มีประสิทธิภาพ จากตะกอนดินห้วยแม่ตาวอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ขอบเขตของโครงการ :-
ผลที่คาดว่าจะได้รับ :2557 ผลสำเร็จเบื้องต้น (P) คือ ค้นพบเชื้อราที่มีประสิทธิภาพ ในการดูดซับแคดเมียม P 2557 ผลสำเร็จกึ่งกลาง (I) คือ มีต้นแบบเครื่องกรองแคดเมียมที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ เป็นต้นแบบในการผลิตเครื่องกรองที่สามารถบำบัดแคดเมียมจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นสูง ลดผลกระทบจากน้ำทิ้งที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดผลกระทบจากสารเคมีที่เกิดจาการบำบัดแคดเมียมโดยใช้สารเคมี I
การทบทวนวรรณกรรม/สารสนเทศ :-
ทฤษฎี สมมุติฐาน กรอบแนวความคิด :-
วิธีการดำเนินการวิจัย และสถานที่ทำการทดลอง/เก็บข้อมูล :การดำเนินการวิจัย เครื่องกรองแคดเมียมทางชีวภาพ โดยราจากตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แบ่งการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 คัดเลือกราในตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่มีความคงทนต่อแคดเมียม ในส่วนแรกของงานวิจัย เป็นการคัดเลือกราในตะกอนดินห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตากที่มีความคงทนต่อแคดเมียม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (survey research) ดำเนินการโดย 1) ทำการเก็บตัวอย่างตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว บริเวณ บ้านผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยวิธีการปลอดเชื้อ จากจุดเก็บตัวอย่างมีความเข้มข้นของแคดเมียมในตะกอนดินสูงสุด โดยอ้างอิงจุดเก็บจากงานวิจัยของ Thanee และ Phalaraksh (2012) ที่ทำการศึกษาความหลากหลายของแมลงน้ำ และความเข้มข้นของแคดเมียม ในลำห้วย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ทำการตรวจวัดปริมาณแคดเมียมในตะกอนดินโดยใช้เครื่องอะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (Atomic absorption spectrophotometer) 2) คัดเลือกราที่มีความคงทนแคดเมียม 2.1) นำตะกอนดิน ที่มีความเข้มข้นแคดเมียมสูงสุดจาก ข้อ 1 มาเทลงในจานเพาะเชื้อในอัตราส่วน 0.005-0.015 กรัม และลดลงตามลำดับแต่ละจาน ทำ 3 ซ้ำ เทอาหารเลี้ยงเชื้อ พีดีเอ (PDA, Potato Dextrose Agar) ลงในจานเพาะเชื้อ สังเกตการเกิดโคโลนีของรา 2.2) ใช้เข็มเขี่ยตัดบริเวณขอบโคโลนีของราที่เกิดขึ้น จากข้อ 2.1 เก็บใส่หลอดอาหารเอียง (slant) บ่มเป็นเวลา 3 วัน 2.3) เลี้ยงราในอาหารเลี้ยงเชื้อพีดีเอที่มีความเข้มข้นของแคดเมียม 1 3 5 และ 10 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ 2.4) คัดเลือกราที่เกิดขึ้นในอาหารที่มีความเข้มข้นแคดเมียมสูงที่สุด ทำการบันทึกลักษณะโคโลนี สี เส้นใยที่เกิดขึ้น และใช้เทคนิคการเลี้ยงเชื้อบนสไลด์ทำการย้อมสีและนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และถ่ายรูป 3) ศึกษาการยับยั้งการเจริญเติบโตของรา โดยแคดเมียม 3.1) การเตรียมสปอร์ของรา เลี้ยงราที่ได้จากข้อ 2 ในหลอดที่มีอาหารพีดีเอ วางเอียงปริมาณ 5 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิ ห้องเป็นเวลา 3 วัน จนเกิดสปอร์เต็มที่จึงเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส จนกว่าจะนำมาใช้ในการศึกษาต่อไป โดยสปอร์ของราจะเตรียมโดยใช้สาร Tween 80 เข้มข้นร้อยละ 0.1 ที่ฆ่าเชื้อแล้ว 5 มิลลิลิตร ใส่ลงในหลอดสปอร์ที่มีอายุ 3 วัน ใช้เข็มเขี่ยเชื้อให้สปอร์กระจายเป็นสารแขวนลอย นับความหนาแน่นของเซลล์โดยใช้ฮีมาไซโตมิเตอร์ 3.2) การยับยั้งการเจริญเติบโตของรา โดยแคดเมียม ความหนาแน่นของสปอร์ราแต่ละชนิดไม่เท่ากัน นับสปอร์โดยใช้ฮีมาไซโตมิเตอร์ ความเข้มข้นสูงสุดของแคดเมียมที่ยับยั้งการสร้างสปอร์ของรา ทำการย้ายราจากข้อ 3.1 ใส่ในจานเพาะเชื้อที่มีอาหารเลี้ยงเชื้อ พีดีเอ 20 มิลลิลิตรที่มีความเข้มข้นของแคดเมียม 0 10 25 50 100 มิลลิกรัมต่อลิตร นำไปบ่มในตู้บ่มเชื้อที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 3 วัน หรือจะสิ้นสุดระยะเวลาในการบ่มโดยใช้ราที่เลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดที่ไม่มีแคดเมียมอยู่เป็นกลุ่มควบคุมโดยวัดจากการที่ไมซีเลียม (mycelium) เข้าใกล้ขอบจานเพาะเชื้อ สังเกตสีของโคโลนี และความเร็วของการเกิดโคโลนีของราด้วยตาเปล่าหรือใช้ไม้บรรทัดวัด ความเข้มข้นสูงสุดของแคดเมียมที่ยับยั้งการสร้างไมซีเลียมของราทำการย้ายราใส่ในอาหารเลี้ยงเชื้อ พีดีบี (PDB, Potato Dextrose Broth) ปริมาตร 50 มิลลิลิตร ที่มีความเข้มข้นของแคดเมียม 0 10 25 50 100 มิลลิกรัมต่อลิตร เข้าเครื่องเขย่าแบบหมุน 120 อาร์พีเอ็ม ระยะเวลา 3 วัน สังเกตลักษณะของไมซีเลียม และอัตราการเจริญเติบโต และนำมาชั่งน้ำหนักโดยใช้กระดาษกรองแล้วอบ หลังอบนำมาเปรียบเทียบกัน 4) นำเชื้อที่ดีที่สุด ส่งตรวจหาชนิดของรา 5) ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล นำราส่งตรวจ ทราบข้อมูลความหลากหลายชนิดของราที่มีความคงทนต่อแคดเมียม วิเคราะห์ข้อมูลนับจำนวนราโดยสถิติเบื้องต้น ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนที่ 2 การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการดูดซับแคดเมียมโดยราที่มีประสิทธิภาพในตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก การศึกษาในส่วนนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อศึกษาสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการเพิ่มหรือลดประสิทธิภาพการดูดซับแคดเมียมของราที่มีประสิทธิภาพจากตะกอนดิน ห้วยแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ดำเนินการโดย 1) การเตรียมสปอร์ของรา เลี้ยงราที่ได้จากการทดลองส่วนที่ 1 ในหลอดที่มีอาหารพีดีเอ วางเอียง ปริมาณ 5 มิลลิลิตร ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 3 วัน จนเกิดสปอร์เต็มที่จึงเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส จนกว่าจะนำมาใช้ในการศึกษาต่อไป สปอร์ของราเตรียมโดย สาร Tween 80 เข้มข้นร้อยละ 0.1 ที่ฆ่าเชื้อแล้ว 5 มิลลิลิตร ใส่ลงในหลอดสปอร์ที่มีอายุ 3 วัน ใช้เข็มเขี่ยเชื้อให้สปอร์กระจายเป็นสารแขวนลอย นับความหนาแน่นของเซลล์โดยใช้ฮีโมไซโตมิเตอร์ 2) การเตรียมชีวมวลที่มีชีวิตและชีวมวลที่ไม่มีชีวิต ทำการเลี้ยงราในอาหารเลี้ยงเชื้อพีดีบี (PDB, Potato Dextrose Broth) เขย่าในเครื่องเขย่าแบบหมุนที่120 รอบต่อนาที อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมงล้างด้วยน้ำปราศจากไอออนและนำชีวมวลที่ได้มากรองและแบ่งชีวมวลออกเป็นสองกลุ่มคือ 1) ชีวมวลที่มีชีวิต(living biomass) ตรวจสอบการมีชีวิตของชีวมวลด้วยการทำให้เชื้อกระจายในจานเพาะเชื้อโดยใช้น้ำปราศจากไอออนเป็นตัวเจือจาง 2) ชีวมวลที่ไม่มีชีวิตโดยใช้ความร้อน (heat treated biomass) โดยนำชีวมวลที่มีชีวิตเข้าหม้อนึ่งความดันไอที่ความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้วนาน 20 นาที ทำให้แห้งในตู้อบที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง 3) ศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับแคดเมียม นำชีวมวลที่ได้ทั้งสองกลุ่มทำการดูดซับแคดเมียมโดยใช้ความเข้มข้นที่ 0 10 50 และ100 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นเวลา 2 ชั่งโมง กรองและนำสารละลายที่กรองได้มาตรวจวัดปริมาณแคดเมียม 4) สภาวะที่เหมาะสมต่อการดูดซับแคดเมียมโดยเชื้อรา 4.1) อิทธิพลของเวลาในการดูดซับ ศึกษาผลของระยะเวลาที่เหมาะสมที่ราจะสัมผัสกับสารละลายแคดเมียมโดยเขย่ารากับสารละลายแคดเมียมเป็นเวลา 30 60 90 120 150 และ180นาที 4.2) อิทธิพลของพีเอช ศึกษาผลของพีเอชของสารละลายแคดเมียมที่พีเอช 3 4 5 6 7 8 และ 9 โดยใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ เมื่อต้องการปรับค่าพีเอชเป็นเบสและใช้สารละลายกรดไนตริก เมื่อต้องการปรับค่าเป็นกรด 4.3) อิทธิพลของอุณหภูมิ ผลของอุณหภูมิต่อการดูดซับแคดเมียม โดยทำการเขย่ารากับสารละลายแคดเมียมที่อุณหภูมิ 30 40 50 60 และ 70 องศาเซลเซียส 5) การตรวจวัดแคดเมียม ทำการวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียมจากข้อ 3 และ 4 โดยใช้เครื่องอะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ 6) ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของแคดเมียมโดย ในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างชีวมวลที่มีชีวิตกับชีวมวลที่ไม่มีชีวิต โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science) โดยวิธีทางสถิติ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way Analysis of Variance หรือ ANOVA) ส่วนที่ 3 การทดสอบประสิทธิภาพในการดูดซับแคดเมียมผ่านกระบวนการแบบคอลัมน์ (Column process) 1) เตรียมสารละลายแคดเมียมความเข้มข้น 100 มิลลิกรัมต่อลิตร (หรือขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ที่ราสามารถดูซับมากที่สุด ในการทดลองส่วนที่ 2) 2) เตรียมคอลัมน์ สำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนไอออนของโลหะหนัก กับ ชีวมวลรา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตร และสูง 50 เซนติเมตร 3) นำ ชีวมวลรา ที่ได้จากการทดลองส่วนที่ 2 มาทำการทดลอง เติมลงในคอลัมน์ที่เตรียมเอาไว้ รอจนกระทั่งชีวมวลราอัดตัวกันแน่นพอสมควร (ชีวมวลราจะสูงประมาณ 5 เซนซิเมตร) จากนั้นเทน้ำกลั่นผ่านชีวมวลราประมาณ 50 มิลลิลิตร เพื่อปรับอัตราการไหลของสารละลายให้ได้ตามที่กำหนด (อัตราการไหลของสารละลายที่ไหลผ่านเรซิน คือ 5 มิลลิลิตรต่อนาที และ 10 มิลลิลิตรต่อนาที) 4) ต่อคอลัมน์เข้ากับอุปกรณ์ที่มีสารละลายแคดเมียมที่เตรียมไว้ปริมาตร 5 ลิตร ทำการปล่อยสารละลายเข้าคอลัมน์โดยปรับอัตราการไหลให้เท่ากับอัตราการไหลของสารละลายทีไหลผ่านชีวมวล 5) เก็บสารละลายตัวอย่างที่ไหลผ่านคอลัมน์ที่เวลา 15 30 45 60 90 180 และ 300 นาที 6) นำสารสละลายที่ได้ไปวิเคราะห์ปริมาณแคดเมียม โดยใช้ เครื่อง อะตอมมิคแอบซอบชั่นสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ (Atomic absorption spectrophotometer) 7) ขั้นสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของแคดเมียมโดย ในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระหว่างเวลา โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science) โดยวิธีทางสถิติ คือการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-way Analysis of Variance หรือ ANOVA)
คำอธิบายโครงการวิจัย (อย่างย่อ) :-
จำนวนเข้าชมโครงการ :855 ครั้ง
รายชื่อนักวิจัยในโครงการ
ชื่อนักวิจัยประเภทนักวิจัยบทบาทหน้าที่นักวิจัยสัดส่วนปริมาณงาน(%)
นายทินพันธุ์ เนตรแพ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยหัวหน้าโครงการวิจัย100

กลับไปหน้าโครงการวิจัยทั้งหมด